CHONBURI MULTI-PURPOSED BUILDING

Chonburi Multi-Purpose Building

Chonburi Multi-Purpose Building

โปรเจ็กต์อาคารอเนกประสงค์แห่งนี้เลือกใช้ผนังดินอัดมาเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างสภาวะน่าสบาย ผ่านการจัดหา ศึกษาสูตรการผสม และทำต้นแบบก่อนการก่อสร้างจริง

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: JESSICA TANG

(For English, press here)

“อาคารบ้านเรือนที่สร้างขึ้นในระยะเวลาหลังๆ ตามแต่ละภูมิภาคในท้องถิ่นของประเทศไทย ก็ล้วนแต่เป็นอาคารไม้ หรือมักจะใช้เทคนิคการก่อสร้างที่เหมือนๆ กัน อย่างการรับน้ำหนักอาคารด้วยเสาคอนกรีตเสริมเหล็กและหุ้มปิดผิวอาคารด้วยวัสดุบางอย่าง เราจึงเสนองานก่อสร้างด้วยผนังดินอัดที่อยู่ในความสนใจของเรา เนื่องจากมีระยะความหนามากกว่าผนังโดยปกติทั่วไปแบบก่ออิฐฉาบปูน ความหนาของผนังที่เพิ่มขึ้นจึงทำหน้าที่ราวกับฉนวนกันความร้อนที่เหนือยิ่งกว่าวัสดุก่อผนังที่มีความหนาไม่มาก อีกทั้งเสริมสร้างประสิทธิภาพจากสภาวะน่าสบายให้กับอาคาร”

Chonburi Multi-Purpose Building

Chonburi Multi-Purpose BuildingChonburi Multi-Purpose BuildingChonburi Multi-Purpose BuildingChonburi Multi-Purpose Building

โปรเจ็กต์อาคารอเนกประสงค์สำหรับรองรับการประกอบการร้านอาหาร คาเฟ่ และพื้นที่เพื่อประโยชน์ใช้สอยได้อย่างหลากหลาย ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้ชายทะเล จังหวัดชลบุรี อาคารหลังนี้ ออกแบบโดย พีรยา ศุภสิทธิ์ สถาปนิกหญิงจากสำนักงานออกแบบ SUPHASIDH ด้วยองค์ประกอบอันจำเพาะของสถาปัตยกรรมจากธรรมชาติตึกนี้ – ความโดดเด่นจากเส้นสาย ผังพื้นที่รูปแบบทรงโบว์ไท โดยเฉพาะลวดลายที่ลื่นไหลอย่างอิสระจากพื้นผิวผนังดินอัด – ทั้งหมดล้วนร่วมก่อประกอบสร้างความแตกต่างให้กับความต่อเนื่องของภูมิทัศน์บริเวณหัวมุมถนนอย่างมีนัยยะสำคัญ 

Chonburi Multi-Purpose Building

Chonburi Multi-Purpose BuildingChonburi Multi-Purpose BuildingChonburi Multi-Purpose Building

เนื่องจากการเลือกใช้ภาษาการออกแบบที่เฉพาะด้วยวัสดุผนังดินอัด อาคารนี้จึงมีผนังที่หนากว่า 35 เซนติเมตร โดยนอกจากจะช่วยเสริมสร้างการให้เกิดสภาวะน่าสบายจากอุณหภูมิเมื่อใช้งานภายในพื้นที่แล้ว ยังเน้นย้ำให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างแท้จริงในการพยายามจัดวางอาคารให้สามารถตั้งอยู่ในสภาวะรุนแรงจากฤดูมรสุม และป้องกันความร้อนตามสภาพอากาศเขตร้อนชื้นที่จะแผ่เข้าภายในอาคาร ซึ่งนำไปสู่การลดและใช้งานระบบปรับอากาศเท่าที่จำเป็น

วิธีการก่อสร้างอาคารด้วยผนังดินอัดเป็นกระบวนการที่พีรยาไม่ได้เชี่ยวชาญ หากแต่อยู่ในความสนใจของเธอมาตลอด ในการทำงานครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นจากการค้นคว้าและทดลองด้วยความสนใจร่วมกันระหว่างผู้ออกแบบกับบริษัทรับเหมา Chang Kid Engineering เริ่มตั้งแต่การจัดหาวัสดุ ศึกษาสูตรการผสม และจัดทำต้นแบบก่อนการก่อสร้างจริง บริษัทรับเหมาจึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทดลองและดำเนินการในส่วนนี้เป็นอย่างมาก 

Chonburi Multi-Purpose Building

Chonburi Multi-Purpose Building

สถาปนิกเล่าว่าผู้รับเหมาทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมดินจากพื้นที่ต่างๆ ภายในประเทศที่มีสีสันแตกต่างกัน และทดลองผสมกับทราย กรวด ซีเมนต์ และน้ำในปริมาณสัดส่วนที่ต่างกัน จนกระทั่งได้เนื้อพื้นผิวหยาบที่พอเหมาะและความแข็งแรงซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบีบอัดตามที่ต้องการ ก่อนการจัดเรียงเนื้อดินหลากสีสันซ้อนเรียงต่อกันเป็นชั้นจนเกิดเป็นเส้นสายอันไหลลื่นโค้งต่อเนื่อง สีสันที่ต่างกันแต่ละชั้นเกิดจากสีดินซึ่งผู้รับเหมาได้เก็บจากต่างพื้นที่ สีดำจากจังหวัดปทุมธานี สีแดงจากดินภายในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ดินเลนสีเหลืองจากจังหวัดพระนครอยุธยา และสีขาวจากปูนขาว

ถึงกระนั้นก็ตาม ประเทศไทยยังไม่ได้รับรองให้ผนังดินอัดสามารถทำหน้าที่เป็นวัสดุโครงสร้างรับน้ำหนัก อาคารพื้นที่ใช้สอย 196 ตารางเมตร หลังนี้จึงมีองค์ประกอบโครงสร้างหลักเป็นเสาและคานคอนกรีตเสริมเหล็ก ประกอบกับข้อจำกัดด้านความชื้นของผนังดินที่ไม่สามารถยืนตั้งต่อเนื่องกับพื้นโดยตรง นำไปสู่การแบ่งสัดส่วนชั้นหนึ่งเป็นฐานคอนกรีตเพื่อการรองรับน้ำหนัก ต่อเนื่องเนื้อวัสดุเดียวกันไปกับพื้นที่ ส่วนล่างสุดของอาคารซึ่งเมื่อเดินลึกลงไป เส้นระดับสายตาจะทาบเข้ากับเส้นขอบของพื้นถนนผ่านช่องเปิดของสี่เหลี่ยมผืนผ้าของหน้าต่างอย่างพอดิบพอดีเมื่อนั่งลงบนเก้าอี้ 

Chonburi Multi-Purpose BuildingChonburi Multi-Purpose BuildingChonburi Multi-Purpose Building

Chonburi Multi-Purpose Building

ความสลับซับซ้อนของพื้นที่นับว่าได้รับการออกแบบให้สอดรับตลอดพื้นที่ในแต่ละชั้นของอาคาร คือนอกจากเรื่องของการออกแบบให้อาคารมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมผ่านการซุกแทรกรายละเอียดช่องเปิดจากบล็อกสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพื่อการระบายอากาศ อีกทั้งการเซาะร่องสำหรับการระบายน้ำฝนที่จะเล็ดลอดเข้ามาบริเวณช่วงบรรจบของโครงสร้างผนังกับพื้นของอาคารแล้ว เธอยังได้ให้ความสำคัญของการเสริมสร้างประสบการณ์การรับรู้จากการสัมผัสความต่างหลากหลายของความต่างระดับจากการจัดการแบ่งพื้นที่ในแต่ละชั้น โครงสร้างช่องเปิดเหล่านั้นก็ทำงานร่วมประสานสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างแสงที่สาดส่องเข้ามาสร้างเงาตกกระทบที่เคลื่อนไปตลอดช่วงวันกับพื้นที่ภายในของอาคารด้วยเช่นกัน

ตอบรับไปการล้อมกรอบเสนอภาพทิวทัศน์ของบริเวณพื้นที่โดยรอบด้วยประสบการณ์การมองเห็นในขอบเขตมุมมองที่แตกต่างกันจากช่องเปิดของหน้าต่างตลอดช่วงแนวของอาคาร โดยเฉพาะในส่วนซึ่งล้อรับต่อเนื่องของมุมมองแกนนอนที่เกิดขึ้นจากการเปิดช่องตามแนวยาวของส่วนล่างสุดและบนสุด ชั้นดาดฟ้าที่ได้รับการจัดการให้สามารถชมภูมิทัศน์ชายทะเลเมื่อมองผ่านส่วนหน้าของอาคาร และฉายเป็นผืนภาพความเป็นเมืองด้วยอาคารและบ้านเรือนในทิศทางตรงกันข้าม ด้วยโครงสร้างหลังคาเหล็กที่ถ่ายน้ำหนักลงเสาที่ตั้งชิดปลายด้านข้างเพียงเท่านั้น เอื้อให้ผู้ใช้อาคารดื่มด่ำไปกับผืนทัศนียภาพในแนวกว้างและยาว ซึ่งไม่ได้ถูกกีดขวางด้วยโครงสร้างใด ๆ เพียงแต่ได้รับการจำกัดและขีดเน้นด้วยเส้นสายจากหลังคาในบางระยะการมองเห็น

Chonburi Multi-Purpose BuildingChonburi Multi-Purpose Building

แม้ว่าอาคารจะตั้งตระหง่านอยู่อย่างแตกต่างไปกับสิ่งก่อสร้างในบริบทแวดล้อม แต่ก็แยบยลไม่แปลกแยกไปจากสภาวะภูมิอากาศผ่านการเรียงอย่างละเมียดละมัยของชุดคำในภาษาของสถาปัตยกรรมกับถ้อยวลีของธรรมชาติ อาจพิจารณาได้ว่า Chonburi Multi-Purpose Building โปรเจ็กต์ล่าสุดของ SUPHASIDH เป็นการนำเสนอและผลักดันสถาปัตยกรรมที่ควรจะเป็นศักยภาพที่สามารถตอบรับและตอบโต้กับสภาพแวดล้อมอันดำเนินอยู่ และยังปรับเปลี่ยนไปในสถานะแม่แบบและเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้อื่นที่จะเข้ามาทลายกฎเกณฑ์และหลากหลายข้อจำกัดได้อย่างน่าสนใจ

suphasidh.com
facebook.com/suphasidh

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *