A MILLION LITTLE ODD THINGS, THE LAST PROMISE, AND ONE BIG PICTURE

นิทรรศการนี้นำเสนอชุดสิ่งของและผลงานของ นพไชย อังควัฒะนพงษ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของความทรงจำร่วมกันกับคู่ชีวิต อีกทั้งยังสะท้อนคำถามต่อบทบาททางเพศ และโครงสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ของตลาดนัดงานศิลปะ


TEXT: CHIWIN LAOKETKIT
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

เมื่อประมาณปี 2019 การผุดขึ้นมาของภาพยนตร์ ‘ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ (Happy old year)’ ของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ทำให้ผู้ชมเริ่มจัดบ้านและโชว์ของสะสมจากยุคสมัย ไปจนถึงแชร์ประสบการณ์เคลียร์ใจกับพ่อแม่ที่ไม่ยอมให้รีโนเวทบ้านด้วยไลฟ์สไตล์อย่างใหม่ เส้นเรื่องพาไปพบกับความทรงจำต่อสิ่งของที่สัมพันธ์กับความรู้สึกของผู้คนที่หลากหลาย ไปจนถึงสิ่งของคนรัก ซึ่งกลับมาพร้อมกับอดีตของรอยรักและการลาจาก

ผ่านพ้นไปหลายปี คราวนี้กระบวนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับจีน ตัวเอกของเรื่องฮาวทูทิ้ง แต่เป็นนพไชย อังควัฒนะพงษ์ ผู้แข็งแรงแล้วได้กลับมาจากความเศร้า ในนิทรรศการ A Million Little Odd Things, the Last Promise, and One Big Picture ร่วมกับปิยลักษณ์ เบญจดล (คู่ชีวิต) โดยมีกฤษฎา ดุษฎีวนิช เป็นภัณฑารักษ์ นิทรรศการนี้เป็นเรื่องราวของความฝัน และคำมั่นสัญญาครั้งสุดท้ายของนพไชยที่มีต่อปิยลักษณ์ รวมไปถึงการฟื้นคืนของ Nuts Society หรือ กลุ่มสำนึกสู่สังคม โดยโปรเจ็กต์นี้เป็นโปรเจ็กต์ร่วมกันของทั้งคู่ซึ่งตั้งใจเปิดพื้นที่ให้เพื่อนศิลปินนำผลงานมาจัดแสดงในบรรยากาศคล้ายตลาดนัดงานศิลปะที่เข้าถึงง่าย

A Million Little Odd Things, the Last Promise, and One Big Picture

“ใกล้จะถึง 578 วันตั้งแต่ผมเริ่มกลับมาทำงานศิลปะ นิทรรศการนี้เป็นเส้นทางจากสัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างผมกับปิยลักษณ์ คาดไม่ถึงเลยว่าจะเป็นจริง เธอชอบสะสมหนังสือแบบเรียน ตัวอักษรสวยๆ เก็บหนังสือปกสวยที่มีภาพความงามของผู้หญิง ข้าวของเครื่องใช้มือสอง เธอคิดอยากทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บ้าน”

สำหรับนพไชย ‘วัตถุ’ ในห้องจัดแสดงจึงเป็นสิ่งของในบ้านของปิยลักษณ์ หากแต่ถูกเปลี่ยนความหมายเป็นของจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ทั้งตู้บรรจุเครื่องประดับและเส้นผม ตู้เก็บตัวเรียงพิมพ์ตะกั่ว ตู้ไม้บรรจุหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้าวิจัยของปิยลักษณ์ ในขณะเป็นอาจารย์ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงมีเสียงบรรยายภาษาอังกฤษประกอบวิดีโอการนำเสนอผลงานวิชาการเกี่ยวกับตัวพยัญชนะภาษาไทย ‘ญ’ หรือ ‘ญอหญิง’ ในประเด็นด้านสัญญะและพลวัตของสังคมจากตัวอักษรนี้ เสมือนพื้นที่เหล่านั้นถูกจัดแสดงวัตถุแห่งความเป็นหญิง ด้วยการกำกับของตัวอักษรและตราประทับรูป ‘ญ’ ในบทบาทของทุนนิยมการพิมพ์ที่ทำให้ตัวหนังสือแพร่หลาย และความเป็นหญิงจากเสียงและวัตถุสิ่งของของปิยลักษณ์ซ้ำๆ ไปมา

