URBAN FARMING OFFICE

Urban Farming Office

อาคารในนครโฮจิมินห์ ซิตี้ ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘สวนแนวตั้ง’ ตามเทรนด์ทั่วไป ทว่าเป็น ‘ฟาร์มแนวตั้ง’ ที่ VTN Architects ตั้งใจทดลองเพื่อแก้ไขปัญหาของเมืองในหลากหลายมิติ

TEXT: KARN PONKIRD
PHOTO: HIROYUKI OKI

(For English, press here)

เวียดนามเป็นประเทศที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงจนน่าจับตามองในช่วงทศวรรษล่าสุด อัตราการลงทุนของบริษัทข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุให้ประชากรเวียดนามเดินทางจากชนบทสู่เมืองใหญ่ๆเพื่อรองรับตลาดแรงงานที่เฟื่องฟู จากข้อมูลพบว่าในช่วง 5 ปี ล่าสุด ประชากรอพยพเข้ามาทำงานในเมืองหลวงเพิ่มขึ้น 3.4% ในแต่ละปี ความแออัดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เป็นโจทย์ที่ท้าทายในการพัฒนาเมืองอย่างมีคุณภาพเพื่อตามจำนวนประชากรให้ทัน เช่นเดียวกับอาคารสำนักงานใหม่ของ VTN Architects (Vo Trong Nghia Architects) ซึ่งมีชื่อเสียงในระดับโลกจากผลงานออกแบบที่โดดเด่นในแนวทางสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น การจัดสรรพื้นที่สีเขียวที่เป็นเหมือนคาแร็กเตอร์ของสำนักออกแบบแห่งนี้ก็ถูกนำมาต่อยอดและนำเสนอใน façade อาคาร การจัดวางฟังก์ชันระบบดูแลพืชพรรณ รวมไปถึงหลักการประหยัดพลังงาน ทำให้สำนักงานแห่งนี้มีอะไรมากกว่าการดีไซน์ ‘สวนแนวตั้ง’ ที่ฉาบฉวยตามเทรนด์

ตั้งอยู่ ณ นครโฮจิมินห์ ซิตี้ การใช้พื้นที่อาคารของเวียดนามโดยเฉพาะในเขตเมืองโดดเด่นในการกระจุกตัวกันของกลุ่มอาคารพาณิชย์ ทำให้การออกแบบพื้นที่อาคารในทางตั้งเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องจัดการ โดยพื้นฐานแล้ว การที่พื้นที่ใช้สอยส่วนใหญ่เป็นแนวตั้ง ทำให้กลุ่มอาคารอยู่อาศัยและอาคารสำนักงานถูกออกแบบมาให้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าที่สุด ทำให้ไม่เหลือพื้นที่ให้ต้นไม้ และทำให้อาคารต้องใช้เครื่องปรับอากาศ 100% ในพื้นที่ภายใน ปัญหานี้ทำให้เกิดปัญหามลพิษทั้งทางอากาศและเกาะความร้อนที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองที่มีแต่คอนกรีต VTN Architects มองว่าปัญหานี้ทำให้ทั้งชุมชนเดิม รวมไปถึงประชากรที่ย้ายเข้ามาอาศัยในตัวเมือง ‘ขาดการเชื่อมต่อกับธรรมชาติ’ รากเหง้าของการพึ่งพาตนเองของชาวเวียดนาม ที่สถาปนิกคิดว่าวิถีชีวิตการเก็บเกี่ยวพืชพรรณเพื่อบริโภคนั้นลดลง และการที่ต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้าผลผลิตมากขึ้นนั้นเป็นอันตรายต่อความยั่งยืนทางอาหารอีกด้วย

Urban Farming Office

เพื่อทดลองแก้ปัญหานี้ VTN Architects ออกแบบอาคารสำนักงานของตัวเองโดยอาศัยคุณสมบัติของพืชพรรณมาช่วยในหลายๆมิติของอาคาร การใช้ต้นไม้ทำหน้าที่เป็น façade อาคาร ช่วยกรองแสงแดดในทิศใต้ที่จะเข้ามากระทบผิวชั้นในของอาคาร และช่วยดักจับฝุ่นมลพิษในฤดูกาลที่ความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ปกคลุม และพื้นคอนกรีตของเมืองคายความร้อนอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดภาวะที่อากาศไม่ถ่ายเท และก่อให้เกิดภาวะฝุ่น pm2.5 ในเมืองใหญ่ในช่วงฤดูหนาวของเวียดนาม กำแพงต้นไม้ที่หนาแน่นนี้เป็นเสมือนชั้นกรองอากาศจากธรรมชาติให้ผู้ใช้งานด้านในไม่ต้องสัมผัสกับฝุ่นโดยตรง

Urban Farming Office

พร้อมกันนี้สถาปนิกได้ออกแบบชุดตะแกรงสำหรับปลูกพืชพรรณเป็นระบบโมดูลาร์เพื่อความสะดวกยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนต้นไม้ตามขนาดในอนาคต กลุ่มของกระถางขนาดต่างๆ กันซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนัก รวมถึงชนิดของต้นไม้ถูกติดตั้งโดยแขวนไว้กับราวเหล็กที่ถูกออกแบบเอาไว้ ความไม่ถาวรนี่เองทำให้อาคารสำนักงานแห่งนี้เหมือนเติบโตและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานได้ออกมามีปฎิสัมพันธ์กับการดูแลเก็บเกี่ยวพืชตามฤดูกาล ซึ่งต้นไม้หลายชนิดที่ปลูกไว้ก็ล้วนเป็นพืชสมุนไพร หรือมีส่วนที่สามารถทานได้ คละไปกับไม้ผลต่างๆ เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ตามความต้องการในการทดลอง ‘ฟาร์มแนวตั้ง’ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีใหม่ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่ในการปลูกพืชให้เพียงพอต่อประชากรเวียดนามที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

Urban Farming OfficeUrban Farming Office

ส่วนตัวสถาปัตยกรรมภายในและโครงสร้าง สถาปนิกเลือกใช้ความเรียบง่ายของคอนกรีตเปลือยเป็นหลัก เพื่อลดขั้นตอนในการก่อสร้างรวมไปถึงลด carbon footprint จากวัสดุปิดผิวที่มากเกินความจำเป็น สเปซภายในถูกลดจำนวนผนังและกำแพงลง การเจาะช่องโถงที่ล้อมไปด้วย corridor ซึ่งถูกใช้งานเป็นทั้งทางสัญจรและพื้นที่พักผ่อน ก็ทำให้ภายในอาคารมีความโปร่งโล่ง สอดรับกับหน้าต่างบานสูงที่สามารถเปิด-ปิดเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ทำให้การหมุนเวียนของอากาศทั่วถึงทั้งอาคารในวันอากาศดี ส่วน façade ต้นไม้ในช่วงที่มีการรดน้ำด้วยระบบรดน้ำอัตโนมัตินอกจากสามารถกำหนดปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อความประหยัดได้แล้ว น้ำที่ระเหยออกไปก็ช่วยลดความร้อนให้ภายในอาคารในอีกทางหนึ่ง เกิดเป็นภาวะน่าสบายที่ลดการพึ่งพาระบบปรับอากาศตลอดเวลา

Urban Farming Office

Urban Farming Office

อาคารสำนักงานนี้แล้วเสร็จในปี 2022 มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 1,386 ตรม. และยังถูกออกแบบเผื่อสำหรับการต่อเติมในอนาคต การจัดวางงานระบบที่ลดความซับซ้อนของอาคารโดยทั้งลิฟต์และแกนบันไดไปไว้เพียงซีกฝั่งทิศเหนือของอาคารจะช่วยให้การปรับปรุงในอนาคตสะดวกขึ้น สำหรับอาคารสำนักงานแห่งนี้ เมื่อคำนวนระบบสวนที่ดาดฟ้า façade รวมพื้นดินชั้นล่างแล้วจะมีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวถึง 190% ต่อพื้นที่

Urban Farming OfficeUrban Farming OfficeUrban Farming OfficeUrban Farming Office
Urban Farming Office

การพัฒนาสวนแนวตั้งหรือการใช้ต้นไม้มาเป็น façade อาคารไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสิ่งที่สถาปัตยกรรมนั้นต้องพิสูจน์คือความยั่งยืนในการใช้งาน การดูแลพืชพรรณ และการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน ไปจนถึงการมอบสภาวะแวดล้อม, อากาศบริสุทธิ์คืนแก่ชุมชน อย่างน้อยที่สุด อาคารสำนักงานสีเขียวของ VTN Architects แห่งนี้มิได้เริ่มต้นมาจากการพยายามทำตามเทรนด์ หรือเพียงเพื่อเป็นภาพโฆษณาชั่วครั้งชั่วคราว แต่ผ่านการออกแบบซึ่งพยายามแก้ไขปัญหาโดยเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อม และการแสวงหาหนทางอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่น่าศึกษา ส่วนผลลัพธ์ของ façade ฟาร์มแนวตั้งแห่งนี้จะเป็นเพียงเพื่อการรณรงค์หรือโฆษณาเท่านั้นหรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไปยาวๆ

Urban Farming Office

vtnarchitects.net

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *