ORBITING BODY


ผลงานของ 5 ศิลปินที่จัดแสดงในนิทรรศการ Orbiting body ได้สร้างพื้นที่ของการรับรู้ความเป็นที่จริงที่ไม่ใช่ความจริงแท้ เมื่อมุมมองเปลี่ยนแปลงได้

TEXT: CHIWIN LAOKETKIT
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

สายตาของคนเราสามารถมองเห็นความจริงได้จริงหรือไม่? มีทฤษฎีที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า มนุษย์ไม่เคยเห็นความจริง แต่กำลังมองเห็นอดีตเมื่อเศษเสี้ยววินาทีที่แล้ว เพราะแสงต้องใช้เวลาเดินทาง ตกกระทบกับวัตถุ และสะท้อนเข้าตาเรา เพียงแต่เศษเสี้ยวนั้นเล็กจ้อยจนมนุษย์แทบไม่รู้สึก หมายความว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่เคยสามารถมองความเป็นจริง ณ ปัจจุบันขณะได้เลย

อย่างไรก็ตาม ‘ความจริง’ นั้นมีตัวตนอยู่แน่ๆ และการที่เราไม่สามารถมองมันแบบเรียลไทม์ก็ไม่ได้สลักสำคัญตรงไหน (เพราะมันเร็วจนประสาทสัมผัสมนุษย์รับรู้ไม่ทันด้วยซ้ำ) ซึ่งในเมื่อเรามองมันแบบที่ ‘จริงที่สุดไม่ได้’ ก็เลยมีคนคิดอยากจะลองมองมันจากหลายๆ มุมดูเพื่อค้นหาและเปรียบเทียบความจริงชิ้นนั้น เช่น ลองคว้าของที่ใกล้ตัวที่สุดขึ้นมา ตั้งคำถามว่ามันหน้าตาเหมือนเมื่อวานหรือเปล่า ความรู้สึกที่มีต่อของชิ้นนั้นเหมือนเมื่อสิบปีก่อนไหม หรือถ้าลองมองสิ่งนั้นในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป เราจะคิดยังไงกับมัน

แนวคิดที่ว่านี้มีอยู่ในนิทรรศการ ‘Orbiting body’ หรือ ‘รูปโคจร’ ซึ่งจัดวางภาพถ่าย วิดีโอ และผลงานศิลปะ ให้ผู้ชมได้เคลื่อนที่ในภูมิทัศน์แบบกึ่งวงกลม ท่ามกลางสภาวะการมองเห็นที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยเทคโนโลยีและการเคลื่อนที่ของภาพ และตั้งคำถามกับการมองเห็นด้วยสายตาในสถานการณ์และบริบทที่แตกต่างกัน ผ่านผลงานของศิลปิน 5 คน โดยมีแมรี่ ปานสง่า เป็นภัณฑารักษ์

ในห้องที่แยกตัวอย่างโดดเดี่ยว มีเสียงน้ำหยดดังเป็นพักๆ ‘Mnemosyne’ ของสรวิศ ทรงสัตย์ ได้ปะติดปะต่อภาพรวมกันด้วยเทคนิค photogrammetry ที่มักใช้ในการทำรังวัดแผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ ไปจนถึงภาพสามมิติ เป็นวิดีโออนิเมชันฉายภาพพืชในระบบนิเวศทั้งจากต่างประเทศและในบ้านพักของแม่ศิลปินที่จังหวัดเชียงราย สลับกับภาพปราสาทในวัฒนธรรมเขมรและอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยด้วยความละเอียดไปจนถึงพร่าเลือนและแตกตัวหายไป

ภาพในวิดีโอเหล่านี้เผยให้เห็นสถานะของธรรมชาติและศาสนสถานในฐานะ ‘วัตถุ’ ที่สามารถอ่านได้แบบเดียวกันกับแผนที่ ซึ่งเป็นตัวสื่อระหว่างพื้นที่จริงกับสายตาของคน เพื่อช่วยให้รับรู้เกี่ยวกับพื้นที่นั้นๆ ได้โดยไม่ต้องมีประสบการณ์โดยตรง1   ได้นำพาไปสู่การตั้งคำถามถึงการกำหนดศิลปะสมัยโบราณที่เป็นตัวแทนของรูปแบบศิลปะหนึ่งๆ พร้อมกับพรมแดนที่ถูกกำหนดในช่วงเวลาของการสร้างจินตนาการของชาติในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งไม่ครอบคลุมความพร่าเลือนของมิติชีวิตของผู้คนที่เชื่อมโยงกันโดยวัฒนธรรมก่อนมีเขตแดนหรือแผนที่ประเทศไทยในปัจจุบัน

เช่นเดียวกับ ‘If I dig a very deep hole’ ของปรัชญา พิณทอง ศิลปินเริ่มต้นเดินทางเพื่อถ่ายภาพดวงจันทร์ในพื้นที่ไกลห่างระหว่างเขตเส้นศูนย์สูตรทางภูมิศาสตร์อย่างนิวซีแลนด์กับปารีส ด้วยความท้าทายขอบเขตของจุดหรือพิกัดสมมติที่สัมพันธ์กันในเชิงระนาบ ซึ่งเป็นเพียงค่า x, y, z ได้กลับที่ว่างของพื้นผิวของโลกไปสู่การสะท้อนภาพเสมือนและสภาพแวดล้อมแบบใหม่ที่ติดอยู่บนผนัง เป็นฟิล์มสไลด์ของดวงจันทร์สองดวงที่มีพื้นที่ว่างไม่ไกลจากกัน

ขยับสายตาจากดวงจันทร์ไปสู่ ‘ดาวสองดวง’ วิดีโอจัดวาง 3 ชิ้นของอารยา ราษฎร์จำเริญสุข ที่นำเสนอวิดีโอกลุ่มชาวบ้านนั่งสนทนากันอยู่ท่ามกลางป่าไผ่ ริมแม่น้ำ และทุ่งหญ้าในชนบทของประเทศไทย เพื่อสร้างพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์ภาพเขียนทิวทัศน์ของศิลปินชื่อดังในศตวรรษที่ 19 โดยชาวบ้าน ด้วยภูมิทัศน์ที่เป็นเหมือนฉากกำกับในภาพซ้อนภาพกับผู้คนในฐานะประธานและองค์ประกอบของภูมิทัศน์ หากแต่เป็นความเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวาต่อภาพตรงหน้า จากมุมมองสะท้อนกลับจากอำนาจทางความรู้หรือภูมิปัญญาทางความคิดจากตะวันตกด้วยเสียงของคนในท้องถิ่น

ไปสู่ผลงานฉากผ้าม่าน ‘ออกแบบในใจ’ ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่นำเทคโนโลยีมอเตอร์และแผงควบคุมมาใช้ควบคู่กับงานภาพพิมพ์ของศิลปิน 2 คนให้มีการขับเคลื่อนฉากที่คล้ายกับการเปลี่ยนฉากในโรงละครอย่างช้าๆ ทั้งม่านสีคราม ทุ่งหญ้าและกอดอกไม้ ถนนที่มีสายไฟ ซึ่งดูคล้ายเส้นทางที่เชื่อมโยงกันกับการพัฒนาด้านคมนาคมในต่างจังหวัดไปสู่ภูมิทัศน์แบบเมือง

ตามมาด้วยผลงาน ‘Shut Your Eyes, and You Will Burst Into Flames’ ภาพพิมพ์สกรีนบนแผ่นอะคริลิกประกอบเข้ากับอลูมิเนียมของสถิตย์ ศัสตรศาสตร์ ได้นำพาสายตาไปสู่ภาพที่ต้องปรับการเพ่งมองผ่านสิ่งที่บดบังไปสู่จุดหมายในกรอบภาพเป็นดอกไม้ถูกเสียบไว้ในแจกันที่แตกร้าว หรือแม้เเต่ข้อความเล็กๆ ถูกตัดออกมาจากกระดาษ คล้ายกับการรับสารผ่านข้อความหรือภาพที่ต้องหาวิธีก้าวข้ามพ้นสิ่งที่บดบังเพื่อไปสู่ใจความของสารเหล่านั้นอย่างแท้จริง

ท้ายที่สุด นิทรรศการ Orbiting body (รูปโคจร) ได้สร้างพื้นที่ของการรับรู้ภาพที่แตกต่างกันให้ก้าวข้ามไปในภูมิทัศน์ที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นคู่ตรงข้ามกันในระนาบของทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ความเป็นเมืองไปจนถึงชนบท ด้วยการสัมผัสมุมมองต่อภาพที่เป็นเทคนิคเฉพาะตัวของศิลปิน และให้ได้กลับมาวนเวียนในสถานที่ (place) ของความทรงจำและความรู้สึก ทั้งด้วยความเต็มเปี่ยมและความว่างเปล่า

นิทรรศการ Orbiting body (รูปโคจร) จัดแสดงที่ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ (BACC) ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 8 กันยายน พ.ศ. 2567

bacc.or.th

1 ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2556), น. 70 – 80

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *