HOUSE R3

การดิ้นให้หลุดจากกรอบของกฎหมายที่คอยจำกัดการออกแบบอาจเป็นไปไม่ได้ ทว่าการออกแบบภายใน ‘กรอบ’ นั้นไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ บ้านจากสตูดิโอ PHTAA Living Design หลังนี้ เป็นบ้านทรงสี่เหลี่ยมที่สามารถแสดงตัวตนของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT

(For English, press here)

ที่ดินขนาดเล็ก มลภาวะจากถนนพระราม 3 กฎหมายระยะร่นอาคาร การต้องจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้ผู้อยู่อาศัยทั้ง 5 ได้มีพื้นที่ส่วนตัวทุกคน และการมอบพื้นที่ให้กับเฟอร์นิเจอร์เก่าอันเป็นของสะสมของเจ้าของบ้านทุกชิ้น คือโจทย์สุดหินของบ้าน House R3 ที่อาจฟังดูไม่มีพื้นที่สำหรับออกแบบอะไรได้มากนัก แต่สำหรับ PHTAA Living Design โจทย์เหล่านี้คือความท้าทายในการค้นหางานออกแบบที่ตั้งอยู่ ณ จุดกึ่งกลางระหว่างข้อจำกัดและความต้องการของผู้อยู่อาศัย พร้อมทั้งชวนให้เราคิดถึงคำถามที่ว่า หากบ้านถูกสร้างขึ้นภายใต้ระเบียบและข้อจำกัดที่กำหนดจนอาคารอาจมีกรอบที่ชัดเจนตายตัวแล้ว บ้านหลังนั้นจะสามารถแสดงตัวตนของตัวเองได้อย่างไร

Box House

ภาพรวมของ House R3 นั้นดูคล้ายกับอาคารกล่องสี่เหลี่ยมที่ปิดทึบเรียงตัวขึ้นเป็นชั้นๆ ราวกับตึกแถวที่เห็นกันได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พื้นที่แต่ละชั้นได้มีพื้นที่ใช้งานมากที่สุดโดยไม่ต้องเสียระยะร่นสำหรับช่องเปิดในแต่ละด้าน โดยการใช้งานจะเริ่มต้นจากพื้นที่ชั้นหนึ่งที่เป็นลานจอดรถ 3 คันและห้องครัว ชั้นสามเป็นห้องนั่งเล่นกลางของบ้าน พร้อมทั้งมีชั้นสอง ชั้นสี่ ชั้นห้า เป็นห้องส่วนตัวของสมาชิกในบ้านทั้ง 5 คน

House R3House R3House R3

House R3

สิ่งที่เตะตาเป็นอย่างแรกเมื่อมองบ้าน House R3 จากด้านข้างคงจะหนีไม่พ้นระเบียงข้างอาคารที่มีลักษณะเป็นที่ว่างรูปทรงสามเหลี่ยมแบบ double space อันแทรกตัวเด่นอยู่กลางรูปด้านสี่เหลี่ยมปิดทึบ ซึ่งระเบียงนี้เกิดขึ้นจากความพยายามในการสร้างที่ว่างภายในอาคารโดยไม่เสียพื้นที่ใช้งานจากระยะร่นช่องเปิดตามกฏหมาย ภายในที่ว่างสามเหลี่ยมนี้ ช่องเปิดที่วางตัวเฉียงได้มอบแสงธรรมชาติและการระบายอากาศให้กับพื้นที่ในอาคารทั้งสองชั้นพร้อมทั้งทำงานร่วมกับ core อาคารด้านหลังและยังทำหน้าที่สร้างการระบายความร้อนขึ้นสู่ด้านบนแบบ stack ventilation ให้กับภายในอาคารทั้งหมดได้อีกด้วย

ขยับออกมาจากด้านข้าง รูปทรงสามเหลี่ยมของที่ว่างในระเบียงด้านข้างอาคารพัฒนาต่อกลายเป็นรูปลักษณ์ของ facade อาคารในด้านหน้าเช่นเดียวกัน แม้ว่าในชั้นสองกับชั้นห้านั้นจะมีลักษณะเป็นบานเลื่อนกระจกที่ขนานกับตัวอาคาร แต่ผนังกระจกของชั้นสองและชั้นสี่นั้นมีการหุบเข้าไปในอาคารในรูปทรงสามเหลี่ยมเพื่อสร้างที่ว่างของระเบียงในลักษณะเดียวกับระเบียงด้านข้าง จะแตกต่างกันก็เพียงว่าผนังกระจกที่หุบเข้าไปในอาคารนี้มีเส้นสายของความโค้งที่ลื่นไหล ซึ่งสาเหตุก็เพื่อลบเหลี่ยมมุมที่จะเกิดขึ้นภายในอาคาร

House R3

แม้ว่าผนังกระจกโค้งในด้านหน้าและระเบียง double space ในพื้นที่ด้านข้างจะสร้างรูปทรงเฉพาะตัวให้กับอาคารที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมเต็มพื้นที่ได้แล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาคือการจัดวางผังที่ยังต้องสอดรับกับการใช้งานจริงบนผังพื้นที่มีลักษณะหลายเหลี่ยมจากการสร้างช่องเปิดข้างต้น ผังภายในจึงมีการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่สอดรับกับผังที่มีลักษณะหลายเหลี่ยมภายใน อาทิ การวางเตียงและเก้าอี้ในแนวเฉียง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนผนังในส่วนห้องน้ำให้มีความโค้งมนเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้สะดวกพร้อมทั้งเพิ่มมิติของพื้นที่ภายในยามใช้งานจริง

House R3

นอกเหนือจากการออกแบบตัวอาคารและพื้นที่ภายใน เอกลักษณ์ของบ้าน House R3 นั้นอยู่ที่บรรยากาศในสไตล์ vintage ที่อบอวลอยู่ในทุกส่วนของตัวบ้านจากเฟอร์นิเจอร์ยุค mid-century จำนวนนับไม่ถ้วนที่เป็นของสะสมของเจ้าของบ้าน ซึ่งกระบวนการจัดวางเฟอร์นิเจอร์นี้ถูกคิดรวมตั้งแต่แรกในการออกแบบ โดยเจ้าของบ้านได้ทำการวัดระยะของเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นอย่างประณีตเพื่อให้สถาปนิกได้นำไปจัดวางร่วมกับ furniture built-in อื่นๆ ได้อย่างลงตัว ทำให้ภาพรวมของการวางผัง สีสันและวัสดุภายในอาคารมีลักษณะไปในทิศทางเดียวกัน คือเป็นเป็นลักษณะ earth tone ทั้งจากหินแกรนิต ไม้ และผนังฉาบปูนทาสีครีม ฉากหลังของพื้นที่ภายในช่วยให้เฟอร์นิเจอร์ที่เก็บสะสมมาได้ถ่ายทอดความโดดเด่นของตัวเองอย่างเต็มที่ นอกจากพื้นที่ภายใน รสนิยมของผู้อยู่อาศัยและลักษณะของพื้นที่ภายในยังถูกถ่ายทอดออกมาผ่านผนังภายนอกสีน้ำตาลอ่อนของอาคารภายนอกทั้งหมด

House R3

House R3House R3

ในด้านโครงสร้างของอาคาร สถาปนิกเลือกใช้พื้นคอนกรีตไร้คานแบบ flat slab เป็นโครงสร้างเพื่อให้พื้นที่ด้านในมีความเรียบโล่งมากที่สุด ทั้งยังผลัก core อาคารอันประกอบด้วยบันไดและลิฟท์ไปไว้ยังด้านหลังทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะทำให้จัดสรรพื้นที่ใช้งานที่เหลือได้สะดวกแล้ว core อาคารด้านหลังยังเป็นส่วนที่ป้องกันการสั่นสะเทือนและมลภาวะทางเสียงของถนนพระราม 3 ที่ตั้งอยู่ด้านหลัง พร้อมทั้งมีการเซาะร่องพื้นที่ระหว่างคานและผนังภายนอกเพื่อลดรอยแตกร้าวแบบตรงไปตรงมาอันกลายมาเป็นเส้นสายหลักของรูปด้านอาคารในทุกๆ ด้านอีกด้วย

House R3 staircaseHouse R3

บนพื้นที่ใช้งาน 800 ตารางเมตร บ้าน House R3 โดย PHTAA Living Design เป็นตัวอย่างของการพัฒนางานสถาปัตยกรรมจากข้อจำกัดด้วยวิธีที่เรียบง่ายหากแต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด จากกล่องสี่เหลี่ยมสู่การคว้านช่องเปิดอาคารด้านข้างเพื่อแก้ปัญหาการเสียพื้นที่จากระยะร่น นำไปสู่การพัฒนา facade ที่มีรูปทรงสอดคล้องกันในด้านหน้า ก่อนจะกลายเป็นลักษณะของการวางผังในแต่ละห้องที่สอดคล้องกับเรขาคณิตของผังพื้นที่เกิดขึ้น วิธีข้างต้นนี้อาจนำไปปรับใช้เข้ากับการออกแบบบ้านในเมืองหลังอื่นๆ ไม่เพียงแค่ในที่ดินนี้ อันนำไปสู่สถาปัตยกรรมบ้านเดี่ยวที่อาจมีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกันในอนาคตหลังอื่นๆ แต่กระนั้นเอง สิ่งที่แตกต่างกันในบ้านทุกหลังนั้นคือกิจกรรมและตัวตนของผู้อยู่อาศัยที่ไม่เคยเหมือนกัน และในกรณีนี้ ตัวตนของบ้าน House R3 ได้ถูกถ่ายทอดผ่านเฟอร์นิเจอร์ชิ้นต่างๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ทั่วทุกมุมบ้านและเปลี่ยนให้บ้านหลังนี้ไม่เหมือนใครบนรูปลักษณ์ภายนอกที่อาจเกิดขึ้นจากข้อจำกัดอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม

House R3

phtaa.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *