KEMPEGOWDA INTERNATIONAL AIRPORT, TERMINAL 2 DEPARTURES

Kempegowda Airport

โครงการต่อเติมสนามบินในประเทศอินเดียซึ่งเป็นผลงานออกแบบภายใต้แนวคิด biophilic design ผ่านความคิดสร้างสรรค์ของสตูดิโอ Enter Projects Asia โดยเลือกใช้หวายเป็นวัสดุหลัก

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: HUFTON + CROW PHOTOGRAPHY EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

Kempegowda Airport

ช่วงหลายปีมานี้ กระแสของ ‘biophilic design’ เป็นแนวคิดที่มีมาให้เห็นบ่อยขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในโลกของงานออกแบบ ความเชื่อมโยงกับธรรมชาติในงานออกแบบนั้นปรากฏขึ้นในหลากหลายวิธีตั้งแต่ความพยายามใช้ต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ หรือการพลิกแพลงใช้วัสดุพื้นถิ่นในองค์ประกอบของงานออกแบบมากขึ้น เช่นเดียวกับสนามบิน Kempegowda International Airport (Terminal 2) ที่ Enter Projects Asia ได้นำวัสดุท้องถิ่นอย่างหวายมาใช้เป็นวัสดุหลักของงานออกแบบภายในของพื้นที่ส่วนขาออกของสนามบิน เพื่อมอบทั้งประสบการณ์ของพื้นที่ในสนามบินที่แตกต่างรวมถึงขยายจินตนาการต่อวัสดุพื้นถิ่นที่อาจมีศักยภาพต่อการออกแบบที่ยั่งยืนกว่าที่ใครหลายคนคิด

Kempegowda International Airport (Terminal 2) คือส่วนต่อเติมของสนามบิน Kempegowda International Airport ณ เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ส่วนต่อเติมนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับกับนักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 25 ล้านคนที่เดินทางมายังเมืองบังกาลอร์ในทุกๆ ปี โดยในส่วนงานสถาปัตยกรรมของอาคารหลักนั้นได้รับการออกแบบโดย Skidmore, Owings & Merrill (SOM) ภายใต้ไอเดียอย่าง ‘Terminal in Garden’ ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในเมืองบังกาลอร์ที่สะท้อนผ่านฉายาของเมืองอย่าง ‘Garden City’ นำไปสู่การออกแบบในที่เชื่อมโยงเข้ากับธรรมชาติทั้งในเชิงการใช้งานและความรู้สึก อาทิ การใช้ฝ้าจากไม้ไผ่ที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ และการหุ้มเสาด้วยไม้ไผ่เพื่อทำให้ภาพรวมของสเปซดูเบาขึ้น หรือการวางต้นไม้ในระดับต่างๆ ทั้งจากกระถางที่แขวนบนฝ้า สวนในระดับสายตา และสวนน้ำตกภายในอาคารที่ลึกลงไปในชั้นล่างอันช่วยสร้างมิติของพื้นที่สีเขียวทั้งในระนาบแนวราบและแนวดิ่ง

Kempegowda Airport

Kempegowda AirportKempegowda Airport

เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมของสถาปัตยกรรม พื้นที่ retail space ในส่วนขาออกของสนามบินขนาดกว่า 12,000 ตารางเมตรที่ออกแบบโดย Enter Projects Asia นั้นจึงมีการเลือกใช้วัสดุหลักเป็นหวายทั้งหมด อีกทั้งแทนที่จะเป็นห้องสี่เหลี่ยมปกติ ผู้ออกแบบได้พิจารณาและนิยามพื้นที่เหล่านี้ใหม่ในฐานะพื้นที่ปิดล้อมที่มีอิสระในการใช้งานและสร้างความรู้สึกคล้ายประติมากรรมในพื้นที่มากกว่าการเป็นพื้นที่จำกัดที่ตายตัว ทำให้พื้นที่ retail space ในส่วนนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ปิดล้อมห้าส่วนที่วางกระจายอยู่ระหว่างกริดเสาของอาคาร พื้นที่ทั้งหมดนั้นเป็นอิสระต่อกันและมีลักษณะเป็น organic form ที่แตกต่างกันทั้งรูปทรง ขนาด และความสูง ซึ่งรูปทรงที่แตกต่างกันนี้ก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่ไม่จำเจให้แก่ร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ บ้างมีสองชั้น บ้างมีโครงสร้างเชื่อมต่อกับพื้นที่ปิดล้อมส่วนอื่น ความมีชีวิตชีวาของรูปแบบพื้นที่นี้ทำงานร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ทั้งวัสดุที่มีความเป็นมิตร แสงที่เกิดจาก skylight ของอาคาร รวมถึงบรรยากาศพื้นที่สีเขียวในอาคารพร้อมทั้งมอบประสบการณ์ของธรรมชาติให้แก่ผู้โดยสารในช่วงเวลารอขึ้นเครื่องเพื่อออกเดินทางไปยังที่หมายต่อไป

