หนังสือโดย ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ บันทึกและบรรยายลักษณะของ ‘สถาปัตยกรรม’ ที่สร้างสรรค์โดยคนเมืองในกรุงเทพฯ อันนำเสนอความระเกะระกะจากการดำเนินชีวิตที่ไม่เสมอภาค
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด
Salmon Books, 2567
ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์
5.7 x 8.3 นิ้ว
208 หน้า
ปกอ่อน
ISBN 978-616-29-8609-3
พักนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือออกแบบหลายเล่มซึ่งเกิดจากการรวบรวมวัตถุต่างๆ ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน มาจัดหมวดหมู่ตามหัวข้อบางอย่าง โดยหนังสือเหล่านี้มีความน่าสนุกตรงที่ว่านอกจากเรา จะเห็นมุมมองที่ผู้รวบรวมมีต่อ ‘งานออกแบบ’ หรือ ‘วิธีออกแบบ’ เหล่านั้นแล้ว เรายังสามารถเห็นพื้นหลังของมันหรือก็คือเมืองนั้นๆ อีกด้วย ซึ่งในกรณีของ ‘สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด’ ก็คือกรุงเทพฯ ประเทศไทย
สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด เป็นผลงานของชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ เจ้าของหนังสือ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ที่ตั้งใจให้ล้อกับ ‘สถาปัตยกรรมคณะราษฎร’ เนื้อหาภายในหนังสือไม่ได้กล่าวถึงสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคาร แต่เป็นวัตถุที่ได้รับการออกแบบโดยผู้ใช้งานจริง ทำให้ภาพลักษณ์ของกลุ่มวัตถุเหล่านี้ส่วนมากดูเรี่ยราดระเกะระกะไปทั่ว โดยชัชวาลเกริ่นไว้ในช่วงอินโทรของหนังสือว่า “ในทัศนะของผม สิ่งที่ ‘สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด’ และ ‘สถาปัตยกรรมคณะราษฎร’ มีความคล้ายกัน แม้ภาพลักษณ์จะดูแตกต่างอย่างสิ้นเชิงก็คือความถูกละเลยจากสังคมด้วยสายตาที่อคติ” ทั้งสถาปัตยกรรมไทยในยุคนั้น ที่ถูกลดทอนเครื่องประดับลงเพื่อสะท้อนความเสมอภาคของระบอบประชาธิปไตย และเหล่าวัตถุที่ถูกจัดวางอย่างไทยๆ ในยุคนี้ ต่างก็ขัดกับเมืองในอุดมคติของผู้อยู่อาศัยเหลือเกิน
นอกจากชื่อเรียกที่ล้อมาจากคำว่าคณะราษฎร สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราดนั้นไม่ถูกกำหนดด้วยหัวข้อใดๆ เป็นพิเศษ เนื้อหาภายในเล่มเป็นเพียงกลุ่มก้อนวัตถุที่ชัชวาลพบเจอภายในระยะเวลา 365 วัน แล้วนำมาจัดระเบียบใส่กรอบภายหลัง โดยชื่อทั้ง 13 บทของหนังสือเล่มนี้เองยังมีการเล่นกับวลีที่คนไทยเราคุ้นเคย อาทิ ‘คน-จัด-สิ่งของ’ ‘กำบังสไตล์’ ‘ท่อน้ำดี (ไอวาย)’ เมื่อประกอบเหล่างานออกแบบที่สะท้อนปัญหาเฉพาะตัวแบบที่ประเทศอื่นเขาไม่มีกันแล้ว หนังสือเล่มนี้จึงค่อนข้างมีความเฉพาะถิ่น แต่ในขณะเดียวกัน การนำเสนอด้วยรูปสเก็ตช์ลงสีก็ทำให้สิ่งที่ต้องการนำเสนอนั้นเข้าใจง่ายและเป็นสากล
สำหรับตัวผู้เขียนเอง สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราดมีความเพลิดเพลิน แต่ไม่ค่อยสร้างความบันเทิงใจให้นักเวลาอ่าน บางปัญหาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ก็ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการออกแบบเพียงอย่างเดียว เมื่อพลิกหน้าถัดไปเรื่อยๆ นักออกแบบหลายคนอาจพบว่าตัวเองมีไอเดียที่จะแก้ไขปัญหา แต่กลับไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องตรงจุดได้ เช่นการแก้ไขปัญหาให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าบนทางเท้า เราอาจออกแบบผลงานให้พวกเขาได้เป็นสิบชิ้น โดยที่ปัญหาที่แท้จริงคือพื้นที่ทางเท้าไม่เพียงพอและขาดการจัดการที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเมืองมากกว่า ในฐานะนักออกแบบตัวคนเดียวที่ใช้การออกแบบแก้ไขปัญหาไม่ได้ หนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นราวกับยาขม
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่ปัญหาเหล่านี้หมดไปจากเมืองแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็คงทำหน้าที่เป็นคลังไอเดียที่ดีเล่มหนึ่ง ว่าเราจะต้องสร้างสรรค์อะไรกันต่อไป ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ชัชวาลตั้งใจไว้ผ่านการนำเสนออย่างตรงไปตรงมานี้ ในปัจจุบันที่เรายังคงออกแบบสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง อย่างน้อยจะได้รู้ว่าเรากำลังรออะไร และทำอะไรได้บ้างระหว่างรอ
Where there’s a will, there’s a way.
facebook.com/viewtiful.chat
facebook.com/everydayarchitectdesignstudio
salmonbooks.net