เมื่อก้าวเข้าไปในอีกห้อง เตียงเหล็กที่ประกอบกันเป็นราวสำหรับแขวนเสื้อผ้า นพไชยได้ซ่อมแซมเสื้อผ้าของปิยลักษณ์ให้เหมาะสมสำหรับการสวมใส่ ให้เห็นผ่านวิดีโอจัดแสดงภาพนพไชยกำลังเดินแบบแฟชั่นโชว์ด้วยเครื่องแต่งกายเหล่านั้นว่า เป็นเสมือนการโอบกอดกันและการมีอยู่ของชีวิตผ่านเสื้อผ้า ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้เขียนคิดไปถึงรสนิยมการเเต่งกายที่เป็นกลไกทางวัฒนธรรมของอาภรณ์ ที่เป็นเพียงสิ่งปกคลุมปกปิดร่างกายซึ่งไม่มีเพศแต่แรก แต่มาถูกกำหนดภายหลังด้วยกรอบของสภาพสังคมและวัฒนธรรมของความเป็นชายและความเป็นหญิง การมีเสรีภาพในเรือนร่างของผู้คนได้ท้าทายกับกรอบการรับรู้เรื่องเพศสภาวะหรือการปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศของสังคม (gender nonconforming) จนถึงเผยให้เห็นกระบวนการเคลื่อนคลายกลายตนเป็นผู้หญิง

Nuts Society

Nuts Society เป็นการเริ่มต้นทำผลงานศิลปะแบบ public art จากการตั้งคำถามถึงความหมายของ text และกิจกรรมที่สร้างความเคลื่อนไหวในสังคมของนพไชยกับปิยลักษณ์ ผ่านการตั้งขวดน้ำยาล้างมือรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ขวดโซดาที่ติดหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา และการเต้นแอโรบิก โดยครั้งนี้ได้ร่วมกับเพื่อนศิลปินหลากหลายสาขามาจัดเป็น Quality 1st, 2nd hand (Art), and swap market ในนิทรรศการเดียวกัน

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว บริเวณบันไดของห้องจัดแสดงชั้น 1 หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ภาพฉากคนหมอบกราบราบเรียบสยบยอมต่อประตูในเงามืด พร้อมกับการเปลือยให้เห็นนั่งร้านที่เป็นโครงสร้างประกอบกันขึ้นไปของภาพฉากละคร อันมีผู้คนใส่เครื่องแต่งกายอันอลังการและย้อนยุคนั้น สามารถซื้อและหากสะดวกก็สามารถขนกลับบ้านได้ทันที เช่นเดียวกับผลงานของศิลปินอีกหลายชิ้นที่ชวนตั้งคำถามถึงการหมุนเวียนของสินค้าในระบบทุนนิยม วัฒนธรรมการบริโภคนิยม ไปจนถึงการเมืองในสังคมไทย

“คล้ายกับการสวมเสื้อผ้า ผมเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นโครงสร้างให้สวมใส่เสื้อผ้าได้ Nuts Society เหมือนกับการเตรียมโครงสร้างร่างกายให้พร้อม เพื่อรองรับผลงานของศิลปินทุกคนที่เสมือนเป็นอาภรณ์ห่อหุ้มร่างกาย”

ตู้ บันได เตียงไม้ และพื้นที่ว่างปรากฏขึ้นในฐานะองค์ประกอบของส่วนที่ติดตั้งผลงานของศิลปิน เช่น สลากชิงโชคของบ้านนอก สตอเรจที่นำสบู่ กระเป๋าผ้า สมุดและวัตถุมาแปรเปลี่ยนหน้าที่การใช้งานและเปิดให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมด้วยการโอนจ่ายเพื่อซื้อสลากเหล่านั้น หรือสภาพวิถีชีวิตของคนเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่ต้องอาศัยร้านสะดวกซื้อในการดำรงอยู่ใช้ชีวิตประจำวัน ภาพวาด เสื้อผ้า หุ่นลองเสื้อ งานจัดวาง ฯลฯ จึงเป็นอาภรณ์ที่ผสมผสานรวมกันในอารมณ์ขบขัน ยั่วล้อกับความเป็นทางการของสถานที่จัดแสดงและตลาดแบบสนุกๆ ที่ไม่สามารถพบเห็นได้บ่อยนัก

ในนิทรรศการนี้จึงได้ฉายภาพวัตถุในฐานะความทรงจำและความรักในความปรารถนาที่จะทำบางสิ่งร่วมกันกับคนรักในรูปแบบการจัดแสดงผลงานศิลปะ บางส่วนเสี้ยวก็ทำให้เกิดวาบความคิดถึงอดีตและสวมร่างพรางกายต่อการไหลเวียนเคลื่อนไหวของเพศสภาวะ และที่กว้างกว่านั้นคือได้ท้าทายระบบนิเวศของระบบเศรษฐกิจในตลาดนัดที่มีส่วนให้ถาม เล่น และซื้อผลงานศิลปะ แต่ได้แฝงฝังความหมายต่อการสัมผัสและกิจกรรมที่ชวนให้ผู้คนมีส่วนร่วมในเชิงสัมพันธ์และการรับรู้ในที่สาธารณะ

นิทรรศการ A Million Little Odd Things, the Last Promise, and One Big Picture จัดแสดงระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567 ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

facebook.com/ArtCentre.SilpakornUniversity

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *