CRAFTING YOUR IMAGINATION

คุยกับผู้ก่อตั้ง IDIN Architects ในเรื่อง ‘พื้นๆ’ พร้อม 4 โปรเจ็กต์ที่วัสดุ terrazzo ได้รับการทดลอง ต่อยอด จนออกมาเป็นผลงานที่เล่นสนุกกับประสบการณ์ของผู้ใช้อาคาร

TEXT: KAWIN RONGKUNPIROM
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

สำหรับสายคาเฟ่และคอกาแฟ คงได้เห็นผลงาน Harudot Chonburi by NANA Coffee Roasters ผ่านตาจากโซเชียลมีเดียอยู่บ้าง หรือบางคนก็อาจจะได้ไปเยี่ยมเยือนและสัมผัสกับความ ‘เซอร์ไพรส์’ ด้วยตัวเองมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในวันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับเป้ – จีรเวช หงสกุล ผู้ก่อตั้ง IDIN Architects และผู้ออกแบบคาเฟ่แห่งนี้เกี่ยวกับเรื่อง ‘พื้นๆ’ ทั้งในเรื่องพื้นฐานการออกแบบในโปรเจ็กต์ต่างๆ ของออฟฟิศ รวมไปถึงงานพื้น terrazzo ซึ่งได้รับการทดลอง ต่อยอด และพัฒนาลูกเล่นไปทีละขั้น จนเราได้เห็นศักยภาพของวัสดุพื้นชนิดนี้ว่ามีส่วนช่วยให้งาน Harudot Chonburi by NANA Coffee Roasters สนุกขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เป้ – จีรเวช หงสกุล ผู้ก่อตั้ง IDIN Architects | Photo: Ketsiree Wongwan

เริ่มแรกเราได้ถามถึงแนวทางการทำงานและความเชื่อของ IDIN Architects ซึ่งจีรเวชได้อธิบายว่าไม่ได้โฟกัสที่อาคารประเภทใดเป็นพิเศษ แต่เน้นที่เนื้อหาและเรื่องราวของงานมากกว่า ด้วยการผสมผสานงานออกแบบเข้ากับธรรมชาติของสรรพสิ่งต่างๆ เป็นเสมือนสัจจะของเจ้าของและบริบทของโครงการ งานออกแบบแต่ละชิ้นจึงมีความหลากหลาย มีเอกลักษณ์ และแทรกซึมไปกับเรื่องราวของผู้คนและบริบท ลูกค้าที่เข้ามาจึงมักต้องการงานที่ต้องการคาแร็กเตอร์ชัดๆ ภาพจำที่ชัดเจน และมีประเด็นควรค่าให้เล่าผ่านงานออกแบบ

แต่จากมุมมองของเรา สิ่งที่เห็นในแทบทุกผลงานของ IDIN Architects คือความเซอร์ไพรส์อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เหมือนผู้ออกแบบกำลังเล่นสนุกกับประสบการณ์แบบไม่ทันตั้งตัวของผู้ใช้อาคาร ด้วยการเปลี่ยนคาแร็กเตอร์ระหว่างภายนอกและภายในอาคารให้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หรือไม่ก็ปล่อยให้พวกเขาได้พบเจอกับสิ่งที่ซ่อนไว้ในรายละเอียดต่างๆ อยู่เสมอ และสี่ผลงานที่ถูกเลือกมาเล่านี้น่าจะช่วยให้ทุกคนเห็นภาพได้อย่างชัดเจนทีเดียว

Modernism Café

ร้านกาแฟ Modernism ที่ตั้งอยู่บริเวณส่วนหน้าของพื้นที่สำนักงาน IDIN Architects มีจุดตั้งต้นมาจากมุกตลกล้อเลียนชื่อ ผลงาน และโควตคำพูดของเหล่าสถาปนิกระดับปรมาจารย์ยุคโมเดิร์น ด้วยการเล่นคำจนกลายเป็นชื่อเมนูและสารพัดผลิตภัณฑ์ ซึ่งถ้าใครเรียนด้านสถาปัตย์มาก็คงจะเข้าใจได้ไม่ยาก แถมจะอินเป็นพิเศษด้วย

Modernism Café

Modernism Café | Photo: Spaceshift Studio

“ถ้าสังเกตที่ร้านจะใช้วัสดุยุคโมเดิร์น พยายามจะอ้างอิงกลับไปที่วัสดุยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระจก เหล็กเริ่มมีบทบาท รอยสนิม และพื้นเลือกเป็น terrazzo เพราะคิดว่าคลาสสิกดี มีความเรโทรนิดๆ แต่มาทำให้ดูวัยรุ่นหน่อย อีกทั้งยังคุมธีมได้ด้วย เนื้อสีจะตรงข้ามกับ terrazzo ปกติ ที่ร้านใช้เป็นเนื้อสีดำผสมหินสีขาวทั้งเม็ดใหญ่เม็ดเล็ก ได้ผิวที่ชอบมากจนหลายคนที่มาเห็นก็บอกว่าอยากได้แบบนี้ แต่ไม่เคยผสมได้แบบนี้อีกเลย ทำอีกทีก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว (หัวเราะ) เพราะขึ้นอยู่กับหินที่ตอนนั้นหาได้ ต่อให้ช่างคนเดิมทำก็ไม่เหมือน” จีรเวชเล่าถึงรายละเอียดของงานวัสดุที่แทบทุกระนาบปรากฏเป็นโทนสีดำดูเคร่งขรึม ตัดกับความสนุกที่ซ่อนอยู่ในเมนูและข้าวของตกแต่งภายในร้าน

Modernism Café IDIN

Modernism Café | Photo: Spaceshift Studio

Modernism IDINModernism IDINModernism IDIN
Riva Vista Riverfront Resort

รีสอร์ทแห่งใหม่ริมแม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย ที่เพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ และหากมองจากภายนอกก็แทบดูไม่ออกเลยว่าเป็นโรงแรม เพราะเมื่อมาถึง สิ่งแรกที่จะได้เห็นคืออาคารทรงสี่เหลี่ยมปิดทึบสีขาวเกลี้ยงสุดโมเดิร์น ตกแต่งด้วยบานไม้พลิกสลับด้านไปมาให้กลิ่นอายของงานคราฟต์ภาคเหนือ ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเป็นห้องพักวางเหลื่อมซ้อนกัน เปิดมุมมองโล่งกว้างออกสู่แม่น้ำและสระว่ายน้ำได้อย่างเต็มตา

Riva Vista IDINRiva Vista IDINRiva Vista IDIN

Riva Vista Riverfront Resort

การวางตัวซ้อนทับกันของห้องพักบนอีกฝั่งหนึ่งของอาคาร | Photo: DOF SKY|GROUND

ตัดมาที่สเปซภายในอาคาร ซึ่งไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะพบกับภาษาของเรือนไม้ล้านนา อย่างในส่วนพื้นที่นั่งเล่นและห้องอาหารที่ใช้ terrazzo ช่วยปูเรื่องราวของงานฝีมือตั้งแต่พื้นขึ้นมาถึงบริเวณเคาน์เตอร์ ซ้อนทับด้วยตั่งและควั่นไม้ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเรือนไทยภาคเหนือ และเพิ่มมิติของความเป็นพื้นถิ่นด้วยงานฝีมือและของตกแต่งจำพวกผ้าและไม้อีกชั้นหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของ IDIN Architects ที่ทดลองผสมผสานความโมเดิร์นเข้ากับองค์ประกอบแบบไทยๆ ที่นำมาตีความให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น

Riva Vista IDINRiva Vista IDINRiva Vista IDINRiva Vista IDIN
NANA Coffee Roasters Bangna

จากเทรนด์ café hopping และความสำเร็จของแบรนด์จากการเป็นที่จดจำเรื่องความสวยงามของร้าน ทางเจ้าของโครงการจึงมอบโจทย์ให้ร้าน NANA Coffee Roasters สาขาบางนานี้มีกาแฟเป็นพระเอก ซึ่งจีรเวชเชื่อว่าคนเราจะดื่มด่ำไปกับกาแฟที่อยู่ตรงหน้าอย่างละเอียดลึกซึ้งได้ ก็ต้องเป็นตอนที่เราจดจ่อกับกาแฟแก้วนั้นโดยไม่มีอะไรมาดึงความสนใจของเราไป

