Studio Sifah สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมภายนอกและภายใน ที่ผสมผสานตัวตนของสตูดิโอไว้ในภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ร่วมสมัย แต่ก็เรียบง่าย ขับเน้น ‘ความธรรมดาที่พิเศษ’ ของแต่ละพื้นที่
TEXT: STUDIO SIFAH
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
WHO
Studio Sifah สตูดิโอสีฟ้า ก่อตั้งโดย สีฟ้า ศรชัยยืน และ วรรัตน์ รัตนตรัย
WHAT
เป็นบริษัทออกแบบขนาดเล็ก ที่ทำงานทั้งงานสถาปัตยกรรมภายนอกและออกแบบตกแต่งภายในควบคู่กัน
WHEN
เราทำงานประกอบอาชีพเป็นสถาปนิกมาประมาณ 12 ปีแล้ว ก่อนจะเริ่มก่อตั้งเป็น Studio Sifah ร่วมกันเมื่อปี 2020
WHERE
ออฟฟิศตั้งอยู่ที่ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
WHY
อยากนำเสนองานสถาปัตย์ผ่านตัวตนของเรา ที่เป็นทั้ง ‘คนเมือง’ (คนเหนือ) และจริต ‘คนรุ่นใหม่’ ถ่ายทอดและสื่อสารบนภาษาที่เป็นปัจจุบันหรือสากลมากขึ้น
คุณนิยามสไตล์การออกแบบของตัวเองไว้อย่างไร
‘Simple’ ความธรรมดา
เราอยากนำเสนอ ความธรรมดา / ความเป็นชาวบ้าน / ความเป็น local ของเรา ที่ถูกตีความขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบต่างๆ ผ่านภาษาทางสถาปัตย์ในแบบของเรา เราอยากทำให้ ‘ความธรรมดา’ ที่ว่านี้พิเศษขึ้นในอีกหลายๆ มิติ ที่ตรงไปตรงมาและเข้าถึงง่ายขึ้น ในหลายกลุ่มคนในยุคสมัยที่ต่างไป
อะไรคือแรงบันดาลใจและหลักการในการทำงานแต่ละครั้ง
เมื่อเราเห็นผู้คนมีความสุข สนุกกับสเปซที่เราได้สร้างขึ้น
หลักการทำงานในแต่ละโปรเจ็กต์ เรามักจะตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยเป้าหมายจะแตกต่างกันออกไป ตามที่เราได้ไปเจอสถานที่ (site) บริบท ได้พบเจอผู้คน เจ้าของบ้าน ได้พูดคุย ได้สัมผัส และได้ซึมซับถึงสิ่งที่น่าสนใจ ที่จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรรค์ แน่นอน บางงาน ‘เป้าหมาย’ ของเราอาจเป็นบางอย่างที่แสนเรียบง่าย
โปรเจ็กต์ไหนที่คุณภูมิใจมากที่สุด เพราะอะไร?
จริงๆ แล้วเราภูมิใจในทุกโปรเจ็กต์ที่เราได้มีส่วนร่วม แต่ถ้าจะต้องเลือก ก็น่าจะเป็นโปรเจ็กต์บ้านชื่อ LAAB is more บ้านหลังนี้เรามีโอกาสทำตั้งแต่งานออกแบบจนถึงงานก่อสร้าง ควบคุมหน้างาน เจอปัญหาแก้ปัญญา รวมไปถึงการที่เราได้ทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ ทั้งวัสดุปิดผิวที่ทำขึ้นมาใหม่ และวัสดุเดิมแต่ถูกจัดวางใหม่ รวมไปถึงคิดทดลองการจบงานในแบบใหม่ๆ เราได้สนุกไปกับบ้านหลังนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเลย
ทำไมถึงเป็น ‘สีฟ้า’ ?
มาจากชื่อ สีฟ้า ความรู้สึกที่ดูเหมือนเบา เย็นสบาย สงบ ปลอดโปร่ง
คุณชอบขั้นตอนไหนระหว่างออกแบบมากที่สุด?
ขีดๆ เขียนๆ สเก็ตช์ๆ วาดๆ ชอบขั้นตอนนี้ เพราะทุกครั้งที่เราวาด มักจะเป็นช่วงที่เรากำลังค้นหาบางอย่างมองภาพที่อยู่ในหัวของเรา มองหาความเป็นไปได้ หาความเชื่อมโยง แล้วเราได้ถ่ายทอดออกมา เหมือนได้ระบายอารมณ์… ฮ่าๆ
ถ้าคุณสามารถเชิญ ‘ครีเอทีฟ’ สักคนไปดื่มกาแฟด้วยกันได้ คุณจะเลือกใครและทำไม
Bijoy Jain จาก Studio Mumbai ชอบและหลงเสน่ห์ในงานออกแบบ เป็นงานออกแบบที่แสดงออกถึงความผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตกได้อย่างลงตัว มีกลิ่นอายของความเป็นพื้นถิ่นที่เป็นภาษาสากล