BLOOMS WITH THE WIND BLOWS

นิทรรศการภาพถ่ายของ มาริษา ศรีจันแปลง นำเสนอความทรงจำของเหตุสังหารหมู่โดยเขมรแดง ผ่านภาพกอดอกหญ้าที่ผุดขึ้นกลางพื้นที่รกร้าง แทนที่ภาพความรุนแรงอันประจักษ์ชัด

TEXT: KANDECH DEELEE
PHOTO COURTESY OF HOP – HUB OF PHOTOGRAPHY

(For English, press here)

ในระนาบของประวัติศาสตร์ชาติที่ดูราบรื่น ยังคงมีเศษส่วนของประวัติศาสตร์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ต่อสู้อยู่ตามขอบ ผกา เดอ พลอว (Blooms with The Wind Blows) เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ มาริษา ศรีจันแปลง โดยมี ณัฐดนัย ทรงศรีวิลัย เป็นภัณฑารักษ์ ตัวนิทรรศการว่าด้วยการเดินทางของศิลปินที่ต้องการย้อนกลับไปสำรวจเส้นทางการลี้ภัย และรวบรวมชิ้นส่วนความทรงจำของครอบครัวที่หล่นหายจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา (1975-1979) โดยพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เขมรแดง’

Blooms with The Wind Blows

ถึงแม้ตัวนิทรรศการจะตั้งต้นจากประวัติศาสตร์บาดแผลครั้งสำคัญ แต่ผลงานทั้งหมดกลับไม่ปรากฏภาพความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น แทนที่จะประกาศกร้าวถึงบาดแผล แสดงวัตถุพยานแห่งประวัติศาสตร์ หรือมรดกความเจ็บปวดที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งนิทรรศการกลับเต็มไปด้วยภาพถ่ายกอดอกหญ้าที่ผุดขึ้นกลางพื้นที่รกร้าง ภาพถ่ายเหล่านี้ไม่ปรากฏภาพบุคคล หรือตัวอ้างอิงที่พอจะระบุว่าเป็นพิกัดของสถานที่ใดๆ ฉากหลังของดอกหญ้ามีเพียงหญ้ารก ดินแดง และกิ่งไม้แห้งที่พบเจอได้ทั่วไป ผกา เดอ พลอว เลือกที่จะลดทอนภาพจำของความรุนแรงที่เร่งเร้าอารมณ์ของผู้ชม และมอบหมายให้ ‘ดอกหญ้า’ อันแสนสามัญนี้เป็นผู้บอกเล่าความทรงจำของผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้

Blooms with The Wind Blows

มาริษาเริ่มต้นด้วยการสำรวจเส้นทางที่ครอบครัวของเธอเคยใช้ลี้ภัย เธอตั้งต้นจากไทยโดยมีปลายทางเป็นการย้อนกลับไปหาบ้านหลังเดิมของคุณตาที่กัมพูชา ในเรื่องเล่าของผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์เขมรแดง พวกเขามักจะกล่าวถึงการฝังกลบหลักฐานที่ระบุอัตลักษณ์ของตนเองลงในดิน เพื่อป้องกันการตรวจจับเข้าสู่ระบบการลงโทษของเขมรแดง มาริษานำเอาเรื่องราวดังกล่าวมาสานเข้ากับภาพของดอกหญ้าที่ผุดขึ้นในเส้นทางการลี้ภัย การผุดขึ้นดอกหญ้าริมทางจึงกลายเป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) ถึงการผุดขึ้นของตัวตนของผู้ลี้ภัยที่เคยถูกทิ้งเอาไว้ระหว่างทาง

Blooms with The Wind Blows

น่าสนใจว่าสิ่งที่มาริษาเลือกที่จะถ่ายทอด ไม่ใช่การลงไปชี้ชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่หลงเหลือกับสิ่งที่สาบสูญ แต่เธอทำให้การเดินทาง ‘ย้อน’ เส้นทางการลี้ภัยนี้ (re-transnation) กลายเป็นการทบทวนและแปลความหมายของเรื่องราวเหล่านั้นใหม่ผ่านดอกหญ้า (re-translation) มาริษาได้ผสานเรื่องเล่าจากผู้ลี้ภัย ความทรงจำส่วนตัว และร่องรอยของสถานที่จริง ให้พลิ้วไหวไปพร้อมกับดอกหญ้า

Blooms with The Wind Blows

ยิ่งไปกว่านั้น การเดินทางข้ามพรมแดนก็ไม่ได้เป็นการสูญเสียเพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นไปเพื่อการสงวนรักษา นอกจากการบาดเจ็บล้มตายของผู้บริสุทธิ์แล้ว การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดงนั้นยังสร้างผลกระทบต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในวงกว้าง ดังพิธี ‘แซนโฎนตา’ ของชาวกัมพูชาที่จะนำดอกไม้มาสักการะดวงวิญญาณบรรพบุรุษ แม้ในปัจจุบันจะพบในหมู่ชาวไทยเชื้อสายเขมรที่ลี้ภัยอยู่บ้าง แต่กลับไม่พบพิธีกรรมนี้ในฝั่งกัมพูชาอีกแล้ว ระหว่างการเดินทางในครั้งนี้ มาริษาจึงเก็บสะสมเมล็ดดอกรักที่พบเจอระหว่างทางมาประกอบกันเป็นผลงาน ‘Blooms with The Wind Blows’ ที่เป็นการจำลอง ‘ผกาบายเบ็ณฑ์’ พานพุ่มดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบการสักการะในพิธีแซนโฎนตา ผลงานชิ้นนี้จึงกลายเป็นการย้อนกลับไปเก็บชิ้นส่วนความทรงจำและและเรียกคืนตัวตนของเหล่าผู้ลี้ภัยที่ตกค้างให้กลับคืนสู่บ้าน กลับคืนสู่อ้อมกอดของลูกหลาน กลับคืนสู่สถานะบรรพบุรุษอันเป็นที่เคารพ ซึ่งสอดคล้องกันดีกับสถานะของพื้นที่ศิลปะที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างการเป็นพื้นที่จัดแสดงและพื้นที่พิธีกรรมไปในเวลาเดียวกัน

Blooms with The Wind Blows

แม้ท้ายที่สุด ผลงานวิดีโอ ‘Phaka Der Plaw’ จะเผยบทสรุปว่า ปัจจุบันบ้านหลังเดิมของคุณตาได้กลายเป็นพื้นที่รกร้างไปแล้ว แต่มาริษาก็ได้นำกรอบรูปเก่าที่เคยบรรจุภาพถ่ายเพียงใบเดียวของคุณตามาจัดแสดง ในผลงาน ‘Grow and Remember Me’ เธอได้ทำการสับเปลี่ยนภาพถ่ายคุณตาให้แทนที่โดยภาพกอดอกหญ้าที่ขึ้นกลางป่ารก นอกจากจะเป็นการอุปมาอุปไมยถึงการกลับบ้านของผู้ลี้ภัยแล้ว ภูมิทัศน์ในภาพถ่ายยังกลายเป็นจุลจักรวาล (microcosm) ของประวัติศาสตร์ผู้ลี้ภัยที่จะต้องอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณขนาดใหญ่ของประวัติศาสตร์ชาติ สภาพแวดล้อมภายในภาพถ่ายจึงกลายเป็นภาพสะท้อนที่ผู้ลี้ภัยจะต้องเผชิญ ในภาพถ่ายกอดอกหญ้าของมาริษาแสดงให้เห็นถึงการเล่นล้อกับอัตลักษณ์และความเป็นพรมแดน (borderland) ที่เหมือนจะชัดเจนแต่ก็มีความคลุมเครือไปในเวลาเดียวกัน ความพร่าเลือนระหว่างหญ้ารกกับดอกหญ้า สะท้อนให้เห็นภาพการดำรงอยู่ของผู้ลี้ภัยที่จะต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่ตนจะต้องเผชิญ แม้จะต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนที่อบอุ่นและคุ้นเคย แต่ ‘ดอกหญ้า’ ก็ยังคงต่อสู้ ดิ้นรน และรักษาตัวตนท่ามกลางความหลากหลายและเงื่อนไขที่ไม่รู้จบ ภายใต้เงาของร่มไม้น้อยใหญ่ ดอกหญ้าก็ยังคงอยู่

เพราะการลี้ภัยไม่ใช่การหนี แต่เป็นการต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่ง

นิทรรศการ ผกา เดอ พลอว (Blooms with The Wind Blows) จัดแสดงที่ HOP – Hub of Photography ชั้น 3 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม – 21 กรกฎาคม 2567

marisasrijunpleang.com
facebook.com/hubofphotographybangkok

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *