บ้านในจังหวัดชัยภูมิที่นำเรือนไม้ใต้ถุนสูงมาตีความใหม่ ผสานกับการจัดการแสง-เงา และรูปแบบการไหลเวียนของอากาศในงานสถาปัตยกรรมไทย
TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: BEER SINGNOI
(For English, press here)
ขนาบล้อมด้วยทิวทัศน์ของภูลังกาและภูเขาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกะมัง อำเภอ เกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ที่ตั้งของอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาววางแนวทอดยาว ซึ่งถูกแต่งแต้มอย่างน่าสนใจด้วยเงาตกกระทบจากช่องเปิดขนาดใหญ่สอบโค้งเข้ายังภายในและตัดเรียบเป็นช่องโล่งบริเวณส่วนทางเข้า คือ Southwest House เรือนที่พักอาศัยซึ่งออกแบบโดย แทนไท มัฐผา แห่งสำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรม Tantai Architects แทนไทเริ่มต้นจากความต้องการในการทดลองและแสวงหาภาษาในการออกแบบที่พักอาศัยรูปแบบเฉพาะ ผ่านการผสมผสานเฟ้นหาความเป็นไปได้ในการลดทอนเส้นสาย และขับเน้นไปยังสิ่งที่เขามุ่งให้ความสนใจซึ่งมักจะถูกให้ความสำคัญในสถาปัตยกรรมไทยอย่างแสง-เงาและการจัดการเคลื่อนที่ของอากาศหรือลม
บ้านหลังนี้ได้รับการออกแบบโดยทดลองลดทอนองค์ประกอบโครงสร้างสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเรือนไม้ใต้ถุนสูง ถ่ายทอดนำเสนอด้วยการผสานพื้นที่การใช้งานในรูปลักษณ์บ้านชั้นเดียวอันทันสมัย สถาปนิกเลือกเก็บภาษาการใช้งานพื้นที่ใต้ถุนและโถงกลางอเนกประสงค์ของบ้านพื้นถิ่น บริเวณที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตและการใช้งานได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งเอื้อให้สามารถเข้ามาพักคอย พักผ่อนหย่อนใจสำหรับญาติมิตรที่อยู่รายล้อมซึ่งผ่านเข้าออกไปมาได้อย่างอิสระ อาจกล่าวได้ว่า การนำองค์ประกอบของบ้านในท้องถิ่นอย่างพื้นที่ใต้ถุนบ้านมาตีความใหม่ และบอกเล่าโดยปรับเปลี่ยนเป็นส่วนพื้นที่ทางเดินเชื่อมแต่ละส่วนภายในของบ้านและเป็นพื้นที่นั่งกลางแจ้งตอบรับกับบริเวณช่องเปิดใจกลางอาคาร ชาน รวมไปถึงการเปิดช่องกำแพงให้ทางเข้าพื้นที่ภายในไว้เกือบทุกมุมของอาคาร ได้สร้างความน่าสนใจกับการกระตุ้นความคิดและตั้งคำถามถึงการจัดการพื้นที่พักอาศัยกับความเป็นส่วนตัว
พื้นที่การใช้สอยแบ่งออกเป็นสองส่วน ฝั่งทิศตะวันออกเป็นพื้นที่อเนกประสงค์รองรับการใช้งานทั้งการนั่งเล่น นอน รับแขก หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามวิถีการใช้ชีวิตดั้งเดิมของชาวอีสาน ส่วนในฝั่งทิศตะวันตกเป็นพื้นที่การใช้งานส่วนตัว ประกอบด้วยห้องครัว ห้องนอน ห้องพระ ห้องเก็บของ ห้องสุขา รวมไปถึงบันไดทางขึ้นลานดาดฟ้า ส่วนพื้นที่อเนกประสงค์ของบ้านซึ่งเปิดให้เห็นทิวทัศน์อันอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้รอบทิศทาง พื้นที่ภายในถูกออกแบบให้เชื่อมถึงกันโดยทางเดิน ที่บริเวณลานกลางแจ้ง ชานเปิดโล่งหลังบ้าน อีกทั้งทางเดินรอบๆ และภายในห้องอเนกประสงค์ได้นำไม้จากการรื้อถอนบ้านเก่าที่เคยตั้งอยู่มาใช้งานใหม่เป็นพื้นของอาคารในส่วนดังกล่าว
ทางเดินอาคารพร้อมแนวกำแพงประกอบด้านหน้าและหลังของอาคารได้รับการเสริมเติมเข้ามา เนื่องจากการคำนึงถึงการป้องกันความร้อนของพื้นที่การใช้งานในอาคาร จากการศึกษาทิศทางการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ซึ่งจะโคจรอ้อมไปทางทิศใต้แล้ว ด้วยการออกแบบให้ช่องเปิดส่วนหน้าของอาคารด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นแนวกำแพงภายนอกโค้งสอดเข้าไปยังพื้นที่อเนกประสงค์ ก็ได้ช่วยให้เกิดช่องลมที่ปากแคบแต่ปลายเปิดกว้าง โอบรับและบังคับทิศทางลมประจำถิ่นที่พัดผ่านเข้าไปสู่พื้นที่ภายในอาคาร ภายใต้การจัดการบีบจำกัดมวลอากาศก่อให้เกิดแรงดันและความเร็วลมจึงสูงขึ้น สร้างภาวะน่าสบายให้กับการใช้งานอาคาร โดยเฉพาะพื้นที่ห้องอเนกประสงค์ที่ตอบรับกับทิศทางลมโดยเว้นทางเข้าห้องไว้เพียงระยะประตูหนึ่งบาน ขณะที่ตอนท้ายเปิดโล่ง
“ไม่ว่าจะมองจากมุมสูงหรือในแนวระนาบ รูปทรงสี่เหลี่ยมของอาคารมีความกลมกลืนไปกับความเป็น
กล่องปิดของบ้านไม้หรืออาคารพักอาศัยของผู้คนโดยรอบ รวมไปถึงการตีปิดสังกะสีบริเวณหน้าต่างที่หันหน้าไปทางทิศใต้ของบ้านที่มองเห็นจากชานที่นั่งห้อยขาของห้องอเนกประสงค์ในทิศทางเดียวกันกับทางเข้าของบ้านหลังนี้ แนวความคิดนี้ย้อนกลับมาเน้นย้ำถึงการเปิดรับ ตีความ และพยายามทำความเข้าใจใหม่ถึงองค์ประกอบอาคาร อย่างเช่นหน้าต่างรอบด้านอาคารนั้นจำเป็นเพียงในบริบทพื้นที่นี้” แทนไทอธิบายเพิ่มเติมถึงแนวความคิดในการออกแบบ
นอกจาก Southwest House จะตอบรับกับการใช้งานของผู้อยู่อาศัยอย่างครอบคลุม โดยคำนึงถึงวิถีชีวิตการใช้งานตามอย่างการใช้งานพื้นถิ่นและให้ความเคารพต่อธรรมชาติที่โอบล้อมโดยโอบรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับสถาปัตยกรรมแล้ว สถาปนิกยังให้ความสำคัญกับการจัดการแสง-เงา ที่ทั้งช่วยขยายให้เห็นแนวทางการตีความใหม่ใช้แสงส่องสว่างเปิดเข้ามาภายในพื้นที่ปิดบริเวณห้องนอนด้วยช่องเจาะ skylight เพื่อช่วยให้สามารถรับรู้สภาพอากาศความเป็นไปภายใต้กำแพงทึบ ความงามในการตกกระทบยังบริเวณต่างๆ ภายในและภายนอกที่ก่อให้เกิดมิติกับพื้นผิวของผนังและกำแพงก็เป็นอีกส่วนที่สถาปนิกให้ความสำคัญไม่ย่อหย่อนกว่ากัน อย่างไรก็ตาม แม้บ้าน Southwest House จะถูกนำเสนอด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นเอกลักษณ์ แยกตัวออกจากภูมิทัศน์โดยรอบ หากแต่ก็พยายามซุกซ่อนตนเองและแสดงออกด้วยภาษาการออกแบบร่วมสมัยใหม่อันเรียบง่าย โดยประสานล้อรับไปกับกลวิธีการออกแบบอาคารบ้านเรือนพื้นถิ่นที่รายรอบอย่างแยบยล