LANDSCAPE OF EMPTINESS

นิทรรศการ Landscape of Emptiness นำเสนอผลงานศิลปะของสนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ที่แสดงให้เห็นว่าในความว่างเปล่าก็มีตัวตนอยู่

TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

ท่ามกลางความยุ่งเหยิงของแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในจักรวาลของกางเกงช้าง กลิ่นบุหรี่และน้ำหอมนานาชาติ เสียงโหวกเหวกของฝูงชนที่กำลังถูกต้อนขึ้นรถราง (มีล้อ) เสียงตุ๊กตุ๊กร้องเรียกผู้โดยสาร และภาพเหนือจริงของนางอัปสรที่เดินเซลฟี่กันขวักไขว่ นิทรรศการ ‘Landscape of Emptiness’ ของ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เสมือนสถานที่หลบภัยให้เข้าไปสงบจิตสงบใจชั่วคราว

นี่นับเป็นความรื่นรมย์ในการรับชมศิลปะ ความคิดหยุดนิ่ง สมาธิจดจ่อกับทุกขณะ ทุกประสาทสัมผัสที่ได้รับรู้ แต่แล้วเมื่อออกจากแกลเลอรี กลับเข้าสู่โลกใบเดิม ชีวิตประจำเดิม ผ่านไปสองสามวัน เมื่อกำลังเริ่มเขียนบทความชิ้นนี้ คำถามแรกที่เกิดคือ อะไรที่ทำให้เรารู้สึกถึงห้วงขณะของความสงบ? ใช่ความว่างเปล่าอย่างชื่อของนิทรรศการ ‘ภูมิทัศน์ของความว่างเปล่า’ หรือไม่?

คำตอบที่พบคือทั้งใช่และไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่ในแกลเลอรีไม่ใช่ ‘ความว่างเปล่า’ ในความหมายของ ‘การไม่มีอยู่’ แต่เป็น ‘ความว่างเปล่า’ ที่เกิดขึ้นจาก ‘การมีอยู่’ ต่างหาก

ใน ‘Landscape of Emptiness’ เรายังคงพบวัสดุที่สนิทัศน์มักใช้ในผลงานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ดิน กระจก โลหะ ฯลฯ รวมทั้งรูปทรง อย่าง เจดีย์ หรือ สถูป ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เช่นกัน แต่ในครั้งนี้ งานแต่ละชิ้นของเธอมี ‘ความเป็นวัตถุ’ น้อยลงกว่าเดิมมาก คือมีปริมาตรลดลงและบางเบามากขึ้น (แม้ว่าผลงานชิ้นก่อนหน้า ‘Garden of Silence จะแทบกลืนหายไปกับสภาพแวดล้อมแล้วก็ตาม แต่ถ้าพูดในแง่ของความเป็นวัตถุ ก็ถือว่ามีปริมาตรมากอยู่ดี) อย่างไรก็ดี ถึงความเป็นวัตถุจะถูกลดทอนลง แต่รูปฟอร์มยังคงมีให้เห็นไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่จากก่อนหน้านี้ที่รูปฟอร์มเกิดจากวัตถุเกือบ 100% มาครั้งนี้ รูปฟอร์มของเจดีย์กลับเกิดจากการที่ศิลปินใช้ชิ้นงานที่เป็นวัตถุผสมกับพื้นที่ว่าง (void) วาดร่างขึ้นมา

‘Silence’ อินสตอลเลชันที่ผู้ชมจะเจอเป็นชิ้นแรกเมื่อเดินขึ้นมาบนชั้นสองของแกลเลอรี คือผลงานที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องการสร้างฟอร์มขึ้นจากวัตถุและพื้นที่ว่าง ผลงานชิ้นนี้เป็นกระดิ่งทองเหลืองหลายชิ้นที่ศิลปินห้อยลงมาจากแผ่นไม้ทรงกลมบนเพดาน โดยการจัดเรียงกระดิ่งแต่ละชิ้นที่ห้อยลงมาในความยาวที่แตกต่างกันทำให้เห็นเป็นรูปฟอร์มของฐานเจดีย์ลอยอยู่กลางอากาศ และให้ความรู้สึกโปร่ง บางเบา

ในแกลเลอรีที่เป็นพื้นที่ปิดไม่มีลมพัดเข้ามา กระดิ่งทองเหลืองที่มีศักยภาพพร้อมที่จะทำให้เกิดเสียง จึงห้อยลงมาอย่างสงบนิ่งและเงียบเชียบ ไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่มันถูกออกแบบมาให้ทำแต่อย่างใด แต่ในความเงียบนิ่งนั้นเอง ศิลปินออกแบบแสง (โดยมีที่ปรึกษาคือ กุลกานต์ คุรุรัตน์) ให้กระดิ่งทองเหลืองแต่ละชิ้นทาบทาเงาไปบนผนังขาวและพื้นไม้ของแกลเลอรี จนเกิดเป็นรูปฟอร์มเจดีย์อีกชิ้นหนึ่งที่วาดร่างขึ้นด้วยเงา… เงาที่ไร้รูป ไร้ตัวตน ‘จับต้องไม่ได้’ แต่ก็เกิดจากวัตถุสิ่งของที่มีรูปทรง ‘จับต้องได้’

โดยส่วนตัวแล้ว ‘Silence’ เป็นงานที่เราใช้เวลารับชมมากที่สุดในนิทรรศการครั้งนี้ ด้วยเหตุผลหลักๆ คือเงาเหล่านี้นี่เอง ไม่ใช่แค่ว่าเพราะเงาเข้ามาเติมความหมายให้กับแนวคิดที่ศิลปินต้องการสื่อเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด เงาที่เกิดบนผนังและกำแพงนั้น สวย สงบนิ่ง จนสะกดใจให้อยู่กับมันได้นาน เงายังเข้ากันได้ดีกับพื้นที่ โดยเฉพาะกับเงาของลูกกรงบันได และ ‘Impermanence’ จิตรกรรมในโทนสีดำทะมึนที่ติดตั้งอยู่บนโถงบันได ในระนาบเดียวกับเงารูปทรงเจดีย์ที่อยู่บนผนังพอดิบพอดี จิตรกรรมชิ้นนี้ทำขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ คือ ดิน ฝุ่น ขี้เถ้า ยางกระถิน และผ่านการจุดรมควันด้วยไม้ Palo Santo ตามความเชื่อที่มีมายาวนานของชนเผ่าอินคาในแถบป่าแอมะซอนว่าควันของไม้ Palo Santo จะช่วยกำจัดความคิดด้านลบและวิญญาณชั่วร้ายให้หมดไป และช่วยให้เรากลับสู่สภาวะสงบและสมดุลอีกครั้ง1  

ในห้องติดกับ ‘Silence’ เป็นห้องโล่งๆ ไม่มีชิ้นงานใดอยู่เลย มีเพียงไฟสปอตไลต์สาดมาจากมุมหนึ่ง โดยในลำแสงนั้น เราจะเห็นฝุ่นละอองเล็กจิ๋วจำนวนมากลอยคว้างอยู่กลางอากาศ และถ้ามองให้ดีกว่านั้นอีก บนพื้นไม้ของแกลเลอรีที่แสงตกกระทบ มีรอยเท้ามากมายที่อาจเป็นของศิลปิน ทีมงาน เจ้าหน้าที่ และผู้ชมที่ผ่านมาและผ่านไป นี่คือผลงานที่ชื่อ ‘Stardust, or we are…’ งานศิลปะที่ไม่มีความเป็นวัตถุหลงเหลืออยู่เลย

แสงและเงาปรากฏให้เห็นอีกครั้งใน ‘Shadow of Emptiness’ ผลงานที่สนิทัศน์นำเอาสิ่งของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เก็บมาจากที่ต่างๆ เช่น ช้อนส้อมพลาสติก ขวดยาคูลท์ ดอกปีบ ใบไม้ ฯลฯ มาหล่อเป็นทองเหลือง ห้อยลงมาจากเพดานเป็นรูปทรงกลมคล้าย big bang และมีดวงไฟส่องแสงเจิดจ้าอยู่ตรงกลางคล้ายดวงอาทิตย์ ส่งให้วัตถุชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านั้นเกิดเป็นเงาเปรอะไปทั่วทั้งเพดาน ผนัง และพื้นห้อง อย่างไรก็ตาม ถึงเงาจะโดดเด่นที่สุดในภาพที่ออกมา แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดกลับเป็นกระบวนการหล่อทองเหลืองที่ศิลปินเลือกใช้

ไม่ว่าจะใน ‘Shadow of Emptiness’ หรือ ‘A Frog in the Mud’ ประติมากรรมเขียดทองเหลืองจัดวางอยู่บนท่อนไม้ที่เผาจนดำสนิท (จัดแสดงในชั้นล่าง) ศิลปินล้วนใช้วิธีการหล่อทองเหลืองแบบ lost wax ภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มหัตถกรรมบ้านปะอาว อุบลราชธานี โดยวิธีการหล่อดั้งเดิมนั้นจะใช้แบบที่ทำจากขี้ผึ้ง เทโลหะที่หลอมละลายลงไป จากนั้น เมื่อโลหะแข็งตัว เกิดเป็นชิ้นงาน ขี้ผึ้งจะละลายและหายไปในที่สุด แต่สำหรับนิทรรศการนี้ สนิทัศน์ไม่ได้ใช้แบบที่ทำจากขี้ผึ้ง แต่ใช้สิ่งของจริงๆ และซากเขียดจริงที่เธอบังเอิญไปพบ ทำให้เมื่อชิ้นงานทองเหลืองของเธอถูกสร้างขึ้นมา สิ่งของและซากเขียดนั้นก็อันตรธานหายไป หรือจะบอกว่าเมื่อซากเขียดหายไป ผลงานศิลปะของเธอจึงเกิดขึ้น ก็คงจะได้อีกเหมือนกัน

ทั้งวิธีการหล่อโลหะแบบ lost wax และ big bang ทำให้เราพบทวิภาวะ (dualism) อีกคู่หนึ่งที่สนิทัศน์ใส่ไว้ในนิทรรศการครั้งนี้ นั่นคือ ‘เกิด” และ ‘ดับ’

ในพุทธศาสนา จะไม่ใช้การมองโลกโดยแยกความจริงออกเป็นขั้วตรงข้าม อย่าง ดี/เลว มืด/สว่าง ฯลฯ แต่จะใช้การมองแบบอทิภาวะ (non-dualism) คือความคิดที่เชื่อว่าเราไม่สามารถปฏิเสธสิ่งหนึ่งเพื่อโอบรับอีกสิ่งหนึ่งได้ เพราะทุกอย่างในโลกล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน2 เช่น ถ้าไม่มีแสงสว่างก็ไม่เกิดเงามืด ถ้าไม่มีความมืดก็ไม่เห็นแสงสว่าง เป็นต้น นอกจากนั้น การที่สองขั้วที่แตกต่างกันนั้นเชื่อมโยงกันเพราะมีการแปรเปลี่ยนสภาพไปมาตลอดเวลา เหมือนกับที่เทคนิคการหล่อโลหะ lost wax ที่สนิทัศน์ใช้ ที่มีทั้ง ‘เกิดและดับ’ และ ‘ดับและเกิด’ เดินทางถ่ายเทกันไปมา และน่าจะเหมือนกับใน ‘Primitive’ ที่ศิลปินนำเอาดินและขี้เถ้าเข้ามาใส่ในห้องแกลเลอรีชั้นล่างจนเต็ม ดูคล้ายแลนด์สเคปเวิ้งว้างว่างเปล่าที่ไหนสักแห่ง ผนังรอบห้องกรุกระจกเกรียบที่เป็นวัสดุเลื่อมพรายแสง ให้ภาพสะท้อนพร่าเลือน โดยดินคือสภาพของพื้นที่แห่งนี้ในอดีตก่อนจะมาเป็นหอศิลป์และเป็นอนาคตของพื้นที่แห่งนี้อีกเช่นกัน เฉกเช่นทุกอย่างที่ต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ยังมีผลงานอีกสามห้องที่ยังไม่ได้พูดถึง คือ ‘Follow the Sun’, Follow the Moon’ และ ‘The Present Moment’ ทั้งสามห้องเป็นเหมือนพื้นที่ที่ศิลปินเตรียมไว้ให้ผู้ชมได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง โดยห้องแรกจำลองแสงและเสียงธรรมชาติของบรรยากาศยามเช้า ห้องที่สองที่เกือบมืดสนิทมีเสียงแมลงกลางคืนและกลิ่นป่า (ศิลปินอัดเสียงมาจากตอนที่ไปปฏิบัติธรรมในป่าและทำงานร่วมกับ อชิตพล พานทอง เพื่อออกแบบกลิ่นที่ใกล้เคียงกับความทรงจำมากที่สุด ซึ่ง ‘กลิ่น’ ที่หอมอบอวลไปทั่วทุกตารางนิ้วของแกลเลอรีถือเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นมากในนิทรรศการครั้งนี้ เพราะมันได้ลบกลิ่นห้องสมุดของอาคารเก่าที่เคยมีมาก่อนหน้า จนเราอดรู้สึกไม่ได้ว่ากลิ่นเก่านั้นกวนผลงานที่เคยจัดแสดงที่นี่มาก) ส่วนห้องสุดท้ายมีกระจกเงาติดอยู่บนประตูอย่างกลมกลืนเพื่อให้ผู้ชมได้พิจารณาตนเอง

ส่วนตัวแล้ว เราชอบสามห้องนี้น้อยที่สุด โดยเฉพาะสองห้องแรกที่เหมือนการจำลองประสบการณ์ของศิลปินมาให้ผู้ชมได้สัมผัส เหตุผลนั้นเพราะเราเชื่อว่าการภาวนา ทำสมาธิ หรือเข้าถึงความว่างเปล่าของจิตใจนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ และแต่ละคนล้วนมีวิธีการและประสบการณ์เป็นของตัวเอง บางคนอาจเป็นการเล่นกีฬา ฟังดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ หรือบางคนอาจเป็นการชมศิลปะดีๆ สักชิ้นสองชิ้น และแม้สองห้องนี้จะให้บรรยากาศที่สงบ แสง เสียง และกลิ่นที่รื่นรมย์ แต่ในฐานะผู้ชมคนหนึ่ง เราสัมผัสได้ถึงความสงบและเสมือนได้ภาวนาอยู่ทุกก้าวย่างตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในนิทรรศการนี้แล้ว

นิทรรศการ ‘Landscape of Emptiness’ จัดแสดง ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 8 มิถุนายน 2567

1 ‘The Magic of Palo Santo. Accessed 17 January. modernom.co
2 หนังสือ ‘ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร’ ประมวล เพ็งจันทร์ เขียน

sanitasstudio.com
art-centre.su.ac.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *