KSANA TEA HOUSE

KSANA Tea House

ร้านชาเขียวมัทฉะที่จะพาทุกคนไปร่วมรับรู้และซึมซับ ‘ห้วงขณะหนึ่งของเวลา’ ผ่านพื้นที่โพรงถ้ำจำลองที่ถูกปั้นขูดทีละส่วนโดยความร่วมมือระหว่างประติมากรและสถาปนิก

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: PEERAPAT WIMOLRUNGKARAT

(For English, press here)

ปลายสุดทางเดินที่ทอดยาวยกระดับความสูงต่อเนื่องจากส่วนลานพื้นที่เปิดโล่งบริเวณด้านหน้าโครงการอาคารสำนักงาน ‘One City Centre’ (OCC) ใต้บันไดที่เชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างอาคารชั้นสองไปยังชั้นสาม เป็นที่ตั้งร้าน flagship ชาเขียวมัทฉะ สาขาแรกของ ‘KSANA’ ผลงานของการออกแบบของ JUTI architects โดย จุติ กลีบบัว ที่เข้ามาดูแลจัดการนับตั้งแต่การออกแบบกลวิธีการเล่าเรื่องของแบรนด์ โลโก้ และพื้นผิวของผนังถ้ำขรุขระสีขาวนวลที่ประกอบกันให้เกิดพื้นที่จำเพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของร้านชาแห่งนี้

KSANA Tea House

KSANA Tea HouseKSANA Tea House

KSANA ต้องการมุ่งเสริมสร้าง พร้อมนำเสนอประสบการณ์การรับรู้และสัมพันธ์ถึง ‘ห้วงขณะหนึ่งของเวลา’ ที่จะเกิดขึ้นซ้อนทับในห้วงอารมณ์ความรู้สึก ระหว่างการเปลี่ยนผ่านอย่างฉับพลันจากสัมผัสรสชาติชาที่ลุ่มลึก หรือจากพื้นที่หนึ่งสู่อีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงขณะเวลาที่ถูกชะลอช้าลงกว่าที่ดำเนินอยู่ก่อนหน้านั้นเอง สิ่งเหล่านี้ยังถูกเน้นย้ำผ่านทั้งการออกแบบโลโก้ที่อ้างอิงจากนาฬิกาแดด รวมถึงชื่อ ‘KSANA’ ที่มาจากภาษาสันสฤตที่หมายถึง ห้วงเล็กๆ ของเวลา ซึ่งเป็นรากศัพท์ในภาษาไทยของคำว่า ‘ขณะ’ รวมถึงคำว่า ‘刹那 (setsuna)’ ที่มีความหมายว่า ‘ช่วงเวลา’ ในภาษาญี่ปุ่น

KSANA Tea HouseKSANA Tea HouseKSANA Tea House

ผนังถ้ำจำลองที่ก่อบุเสริมพื้นผิวผนังทั่วทั้งพื้นที่เกิดจากวัสดุ fiberglass ผสมผงหินขึ้นรูปด้วยโฟม CNC ที่ปั้นและขูดตกแต่งลอกเลียนผิวสัมผัสของผนังหิน เป็นผลงานการทำมือของประติมากรจาก Art of Tea ซึ่งถูกหล่อขึ้นรูปตามต้นแบบเป็นส่วนๆ และติดตั้งเข้ากับโครงสร้างเหล็กรับน้ำหนักที่ปิดซ่อนพื้นที่ภายใน โดยแบ่งออกเป็นออกเป็นพื้นที่เก็บงานระบบและห้องเก็บของ จุติกล่าวขยายความถึงรูปลักษณ์การบอกเล่าที่ขับเน้นในทิศทางดังกล่าวว่า เกิดขึ้นจากการสนทนาต่อเนื่องบนมุมมองระบบนิเวศทางธรรมชาติ ซึ่งนับรวมพิจารณาพื้นที่อาคารโดยรอบเป็นป่าคอนกรีต ประสานเข้ากับพื้นที่สีเขียวจากต้นไม้ น้ำพุ บ่อน้ำ และประติมากรรมรูปทรงคล้ายหินในส่วนบริเวณทางเดินเข้าสู่ตัวอาคาร ด้วยพื้นที่ว่างดังกล่าวซึ่งมีลักษณะคล้ายโพรงแอบแฝงอยู่ในภูมิทัศน์นี้ การออกแบบโดยถ่ายทอดด้วยการจำลองเป็นพื้นที่ถ้ำจึงสอดรับไปกับทั้งระบบนิเวศน์โดยรอบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำเสนอการเข้าถึงประสบการณ์ ‘ห้วงเวลาที่เสมือนได้หลบหนีไปจากความวุ่นวาย’

KSANA Tea House

KSANA Tea House

แนวประตูกระจกซ้อนชั้นแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองระดับ โดยตัดแบ่งเป็นส่วนพื้นที่รับสินค้า take away และ delivery pick-up ก่อนประตูอีกบานจะนำเข้าไปสู่โพรงถ้ำสีขาวที่บีบแคบและลดระดับความสูงลงที่สุดปลายพื้นที่ ประกอบกับคุณสมบัติหักลบกระจายเสียงจากพื้นผิวบิดลอนโค้งของผนัง ร่วมไปกับการเปิดเสียงเพลงเพื่อเข้ามาช่วยกำหนดระดับเสียง ล้วนเป็นองค์ประกอบซึ่งช่วยกำกับและตัดเสียงรบกวน เพื่อขับเน้นสภาวะบรรยากาศอันสงบ ที่สอดสัมพันธ์ช่วยสร้างฉากทัศน์ซึ่งสามารถสัมผัสได้ด้วยทุกผัสสะ โดยเฉพาะในระดับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจไม่เพียงแต่การมองเห็นเท่านั้น ทุกองค์ประกอบประสานตัวเป็นบรรยาการแห่งความเงียบสงบแบบ surreal minimalist ซึ่งได้ตัดขาด ละทิ้งสภาวะแห่งความเร่งรีบและวุ่นวายที่เกิดขึ้นโดยรอบ เพื่อก้าวข้ามแล ะเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งที่ซ้อนทับอยู่กับพื้นที่เดิม ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม

jutiarchitects.in.th
facebook.com/JUTIarchitects

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *