AIIM ARCHITECTS ATELIER

Villa Phrueksa Sawan | Photo: Rungkit Charoenwat

สตูดิโอออกแบบที่ให้ความสำคัญกับวิธีการแก้ปัญหาและกระบวนการทำงานด้วยองค์ความรู้ทางทัศนศิลป์ เพื่อมอบความรู้สึกอิ่มเอมให้แก่ลูกค้า

TEXT: AIIM ARCHITECTS ATELIER
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

WHO

เรา 2 คน เป็นสถาปนิกทั้งคู่ ผม (กฤษณ์ จิวะนันทประวัติ) เป็นคนกระบี่ ส่วนซิน (สุพรรษา เจริญสุข) เป็นคนระยอง เรามีเป้าหมายที่จะทำงานและใช้ชีวิตด้วยกัน โดยมีสตูดิโอเล็กๆ ที่ชื่อ ‘เอม’ (aiim architects atelier)

WHAT

สตูดิโอที่ทำงานทางด้านงานออกแบบเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทั้งงานภายนอกและงานภายในเป็นหลัก

Villa Phrueksa Sawan | Photo: Rungkit Charoenwat

Villa Phrueksa Sawan | Photo: Rungkit Charoenwat

WHEN

เดิมที เราเคยทำงานที่กรุงเทพฯ กันมาทั้งคู่ จนได้ตัดสินใจกลับมาทำงานที่จังหวัดกระบี่ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด ช่วงนั้นประมาณ ปี 2560 ช่วงแรกก็ยังทำงานกันที่บ้านพ่อ-แม่ ย่านนอกตัวเมืองจังหวัด จนกระทั่งทำงานไปเรื่อยๆ เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นประมาณ ปี 2564 จึงเริ่มจัดตั้งทำในนาม ‘เอม’ (aiim architects atelier)

WHERE

สตูดิโอ ‘เอม’ (aiim architects atelier) ได้ย้ายมาตั้งอยู่ในย่านตัวเมืองจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นลักษณะของ home-office เป็นการออกแบบทั้งตัวบ้านอยู่อาศัยและพื้นที่ทำงาน ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่บนพื้นที่ใหม่

WHY

เพื่อรองรับการใช้งานตามที่เราต้องการทั้งการทำงานและการพักผ่อน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เราใช้ชีวิตมากที่สุด เราอยู่แล้วเรารู้สึกอิ่มเอม มีความสุขกับสิ่งนี้และเมื่อเวลาเราจะทำงานให้คนอื่นเราก็สามารถถ่ายทอดความสุขแบบนี้ให้คนอื่นได้รับเช่นกัน

คุณนิยามสไตล์การออกแบบของตัวเองไว้อย่างไร

เรารู้สึกว่า งานของเราไม่มีรูปแบบหรือสไตล์งานของตัวเองเลย (หัวเราะ) อาจจะเป็นเพราะเราชอบทำอะไรที่ไม่ค่อยซ้ำเดิม ชอบให้งานแต่ละชิ้นมีความแตกต่างมีความเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากจากแต่ละชิ้นงานก็จะมีโจทย์ที่ต่างกัน ดังนั้นเราเองก็จะมีวิธีคิดและแก้ปัญหาที่ต่างๆ กันไป หากมองเป็นสไตล์คงเป็นรูปแบบวิธีการคิดแก้ปัญหาแบบต่างๆ ให้กับงานนั้นๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานแบบใหม่ขึ้นมา โดยมีองค์ความรู้ทาง visual art (ทัศนศิลป์) ทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ เป็นองค์ประกอบ หมายถึงนอกจะใช้สอยที่ดีแล้วยังมีความงามทางศิลป์ด้วย

Smiley Hours | Photo: Rungkit Charoenwat

อะไรคือแรงบันดาลใจและหลักการในการทำงานแต่ละครั้ง

ในส่วนนี้อาจจะขอตอบเรื่องแรงบันดาลใจก่อน ถ้าถามในการทำงานก็น่าจะเป็นการได้รับ project (โครงการ) หรือโจทย์ใหม่ๆ พร้อมกับการได้นั่งฟัง owner (ทางเจ้าของโครงการ) เล่าเรื่องต่างๆ ในสิ่งที่ต้องการ ทั้งประเด็น ปัญหา ข้อจำกัด ทั้งนี้เหมือนว่าเราได้ช่วยเขาคิด เรียบเรียง หาวิธีการทำให้สิ่งที่เขาต้องการนั้นเป็นไปได้จริง

ส่วนหลักการในการทำงานนั้น ทางเรามุ่งเน้นเสมอว่าเราต้องการให้งานที่ทำออกมามีคุณภาพมากที่สุด โดยจะให้เวลากับการ design develop (พัฒนาแบบ) เป็นหลัก เพราะเราอยากให้ owner ได้ทำความเข้าใจกับความต้องการของตัวเองให้มากที่สุด เพื่อให้ได้แบบที่ลงตัวและเหมาะสมกับผู้ใช้งานมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งจะนำมาสู่ความสุขในการใช้งานของพื้นที่และอาคารนั้นๆ ตามมา

Smiley Hours | Photo: Rungkit Charoenwat

Smiley Hours | Photo: Rungkit Charoenwat

โปรเจ็กต์ไหนที่คุณภูมิใจมากที่สุด เพราะอะไร?

อันนี้น่าจะตอบยากสุดเพราะว่าก็ชอบเกือบทุกโปรเจ็กต์ที่ได้ทำ ถ้าเป็นงานที่ภูมิใจมากที่สุดก็คงเป็น บ้านของตัวเอง (Aiim House) นี้แหละ เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่เราคิดมาเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเราเองและเราได้เห็นบรรยากาศของบ้านที่มันเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลามากที่สุด อาจจะบอกได้ว่าบ้านหลังนี้ก็ยังไม่เสร็จสมบรูณ์ เราทำไปคิดไป ได้เรียนรู้ และทดลองงานต่างๆ ในบ้านหลังนี้เยอะมาก ทำให้เราเข้าใจถึงกระบวนการหน้างานจริงมากขึ้น และได้นำองค์ความรู้ในส่วนนี้ไปประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อในงานออกแบบอื่นๆ ด้วย

คุณชอบขั้นตอนไหนระหว่างทำงานมากที่สุด?

อันที่จริงแล้วเราก็ชอบทุกขั้นตอนเลย ขั้นตอนรับโปรเจ็กต์มาใหม่เราก็ชอบรู้สึกตื่นเต้นดี ขั้นตอนการก่อสร้างเราก็ชอบที่ได้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง ในส่วนที่ชอบมากสุดก็น่าจะเป็นขั้นตอนการออกแบบร่าง (preliminary design stage) เพราะการที่ owner ได้เห็นแบบร่างครั้งแรกมักจะรู้สึกตื่นเต้นเสมอ และเป็นขั้นตอนที่ owner ได้มีส่วนร่วมมากที่สุด เนื่องจากทางเราเองชอบทำแบบทางเลือก (alternative design) ที่หลากหลาย ได้ทดลองและค้นหารูปแบบที่เหมาะสมร่วมกันกับ owner เพื่อสุดท้ายให้ได้ผลลัพธ์ที่ลงตัวมากที่สุด

ถ้าคุณสามารถเชิญ ‘ครีเอทีฟ’ สักคนไปดื่มกาแฟด้วยกันได้ คุณจะเลือกใครและทำไม

ถ้าเราได้มีโอกาสไปดื่มกาแฟ กับ ‘ครีเอทีฟ’ ท่านหนึ่ง เราอยากนั่งคุยกับคนที่คุยกันสนุกและมีความนุ่มลึก คนนั้นคือ ‘อ.ถวัลย์ ดัชนี’ ถึง อ.ถวัลย์จะจากไปแล้ว แต่เมื่อได้ยินเสียงหรือเห็นตามสื่อต่างๆ ก็ต้องหยุดหันมาสนใจในทันที ครั้งหนึ่งเราได้มีโอกาสไปฟังเสวนาของกลุ่มบ้านศิลปิน หนึ่งในนั้นก็มี อ.ถวัลย์ อยู่ด้วย เป็นการได้เจอ อ.ถวัลย์ ครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น ท่านเป็นคนที่น่ารักมากมีอัธยาศัยดี คุยสนุกติดตลก การที่ได้เจอกันครั้งนั้นทำให้เราได้เห็นมุมมองที่แปลกใหม่และรู้สึกประทับใจเสมอมา

Aiim House | Photo: Supansa Chareonsuk

facebook.com/aiim.architects.atelier

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *