ต่อเนื่องจากงานทอล์ก ‘Experience Scape’ รอบนี้มาเก็บตกควันหลงหลังจากงาน ‘Bangkok Service Design Jam: LIVABLE SCAPE Workshop’ เวิร์กช็อปเสาะหาไอเดียพัฒนาย่านพระโขนง ที่จัดโดย Creative Lab by MQDC กันบ้าง
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: PHUBETH THARATHRONCHANAKUL
(For English, press here)
ครั้งที่แล้ว art4d พาไปเก็บตกงานทอล์ก ‘Experience Scape: Code + Craft: Blending Technology & Empathy in Service Design’ โดย Creative Lab by MQDC ที่พาไปทำความรู้จักกับ Service Design และอัปเดตให้ฟังกันว่าแนวคิด Service Design บนโลกตอนนี้ไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว
ในครั้งนี้ถึงคิวดูควันหลงของงาน ‘Bangkok Service Design Jam: LIVABLE SCAPE Workshop’ เวิร์กช็อปภาคต่อที่จัดโดย Creative Lab by MQDC ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2024 ใน True Digital Park ที่พาผู้เข้าร่วมไปคลุกคลีและสัมผัสกับกระบวนการ Service Design ด้วยการลงมือทำจริง งานนี้จัดเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2024 ที่มาพร้อมธีม Livable Scape หรือ คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
Service Design Jam เป็นรูปแบบเวิร์กช็อปที่ท้าทายผู้เข้าร่วมหาโซลูชันต่อปัญหาต่างๆ โดยใช้กระบวนการของ Service Design อย่างเช่น การแก้ไขปัญหาเมือง การยกเครื่องงานบริการในธุรกิจ ฯลฯ เวิร์คช็อปรูปแบบนี้เคยจัดแล้วในหลายที่ของโลก เช่น New York, London, Hong Kong, Beijing และครั้งนี้ก็ถึงทีชาวกรุงเทพฯ ที่จะได้ทดลองหาโซลูชันด้วยเครื่องมือ Service Design กันบ้าง
เพราะงาน Bangkok Design Week ปีนี้พูดถึงเรื่องเมือง โจทย์ที่ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อป Bangkok Service Design Jam ต้องฝ่าฟันเลยเกี่ยวข้องกับเมืองด้วย โจทย์ครั้งนี้ คือการหาวิธีฟื้นฟูพื้นที่รกร้างในย่านสุขุมวิทใต้ให้กลับมาน่าใช้งาน ตัวอย่างพื้นที่ที่ Creative Lab ยกมาท้าทาย เช่น ลานตลาดข้างสำนักงานเขตพระโขนง จุดรีไซเคิลขยะที่สำนักงานเขตพระโขนง หรือลานหลังวัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร โดยคนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปครั้งนี้จะถูกจัดเป็นกลุ่มๆ และแต่ละกลุ่มก็แยกไปแก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่
เวิร์กช็อปเปิดฉากด้วยการบรรยายจาก พิเศษ วีรังคบุตร ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมผู้ก่อตั้งบริษัท Create.ture ที่พาไปรู้จักกระบวนการช่วงแรกของงาน Service Design แบบหอมปากหอมคอ เริ่มต้นตั้งแต่การตั้ง mindset ให้ยึดมุมมองผู้ใช้งานเป็นหลัก เทคนิคการออกไปพูดคุยกับผู้คนเพื่อเก็บ insight แค่ฟังอย่างเดียวคงไม่เข้าใจ เวิร์กช็อปเลยพาทุกคนออกจากห้องแอร์เย็นเฉียบในตึก ไปนั่งรถปะทะลมร้อน เพื่อลงพื้นที่จริง พูดคุยกับผู้คนจริง และเอาข้อมูลมาผลิตเป็นต้นแบบ
กลับจากการลงพื้นที่ พิเศษก็ให้เคล็ดลับการระดมไอเดีย และเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นภาพของปัญหา อย่างเช่น Affinity Diagram หรือการนำข้อมูลที่แต่ละคนรวบรวมได้ มาจัดกลุ่มเข้าด้วยกันเพื่อให้เห็นภาพรวม การสร้าง User Profile ที่ทำให้นึกออกว่ากลุ่มคนเป้าหมายที่เราจะไปแก้ปัญหาให้ มีตัวตน ความชอบ ความต้องการอะไร Journey Map ไดอะแกรมไล่เรียงประสบการณ์ของคนใช้งานว่าพบเจออะไรบ้างตั้งแต่ต้น ช่วยให้เห็นโอกาสการแก้ปัญหา อีกเครื่องมือที่น่าพูดถึงก็คือ Crazy 8 กิจกรรมระเบิดความสร้างสรรค์ ผ่านการออกไอเดียอย่างรวดเร็ว 8 ไอเดียโดยไม่ต้องสนว่าจะดีจะแย่อย่างไร
หลังจากช่วงระดมสมองอันเมามัน แต่ละกลุ่มก็ได้สร้างผลงานต้นแบบของตัวเอง ไม่น่าเชื่อว่าการเวิร์กช็อปเพียงแค่วันเดียว เราก็ได้เห็นไอเดียน่าสนใจมากมายที่น่าหยิบไปพัฒนาจริง อย่างเช่น การยกระดับตลาดข้างสำนักงานเขตพระโขนง ให้เป็น ‘นาค MARKET’ นำเอาตำนานแม่นาคพระโขนงมาสร้างชีวิตชีวาให้ตลาด ผุดกิจกรรมมูเตลู ผลิตของที่ระลึก รังสรรค์จุดถ่ายรูปและกิจกรรมแลกเปลี่ยนของมือสอง แค่ฟังเฉยๆ ก็น่าสนุกแล้ว
และไอเดียที่โดนใจคนในเวิร์กช็อปกันอย่างมาก คือการปรับปรุงระบบจัดการขยะของเขตพระโขนง หลังจากลงพื้นที่ไปจุดรีไซเคิลขยะข้างเขตพระโขนง แล้วได้คุยกับพี่วินมอเตอร์ไซค์ที่ร่ายวิธีแยกขยะได้ปร๋อ กลุ่มจุดรีไซเคิลเลยปิ๊งไอเดียให้พี่วินมอเตอร์ไซค์เป็นคนกลางสื่อสารเรื่องการทิ้งขยะ ช่วยแยกขยะ สร้างรายได้เสริมให้พี่วินและเสริมแรงจูงใจให้คนมาสนใจการจัดการขยะ รวมถึงการพลิกโฉม packaging สินค้าในตลาด ติดแถบสี เพื่อช่วยให้แยกขยะได้ง่ายขึ้น
หลังจบการเวิร์กช็อปแล้ว Creative Lab by MQDC ก็จะเอาไอเดียเจ๋งๆ ทั้งหมด ไปเสนอกับเขตพระโขนงด้วย เห็นพลังของทุกคนที่มาร่วมเวิร์กช็อปแล้วก็ชื่นใจ ที่มีคนอีกมากอยากเห็นเมืองที่ดีและอยากลงมือทำเพื่อให้ฝันนั้นเกิดขึ้นจริง หวังว่าจะมีเวิร์กช็อปดีๆ อย่างนี้ให้คนกรุงเทพฯ อีกในอนาคต