TROPICAL MODERNISM: ARCHITECTURE AND INDEPENDENCE

นิทรรศการ Tropical Modernism: Architecture and Independence นำเสนอบทบาทในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของานสถาปัตกรรมเขตร้อนที่ผสมผสานกับรูปแบบโมเดิร์น

TEXT: PARK LERTCHANYAKUL
PHOTO COURTESY OF VICTORIA AND ALBERT MUSEUM, LONDON EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

เมื่อพูดถึง tropical architecture หรือสถาปัตยกรรมเขตร้อน พวกเราก็คงไม่จำเป็นต้องมองไปที่ไหนไกล หรือจินตนาการถึงหน้าตาของมัน เพราะมันก็เป็นสภาพแวดล้อมของบ้านเราที่เราเติบโตขึ้นมาและใช้ชีวิตอยู่ในทุกๆ วัน แต่สำหรับคนจากประเทศอังกฤษนั้น สภาพอากาศร้อนเป็นสิ่งที่แปลกใหม่แตกต่างจากประเทศของตนอย่างสิ้นเชิง ย้อนกลับไปในยุคที่แนวความคิดสถาปัตยกรรมแบบ modern กำลังเฟื่องฟูอย่างมาก ประกอบกับการที่ประเทศอังกฤษได้เข้าครอบครองพื้นที่มากมายในเขตร้อนจากการล่าอาณานิคม การผสมผสานของสถาปัตยกรรมแบบ modern กับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเขตร้อนจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในเวลานั้น นิทรรศการ Tropical Modernism: Architecture and Independence พาเราเดินทางย้อนเวลาไปที่จุดเริ่มต้น พัฒนาการของแนวความคิด และการส่งผ่านไปสู่ประเทศใต้อาณานิคม สภาพความเป็นไปหลังจุดสิ้นสุดของยุคล่าอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน

tropical modernism

ทางเข้านิทรรศการจากโถงกลางของ V&A

ตัวนิทรรศการถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยแต่ละส่วนของนิทรรศการนั้นมีผนังกั้นที่มีการเจาะช่องเหมือนหน้าต่างไว้ตามจุดต่างๆ และมีโครงสร้างที่เหมือนช่องลมที่ด้านบนและด้านล่างของผนังทั้งหมด ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบหลักของสถาปัตยกรรมแบบ tropical modernism ทำให้เมื่อเราก้าวเข้ามาในนิทรรศการ ให้ความรู้สึกเหมือนเราได้ก้าวเข้าไปภายในอาคารที่ถูกสร้างขึ้นในขณะนั้น

ห้องแรกของนิทรรศการต้อนรับเราด้วยผนังและโต๊ะสีส้มสด ซึ่งห้องนี้พูดถึงจุดกำเนิดแนวความคิด tropical modernism ในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยแนวความคิดของประเทศอังกฤษเจ้าอาณานิคม ที่ต้องการจะพัฒนาประเทศใต้อาณานิคมให้มีความทันสมัยเหมือนกับประเทศของตนเอง จึงทุ่มเงินที่ได้จากกองทุนหลังสงครามโลกจำนวนมหาศาลลงไปที่แอฟริกาตะวันตกซึ่งในตอนนั้นมีพื้นที่ว่างเปล่ามากมาย และเมื่อบวกกับเงินสนับสนุนจำนวนมาก จึงได้กลายเป็นดั่งห้องทดลองขนาดยักษ์ที่เหล่าสถาปนิกชาวอังกฤษได้ใช้เป็นสถานที่แสดงฝีมือและแนวความคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบ modern ที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างอิสระ โดยไม่ต้องมีการตีกรอบจากบริบทของเมืองเหมือนอย่างในประเทศบ้านเกิดของตน อีกทั้งยังมีโอกาสได้ออกแบบอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่สถาปนิกทุกคนที่จะมีโอกาสได้ทำ

tropical modernism

นิทรรศการส่วนแรกเล่าถึงเรื่องถึงประเทศแอฟริกาตะวันตก

ในปี 1944 Maxwell Fry สถาปนิกที่ประจำการ ณ Gold Coast ซึ่งในปัจจุบันคือประเทศกานา กับ Jane Drew ได้ร่วมกันเสนอโครงการออกแบบและสร้างเมืองใหม่ขึ้น พวกเขาได้นำแนวความคิดสถาปัตยกรรม modern แบบยุโรปมาปรับใช้กับสภาพภูมิอากาศร้อน และได้นำวิทยาการการออกแบบสมัยใหม่ที่คำนึงถึงสภาพอากาศมาใช้ เช่น การระบายอากาศด้วยลมผ่านอาคาร (cross-ventilation) โดยการสร้างอาคารที่เป็นรูปทรงยาวและมีโครงสร้างบาง มีระเบียงที่ลึกและมีหลังคาคลุม

tropical modernism

หนังสือการประชุม Conference of Tropical Architecture และใบหลักสูตรการเรียนภาควิชา tropical studies ของ Architectural Association, School of Architecture | Photo: Park Lertchanyakul

Maxwell Fry กับ Jane Drew มีมุมมองแบบเจ้าอาณานิคมต่อสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเป็นอย่างมาก พวกเขาไม่เคยสนใจหรือคำนึงถึงรูปแบบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเลย และยังกล่าวด้วยซ้ำว่าใน Gold Coast ไม่มีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น พวกเขาจึงต้องเป็นผู้คิดค้นสถาปัตยกรรมที่เหมาะกับแอฟริกาตะวันตกด้วยตนเอง มีการจัดแสดงบทความและหนังสือมากมายที่ทั้งสองเป็นผู้เชียน และพูดถึงสถาปัตยกรรมของแอฟริกาตะวันตกและเขตร้อน ในหนังสือรวมเล่ม tropical architecture เล่มหนึ่ง มีแต่สถาปัตยกรรมที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษและยุโรป โดยที่ไม่มีอาคารของสถาปนิกชาวแอฟริกันเลยแม้แต่คนเดียว และแม้ว่าในขณะนั้นจะมีสถาปนิกชาวกานามากมายทีร่วมทำงานกับสถาปนิกอังกฤษ แต่คนเหล่านี้ก็ไม่เคยมีชื่ออยู่ในหนังสือเล่มไหน และเพิ่งได้รับการรกล่าวถึงในช่วงปีที่ผ่านมาไม่นานนี้เอง

tropical modernism

ภาพถ่ายของ Jane Drew และ Maxwell Fry กับโมเดลของอาคารหลังหนึ่งที่พวกเขาร่วมกันออกแบบที่ Gold Coast | Photo courtesy of RIBA

tropical modernism

เก้าอี้นั่งพื้นเมือง Ashanti ที่ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านของชาว Gold Coast ซึ่ง Fry และ Drew นำรูปทรงมาใช้ในการออกแบบช่องลม (Brise Soliel) ในภาพด้านหลัง

นิทรรศการที่มีผนังสีเหลืองในส่วนที่สองนั้นพาเราไปยังประเทศอินเดียในปี 1947 อินเดียในขณะนั้นเพิ่งได้รับอิสรภาพและมีความต้องการที่จะสร้างเมืองหลวงในรัฐปัญจาบ เพื่อเป็นศูนย์ราชการ และรองรับผู้อพยพจากการแบ่งแยกดินแดนจากประเทศปากีสถาน นายกรัฐมนตรี Jawaharlal Nehru จึงริเริ่มโครงการสร้างเมือง Chandigarh ขึ้นมา เขามุ่งหวังให้เมืองใหม่นี้เป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยใหม่ที่จะรวมอินเดียเป็นหนึ่งเดียวและผลักดันประเทศต่อไปในอนาคต Nehru มีมุมมองต่อสถาปัตยกรรมแบบ modern ว่าเป็นรูปแบบที่เป็นสากล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจใดอำนาจหนึ่งและความเป็นอาณานิคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของเขาที่ต้องการให้อินเดียเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) และสะท้อนความคิดแบบหัวก้าวหน้า

เมือง Chandigarh ยังถือเป็นเมือง modernist แห่งแรกของโลกอีกด้วย Nehru ได้เชิญ Drew และ Fry มาทำงานกับโครงการนี้เพราะว่าชอบงานออกแบบของพวกเขาในแอฟริกา ซึ่งทั้งสองได้เชิญ Le Corbusier สถาปนิกชั้นครูของสถาปัตยกรรม modern เข้ามาร่วมทีม Nehru ยังต้องการให้ Chandigarh เป็น ‘โรงเรียนที่มีชีวิต’ (living school) โดยให้สถาปนิกชาวยุโรปทั้งสามทำงานร่วมกับทีมสถาปนิกรุ่นใหม่ในอินเดีย เพื่อที่จะฝึกสถาปนิกเหล่านี้ให้สามารถนำความรู้ไปพัฒนาประเทศให้เป็นสากล และจะส่งต่อความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม modern ไปทั้งประเทศอินเดีย

tropical modernismtropical modernism
tropical modernism

โมเดลสามมิติของแผนแม่บท (master plan) ของเมือง Chandigarh | Photo: Park Lertchanyakul

แบบก่อสร้างและโมเดลของสถาปัตยกรรม modern รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ถูกออกแบบในช่วงเวลานั้น ถูกจัดแสดงโดยมีฉากหลังเป็นผนังที่มีรูปปั้นชาวอินเดียท้องถิ่น มีภาพถ่ายและวิดีโอการก่อสร้างเมือง Chandigarh อยู่ด้านข้าง ซึ่งวิดีโอแรกเป็นบรรยากาศภายในห้องเรียนเขียนแบบของนักเรียนชาวอินเดียที่โรงเรียนสถาปัตยกรรมในเมือง Chandigarh วิดีโอนี้ฉายสลับกับการก่อสร้างที่หน้างานจริง ซึ่งเป็นเพราะว่าค่าแรงของคนอินเดียมีราคาถูกมากในขณะนั้่น แรงงานคนจึงถูกนำมาใช้แทนเครื่องจักรก่อสร้าง ชาวอินเดียจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เด็กหรือคนแก่ ได้ถูกว่าจ้างมาก่อสร้างในงานนี้ มีภาพนั่งร้านและแบบหล่อคอนกรีตของอาคารทั้งหมดซึ่งถูกประกอบขึ้นจากไม้ไผ่ การส่งต่อปูนคอนกรีตจากบ่อที่ใช้คนผสมและกวน เทลงไปในกระจาดแล้วส่งให้ผู้หญิงทูนหัว เดินไปที่นั่งร้านซึ่งชาวบ้านนั่งรออยู่ทุกชั้น และส่งต่อกระจาดจากมือต่อมือ ลำเลียงปูนขึ้นไปตามความสูงของอาคาร เพื่อเทลงไปในแบบหล่อขนาดใหญ่

tropical modernism

นิทรรศการส่วนที่สอง

โถงสุดท้ายของนิทรรศการ จัดแสดงความเป็นไปของสถาปัตยกรรมของทั้งประเทศกานาและประเทศอินเดียในช่วงเวลาต่อมา โดยที่งานสถาปัตยกรรมทั้งหมดในส่วนนี้ล้วนออกแบบโดยคนในประเทศ

ส่วนแรกมีการจัดแสดงโมเดลของ Hall of Nations ออกแบบโดย Raj Rewal สถาปนิกชาวอินเดีย ซึ่งถูกสร้างเป็นสัญลักษณ์ในการฉลองอิสรภาพ 25 ปีของประเทศอินเดีย ในปี 1972 แต่ต่อมาเมื่อขั้วอำนาจฝั่งนิยมฮินดูได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนมาก แนวคิดงานสถาปัตยกรรม modern ที่ Nehru ได้ปลูกฝังไว้ กลับถูกมองเป็นของที่ขัดกับความเชื่อทางศาสนา และถูกทุบลงในชั่วข้ามคืนในปี 2017

tropical modernism

นิทรรศการส่วนที่ 3
ด้านหน้า: โมเดลไม้และภาพถ่ายของ Hall of Nations โดย Raj Rewal
ด้านหลัง: นิทรรศการเกี่ยวกับการเมืองและสถาปัตยกรรมในประเทศกานาหลังการประกาศอิสรภาพ

ในอีกด้านหนึ่ง Kwame Nkrumah ผู้ที่ได้นำประเทศกานาสู่อิสรภาพในปี 1957 ก็มีแนวความคิดผลักดันสถาปัตยกรรมแบบ modern เพื่อจุดประสงค์หลักในการพัฒนาประเทศเช่นกัน แต่ต่อมาไม่นาน Nkrumah กลับยึดประเทศในฐานะรัฐพรรคการเมืองเดียว และสั่งจำคุกพรรคการเมืองอื่นทั้งหมด เขาจึงถูกทำรัฐประหาร รูปปั้นกลางเมืองของเขาถูกชาวบ้านรุมทำลาย สถาปัตยกรรม modern ที่เขาสนับสนุนก็ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างเสื่อมโทรม

ห้องสุดท้ายของนิทรรศการฉายสารคดี Architecture and Power in West Africa สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนที่เกี่ยวพันกันของขั้วอำนาจ และสถาปัตยกรรมแบบ modern ในประเทศกานา เช่นในยุคล่าอาณานิคม อาคารโรงเรียนใหม่ถูกออกแบบให้มีโบสถ์คริสต์ประจำเมืองเป็นศูนย์กลาง และมองเห็นยอดโบสถ์สูงเหนือโรงเรียนได้จากคอร์ทกลางและทางเดินเข้าโรงเรียน ตลอดบทสัมภาษณ์และภาพอาคารต่างๆ ถูกตัดสลับและปิดท้ายด้วยเพลงท้องถิ่นที่มีจังหวะคึกคักชวนเต้นรำ

tropical modernism

นิทรรศการส่วนสุดท้าย มีการแสดงวิดีโอสารคดีและบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับ tropical modernism ในประเทศกานา ในห้องมีรูปปั้นจำลองของ Kwame Nkrumah ซึ่งรูปปั้นของจริงนั้นถูกทำลายโดยประชาชนหลังจากที่เขาโดนทำรัฐประหาร

สถาปัตยกรรมแบบ tropical modernism ดูจะเป็นคำที่ไม่สามารถใช้นิยามสถาปัตยกรรมทั้งหมดที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้ได้อย่างครบถ้วน เพราะสถาปัตยกรรมนั้นไม่ได้ถูกออกแบบโดยขึ้นอยู่กับบริบททาง สภาพภูมิอากาศเพียงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้คน วัฒนธรรม สภาพสังคมและการเมือง เหมือนกันกับจุดจบของภาควิชา tropical architecture ซึ่งเคยมี Maxwell Fry เป็น Director ที่ Architectural Association, School of Architecture ได้ถูกปิดลงในปี 1971 หลังเปิดการสอนมาได้ 17 ปี เพราะการเกิดขึ้นของ ‘เครื่องปรับอากาศ’ ทำให้สถาปัตยกรรม tropical ใดๆ ในโลกไม่จำเป็นต้องเปิดโล่งเพื่อระบายอากาศให้ลมผ่านได้อีกต่อไป

นิทรรศการ Tropical Modernism: Architecture and Independence จัดแสดงที่ Victoria and Albert Museum ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม จนถึงวันที่ 22 กันยายน นี้

vam.ac.uk

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *