IDENDROPHILE 54 PHASE 2

Idendrophile 54 Phase 2

Idendrophile 54 Phase 2

ที่พักเล็กๆ สำหรับเสพทิวทัศน์และดูดาวเหนือยอดไม้บนภูเขาในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความรักต่อกิจกรรมพักผ่อนแบบ outdoor และ camping ของเจ้าของและสำนักงานสถาปนิกแผลงฤทธิ์

TEXT & PHOTO: MONTHON PAOAROON

(For English, press here)

ในช่วงฤดูฝนนี้เราขับรถขึ้นเขาไปที่บ้านปางไฮ ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่ปลูกกาแฟคุณภาพของเชียงใหม่ที่อยู่สูงเกิน 1,000 เมตร จากน้ำทะเล หลังจากเลี้ยวจากถนนหลักก็เหลือถนนแคบเลนเดียว รถวิ่งผ่านทางน้ำก่อนจะมาถึงจุดหมายปลายทาง ที่พักเล็กๆในภูเขาลึกในชื่อ Idendrophile 54 โครงการปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมดสองเฟส เรามีเป้าหมายที่อาคารเฟส 2 ที่อยู่ลึกเข้าไปอีกหน่อย ที่ออกแบบโดยสำนักงานสถาปนิกแผลงฤทธิ์

Idendrophile 54 Phase 2

ขวัญชัย สุธรรมซาว สถาปนิกผู้ก่อตั้งแผลงฤทธิ์เล่าว่า รู้จักกับเจ้าของโครงการจากการเป็นกลุ่มเพื่อนที่รักกิจกรรมพักผ่อนแบบ outdoor เหมือนกัน เมื่อเฟสแรกของโครงการที่เสร็จก่อนหน้านี้ไม่นานประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและเจ้าของคิดจะทำเฟสสอง จึงได้เลือกขวัญชัยมาให้ดูแลการออกแบบ โดยเริ่มแรกเจ้าของโครงการไม่ได้ให้โจทย์อะไรกับสถาปนิกเป็นพิเศษ นอกจากมีโปรแกรมเป็นที่พักรายวัน เป็นอาคารที่ผู้มาพักสามารถอยู่ด้วยกัน 4 คน หรือสามารถขยายเป็น 4+2 คน หรือ 4+4 คน ได้ และสามารถเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมตอนฝนตกได้เพราะที่ตำบลเทพเสด็จนั้นฝนตกค่อนข้างบ่อย

Idendrophile 54 Phase 2

Idendrophile 54 Phase 2

เมื่อสถาปนิกมาเห็นพื้นที่ครั้งแรกได้สังเกตเห็นช่องแสงจากเงาไม้และต้นไม้ที่สูงเหมือนแท่งดินสอ 3 ต้น และตัวพื้นที่เป็น slope มีหินค่อนข้างเยอะ เป็นที่มาของการยกอาคารขึ้นจากพื้นหลบแนวต้นไม้ และแบ่งอาคารเป็นหลายระดับเพื่อสร้างมุมมองการมองเห็นที่หลากหลาย แบ่งเป็นบริเวณลำธาร พื้นที่ด้านล่าง ชั้น 2 และชั้นหลังคา ในขณะเดียวกันอาคารที่ยกใต้ถุนสูงก็ช่วยให้อาคารหนีจากความชื้นจากดิน ได้รับแสงแดดส่องถึง ทำให้ดูแลรักษาได้ง่าย และยังทำให้ภาพรวมของอาคารต่างจากอาคารในเฟสแรกที่แบ่งพื้นที่กิจกรรมในแนวราบอีกด้วย

Idendrophile 54 Phase 2Idendrophile 54 Phase 2Idendrophile 54 Phase 2Idendrophile 54 Phase 2Idendrophile 54 Phase 2
ฟังก์ชัน 4 ระดับ

การสัญจรและการเข้าถึงส่วนต่างๆ เป็นคาแร็กเตอร์หลักของที่พักหลังนี้ จากที่จอดรถ ทางเข้าสู่อาคารมีลักษณะเป็นทางเดินเหล็กยกลอยจากพื้นที่นำเข้าสู่พื้นที่ชั้นล่างที่เป็นส่วนใต้ถุนโล่ง สำหรับรองรับกิจกรรมอเนกประสงค์และห้องน้ำที่สามารถรองรับผู้เข้าพักเพิ่มด้วยการกางเต็นท์ได้ รวมทั้งมีทางเดินไปยังพื้นที่ติดลำธารที่มีอ่างน้ำอุ่นระบบฟืนที่เจ้าของเดินทางไปสั่งด้วยตัวเองจากประเทศสวีเดนให้แช่กันเพลินๆแบบใกล้ชิดธรรมชาติ พื้นที่ชั้นล่างนี้มีลิฟท์ไฮดรอลิกที่อำนวยความสะดวกในการขึ้นไปยังพื้นที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นส่วนห้องพัก ประกอบด้วยห้องครัว พื้นที่นั่งเล่นและส่วนนอน และชั้นลอยที่มีขนาดกะทัดรัดเปิดวิวไปที่โค้งน้ำ ที่ซ่อนส่วน service และห้องน้ำไว้ด้านหลัง จากระเบียงชั้น 2 มีบันไดลิงสำหรับปีนขึ้นไปชมวิวและดูดาวเหนือยอดไม้ โดยมีระนาบของตะแกรงเหล็กกันใบไม้และกิ่งไม้ ที่ได้รับการออกแบบให้กลมกลืนกับตัวอาคาร และเพื่อให้สามารถปีนขึ้นมาดูแลกระจก skylight ได้ง่ายอีกด้วย

Idendrophile 54 Phase 2 1Idendrophile 54 Phase 2Idendrophile 54 Phase 2Idendrophile 54 Phase 2Idendrophile 54 Phase 2
อาคาร 4 นิ้ว

สำหรับการออกแบบโครงสร้าง ขวัญชัยอธิบายว่าเลือกใช้โครงสร้างหลักเป็นเหล็กขนาดหน้าตัด 4 นิ้วทั้งหมด เพื่อให้สามารถใช้แรงคนในการก่อสร้างได้ทั้งหมด เนื่องจากการขนส่งเครื่องจักรหรือองค์ประกอบที่ขนาดใหญ่กว่านี้ทำได้ยาก และเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้โครงสร้าง คสล. ที่มีขนาดใหญ่ ในทำนองเดียวกัน ส่วนผนังทั้งภายในและภายนอกอาคารก็เลือกกรุด้วยวัสดุเบา และหลีกเลี่ยงการทำสีให้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของผนังเมทัลชีทที่ห่อหุ้มอาคาร ซึ่งแม้จะดูโดดเด่นจากบริบทธรรมชาติโดยรอบ แต่ด้วยโครงสร้างที่มีขนาดเล็กและสูงชะลูด ทำให้ภาพรวมของกายภาพอาคารดูกลมกลืนกับบรรยากาศ โดยเฉพาะเสากลมขนาด 4 นิ้ว ที่ดูกลมกลืนกับลำต้นไม้ที่อยู่รายรอบ

 

Idendrophile 54 Phase 2Idendrophile 54 Phase 2Idendrophile 54 Phase 2

Idendrophile 54 Phase 2

Idendrophile 54 Phase 2Idendrophile 54 Phase 2Idendrophile 54 Phase 2
จาก lifestyle outdoor สู่งานสถาปัตยกรรม

ด้วยความที่ทั้งเจ้าของโครงการและสถาปนิกเป็นคนชอบไปเที่ยว camping แบบ outdoor เป็นกลุ่มใหญ่ที่ ขวัญชัยอธิบายว่าอุปกรณ์ camping ต่างๆ ที่ไดรับการออกแบบมาเป็นอย่างดีในปัจจุบันนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้เที่ยวได้ง่ายขึ้นและสนุกขึ้น เหมือนย่อบ้านเล็กๆ ติดตัวไปได้ทุกที่ ซึ่งในโครงการนี้ก็ได้รับการออกแบบบนแนวคิดเดียวกันในทุกรายละเอียด อาทิ เก้าอี้ส่วนทานข้าวที่เป็นชุด camping ที่เบาชนิดที่เด็กๆ สามารถยกย้ายได้ ความสูงและความกว้างของอาคารที่ไม่ใหญ่เกินไปแต่พอดีกับการใช้งาน เหมือนเวลาที่อยู่ในเต๊นท์ที่มีขนาดแค่พอดียืนแต่ใช้ชีวิตได้

Idendrophile 54 Phase 2

Idendrophile 54 Phase 2

ขวัญชัยเล่าต่อว่าอุปกรณ์ camping แบบตะวันตกจะเน้นการใช้งานคนเดียว แต่สำหรับแบรนด์เอเชียจะออกแบบมาเพื่อเน้นการใช้งานแบบ family และครอบคลุมการใช้งานมากกว่า เช่น เตาอันเดียวสามารถทำได้ทั้งต้มน้ำร้อน หุงข้าว และอุ่นเครื่องกระป๋องได้ในเวลาเดียวกัน คอนเซ็ปต์นี้สะท้อนออกมาในตัวอาคาร อย่างในบริเวณห้องน้ำชั้นล่างที่ใช้บล็อกแก้วเป็นผนังที่ทำตัวเป็นแหล่งกำเนิดแสงในเวลากลางคืนได้ด้วยในตัว ชั้นลอยและชานพักบันไดที่กลายเป็นส่วนเก็บของและห้องเครื่อง หากนึกถึงการเดินทางไป camping ในสถานที่ธรรมชาติที่การเดินทางต้องเบาสบาย น่ารื่นรมย์ แต่ก็ยังต้องมีฟังก์ชันการใช้ชีวิตพื้นฐานที่ครบถ้วนในช่วงเวลาที่เดินทางไปนั้น ที่พักแห่งนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์ และมอบประสบการณ์การพักผ่อนและแรงบันดาลใจในลักษณะเดียวกัน

Idendrophile 54 Phase 2

facebook.com/plankrich
plankrich.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *