AMERICAN STANDARD DESIGN AWARD THAILAND 2024

ASDA 2024Pixel Cube ผลงานชนะเลิศระดับประเทศไทย โดย พสธร กีฬา

ชมแนวคิดของผู้ชนะรางวัลระดับประเทศไทยทั้ง 3 คน จาก ASDA 2024 ที่ตีความคำว่า ‘บ้าน’ ในธีม ‘Home Away From Home’ ตามแบบของตัวเอง และนำมาปรับให้เข้ากับการออกแบบห้องน้ำโรงแรมเป็นอย่างดี

TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF LIXIL EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ห้องน้ำเป็นพื้นที่ที่ต้องมีในทุกอาคาร ไม่ว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมในช่วงเวลาหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รูปแบบการใช้งานห้องน้ำของทุกคนก็ยังคงเป็นการปลดทุกข์ ล้างมือ ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ พฤติกรรมการใช้งานส่วนอื่น ๆ อาจมีการแปรผันไปตามกาลเวลาหรือเทรนด์การใช้ชีวิตอยู่บ้าง แต่องค์ประกอบสำคัญที่ห้องน้ำทุกยุคสมัยควรมีนอกจากเรื่องพื้นฐานเหล่านั้นก็คือ ‘ความสบายใจ’ ที่จะเข้าไปใช้งาน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ‘ความสบายใจ’ ที่ว่านี้ ห้องน้ำของแต่ละสถานที่มีไม่เท่ากัน ในชีวิตประจำวันหลายคนยอมอดทนกลับไปใช้ห้องน้ำที่บ้านหรือที่พักอาศัยที่คุ้นเคยมากกว่า แล้วถ้าเป็นระหว่างการท่องเที่ยวหลายวันล่ะ จะทำอย่างไร?

ASDA 2024

ออดรีย์ โหย่ว ลีดเดอร์ ลิกซิล เอเชียแปซิฟิก, ธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำ

“ห้องน้ำในบ้านเป็นส่วนผสมระหว่างดีไซน์ พื้นที่ และการใช้งาน ซึ่งมีความสมดุลและเข้ากับความชอบส่วนตัวของพวกเรา ส่วนห้องน้ำในโรงแรมหรือรีสอร์ทจะต้องมีความสวยงามและใช้งานได้ รวมถึงต้องน่าใช้สำหรับนักท่องเที่ยวหลากหลายแบบ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้สไตล์ สี หรือองค์ประกอบแบบไหนในการตกแต่ง ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ทำเพื่อความรู้สึกสบายใจทุกครั้งที่ก้าวเข้าไปในห้อง” ออดรีย์ โหย่ว ลีดเดอร์ ลิกซิล เอเชียแปซิฟิก, ธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำ กล่าวถึงความแตกต่างและจุดร่วมของห้องน้ำในบ้านและโรงแรม

American Standard Design Award (ASDA) 2024 จึงกลับมาอีกครั้งพร้อมธีมใหม่ ‘Home Away From Home’ ให้น้อง ๆ นักศึกษาได้ออกแบบพื้นที่ห้องน้ำสำหรับโรงแรม โรงแรมบูทีก และรีสอร์ท (Hospitality) ที่มอบความผ่อนคลายและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าพัก โดยปีนี้ใช้เกณฑ์การตัดสินผลงานตามเดิม อันประกอบด้วย 4 หัวข้อด้วยกัน คือ Purposeful Design – การตอบโจทย์ความต้องการการใช้งาน Inviting Style – ความสวยงามของงานออกแบบ Originality – มุมมองและแนวทางที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร และ Feasibility – ความเป็นไปได้ในการใช้งานจริง

สำหรับในปีนี้ ประเทศไทยมีผู้สมัครมากที่สุดในการประกวดทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้สมัครเพิ่มขึ้นเกือบ 40% จาก ASDA ครั้งแรกในปี 2022 ตอบรับกับวัตถุประสงค์ของงานที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ สะท้อนปรัชญาของ American Standard ที่มุ่งรังสรรค์นวัตกรรมห้องน้ำที่ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่มีโอกาสได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและนักออกแบบชั้นนำในอุตสาหกรรมอีกด้วย

ASDA 2024

อองตวน เบสเซเร เดอ ซอร์ ลีดเดอร์ ลิกซิล กลอบอล ดีไซน์ ภูมิภาคเอเชีย

“เราทำงานมากมายร่วมกับทีมในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม ซึ่งเราใช้เวลาอย่างมากเพื่อพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในสถานที่เหล่านั้น การสร้างสมดุลให้ความงามแบบสากลเชื่อมกันได้ดีกับแต่ละพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของ American Standard อยู่แล้ว การริเริ่มโครงการอย่าง American Standard Design Award มีส่วนช่วยให้เราสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลเชิงลึกของวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านั้นได้จริง ๆ ผมประทับใจทุกครั้งเมื่อได้เห็นแนวคิดจากเหล่านักศึกษา วิธีที่พวกเขาหยิบผลิตภัณฑ์ของเรามาใช้งานทั้งน่าทึ่งและชวนให้เซอร์ไพรส์เสมอ” อองตวน เบสเซเร เดอ ซอร์ ลีดเดอร์ ลิกซิล กลอบอล ดีไซน์ ภูมิภาคเอเชีย กล่าว

ASDA 2024

(ซ้ายไปขวา) Mai Ha Vo, winner of Vietnam; Davy Sophonn, winner of Cambodia; Ricardo Noel Bonalos, winner of Philippines; พสธร กีฬา, winner of Thailand; Luist Yansen, winner of Indonesia

ในรอบชิงชนะเลิศรางวัล Asia-Pacific Grand Prize ระหว่าง 6 ผู้ชนะระดับชาติ เป็นผลงาน SereniScape Retreat: Your Personal Urban Oasis จาก Ricardo Noel Bonalos (Philippines) ที่คว้าชัยไป ส่วนผลงานที่คว้ารางวัลชนะระดับประเทศไทยคือ Pixel Cube จาก พสธร กีฬา มหาวิทยาลัยขอนแก่น รางวัลที่สองเป็นผลงาน The Forest House จาก อภิรดา ศิริปัญญา วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และรางวัลที่สามคือผลงาน Mini Secret Base จาก ณภัชนันท์ โชคธนนิตินันท์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เช่นเดียวกัน โดยทั้งสามต่างมีแนวคิดและการตีความคำว่า ‘Home Away From Home’ เป็นของตัวเอง แม้จะถูกสร้างสรรค์ภายใต้โจทย์เดียวกัน ผลงานทั้งสามก็ยังคงความสดใหม่ที่สามารถจุดประกายไอเดียไม่รู้จบ

ASDA 2024

Photo: Ketsiree Wongwan

ASDA 2024ASDA 2024ASDA 2024

รางวัลชนะเลิศระดับประเทศไทย: ผลงาน Pixel Cube
โดย พสธร กีฬา จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บ้านของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นห้องน้ำของแต่ละบ้านยิ่งมีความแตกต่างกัน พสธรจับประเด็นเรื่อง ‘ความยืดหยุ่น’ ขึ้นมาออกแบบควบคู่กับการสร้าง ‘ความสบายใจ’ เวลากลับไปใช้งานห้องน้ำที่บ้าน Pixel Cube จะนำพาให้นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาพักผ่อนสามารถปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ห้องน้ำได้ด้วยตัวเอง โดยตัวมันทำหน้าที่เสมือนผืนผ้าใบเปล่าที่พร้อมสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายสำหรับทุกคน ภายในห้องน้ำจึงตกแต่งด้วยสีขาวเป็นหลัก

ASDA 2024

ผนังด้านในของห้องน้ำติดตั้งระบบไฟไว้ด้านหลังผนังอีกชั้นที่ก่อร่างขึ้นจากกล่องใสทรงลูกบาศก์ขนาด 30x30x40 cm ตลอดแนว กล่องใสเหล่านี้ถูกแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบตามวัตถุประสงค์การใช้งาน คือสามารถเป็นได้ทั้งลิ้นชักเก็บของ หรือจะดึงออกมาจากผนังเพื่อประกอบเป็นแท่นเหยียบสำหรับเด็กหรือที่นั่งชั่วคราวก็ได้เช่นกัน สำหรับผนังด้านที่ติดกับโซนอาบน้ำ พสธรก็เปิดมุมมองให้ผู้ใช้งานได้เปลี่ยนบรรยากาศมาเชื่อมต่อกับธรรมชาติภายนอกอีกด้วย

“ห้องน้ำโรงแรมจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของผมเองอยู่แล้ว Pixel Cube จึงถูกออกแบบมาให้รองรับทุกคน รวมถึงผู้ใช้งานในหลากหลายช่วงวัยด้วย” พสธรกล่าว

ASDA 2024ASDA 2024ASDA 2024

ASDA 2024

อุปกรณ์และสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำที่พสธรเลือกใช้ล้วนสนับสนุนไอเดียหลักของโปรเจ็กต์ บริเวณพื้นส่วนแห้งเป็นระบบ Sensacell ซึ่งมีเซนเซอร์ตอบสนองต่อการสัมผัส (การเหยียบ) เพื่อโชว์ไฟ LED ควบคู่ไปกับผนัง ส่วนฐานของอ่างล้างมือทั้งคู่เป็นกล่องซ่อนไฟ โดยทั้งหมดสามารถตั้งค่ารูปแบบได้ผ่าน smart mirror ด้านสุขภัณฑ์นั้น เน้นไปที่รูปลักษณ์ทันสมัย สวยงามอย่างเรียบง่ายเหมาะกับห้องน้ำที่รอการแต่งเติมจากผู้ใช้งาน

ASDA 2024ASDA 2024ASDA 2024
ASDA 2024

แนวคิดของพสธรมีความโดดเด่นและสดใหม่ Pixel Cube ตอบโจทย์ด้านความสบายใจในอีกมุมหนึ่งที่หลายคนคิดไม่ถึง นั่นคือความสบายใจที่เกิดขึ้นจากการลดความอึดอัดลง การเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้งานห้องน้ำได้สนุกสนานไปกับมันจึงเป็นจุดสำคัญของงานชิ้นนี้ “ผมต้องการให้งานนี้ตอบรับกับความต้องการของทุกคนได้จริง ๆ เลยออกแบบห้องน้ำให้เป็นเสมือน white canvas ที่ผู้ใช้งานสามารถรังสรรค์คำว่าบ้านของตัวเองได้”

ASDA 2024

พสธร กีฬา เจ้าของผลงาน Pixel Cube | Photo: Ketsiree Wongwan

รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศไทย: ผลงาน The Forest House
โดย
อภิรดา ศิริปัญญา จาก วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

หากนิยามของบ้านคือสถานที่ที่คนเราจะรู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด แล้วมีวิธีหรือสภาพแวดล้อมแบบไหนที่จะทำให้เกิดความรู้สึกนั้นได้บ้าง คำตอบที่ตรงไปตรงมาและทรงพลังอย่างหนึ่งที่นักออกแบบมักเลือกใช้คือธรรมชาติ คอนเซ็ปต์ของป่าโปร่งและป่าต้นน้ำถูกอภิรดานำมาประยุกต์เข้ากับผังห้องน้ำที่แบ่งโซนอย่างชัดเจน โดยดึงแพทเทิร์นของป่าร่วมกับการใช้วัสดุที่เหมาะสมทำให้การใช้งานห้องน้ำเปรียบเสมือนได้ค่อย ๆ ปล่อยตัวสู่สภาวะพักผ่อน

“มนุษย์เราอาศัยอยู่ในถ้ำท่ามกลางธรรมชาติมาตั้งแต่เมื่อก่อน เรารีเสิร์ชมาว่าเมื่อมนุษย์อยู่ใกล้ป่าจะก่อให้เกิดการรับรู้เชิงบวกและร่างกายจะมีการหลั่งสารแห่งความสุข เราเลยเอาธรรมชาติมาเป็นองค์ประกอบในการดีไซน์เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับผู้ที่เข้ามาพักผ่อน” อภิรดาอธิบาย

ASDA 2024

ASDA 2024

section

ส่วนแห้งของ The Forest House ประกอบด้วยชุดอ่างล้างมือหนึ่งคู่และโถสุขภัณฑ์ ความอบอุ่นของ finishing ไม้สีอ่อนที่เรียงเป็นเส้นตั้งบนผนังหลังกระจกซึ่งผู้ใช้งานจะเห็นเป็นอันดับแรก เป็นตัวแทนลำต้นของพืชพันธุ์ในป่าโปร่งที่มักมีพุ่มใบสูงชะลูดจนพ้นระดับสายตา อภิรดาจับคู่ไม้กับเคาน์เตอร์หิน travertine ให้เกิดความกลมกลืนและตัดด้วยสีเทาจากกรวดและผนังสีดำในส่วนเปียก ทำให้การใช้งานทั้งสองส่วนมีบรรยากาศที่แตกต่าง ขณะเดียวกันไม้และสีดำก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกันในภาพรวม

ASDA 2024

ASDA 2024

ส่วนเปียกของโปรเจ็กต์ซึ่งเป็นตัวแทนของป่าลึกก็ไม่ได้ถูกนำเสนอด้วยสีเขียวชอุ่ม ทว่าเป็น ‘ป่าต้นน้ำ’ ที่มอบความชุ่มชื้นให้พื้นที่ โขดหินและสายน้ำไหลจึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสร้างบรรยากาศ อ่างอาบน้ำสีขาวสะอาดตาที่ตั้งอยู่กลางถ้ำหินสีดำจากเทคโนโลยี 3D Printing ดูโดดเด่นยิ่งขึ้นเมื่อมีพื้นหลังเป็นธรรมชาติภายนอก สำหรับเทคนิคการก่อสร้างนี้อภิรดามองเห็นความเป็นไปได้ที่น่าสนใจ เนื่องจากในปัจจุบันมีการนำดินมาวิจัยในฐานะวัสดุสำหรับ 3D Printing ซึ่งสามารถต่อยอดได้อีกในอนาคต

ASDA 2024

“ความเป็นบูทีกรีสอร์ทจะเน้นบรรยากาศให้ผู้ที่มาเข้าพักอยู่แล้ว สิ่งที่เราดีไซน์คือสร้างความยูนีคให้กับโรงแรม ใช้ pure form และวัสดุที่สะท้อนคอนเซ็ปต์ของเราให้ชัดเจนขึ้น” อภิรดาเสริม

ASDA 2024

อภิรดา ศิริปัญญา เจ้าของผลงาน The Forest House | Photo: Ketsiree Wongwan

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับประเทศไทย: ผลงาน Mini Secret Base
โดย
ณภัชนันท์ โชคธนนิตินันท์ จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บ้านเป็นหนึ่งในพื้นที่ส่วนตัวของเรา การกลับถึงบ้านจึงสร้างความสบายใจให้ใครหลายคนเสมอ ความจริงพื้นที่ส่วนตัวนั้นมีหลายรูปแบบหลากขนาด ตั้งแต่ห้องนอน ห้องน้ำ หรืออาจเป็นเพียงมุมเล็ก ๆ มุมหนึ่งที่เรารู้สึกวางใจก็ได้ Mini Secret Base ตีความคำว่าบ้านเป็นเสมือนฐานทัพลับในวัยเด็กที่เราใช้แอบซ่อนตัวจากโลกภายนอก ในแง่หนึ่งแล้วหลายคนก็ใช้ห้องน้ำต่างสเปซเพื่ออยู่กับตัวเอง การผสานสองพื้นที่นี้ไว้ด้วยกันจึงเป็นไอเดียที่ใหม่ แต่ไม่ได้ให้ความรู้สึกแปลก

“คิดว่าผู้ที่เข้ามาใช้งานโรงแรมหรือรีสอร์ทเขาคาดหวังประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่แล้ว เราก็เลยกล้าสร้างอะไรที่มันแปลกใหม่ขึ้นมา” ณภัชนันท์เล่าASDA 2024

ณภัชนันท์ใช้การกั้นผนังสร้างสภาพแวดล้อมของพื้นที่ (ไม่) ลับ ห้องสุขาถูกแยกทางเข้าจากห้องอาบน้ำเป็นหนึ่งยูนิต แล้วใช้พื้นที่ด้านบนสร้างสรรค์ส่วนนั่งเล่นซึ่งต้องปีนขึ้นมาจากอีกด้าน โดยมีชั้นวางของที่ทำหน้าที่เป็นบันไดไปพร้อมกัน การแยกห้องอาบน้ำและห้องสุขาออกจากกันเป็นไอเดียสำหรับลดปัจจัยที่ทำให้การใช้งานห้องน้ำถูกรบกวน Mini Secret Base ยังเชื่อมต่อทั้งสองห้องด้วยการใช้รูปแบบและวัสดุเดียวกัน รวมถึงเปิดมุมมองถึงกันในส่วนที่ไม่สร้างความกระอักกระอ่วน

ASDA 2024

ASDA 2024

ระยะ floor to ceiling ของห้องน้ำห้องนี้สูงถึง 3.6 เมตร ก่อนใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเข้ามาเสริมการตกแต่งด้านบนอ่างอาบน้ำเพื่อลดความรู้สึกโล่ง ทั้งยังทำให้ห้องน้ำดูเป็นมิตรขึ้นด้วยเส้นโค้ง สำหรับยูนิตห้องสุขาที่เพดานต่ำกว่าส่วนอื่นก็มีการใช้ฝ้าอลูมิเนียมทอนความอึดอัดลงด้วยคุณสมบัติสะท้อน สำหรับครอบครัวที่มีลูกหลาน ห้องน้ำห้องนี้น่าจะสร้างประสบการณ์ที่ดีไม่น้อยในการท่องเที่ยวเลยทีเดียว

ASDA 2024

ASDA 2024

“แรงบันดาลใจของงานชิ้นนี้มาจากสเปซที่เราชอบเล่นกันตอนเป็นเด็ก เราอยากให้ผู้ใช้งานรู้สึกผ่อนคลายกับการได้หวนนึกถึงความทรงจำสมัยก่อนที่เรามักจะชอบเล่นอยู่ที่บ้าน อยู่ในฐานทัพลับจากกล่องกระดาษที่พอดีตัวกับเราแล้วรู้สึกสบายใจ” ณภัชนันท์กล่าวเสริม

ASDA 2024

ณภัชนันท์ โชคธนนิตินันท์ เจ้าของผลงาน Mini Secret Base | Photo: Ketsiree Wongwan

ไล่เรียงกันครบแล้วสำหรับผลงานของผู้ชนะ ASDA Thailand 2024 ทั้งสามคน ปีนี้การตีความโจทย์ของทุกคนล้วนมีเอกลักษณ์โดดเด่น จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เพียงนิยามของคำว่าบ้านที่แตกต่างกันเท่านั้น ทว่ายังรวมถึงนิยามและจุดแข็งของโรงแรมในใจของแต่ละคนอีกด้วย หากต้องการชมไอเดียของเหล่าผู้ชนะระดับประเทศอื่นเพิ่มเติม ก็สามารถไปเยี่ยมชมกันได้ที่หน้าเว็บไซต์ https://asda.americanstandard-apac.com/winners-2024

ASDA 2024

(ซ้ายไปขวา) วิวัฒน์ สุรพัฒนานนท์ ลีดเดอร์ ลิกซิล ประเทศไทย, ธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำ; อภิรดา ศิริปัญญา; Loy Liangwei, ลีดเดอร์ แบรนด์มาร์เก็ตติ้ง ลิกซิล เอเชียแปซิฟิก; พสธร กีฬา; ณภัชนันท์ โชคธนนิตินันท์ และ ธริณี พิมลศรี ลีดเดอร์ แบรนด์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมิวนิเคชัน ลิกซิล ประเทศไทย, ธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำ

asda.americanstandard-apac.com/th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *