MR.NEW’S CABIN

Mr.New cabin

ธรรมชาติและลมหนาวคือสองสิ่งที่บ้าน Mr.New’s Cabin หลังนี้เปิดรับ โดย Housescape Design Lab ออกแบบให้ผู้อยู่อาศัยไม่ต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัว และเป็นบ้านที่ใช้งานได้หลากหลายไปพร้อมกัน

TEXT: MONTHON PAOAROON
PHOTO: JENG PHEERA EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

cabin สีดำของนักวิ่งเทรล

สำหรับคนที่มีบ้านและทำงานในเมืองใหญ่ การมีความฝันว่าอยากมีบ้านหลังที่สองตั้งอยู่กลางธรรมชาติ หลีกลี้จากความวุ่นวายคงเป็นความฝันของใครหลายคน รวมถึง ธนัช แสนปัญญาไว หรือนิว ที่ตัดสินใจสร้างบ้านที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับขึ้นไปพักผ่อนและยังคงเดินทางทำงานไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ บ้านหลังคาสีดำกะทัดรัดตั้งอยู่กลางธรรมชาตินี้มีชื่อว่า Mr.New’s Cabin ตามชื่อของเจ้าตัว เป็นผลงานการออกแบบของ พีระพงษ์ พรมชาติ จาก Housescape Design Lab

Mr.New cabin

“ผมเคยอยู่ต่างประเทศมาก่อน เลยชอบอากาศหนาว ชอบวิ่งเทรล ชอบ camping และเป็นคนชอบธรรมชาติ เชียงใหม่แม้แต่ในหน้าร้อนอย่างเดือนเมษาฯ ผมไปพิสูจน์มาแล้วว่าบนดอยอากาศก็ยังเย็นสบายไม่ร้อนคล้ายต่างประเทศ และเวลาจะซ้อมเทรล ก็สามารถเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายภายในระยะเวลาแค่ 15-20 นาที” ธนัชเล่าที่มาที่ไปของการเลือกที่นี่เป็นบ้านหลังที่สองให้ฟัง โดยช่วงที่ตัดสินใจจะสร้างบ้าน ธนัชนั้นมาเชียงใหม่และไปซ้อมวิ่งเทรลบนดอยสุเทพบ่อยๆ ทำให้มีโอกาสไปที่โครงการ Basecamp Trail Provision ที่ตั้งอยู่หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดนัดพบของเหล่านักวิ่งเทรล ที่จะเดินขึ้นดอยสุเทพ และเป็นโปรเจ็กต์แรกที่ทาง Housescape Design Lab ออกแบบแล้วรู้สึกตรงกับแนวทางที่ตนเองอยากได้

Mr.New cabin

Mr.New cabin

พีระพงษ์บอกกับเราว่ากระบวนการทำงานของออฟฟิศจะให้ความสำคัญกับการศึกษาพื้นที่ตั้งอย่างเข้มข้นและให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงทดลอง ลูกค้าของออฟฟิศส่วนใหญ่มักเป็นคนที่เคยเห็นงานและศึกษามาก่อนว่ารูปแบบงานของ Housescape Design Lab เป็นแนวไหน ซึ่งในโปรเจ็กต์บ้านหลังนี้ ตอนคุยกันแรกๆ ธนัชก็พูดเลยว่า “โอเคครับ ทดลองกับบ้านผมเลย!” เพราะรู้สึกสนุกและยินดีลองผิดลองถูกไปด้วยกันกับสถาปนิก

Mr.New cabin

“ผมเป็นคนนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าให้ไปยืนอยู่ตรงนั้นแล้วบรรยายออกมาจะโอเคกว่า” ธนัชเล่าให้ฟังถึงช่วงแรกของการออกแบบที่ไม่สามารถเล่าถึงกายภาพของบ้านที่อยากได้ ให้สถาปนิกเข้าใจ ทางพีระพงษ์จึงแก้ปัญหาโดยการให้บรรยายออกมาเป็นความรู้สึกนามธรรมว่าบ้านที่อยากได้เป็นยังไง ธนัชเลยนึกไปถึงโครงการ Basecamp ที่ตัวเองชอบและได้นิยามสั้นๆ ของโครงการนี้ไปใช้ออกแบบต่อว่า “ผมชอบอากาศเย็นเลยนึกถึงกระท่อมเล็กๆ ที่ข้างนอกดูมืดๆ เย็นๆ แต่กลับกันเมื่อมองไปข้างในเวลาเปิดไฟดูอบอุ่น เพราะเวลาข้างนอกเย็นมันดึงดูดให้เราเข้าไปอยู่ในบ้าน”

Mr.New cabin

Mr.New cabin

การวางผังของบ้าน

“วิวพระอาทิตย์ตกที่สะท้อนน้ำ มีต้นไม้และภูเขาเป็นฉากหลัง” ธนัชบอกกับเราเมื่อยืนอยู่ในที่ดินและบรรยายถึงวิวที่อยากได้เพราะที่ตั้งของบ้านอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สวยงามรายล้อมไปด้วยภูเขาและอยู่ติดน้ำ บ้านจึงถูกวางให้อยู่ตรงกลางและหันอาคารให้เห็นวิวทางทิศตะวันตกได้ดีมากกว่าการวางบ้านขนานไปกับทิศทางของที่ดิน เนื่องจากตัวบ้านมีขนาดเล็ก การวางผังจึงแบ่งสัดส่วนอย่างเรียบง่าย คือพื้นที่ห้องนอนซึ่งเป็นส่วน private ของบ้านและส่วนใช้งานหลักที่รวมพื้นที่กินข้าว นั่งเล่น และทำงานเข้าไว้ด้วยกันเป็น open plan mobility เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนการใช้งานที่ไม่แน่นอนในอนาคต แนวคิดนี้ส่งผลไปถึงการออกแบบเฟอนิเจอร์ภายหลังที่สามารถยกหรือ ‘เลื่อน’ ไปตรงไหนก็ได้

Mr.New cabin

Mr.New cabin

ในตอนแรกมีไอเดียที่จะออกแบบติดกระจกรอบบ้านเพราะเป็นบ้านตากอากาศเพื่อให้เห็นวิวได้รอบทิศทาง แต่เพราะจะทำให้ความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านและคนภายนอกมองเข้ามาในบ้านเยอะเกินไป จึงปรับลดเหลือเฉพาะด้านที่จำเป็นสามด้านโดยมีรูปแบบและขนาดของประตูหน้าต่างแต่ละด้านที่ไม่เท่ากันตามฟังก์ชัน ทิศตะวันตกเป็นด้านที่เปิดมากที่สุดเพื่อให้มุมมองเวลาใช้พื้นที่ภายในไหลออกไปเชื่อมต่อกับลานกิจกรรมภายนอกไปจนถึงพื้นที่ติดน้ำและภูเขารอบๆ พยายามชดเชยแก้ปัญหาความร้อนด้วยการยื่นชายคายาวบังแดด นอกจากนี้ความใส่ใจในการเลือกใช้วัสดุของอาคารที่ไม่ใช่แค่ดูแลรักษาง่ายแต่ยังเป็นมิตรทางสายตาอย่างการเลือกใช้หลังคาสีดำเพราะที่ตั้งของบ้านตั้งอยู่ในหุบและที่ดินรอบๆ นั้นสูงกว่า ถ้าใช้หลังคาสีอื่นจะโดดเด่นหรือสะท้อนแสงกระทบกับเพื่อนบ้านในอนาคต

Mr.New cabinMr.New cabinMr.New cabinMr.New cabinMr.New cabinMr.New cabin

Mr.New cabin

handcraft detail

ระหว่างเดินชมรอบบ้านเราเห็นรายละเอียดตามจุดต่างๆ ที่แสดงถึงการเป็นบ้านที่ตั้งอยู่ในสภาพอากาศแบบประเทศไทยอย่างการใช้ชายคายื่นยาวกันแดด หรือรางน้ำฝนที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่จนมีเอกลักษณ์เฉพาะ เมื่อเข้าไปดูใกล้ขึ้นอีกจะเห็นว่าตัววัสดุที่ทำจากเหล็กและไม้นั้นล้วนเป็นดีเทลที่สามารถทำได้โดยช่างทั่วไป ยกตัวอย่างดีเทล เช่น โคมไฟเลื่อนได้และโต๊ะทำงานติดล้อซึ่งตอบรับความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่สามารถหมุนเฟอร์นิเจอร์ไปทางไหนของห้องก็ได้ หินจำลองใต้ซิงค์ครัวที่ซ่อนงานระบบน้ำไว้ หรือที่ล้างเท้าที่สถาปนิกตั้งใจทำให้บ้านทุกหลังที่ตนออกแบบเป็น signature แต่ละหลังไม่เหมือนกันเลย ธนัชบอกว่าก่อนบ้านเสร็จก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสใช้ที่ล้างเท้าเท่าไหร่ แต่ปรากฏว่าพอมาอยู่จริงกลับเป็นสิ่งที่ใช้งานบ่อยเพราะเดินเข้า-ออกบ้านระหว่างภายนอกและภายในตลอดเวลา

Mr.New cabinMr.New cabin
Mr.New cabin

Photo: Panuwat Donthong and Pran Maneerat

เราสงสัยว่ากระบวนการทำงานให้ได้ดีเทลแบบนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร พีระพงษ์บอกทิ้งท้ายว่าที่ออฟฟิศให้ความสำคัญกับการทำงานด้วยมือของช่างเพื่อกระจายรายได้และใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ให้เยอะที่สุด และเพราะงานส่วนใหญ่ในออฟฟิศนั้นเป็นรูปแบบ turnkey ที่ออกแบบและคุมการก่อสร้างเอง การสื่อสารกับช่างจึงสำคัญมาก ในทุกอาทิตย์จะมีวันที่นัดช่างเข้ามาที่ออฟฟิศตอนเช้าอาทิตย์ละสองครั้งเพื่ออธิบายทำความเข้าใจดีเทลของอาคารว่าติดตั้งและประกอบอย่างไร ก่อนที่จะแยกย้ายเข้าไซต์งานไปทำจริงในช่วงบ่าย สิ่งนี้ทำเพื่อสรุปวิธีการติดตั้งภายในสตูดิโอให้มากที่สุดเพื่อลดการใช้ทรัพยากรทั้งเงินและเวลา แต่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหน้างานก่อสร้าง

housescape-delab.com
facebook.com/housescape

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *