แม้จะเจอตึกแถวที่ขนาบสองข้างและข้อจำกัดของหน้ากว้าง POAR ออกแบบโฮมเทลนี้มาเพื่อประสบการณ์ที่แตกต่างไม่เหมือนใครให้ผู้เข้าพัก
TEXT: KARN PONKIRD
PHOTO: KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ณ แพร่งสรรพศาสตร์ ที่ซึ่งเป็นย่านการค้าที่อยู่ระหว่างถนนตะนาวกับถนนอัษฎางค์ ใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือและเสาชิงช้า กรุงเทพฯ บริเวณซุ้มประตูวังสรรพสาตรศุภกิจ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์หลงเหลือของวังสรรพสาตรศุภกิจ ซึ่งถูกเพลิงไหม้เสียหายไปในปี ค.ศ.1967 และถูกปรับปรุงพื้นที่ใหม่เป็นกลุ่มอาคารตึกแถวพาณิชย์ขึ้นมาแทนนับแต่นั้น ฝั่งตรงข้ามซุ้มประตู อาคารโฮมเทล ‘ณ ตะนาว 1969’ ออกแบบโดย POAR แทรกตัวอยู่ระหว่างอาคารตึกแถวที่ขนาบสองข้าง บนที่ดินขนาดจำกัดเพียงประมาณ 30 ตารางวา หน้ากว้างของที่ดินกว้างเพียง 5 เมตร ลึก 25 เมตร ที่ซึ่งดูแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมา
หลังจากหักระยะร่นที่เพื่อนบ้านยินยอมให้ก่อผนังชิดแนวเขตที่ดินได้ในบางจุดแล้ว อาคารหลังนี้เหลือหน้ากว้างอยู่เพียง 3.50 เมตร ซึ่งบรรจุโปรแกรมที่ซ้อนกันขึ้นไป 4 ชั้นครึ่ง ประกอบด้วย คาเฟ่ ออฟฟิศ ส่วนซักรีดและส่วนเก็บของของโรงแรมที่ชั้น 1 พื้นที่ต้อนรับที่ชั้นลอย กลุ่มห้องพักในชั้น 2 และ 3 บ้านพักของเจ้าของโครงการในชั้น 4 และดาดฟ้าเป็นพื้นที่เลานจ์สำหรับสังสรรค์และรวมถึงบาร์ในบางโอกาส สถาปนิกใช้ข้อจำกัดด้านพื้นที่และประวัติศาสตร์โดยรอบของพื้นที่เป็นปัจจัยหลักของการออกแบบอาคาร เริ่มต้นจากการแยกก้อนฟังก์ชันภายในโดยใช้ระดับที่ต่างกัน สร้างช่องลมและช่องว่างขึ้นระหว่างห้องต่างๆ ทั้งในแกนตั้งและแกนนอน เพื่อสร้างสภาวะการถ่ายเทอากาศที่ดีและนำแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ภายในให้ได้อย่างทั่วถึง ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่
นอกจากลมและแสงที่ถูกนำ ‘เข้า’ มาในอาคารแล้ว การเจาะช่องเปิดต่างๆ ยังทำให้ผู้ใช้งานที่อยู่ในตัวอาคาร ‘ออก’ ไปสัมผัสกับบริบทโดยรอบของอาคารได้อีกด้วย “เราต้องการเปิดให้คนเห็นทุกๆ อย่างที่มีในไซต์แคบๆ นี้ให้ครบทุกมุม เพราะการที่จะทำให้คนกลับมาพักอาคารหลังนี้ได้ครั้งที่สอง สาม สี่หรือมากกว่านั้นได้ ห้องพักแต่ละห้องนั้นต้องสามารถสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างกันให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่การวางแปลน แต่ด้วยตำแหน่งและระดับของห้องแต่ละห้องนั้นไม่เหมือนกัน ทำให้สามารถมองเห็นได้หลากหลาย” พัชระ วงศ์บุญสิน สถาปนิกจาก POAR อธิบาย ซึ่งการแยกก้อนฟังก์ชันต่างๆ ออกจากกันนั้น ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าพักสัมผัสมิติบางอย่างที่ซ่อนอยู่ผ่านช่องเปิด ระดับ แสงและเงา รวมไปถึงเสียง ที่การออกแบบอนุญาตให้แทรกสอดเข้าไปในงานสถาปัตยกรรมในแต่ละจุดที่แตกต่างกัน
บริบทโดยรอบที่มีพลวัตของแพร่งสรรพศาสตร์ ที่อาคารหนึ่งอาจมีอายุร่วมเกือบร้อยปี ในขณะที่อาคารเคียงข้างอาจจะถูกก่อสร้างใหม่ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหลักของการเลือกใช้วัสดุและรูปแบบการก่อสร้างของสถาปนิก เริ่มต้นจากการเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก ซึ่งถูกออกแบบและตัดเป็นความยาวที่ต้องการมาจากโรงงาน เพื่อความสะดวกในการขนย้ายและนำมาติดตั้ง ทำให้ขั้นตอนการประกอบโครงสร้างทำได้อย่างรวดเร็ว เกิดเสียงจากงานประกอบเหล็กที่จะไปรบกวนอาคารข้างเคียงน้อยกว่าการก่อสร้างอาคารคอนกรีตรวมไปถึงขยะจากงานก่อสร้างที่จะมีน้อยตามมาด้วย
ส่วนวัสดุหุ้มผิวอาคาร สถาปนิกออกแบบให้ ‘เวลา’ เป็นภาพแทนของ ณ ตะนาว 1969 ผ่านการเลือกใช้วัสดุที่มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่รอบข้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่กลายเป็นส่วนเดียวกับอาคารข้างเคียง อาทิ การใช้ไม้ตะเคียนซึ่งผิวไม้จะซีดลงตามกาลเวลา รวมไปถึงการใช้กระเบื้องดินเผาซึ่งไม่ผ่านการเคลือบผิวที่มีสีเทาใกล้เคียงกับคราบที่เกิดตามกาลเวลาบนผนังอาคาร เมื่อมองจากภายในผ่านช่องเปิด ร่องรอยของวัสดุทั้งใหม่และเก่า รวมทั้งแสงและเงาที่ตกกระทบนี้ถูกล้อมกรอบให้เป็นเสมือนภาพแขวนประดับผนัง ที่แสดงถึงและเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของพื้นที่
ณ ตะนาว 1969 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา อาคารหลังนี้เป็นตัวอย่างของการกลับมามองถึงการใช้พื้นที่เล็กๆที่อยู่ระหว่างอาคารพาณิชย์ ซึ่งมักถูกปล่อยให้รกร้างเพราะเล็กเกินกว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ และแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของสเปซทางสถาปัตยกรรมที่ของใหม่กับของเก่าอยู่ร่วมกัน ซึ่งการสะท้อนกลับของกันและกันของสถาปัตยกรรมเก่าและใหม่นั้น สร้างพลวัตและขับเคลื่อนให้วิถีชีวิตของชุมชนมีชีวิตชีวาต่อไป “เราเปิดโอกาสให้สิ่งต่างๆ รอบตัวอาคารเป็นพระเอก เป็นการสร้างการอยู่ในยุคปัจจุบันร่วมกับอดีตอย่างไม่ขัดแย้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้คล้อยตาม” พัชระทิ้งท้าย