ร้านกาแฟแลนด์มาร์กทรงจั่วที่ได้รับความนิยมล้นหลามในจังหวัดชลบุรีแห่งนี้ ถูกออกแบบให้เป็นมากกว่า ‘สถานที่ดื่มกาแฟ’ แบบเดิมๆ ด้วยการวางตัวในฐานะ ‘สถานที่ท่องเที่ยว’
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
ด้วยความที่เครื่องดื่มสีดำที่กินแล้วตาสว่างดีแท้ในชื่อของ ‘กาแฟ’ ดันเป็นเครื่องดื่มที่ซื้อขายกันมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก (จะเป็นรองก็แค่น้ำเปล่า) ก็ไม่แปลกนักที่ ‘วัฒนธรรมการดื่มกาแฟ’ จะเติบโตและแผ่ขยายไปในทุกอนูของโลกใบนี้ในปัจจุบัน จำนวนของร้านกาแฟคือเครื่องพิสูจน์ความนิยมที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดของร้านกาแฟได้เป็นอย่างดี คำถามที่เป็นประเด็นสำคัญทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงการออกแบบนั้นเกิดขึ้นก็คือ ‘แล้วเราขายกาแฟให้กับใคร’ ลองมาดูร้านกาแฟ Harudot Chonburi by NANA Coffee Roasters ที่ออกแบบโดย IDIN Architects กันว่าร้านกาแฟที่ออกแบบเพื่อ ‘การมาสักครั้งหนึ่ง’ นั้นนำเสนอภาพของงานออกแบบที่ตอบรับกับการหาจุดยืนทางธุรกิจในตลาด red ocean นี้ได้อย่างไร
Harudot คือแบรนด์ที่ กุ้ง-วรงค์ ชลานุชพงศ์ ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ NANA Coffee Roasters นั้นได้เริ่มต้นขึ้นเพื่อเป็น second brand สำหรับการขยายรัศมีของการขายแบบเดลิเวอรีในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกับตั้งเป้าเพื่อขยายออกไปในหัวเมืองต่างๆ โดยเริ่มจากจังหวัดชลบุรีเป็นที่แรก
หากพิจารณาถึงชื่อแบรนด์ ‘Harudot’ นั้นสามารถแยกย่อยเป็นคำว่า ‘Haru’ ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าฤดูใบไม้ผลิ ที่รวมเข้ากับคำว่า ‘dot’ ในภาษาอังกฤษอันแฝงความหมายของการเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ประกอบกับ partner ของร้านสาขาชลบุรีแห่งนี้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ต้นไม้อยู่แล้ว สถาปนิกจึงหยิบไอเดียหลักของชื่อแบรนด์มาขยายความเป็นสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าถึงการงอกเงยเติบโตของต้นไม้ ซึ่งก็เข้าทางกับแนวทางการออกแบบของ IDIN Architects ที่มักหยิบยกพื้นที่สีเขียวมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับบริบทของพื้นที่ที่ไม่ได้ตั้งอยู่กลางเมืองมากนัก ตัวอาคารจึงต้องมีความโดดเด่นเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนในระดับหนึ่ง รูปทรงสามเหลี่ยมเตะตาที่มาพร้อมกับสีดำสนิทจึงถูกเลือกใช้เพื่อเป็นรูปลักษณ์หลักของอาคาร ซึ่งยังได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากการมอบบรรยากาศความเป็นญี่ปุ่นที่ช่วยสร้างจุดเด่นในเชิงการขายไปในตัว
ในการออกแบบ IDIN Architects จึงเริ่มต้นจากการค้นหาวิธีการแทรกพื้นที่สีเขียวเข้าไปในสถาปัตยกรรมผ่านการทำงานร่วมกับตัว form ของอาคารที่มีลักษณะคล้ายจั่วทั้งสามหลัง โดยรูปทรงของอาคารที่ตรงกับพื้นที่สีเขียวด้านล่างนั้นจะมีการบวมหลังคาออกเพื่อสร้างความรู้สึกคล้ายกับตัวอาคารนั้นหลีกทางให้กับต้นไม้ที่ผุดงอกขึ้นมาจากผืนดินด้านล่าง การเปิดช่องว่างบนหลังคานี้ยังถูกใช้เพื่อกำหนดการใช้งานภายในและภายนอกอาคาร เมื่อเข้าจากด้านหน้าจะพบกับช่องว่างบนหลังคาที่เปิดโล่งเพื่อกำหนดพื้นที่เบื้องล่างให้เป็นพื้นที่ semi-outdoor ก่อนที่จะเดินเข้าไปยังพื้นที่ภายในที่พื้นที่ช่องเปิดด้านบน ถูกคลุมด้วยฝ้าผ้าใบเพื่อกันฝนและยังทำหน้าที่กระเจิงแสงเข้าสู่พื้นที่ใช้งานภายในอาคาร
เมื่อพิจารณาถึงการจัดวาง zoning แม้จั่วทั้งสามหลังนั้นรองรับฟังก์ชันที่แตกต่างกัน อันประกอบด้วยส่วนพื้นที่นั่งทานกาแฟ ส่วนเคาน์เตอร์ และส่วนสนับสนุนต่างๆ แต่การ ‘บวม’ ของ form อาคารทั้งสามหลังก็ได้ก่อให้เกิดพื้นที่ซ้อนทับที่ได้กลายเป็นพื้นที่เชื่อมต่อของอาคารแต่ละก้อน ซึ่งหากมองจากด้านนอก รูปทรงโดยรวมจะมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอาคารสามเหลี่ยมเรียบๆ สามหลัง ที่อาคารส่วนที่บวมออกได้สร้างความเชื่อมต่อและองค์ประกอบเส้นโค้งผ่านการ subtract ของพื้นที่สามมิติ สร้างให้เกิดความลื่นไหลเข้าหากันของพื้นที่ภายใน
นอกเหนือจากตัวสถาปัตยกรรม ทั้งการออกแบบภายในและรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ยังได้รับการออกแบบในรายละเอียดทุกๆ ส่วน เพื่อให้ผู้ใช้งานได้มีส่วนร่วมกับการสังเกตองค์ประกอบต่างๆ ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ built-in ที่เลื่อนไหลไปกับพื้นที่ภายใน โดยใช้วิธีการเปลี่ยนระดับเพื่อเปลี่ยนการใช้งานแทน สูงหน่อยเป็นโต๊ะ เตี้ยหน่อยเป็นม้านั่ง ส่วนพื้นที่มีการฝังรายละเอียดอย่างลวดลายซากุระจากอะคริลิกที่ฝังบนพื้นรอบๆ ต้นไม้ การใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเรซิ่นผสมกากกาแฟ ไปจนถึง signage ต่างๆ ที่แอบซ่อนอยู่ให้ผู้ใช้งานได้คอยสังเกต ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างประสบการณ์ของการมาเยื่อมชมร้านกาแฟในฐานะแลนด์มาร์ก หรือการเป็นจุดหมายในการท่องเที่ยวที่นานๆ มาครั้ง
ประเด็นของการ ‘ถ่ายรูป’ ก็ยังเป็นประเด็นที่สถาปนิกให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากิจกรรมอื่นๆ ในฐานะที่ Harudot นั้นทำหน้าที่ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะการกำหนดวัสดุพื้นผิวไว้เพียงแค่วัสดุไม้ทาสีดำภายนอก และไม้สนสีธรรมชาติภายใน ทำให้ไม่ว่าจะถ่ายรูปจากมุมไหน ก็สามารถทราบได้ทันทีว่าทีนี้คือร้านกาแฟ Harudot รวมทั้งการออกแบบโคมไฟ uplight ภายในโครงการที่มีรายละเอียดสะท้อนกับแผ่นโลหะด้านบนที่ช่วยให้แสงภายในทุกจุดมีความนุ่มขึ้น ซึ่งความสำเร็จของความเป็นฉากถ่ายรูปพิสูจน์ได้ชัดเจนจากจำนวนคน จำนวนกล้อง รวมทั้งคิวที่ต่อยาวเพื่อถ่ายรูปในมุมฮิตของร้าน
ถ้าเปรียบเทียบกับผลงานชิ้นก่อนหน้าของ IDIN Architects อย่าง NANA Coffee Roasters Bangna เราจะเห็นได้ถึงความเบลอของขอบเขตสถาปัตยกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ใช้งานได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศของการดื่มกาแฟเป็นหลัก ซึ่งเน้นการออกแบบเพื่อกลุ่มลูกค้าที่กลับมาอีกซ้ำๆ แต่สำหรับ Harudot นั้นที่ตั้งใจเป็นร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ของประเทศไทยในฐานะร้านกาแฟอันเป็นแลนด์มาร์กของพื้นที่ งานออกแบบที่เกิดขึ้นจึงต้องมีความเรียกร้องทางสายตาที่มากกว่า เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้แวะมาสักครั้งในหนึ่งทริป แม้จะเป็นร้านกาแฟเหมือนกัน แต่การออกแบบที่เกิดขึ้นต่างตอบรับกับรูปแบบจำเพาะของผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเหตุผลทางการตลาดที่เน้นไปที่เรื่องของ ‘ความลึก’ ในยุคปัจจุบัน (อันแยกย่อยให้ร้านกาแฟเรือนหมื่นเรือนแสนสามารถหาจุดยืนและสร้างฐานลูกค้าที่แตกต่างให้กับตัวเอง) งานออกแบบคือเครื่องมือสำคัญที่ขับเน้นภาพของจุดยืนของแต่ร้านให้ชัดเจนขึ้น
สิ่งที่ชวนให้เราติดตามกันต่อไป คือร้านกาแฟเหล่านี้จะมาพร้อมกับความต้องการจำเพาะอะไรได้อีก ร้านกาแฟสำหรับคนชอบเที่ยวก็มีแล้ว ร้านกาแฟสำหรับคนรักหมาก็มีแล้ว เราอยากรู้เหมือนกันว่าการออกแบบร้านกาแฟจะแตกแขนงไปได้ถึงไหนกัน