NANA Coffee Roasters Bangna IDIN

NANA Coffee Roasters Bangna | Photo: W Workspace

เส้นแบ่งระหว่างงานสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ถูกทำให้เบลอจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ในระดับที่ถามว่าหน้าตาอาคารเป็นอย่างไรก็แทบไม่มีใครอธิบายถูก (รวมถึงตัวผู้ออกแบบด้วยเช่นกัน) สิ่งที่ชัดเจนขึ้นมากลับกลายเป็นบรรยากาศของการดื่มกาแฟในสวน รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่ช่วยให้จดจ่อกับกาแฟตรงหน้าได้จริงๆ อย่างโต๊ะสีขาวแบบหันหน้าทางเดียวที่มีเนินโผล่ขึ้นมาเป็นระยะ ทำหน้าที่เป็นทั้งงานศิลปะและเป็นตัวช่วยเว้นระยะห่างระหว่างลูกค้าแต่ละคน ไปจนถึงความเรียบของฝ้า ผนัง และพื้น terrazzo ที่ล้วนคุมโทนสีขาวเช่นกัน ประสบการณ์เบื้องหน้าจึงมีเพียงกาแฟ เงาของแมกไม้ที่กระทบลงบนพื้นผิวสีขาว และความเขียวชอุ่มของบรรยากาศโดยรอบ ที่ประกอบกันเป็นเสน่ห์ให้กลับมาดื่มด่ำกับประสบการณ์แบบเฉพาะตัวนี้ได้ทุกวัน

NANA Coffee Roasters Bangna IDINNANA Coffee Roasters Bangna IDINNANA Coffee Roasters Bangna IDIN

Harudot Chonburi by NANA Coffee Roasters

แม้จะเป็นร้านกาแฟเครือเดียวกัน แต่วิธีคิดแตกต่างจากโปรเจ็กต์ก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง ร้านกาแฟ Harudot ซึ่งเป็นแบรนด์ย่อยของ NANA Coffee Roasters นี้ถือเป็นสาขาแรกของแบรนด์ที่ก้าวเท้าออกสู่พื้นที่ต่างจังหวัด งานนี้จึงมีโจทย์ให้สถาปัตยกรรมเป็นตัวดึงคนให้ต้องลองมาเยี่ยมเยือนสักครั้งให้ได้ พร้อมกับต้องถ่ายทอดเรื่องราวการคอลแล็บระหว่างเจ้าของที่ดินและแบรนด์เข้าไว้ด้วยกัน

Harudot IDIN

Harudot Chonburi by NANA Coffee Roasters | Photo: DOF SKY|GROUND

เจ้าของที่ดินแปลงนี้มีฟาร์ม exotic plant โดยหนึ่งในนั้นคือต้นเบาบับ ซึ่งถูกนำมาวางในพื้นที่ให้เหมือนกับถูกฝังเมล็ดไว้ในอาคาร ก่อนจะเติบโตจนแทงทะลุหลังคาออกมา ทางฝั่งแบรนด์เองก็มีชื่อที่ประสมคำภาษาญี่ปุ่นอยู่ ความเป็นญี่ปุ่นนี้ถูกตีความเป็นความเรียบง่ายที่แสดงออกผ่านอาคารทรงจั่วสีดำเรียบๆ สามหลังเชื่อมต่อกัน แต่ซ่อนความซับซ้อนและรายละเอียดต่างๆ เอาไว้ภายใน ซึ่งอัดแน่นด้วยลูกเล่นจากการออกแบบสเปซ การใช้วัสดุ และสีสันที่สร้างคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างจากงานภายนอก

Harudot IDIN

Harudot Chonburi by NANA Coffee Roasters | Photo: DOF SKY|GROUND

Harudot IDINHarudot IDINHarudot IDIN
คาแร็กเตอร์อันโดดเด่นชนิดที่ว่าเห็นรูปแวบเดียวก็รู้เลยว่าเป็นที่ไหน เกิดจากการผสมผสานของสีไม้สนที่มีความอบอุ่นนุ่มนวล และแพตเทิร์นของเส้นเฉียงซ้ำๆ ที่ไหลต่อเนื่องกันไปบนผืนผนัง รวมไปถึงความเรียบและต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวของพื้น terrazzo สีอ่อน ที่งานนี้เปลี่ยนข้อจำกัดของเส้นรอยต่อให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ ด้วยการตัดรอยต่อของพื้นที่ให้เป็นทั้งเส้นขอบเขต เส้นนำทาง พร้อมแทรกข้อความด้วยการฝังตัวอักษรลงไปเป็นเนื้อเดียวกับพื้น ช่วยให้ตัวข้อความคงทนถาวร ไม่หลุดล่อนหรือเป็นคราบเหมือนสติกเกอร์ อีกทั้งยังสามารถฝังของประดับตกแต่งเพื่อเพิ่มดีเทลให้กับพื้นที่ได้ ซึ่งถ้าสังเกตรอบๆ ต้นไม้จะมีเรซินหล่อรูปใบไม้โปรยกระจายอยู่ในพื้นด้วย และยังมีรายละเอียดสนุกๆ อีกมากมายที่ซ่อนอยู่ไม่ว่าจะเป็นบนโต๊ะ บนผนัง เรียกว่าแทบทุกพื้นที่ ซึ่งเราอยากชวนให้ทุกคนมาค้นหาและค้นพบด้วยตัวเอง

IDIN architects

Photo: Ketsiree Wongwan

นอกจากจะเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของผลงานที่ผ่านมาแล้ว จีรเวชยังแชร์ประสบการณ์การใช้งานพื้น terrazzo เพิ่มเติมกับเราด้วยว่า “ต้องเข้าใจธรรมชาติของ terrazzo ก่อนว่าเป็นงานทำกับที่ เป็นงานฝีมือ เป็นงานคราฟต์ที่คนเข้าไปทำ มีโอกาสเกิด hairline ได้ มีค่าคาดเคลื่อนนิดหน่อย เพราะฉะนั้นมันมีเรื่องฝีมือช่างเข้ามาเกี่ยว ที่เราเตรียมได้คือคิดเยอะๆ เรื่องการผสมหิน  ขนาดของพื้นผิวและสี ต้องใช้จินตนาการเยอะหน่อยเพราะแผ่นตัวอย่างเล็กนิดเดียว แต่ของจริงเป็นผืนเบ้อเริ่ม โดยเฉพาะเรื่องสี เอาไปเทียบกับแสงจากสถานที่จริงได้ยิ่งดี”

Harudot IDIN

Harudot Chonburi by NANA Coffee Roasters | Photo: DOF SKY|GROUND

และเมื่อเราถามจีรเวชถึงความประทับใจในวัสดุสำหรับงานพื้นชนิดนี้ เรื่องสัจจะวัสดุเป็นสิ่งแรกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง “ใช้มาตั้งแต่เริ่มทำงานเลยนะ เพราะตรงกับความชอบของเรา ชอบวัสดุที่มาจากเนื้อแท้ของมัน ชอบความจริงของมัน สร้างสีของมันได้ มันกลายเป็นว่าสีนั้นเป็นสีของที่ตรงนั้น เกิดจากความจริง ณ จุดนั้น” พร้อมกับเล่าถึงความประทับใจอื่นๆ ที่ได้ค้นพบภายหลังเมื่อได้ทดลองใช้กับโปรเจ็กต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการหล่อเป็นผืนใหญ่ รอยต่อน้อย การเล่นกับรอยต่อ และความยืดหยุ่นในการสร้างฟอร์มที่ต่อยอดจากพื้นไปเป็นเฟอร์นิเจอร์ เคาน์เตอร์ หรือผนังได้ด้วยวัสดุเดียว ก่อนจะปิดท้ายด้วยเรื่องความเป็นไปได้ไม่มีสิ้นสุดจากการ custom ส่วนผสมต่างๆ ที่เป็นเสมือนคำถามปลายเปิดให้กับสถาปนิก และแน่นอนว่าในศาสตร์ของการออกแบบ คำตอบไม่เคยมีถูกหรือผิด

Harudot IDINHarudot IDIN

หากเรื่องราวงานพื้น terrazzo ของจีรเวชจาก IDIN Architects สร้างแรงบันดาลใจจนคุณอยากมาลองเล่นสนุก หรือลองหาคำตอบใหม่ๆ ให้กับงานออกแบบชิ้นใหม่ของคุณ สามารถติดต่อทีมงานจากเสือ เพื่อขอรับบริการและคำปรึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการใช้งาน terrazzo เพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้

facebook.com/TigerBrandTH
tigerbrandth.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *