VERS UNE ARCHITECTURE

ในวาระครบรอบ 100 ปี การตีพิมพ์หนังสือ Vers une Architecture ขอชวนมาสำรวจหนังสือสถาปัตยกรรมมาสเตอร์พีซเล่มนี้โดย Le Corbusier ที่เชิดชูงานวิศวกรรมและเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ว่าเป็นจิตวิญญาณของ ‘Modern Design’

TEXT: MONGKON PONGANUTREE
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here

Vers une Architecture
By Le Corbusier
G. Cres et Cie., Paris, 1923
English edition by Getty Research Institute
Translation by John Goodman
7 x 1.5 x 10 inches
358 pages
ISBN 978-089-236-822-8

ปีที่เพิ่งผ่านมา มีเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งในวงการหนังสือสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้มีใครพูดถึงกันเท่าไหร่ นั่นก็คือปี 2023 เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปี ของการตีพิมพ์หนังสือ Vers une Architecture โดย Le Corbusier  หนังสือ Vers une Architecture ได้ชื่อว่าเป็นหนังสือสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของศตวรรษที่ยี่สิบ นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมชื่อดังอย่าง Rayner Benham เคยถึงกับเขียนไว้ว่า Vers une Architecture คือหนังสือสถาปัตยกรรมที่ทรงอิทธิพลมากกว่าหนังสือสถาปัตยกรรมเล่มใดๆ ในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่จนถึงทุกวันนี้

ย้อนกลับไปในปี 1921 Charles Edouard Jeanneret ได้เขียนบทความทางสถาปัตยกรรมในวารสารที่เขาให้ชื่อว่า L’ Esprit Nouveau (The New Spirit) โดย Jeanneret เริ่มใช้ชื่อในการนำเสนอความคิดทางสถาปัตยกรรมของเขาว่า Le Corbusier เนื้อหาต่างๆ ในบทความที่เขาเขียนใน L’ Esprit Nouveau มีสารสำคัญที่พูดถึงจิตวิญญาณของยุคอุตสาหกรรม ซึ่งมีงานวิศวกรรมและเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เป็นตัวแทนของ ‘Modern Design’ ในบริบทของสถาปัตยกรรมในยุคต้นๆ ศตวรรษที่ยี่สิบ ที่เต็มไปด้วยงานแบบนีโอคลาสสิก Le Corbusier ได้เชิดชูงานวิศวกรรมและวิศวกรทั้งหลายว่าเป็นผู้ที่นำพาโลกเข้าสู่ความก้าวหน้าที่น่าทึ่ง

ว่ากันว่าหลายปีก่อนที่เขาจะทำ L’ Esprit Nouveau นั้น Le Corbusier (หรือ Jeanneret ในตอนนั้น) ได้ชื่นชมผลผลิตของงานออกแบบทางวิศวกรรมล้ำยุค ว่ามีประโยชน์ใช้สอยเต็มที่ มีความมั่นคงแข็งแรง ในบทแรกของ Vers une Architecture เป็นบทที่ชื่อว่า The Aesthetic of Engineer, Architecture เขียนไว้ว่า “ความงามของวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมเป็นสองสิ่งที่ไปด้วยกัน มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน แต่ศาสตร์หนึ่งอยู่ในจุดที่ในขณะนี้ก้าวหน้าถึงขีดสุด ในขณะที่อีกศาสตร์หนึ่งกำลังอยู่ในสถานะที่ถดถอยอย่างน่าเศร้า”

หนังสือมีเนื้อหามาจากบทความที่เคยตีพิมพ์ใน L’ Esprit Nouveau เป็นหลัก แต่ถูกนำมาจัดเรียบเรียงใหม่ในรูปหนังสือ โดยพยายามสร้างความเชื่อมโยงกัน ซึ่งทำให้เป็นเรื่องที่ยากในระดับหนึ่ง ในเล่มประกอบด้วย 12 บทความเก่า จัดเป็นสามหัวข้อใหญ่ (Three Reminders To Architects / Regulating Lines / Eyes That Do not See) ที่เหลือเป็นบทความย่อยสองบท (Architecture / Mass-Production Housing) และอีกหนึ่งบทความใหม่ (Architecture or Revolution) เหมือนเป็นบทส่งท้าย ที่เสนอแนะว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถทำได้ถ้ามองไปที่ปัญหาและทางออก ซึ่งก็คือวิทยาการและเทคโนโลยีในขณะนั้น ไม่ใช่ยึดอยู่กับอดีตและสไตล์

Le Corbusier ยกย่องอาคารทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา อาคารทางอุตสาหกรรมอย่างโรงเก็บพืชผลไซโล โรงจอดเครื่องบิน ซึ่งเป็นผลผลิตของงานออกแบบวิศวกรรมว่าเต็มไปด้วยประโยชน์ใช้สอย ชัดเจน และตรงไปตรงมา รวมทั้งยานพาหนะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน หรือเรือเดินสมุทร ยานพาหนะสมัยใหม่เหล่านี้เองที่เป็นที่มาของคำพูดที่เรารู้จักกันดีว่า The house is a machine for living in (ในบท Eyes That Do Not See) ที่พูดถึงแนวคิดของที่ว่างและสเกลของบ้านในยุคสมัยนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ในยุโรปกำลังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัย โดยเขาพยายามชี้ให้เห็น เชื่อมโยง และเทียบเคียง ระหว่างสัดส่วนและสเกลของมนุษย์ในงานออกแบบยวดยานสมัยใหม่ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับสถาปัตยกรรมที่พักอาศัย

ในเรื่องของเมือง หนังสือได้พูดถึงแนวคิดเรื่องเมืองผ่านตัวอย่างของโรมและเอเธนส์ ในบท Architecture – The Lesson of Rome ซึ่ง Le Corbusier ให้ความสนใจไปที่กลุ่มอาคารหรือ blocks ของเมืองในโรม (ซึ่งไอเดียของการมองเมืองว่าเป็น collection of objects นี้ ภายหลังถูกนำมาใช้กับการออกแบบเมืองที่ Chandigarh) รวมทั้งการมองเมืองในลักษณะที่ประกอบขึ้นมาจาก vista หรือวิถีทัศน์ ซึ่งความสัมพันธ์ของ space, movement, และ vista ที่เขาศึกษาจาก Acropolis ในเอเธนส์ในบท Three Reminders To Architects – Plan ได้กลายมาเป็นแนวคิด Architectural Promenade ซึ่ง Le Corbusier นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับลำดับของการเคลื่อนที่ภายในอาคารที่ถูกกำหนดหรือออกแบบ ว่าเป็นเครื่องมือในการออกแบบสถาปัตยกรรม ที่ช่วยสร้างระเบียบ แกน และทิศทางการเคลื่อนที่ในสถาปัตยกรรมหรืออาคารนั้นๆ ได้

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ Vers une Architecture คือเรื่องของการวางเลย์เอาท์ด้วยภาพให้ดำเนินเรื่องไปควบคู่กับส่วนเท็กซ์ ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องในแง่ของการสื่อสารและการจัดองค์ประกอบหนังสือ การใช้ตัวอักษรแบบ sans-serif ตัวเข้มและใหญ่ในจุดที่ต้องการเน้น ทำให้หนังสือดูโมเดิร์นและดึงดูดความสนใจแบบงานโฆษณา

นอกจากนี้การใช้ภาพยังเต็มไปด้วยพลัง ภาพของ Pathenon ที่วางคู่กับรถสปอร์ต Delage ในบท Eyes That Do Not See เป็นหนึ่งในหน้าหนังสือสถาปัตยกรรม ที่ถือว่าคลาสสิกและเป็นหนึ่งในภาพจำของ Vers une Architecture โดย Le Corbusier ใช้สองภาพนี้คู่กันเพื่อที่จะบอกว่า Pathenon เป็นผลผลิตจากวิทยาการ เทคโนโลยีในยุคสมัยนั้น เช่นเดียวกันกับรถยนต์ที่เป็นผลผลิตของเทคโนโลยีในยุคสมัยของตน สถาปัตยกรรมควรมาจากมาตรฐานของเทคโนโลยีของยุคสมัย

พูดง่ายๆ ก็คือ Vers une Architecture คือเครื่องมือสื่อสารความคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม เมือง และโลกสมัยใหม่ของ Le Corbusier หลังจากตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1923 หนังสือก็ได้รับความสนใจและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมายหลายภาษาอย่างรวดเร็ว โดยฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์เสร็จตามมาในปี 1927 ในชื่อว่า Towards a New Architecture แปลโดย Frederick Etchells  สถาปนิกและจิตรกรชาวอังกฤษ แต่เรื่องน่าสนใจของ Vers une Architecture ไม่ได้จบแค่นี้ ในปี 2007 Vers une Architecture ได้ถูกแปลและเรียบเรียงใหม่โดย John Goodman โดยมี Jean-Louis Cohen สถาปนิกและนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมชื่อดังชาวฝรั่งเศสและเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Le Corbusier เป็นบรรณาธิการให้กับฉบับแปลใหม่นี้ และใช้ชื่อหนังสือว่า Toward an Architecture มีปกเป็นภาพของ Pathenon คู่กับภาพของรถ Delage  Cohen ยังเขียนบทนำที่มีความยาวเกือบหกสิบหน้า พูดถึง Le Corbusier และแนวคิดต่างๆ จนเหมือนกับเป็นหนังสือเล่มเล็กอีกเล่มที่อยู่ในหนังสือเล่มใหญ่อีกที

โครงการแปล Vers une Architecture ฉบับใหม่นี้มีการศึกษาและเตรียมการมาตั้งแต่ปลาย 1980 แล้วจนมาสำเร็จเรียบร้อยลงได้ในปี 2007 ถ้าใครได้ดูเลคเชอร์ของ Cohen เกี่ยวกับเรื่องนี้ทาง YouTube ก็จะเข้าใจได้มากขึ้น โดย Cohen ได้พูดถึงฉบับแปลของ Etchells ว่ามีการแปลผิด และขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสิ่งที่ Le Corbusier ต้องการสื่อ รวมทั้งแนวคิดต่างๆ ของเขา ตัวอย่างเช่นการแปล Volume เป็น Mass หรือแม้แต่ชื่อหนังสือ ว่าที่ถูกต้องควรเป็น Toward an Architecture

แม้ว่า Vers une Architecture ในฉบับปี 2007 ในชื่อ Toward an Architecture จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่สถาปนิก นักวิชาการและการศึกษาว่ามีความถูกต้องและตรงกับต้นฉบับดั้งเดิมมากกว่า แน่นอนว่า การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ระดับนี้ต้องได้รับการศึกษาค้นคว้า กลั่นกรอง จากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ให้แน่ใจว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องกว่า ดีกว่า แต่ก็ไม่มีใครฟันธงลงไปว่าฉบับไหนถูกฉบับไหนผิด หรือฉบับไหนดีกว่ากัน

นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมชื่อดังอย่าง Kenneth Frampton ก็เคยให้ความเห็นว่าฉบับแปลใหม่ของ Goodman ตรงกับต้นฉบับเดิมที่เป็นภาษาฝรั่งเศสมากกว่า แต่ก็มองอีกมุมด้วยว่าข้อเขียนของ Le Corbusier เต็มไปด้วยโวหาร ลีลา มีการใช้คำที่มีลักษณะพิเศษ การแปลแบบยึดถือความเที่ยงตรงมากเกินไปก็มีหลายจุดที่ทำให้อารมณ์ของบทความลดลงไป

สิ่งที่ดีแน่ๆ ใน Toward an Architecture ซึ่งเป็นฉบับแปลใหม่นี้ ก็คือบทนำของ Cohen ที่เป็นเหมือนกับตัวช่วยที่ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาของหนังสือและแนวคิดของ Le Corbusier มากขึ้น ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ฉบับแปลของ Etchells ซึ่งถูกใช้เป็นคัมภีร์สำหรับนักเรียนสถาปัตย์มาตั้งแต่ปี 1927 ก็ยังคงมีคุณงามความดีต่อวงการสถาปัตยกรรมที่สมควรแก่การคารวะ

เรื่องหนึ่งก็คือเราต้องไม่ลืมว่าหนังสือฉบับแปลใหม่นี้ถูกทำขึ้นมาหลังจาก Vers une Architecture ตีพิมพ์ในปี 1923 ถึงเกือบร้อยปีและแนวคิดต่างๆ ที่ Le Corbusier เขียนไว้ในปี 1923 และอื่นๆ อีกมากมาย ได้กลายเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นรูปเป็นร่าง รวมทั้งปัจจัยอีกมากที่ทำให้คนในรุ่นต่อมา เห็นภาพของความคิดในหนังสือได้มากขึ้น ในขณะที่ Frederick Etchells แปลฉบับ Towards a New Architecture ในช่วงปี 1923 ถึง 1927 นั้น Le Corbusier เพิ่งมีงานออกแบบบ้านไม่กี่หลัง กับงานเพ้นท์ติ้ง และบทความเชิงทฤษฎีใน L’ Esprit Nouveau แค่นั้นเอง

Vers une Architecture เป็นจุดเริ่มต้นของ Le Corbusier ทั้งในสถานะสถาปนิกและในสถานะอื่น ซึ่งถือเป็นหลักหมุดสำคัญของ Modern Architecture ตัวหนังสือก็เป็นหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของหนังสือสถาปัตยกรรมโดยตัวมันเองอีกด้วย ซึ่งในวันนี้แม้จะผ่านมาหนึ่งร้อยปีแล้ว ก็ยังคงมีความสำคัญและมีประเด็นให้พูดถึงหรือศึกษากันอยู่

shop.getty.edu

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *