art4d พาชมการออกแบบ 6 ห้องน้ำล่าสุดจากโปรเจ็กต์ Tokyo Toilet ที่เปิดให้ดีไซเนอร์สาขาต่างๆ ถึง 17 คนมาร่วมออกแบบห้องน้ำสาธารณะ 17 แห่งรอบเขตชิบูย่า ประเทศญี่ปุ่น
TEXT & PHOTO: THANAPORN LOHAVICHITRANON
(For English, press here)
หลายๆคนคงได้รู้จักกับโปรเจ็กต์ The Tokyo Toilet โครงการออกแบบห้องน้ำสาธารณะรอบเขตชิบูย่าทั้งหมด 17 แห่ง ผ่านดีไซเนอร์สาขาต่างๆ 17 ท่าน ที่ได้ทยอยเปิดตัวไปตั้งแต่ช่วงปี 2021 ซึ่งถือว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่ได้รับความสนใจทั้งจากนักออกแบบและผู้คนทั่วไปทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ และในที่สุดเมื่อต้นปี 2023 นี้ห้องน้ำแห่งที่ 17 ของโครงการนี้ก็ได้เสร็จสมบูรณ์ลงในที่สุด โดยเราจะพามาชม 6 ห้องน้ำล็อตสุดท้ายของโครงการนี้กัน
Monumentum
ผู้ออกแบบ: Tomohito Ushiro
สถานที่: Hiroo Higashi Park
ในบรรดาห้องน้ำในซีรีส์ Tokyo Toilet ทั้ง 17 แห่งนี้ ห้องน้ำของ Hiroo Park ดูจะมีที่ตั้งที่แตกต่างจากห้องน้ำอื่นๆมากที่สุด ย่าน Hiroo เป็นย่านที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง ที่มีบรรยากาศร่มรื่น สงบ เต็มไปด้วยต้นไม้สูงเขียวชอุ่ม ตัวห้องน้ำแห่งนี้เรียกได้ว่าแทบจะตั้งอยู่หน้าโครงการแมนชั่นใหญ่แห่งนึง ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมจากถนนหลักหน้าสถานีไปสู่โซนที่พักอาศัย เพราะฉะนั้นหากเทียบกับห้องน้ำอื่นๆ ในโครงการแล้ว ห้องน้ำนี้ดูจะอยู่ที่ตั้งที่มีคนทั่วไปสัญจรผ่าน น้อยกว่าที่อื่นๆ และดูเข้าใกล้กับชุมชนที่อยู่อาศัยมากที่สุด
ด้วยคาแร็กเตอร์ของย่านที่ชัดเจน Tomohito Ushiro กราฟิกดีไซเนอร์ผู้ออกแบบห้องน้ำแห่งนี้ จึงเน้นการออกแบบโดยคำนึงถึง visual ที่กลมกลืนกับย่าน การเคารพความร่มรื่น และความสงบของย่านอยู่อาศัยที่ค่อนข้างจะมีความเป็นส่วนตัวสูงนี้ ตัวอาคารเป็นลักษณะกล่องสี่เหลี่ยมเรียบง่ายแทรกตัวในพื้นที่สวนหน้าแมนชั่นแห่งหนึ่ง โดยตัวอาคารห้องน้ำนั้นแทบจะไม่ได้แสดงตัวตนออกมาให้ขัดสายตาจากการชื่นชมบรรยากาศร่มรื่นของพื้นที่ แต่ด้วยลักษณะพื้นที่ที่เป็นเนิน ในมุมมองจากฝั่งด้านบนของเนินที่มองลงมาจะทำให้เห็นตัวอาคารได้ชัดเจน ผู้ออกแบบจึงลดทอนความแข็งตันของอาคารด้วยการออกแบบ light panel ขนาดใหญ่ซ้อนทับด้วยผนังกระจก frameless
โดย lighting pictogram ที่ฉายบนผนังนี้จะมีแพทเทิร์นที่แตกต่างกันไปตลอดวัน ในจำนวนมากกว่า 7.9 พันล้านแพทเทิร์น ซึ่งเป็นการตีความมาจากจำนวนประชากรทั่วโลก เป็นการสื่อสารความหมายของคำว่า public ในแง่ของความหลากหลายบนโลกออกมาเป็นงานศิลปะ โดยคำนึงถึงสีสันที่สอดคล้องกับบรรยากาศในแต่ละช่วงเวลาของบริบท โดยเลือกใช้สีที่กลมกลืนกับบรรยากาศร่มรื่นของต้นไม้ในเวลากลางวัน ในทางกลับกันในก็ใช้สีและแสงที่คล้ายการส่องแสงของหิ่งห้อย ช่วยส่งเสริมบรรยากาศช่วงกลางคืน
Trustworthy and Honest
ผู้ออกแบบ: Marc Newson
สถานที่: Urasando
Marc Newson ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวออสเตรเลีย ที่มีผลงานร่วมกับแบรนด์ดังระดับสากลมากมาย ใช้คอนเซ็ปต์เรียบง่ายอย่าง Vernacular Japanese Architecture โดยหยิบเอาองค์ประกอบของหลังคาแบบ Minoko ที่เป็นเอกลักษณ์ของอาคารในศาลเจ้าหรือห้องชงชาญี่ปุ่น และฐานอาคารหิน ที่มักพบเห็นในอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ นำมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบห้องน้ำแห่งนี้ โดยผู้ออกแบบตั้งใจให้ห้องน้ำแสดงถึงความเรียบง่าย สงบ และถ่อมตัว ตามแนวคิดของความเชื่อและวัฒนธรรมญี่ปุ่น นอกเหนือจากหลังคาและฐานหิน ผนังอาคารด้านนอกทั้งหมดเป็นคอนกรีตวัสดุเดียวกับเสาตอม่อทางด่วน อันเป็นที่ตั้งของห้องน้ำแห่งนี้ ทำให้อาคารห้องน้ำเล็กๆ ดูกลมกลืนไปกับบริบทรอบๆ ที่หากมองผ่านๆ แล้วแทบจะกลมกลืนไปกับบริบทเมืองหลวงของโตเกียว แต่เมื่อสังเกตดูวัสดุต่างๆ แล้วก็จะเห็นถึงสิ่งคุ้นตาที่เชื่อมโยงกับรากวัฒนธรรมของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นที่ซ่อนอยู่
ภายในถูกออกแบบด้วยผังที่เรียบง่ายโดยคำนึงถึงสเกลการใช้งานที่เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย และความสะดวกในการใช้งาน สี วัสดุและแสงสว่างที่ส่งเสริมความสะอาด ทั้งในแง่การใช้งานและทัศนียภาพ อันเป็นหัวใจสำคัญของห้องน้ำสาธารณะ ปัจจุบันมีผลงานออกแบบไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม อินทีเรีย หรือแม้กระทั่งงานออกแบบแขนงอื่นๆ ในญี่ปุ่นหลายชิ้น ที่เป็นผลงานออกแบบจากสถาปนิกต่างประเทศที่นำเสนอความเป็น ‘ญี่ปุ่น’ ผ่านงานออกแบบร่วมสมัย โปรเจ็กต์ Tokyo Toilet ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่มีผลงานของชาวต่างชาติอยู่จำนวนไม่น้อย ทำให้ได้เห็นมุมมองการนำเสนองานดีไซน์ในญี่ปุ่นที่ต่างออกไป อย่างที่ห้องน้ำ Urasando นี้ที่เป็นอีกหนึ่งการตีความสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ผ่านมุมมองของชาวตะวันตก
Hi Toilet – a contactless toilet
ผู้ออกแบบ: Kasoo Sato
สถานที่: Nanago Dori Park
ห้องน้ำทรงกลมสีขาว ผลงานออกแบบนำโดย Kazoo Sato CCO แห่งบริษัท Hakuhodo ที่ได้ไอเดียมาจากการทำ research พฤติกรรมการใช้ห้องน้ำสาธารณะของชาวตะวันตก โดยพบว่าคนส่วนมากพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งต่างๆ ในห้องน้ำสาธารณะด้วยมือ เช่น การใช้เท้ากดชักโครก การเปิดประตูห้องน้ำด้วยการจับผ่านกระดาษชำระ การใช้สะโพกในการปิดประตูห้องน้ำ จึงเกิดเป็นไอเดียในการออกแบบห้องน้ำที่ ‘ไร้การสัมผัส’ โดยให้ทุกกิจกรรมนั้น สั่งงานด้วยเสียง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิดประตู กดชักโครก เปิดน้ำ เปิดไฟ หรือแม้กระทั่งมีลูกเล่นต่างๆ ที่เพิ่มเติมเข้าไป เช่นการเล่นเพลงระหว่างใช้ห้องน้ำได้ด้วย ซึ่งติดตั้งไว้ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ
ส่วนงานสถาปัตยกรรมนั้นเป็นการร่วมมือกับ Kubo Tsushima Architects ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงการระบายอากาศธรรมชาติ ในขณะที่ช่องเปิดนั้นยังสามารถบังสายตาจากภายนอกได้อย่างดี เหมาะกับที่ตั้งที่อยู่ริมถนนที่มีคนสัญจรผ่านตลอดเวลา
ห้องน้ำนี้น่าจะเป็นผลงานชิ้นเดียวในโครงการที่หยิบเอาเทคโนโลยีการสื่อสารในโลกยุคใหม่อย่าง voice control มาเป็นเครื่องมือหลักในการออกแบบ นับว่าเป็นการตั้งโจทย์ที่ชวนนำไปคิดต่อยอดกับงานออกแบบปัจจุบันและในอนาคต ว่าเทคโนโลยีกำลังจะเข้ามามีบทบาทในพฤติกรรมการใช้พื้นที่สถาปัตยกรรมอย่างไร ที่สำคัญคือไอเดียห้องน้ำไร้การสัมผัสนี้แห่งนี้เกิดขึ้นมาก่อนเหตุการณ์โควิดอีกด้วย จนทาง Sato เองยังให้สัมภาษณ์ว่าไม่คาดคิดมาก่อนว่าไอเดียของเขาจะกลายเป็น key สำคัญของการใช้งานพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในเวลาต่อมาเพียงไม่นาน
… with toilet
ผู้ออกแบบ: Miles Pennington / UTokyo DLX Design Lab
สถานที่: Hatagaya
ห้องน้ำที่ตั้งอยู่กลางหัวมุมสี่แยกใกล้สถานี Hatagaya ผลงานจากไอเดียของ Miles Pennington อาจารย์ประจำ DLX Design Lab ของ University of Tokyo ในขณะที่ห้องน้ำส่วนมากในโปรเจ็กต์นี้มักจะเลือกที่ตั้งที่อยู่ติดกับลานหรือพื้นที่สวนสาธารณะ แต่ห้องน้ำนี้ผู้ออกแบบตั้งใจเลือกพื้นที่หัวมุมของสี่แยกถนนที่ไม่ได้ติดกับสวนสาธารณะใดๆ เพื่อที่จะแสดงศักยภาพของสถาปัตยกรรมด้วยการเพิ่มฟังก์ชันการเป็น ‘ลานอเนกประสงค์’ นอกเหนือจากการเป็นห้องน้ำเพียงอย่างเดียว
พื้นที่กว่า 50% ถูกอุทิศให้เป็นพื้นที่โล่งส่วนกลาง หันหน้าเปิดสู่สี่แยกถนนรับการเข้าถึงจากทุกทิศทาง โดยผู้ออกแบบคาดหวังให้พื้นที่นี้สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลายที่อาจจะเกิดขึ้นจากผู้คนในชุมชนโดยรอบ เช่น exhibition space, พื้นที่สำหรับ pop-up kiosk หรือเป็นพื้นที่พบปะของคนในชุมชนในโอกาสต่างๆ
งานออกแบบสถาปัตยกรรมได้ความร่วมมือจาก Kotaro Imai laboratory และ Kentaro Honma laboratory จาก University of Tokyo อาคารชั้นเดียวสีขาวมีลักษณะกลมกลืนกับอาคารโดยรอบ พื้นที่ลานโล่งตรงกลางถูกคลุมด้วยผืนหลังคาขนาดใหญ่ ไร้เสารบกวน ทำให้มีความยืดหยุ่นในการรองรับการใช้งาน พื้นที่อเนกประสงค์เปิดโล่งมีหลังคาคลุมแบบ semi-outdoor space แบบนี้ ในประเทศไทยเราอาจพบเห็นกันจนชินตา แต่ในญี่ปุ่นที่ต้องรับมือกับอาการหนาวจัดและร้อนจัด รวมถึงพายุไต้ฝุ่นที่เข้ามาทุกปีแล้ว นับเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้พบเห็นเยอะนักในงานสถาปัตยกรรมยุคก่อนเท่าไหร่ นับว่าเป็นอีกหนึ่งแนวคิดเรื่องการใช้ public space ในญี่ปุ่นยุคใหม่ที่น่าสนใจว่าจะพัฒนาต่อไปได้อีกอย่างไรบ้างในอนาคต
Toilet of the town lights
ผู้ออกแบบ: Junko Kobayashi
สถานที่: Sasazuka Greenway
ถ้าจะพูดถึงห้องน้ำสาธารณะในญี่ปุ่น ก็คงจะต้องพูดถึง Junko Kobayashi และบริษัท Gondola บริษัทออกแบบเจ้าของผลงานการออกแบบห้องน้ำสาธารณะทั่วญี่ปุ่นกว่า 100 ผลงาน และตัวเขายังดำรงตำแหน่งประธานสมาคม Japan Toilet Association (JTA) ด้วย ซึ่งก็แน่นอนว่าในโปรเจ็กต์นี้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีผลงานของสถาปนิกท่านนี้
สถาปนิกตั้งใจออกแบบรูปลักษณ์หน้าตาอาคารห้องน้ำให้ดูแข็งแรง แข็งแกร่ง สอดคล้องกับโครงสร้างใต้รางรถไฟ แต่ในขณะเดียวกันก็แทรกความสนุกด้วยสีสันและรูปทรงที่ทำให้เมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น รูปทรงกระบอกหลายขนาดถูกแทนที่ตามฟังก์ชันของการใช้งานภายใน รวมไปถึงทรงกระบอกไซส์จิ๋วสำหรับห้องน้ำเด็กที่ประตู สุขภัณท์ และขนาดของสิ่งต่างๆ ถูกปรับสเกลให้เล็กลงตามผู้ใช้งาน พื้นที่ห้องน้ำถูกคลุมด้วยแผ่นหลังคาเพลตเหล็กขนาดใหญ่สีเหลืองที่ทำให้พื้นที่ใต้รางรถไฟที่มักจะดูมืดทึบอึดอัดให้ดูสดใสมีชีวิตชีวามากขึ้น ตัวโครงสร้างทั้งหมดทำด้วยเพลตเหล็กเพื่อให้อาคารมีลักษณะโปร่งเบา รวมไปถึงการเลือกใช้ใช้กราฟิก สีสัน รวมถึงโครงร่างของอาคารที่เป็นกลุ่ม cluster วงกลม ที่ให้ความรู้สึกสนุกสนาน มีความแฟนตาซี เป็นการสร้างความแตกต่างที่สมดุลกับบริบทโดยรอบอาคาร ลดทอนความทึบตันของพื้นที่ใต้ทางรถไฟ เพื่อให้ห้องน้ำดูเข้าถึงง่ายสำหรับคนในชุมชนทุกกลุ่มอายุ อันเป็นจุดประสงค์หลักของห้องน้ำสาธารณะนั่นเอง
Vessel and Fountains
ผู้ออกแบบ: Sou Fujimoto
สถานที่: Nishisando
ปิดท้ายด้วยผลงานของสถาปนิกชื่อดังอย่าง Sou Fujimoto ที่นำเอาแนวคิดของการสร้าง watering monument ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบมักพบเห็นอยู่บ่อยครั้งในสถานที่ประเภทลานชุมชนหรือพื้นที่สาธารณะ ในรูปแบบของ น้ำพุ หรือบ่อน้ำ เป็นต้น ซึ่งในครั้งนี้ สถาปนิกจึงได้หยิบเอาความหมายของการเป็น watering monument นี้มาใส่ให้กับอาคารอย่างห้องน้ำของชุมชน เพื่อให้อาคารไม่ได้เป็นแค่ห้องน้ำ แต่เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน ที่จะรองรับกิจกรรมต่างๆ ของคนในชุมชนผ่าน ‘น้ำ’
สถาปนิกมองว่าฟังก์ชันของ ‘ก๊อกน้ำ’ ในพื้นที่สาธารณะนั้นไม่ได้มีไว้แค่เพียงชำระล้างหลังทำธุระในห้องน้ำเท่านั้น แต่หากลองสังเกตดูแล้วในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ก๊อกน้ำนั้นมีการใช้งานได้หลากหลายกว่านั้น ทั้งเป็นที่ล้างหน้า ล้างมือ ล้างสิ่งของต่างๆ รวมไปถึงที่ ‘เล่น’ ของเด็กๆ อาคารแห่งนี้จึงออกแบบโดยดึงพื้นที่ส่วนล้างมือของห้องน้ำออกมาให้เป็นพื้นที่เปิดออกสู่ถนนภายนอก ผนังด้านหน้าของอาคารโค้งลดระดับลงมาจนกลายเป็นเคาน์เตอร์ขนาดใหญ่หนึ่งผืนที่รองรับการใช้งานทั้งจากห้องน้ำด้านใน และด้านหน้าถนนไปพร้อมๆ กันทั้งสองฝั่ง ซึ่งการเปิดพื้นที่ภายในและภายนอกให้เชื่อมต่อกันในระดับสายตานี้ยังช่วยแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยในจุดลับตาของห้องน้ำสาธารณะไปได้ในตัวอีกด้วย
ก๊อกน้ำถูกติดตั้งเอาไว้บนเคาน์เตอร์ในหลายๆ ระดับความสูง รองรับการใช้งานที่หลากหลายที่อาจเกิดขึ้นได้กับพื้นที่แห่งนี้ รวมไปถึงความสูงของผู้ใช้งานที่มีความหลากหลายตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ที่สามารถเข้ามาให้งานพื้นที่ร่วมกันได้ใน space เดียวกัน สร้างความรู้สึกของความเป็นพื้นที่สาธารณะในชุมชนผ่านเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าเพียงผืนเดียว
ห้องน้ำทั้ง 17 แห่งในโปรเจ็กต์นี้ปัจจุบันได้เปิดใช้งานทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเป็นห้องน้ำสาธารณะ จึงเต็มไปด้วยผู้ใช้งานและพฤติกรรมที่หลากหลาย ทั้งที่ผู้ออกแบบได้คาดคิดเอาไว้และที่นอกเหนือจากสิ่งที่ถูกออกแบบเอาไว้ด้วย แต่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจตามมาทั้งพฤติกรรมการใช้งานและการบำรุงรักษาอาคารสาธารณะให้คงไว้ทั้งประสิทธิภาพการใช้งานและคุณค่าของงานดีไซน์ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง case study ที่ดีมากๆ ในการออกแบบพื้นที่และ facility สาธารณะ ที่เราหวังว่าจะสามารถไปปรับใช้กับประเทศไทยได้เช่นกัน
ติดตามผลงานในโปรเจ็กต์ The Tokyo Toilet แห่งอื่นๆ ได้ที่