Kempegowda Airport

Airport Rendering | Image courtesy of Enter Projects Asia

Kempegowda AirportKempegowda AirportKempegowda Airport

หวายทั้งหมดมีความยาวกว่า 9 กิโลเมตร ถูกเปลี่ยนมาเป็นงานออกแบบที่ชวนให้เราคิดถึงความเป็นไปได้ของการใช้วัสดุพื้นถิ่นในงานออกแบบร่วมสมัย เพราะแม้ว่าจะมีรูปทรงที่ดูแปลกใหม่จากการขึ้นรูปสามมิติในโปรแกรมคอมพิวเตอร์และมีสเกลของงานที่ใหญ่เกินไปจากชิ้นงานหวายสานที่เราเห็นได้ทั่วไป (โดยมีชิ้นที่ยาวที่สุดคือ 63 เมตร) แต่ชิ้นงานที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นก็ได้ถูกสานขึ้นด้วยเทคนิคและวิธีการแบบดั้งเดิมของช่างพื้นถิ่นในประเทศไทยนี้เอง ผู้ออกแบบอย่าง Enter Projects Asia ยังนำเสนอวิธีการพลิกแพลงเทคนิคบางอย่างที่มีอยู่เดิมให้เหมาะกับการใช้งานมากขึ้น เช่นการปรับความถี่ของหวายที่ถูกสานเพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน ผนังหวายที่ถูกสานในส่วนด้านหน้าของร้านค้าจะมีความถี่ที่กว้างเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานแต่ยังเปิดให้เห็นถึงบรรยากาศภายใน และหวายในส่วนบริการอย่างห้องครัวจะมีการสานชิดติดกันเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในพื้นที่ใช้งาน

Kempegowda Airport

Photo Session at Factory | Photo courtesy of Enter Projects Asia

Kempegowda Airport

Enter Projects Asia สตูดิโอสัญชาติออสเตรเลียที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เราได้กลับมาพิจารณาถึงภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่นและวัสดุธรรมชาติที่อาจตอบรับกับกระแสความยั่งยืนในปัจจุบัน โปรเจ็กต์ Kempegowda International Airport (Terminal 2) นี้ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการผนวกความยั่งยืนเข้าไปในสถาปัตยกรรมในทุกระดับ ผ่านการดึงวัสดุและวิธีการเหล่านี้ออกจากกรอบนิยามเดิมที่อาจปรากฏอยู่เพียงแค่ในงานออกแบบขนาดเล็กหรือบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และฉายภาพอุดมคติของ ‘biophilic design’ ที่ทำงานร่วมกันทั้งองคาพยพของการออกแบบและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่สิ่งที่เล็กที่สุดไปจนถึงสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่เฉกเช่นสนามบิน เพื่อสื่อสารว่าความยั่งยืนและการเชื่อมโยงกับธรรมชาตินั้นมิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ในหน่วยย่อย หากแต่เป็นระบบนิเวศที่ทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นระหว่างสิ่งมีชีวิตต่อสิ่งมีชีวิต หรือแม้กระทั่งระหว่างงานออกแบบและงานออกแบบเองก็ตาม

Kempegowda Airport

enterprojects.net
facebook.com/enterprojectsasia

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *