มองโลกที่งานออกแบบ เทคโนโลยี และธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน ผ่านมุมมองของ Iris Pan ศิลปินและนักเทคโนโลยี รวมถึง lead designer ของ Amazon
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF IRIS PAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีพัฒนาด้วยความเร็วแบบยกกำลัง นักออกแบบเมื่อสิบปีที่แล้วอาจนึกภาพการทำงานในตอนนี้ไม่ออก แต่ถึงแม้เครื่องมือของเราจะเปลี่ยนไป มีอุปกรณ์กับโปรแกรมใหม่ๆ ให้เลือกสรรมากขึ้น ผู้ใช้งานสิ่งที่เราออกแบบก็ยังเป็นมนุษย์เช่นเดิม จึงกล่าวได้ว่าสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะมีนานาปัจจัยทะลักเข้ามาในกระบวนการออกแบบของทุกคนขนาดไหน เรื่องที่เราต้องใส่ใจก็ยังเป็นเรื่องของตัวเอง หรือก็คือมนุษย์
อย่างไรก็ตาม multidisciplinary design หรือการออกแบบโดยบูรณาการสหวิทยาการเข้าด้วยกันก็ยังเป็นความเชี่ยวชาญที่ถูกเสาะหา ซึ่งถือว่าเป็นเงาตามตัวเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น ความคาดหวังที่ผู้คนมีต่อนักออกแบบก็กว้างขวางขึ้น เราจึงสนใจที่จะทำความรู้จักกับ Iris (Xiaobi) Pan หรือ Iris Pan ผู้เป็น lead designer ให้กับ Amazon แพลตฟอร์ม e-commerce ระดับโลก ทั้งยังเป็นบริษัทด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และบริการด้านซอฟต์แวร์ที่เรารู้จักกันดี โดยเธอนิยามตัวเองเป็น artist และ technologist อีกด้วย

Iris Pan | Photo courtesy of HK BODW
Pan เป็นหนึ่งในสปีคเกอร์ของงาน Business of Design Week 2024 ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 2 – 7 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ Hong Kong Convention & Exhibition Centre โดยเธอเข้าร่วมในหัวข้อ ‘Innovating Customer Engagement: XR, AI, and Future Storytelling’ ท่ามกลางกว่า 40 session ภายในงาน บทความนี้จึงเป็นการก้าวเข้าสู่โลกที่งานออกแบบ เทคโนโลยี และธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน ผ่านมุมมองของ Pan
art4d: ในฐานะศิลปินและนักเทคโนโลยีที่ทำงานอยู่ ณ จุดบรรจบของศิลปะ เทคโนโลยี และการออกแบบ คุณช่วยเล่าเกี่ยวกับผลงานของคุณเพิ่มเติมได้ไหม?
Iris Pan: งานของฉันทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง XR, AI และการออกแบบเชิงคาดการณ์ โดยมุ่งสร้างประสบการณ์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนและ ‘สิ่งมีชีวิต (beings)’ ซึ่งเชื่อมโยงโลกดิจิทัลเข้ากับโลกกายภาพ สิ่งที่ฉันหลงใหลอย่างแท้จริงคือการสำรวจศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายและเสมือนจริง โดยฉันผสมผสานการเล่าเรื่อง การมีปฏิสัมพันธ์ และนวัตกรรมไว้ในประสบการณ์เหล่านี้ เพื่อจัดการกับประเด็นทางสังคม ปลุกความเห็นอกเห็นใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดวิธีคิดแบบใหม่
ยกตัวอย่างเช่น ในโครงการล่าสุดของฉัน GatheredCloths VR ฉันใช้เทคโนโลยี VR (virtual reality) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับขยะจากสิ่งทอทั่วโลก โดยมอบประสบการณ์ที่ผู้เข้าร่วมจะได้จมดิ่งอยู่ในดินแดนที่สิ่งทอเหลือทิ้งเป็นขยะ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งกับประเด็นนี้ นอกจากนี้ ประสบการณ์ VR ยังถูกจัดแสดงคู่กับสิ่งทอที่จับต้องได้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสสัมผัส รู้สึก และดื่มด่ำไปกับพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ซึ่งช่วยสร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งผ่านประสบการณ์แบบ ‘กายภาพ + ดิจิทัล’ ที่ประสานกันนี้

GatheredCloths VR

GatheredCloths VR
อีกตัวอย่างหนึ่งคือสิ่งประดิษฐ์ที่ฉันทำขึ้นในปี 2015, Love Cassette มันเป็นเป็น interactive installation ที่กระตุ้นให้ผู้คนแสดงความรักต่อกัน มันสามารถรับฟังข้อความแห่งความรักของใครสักคน แล้วเปลี่ยนให้เป็นโปสการ์ดและสร้อยคอคลื่นเสียงเฉพาะบุคคลได้ในทันที Love Cassette ไม่ใช่แค่งานติดตั้งน่ารักๆ ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความหวานให้ชีวิตเท่านั้นนะ แต่ยังเป็นระบบธุรกิจที่ยั่งยืนในตัวเอง สร้างผลกระทบทั้งทางธุรกิจและสังคมในวงกว้าง การโต้ตอบแต่ละครั้งจะสร้างหน้าเว็บเฉพาะที่สามารถแชร์บนโซเชียลมีเดียได้ ซึ่งมีผลทางการตลาดอีกทีหนึ่ง ความสำเร็จของ Love Cassette แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการเล่าเรื่องและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ได้อย่างไร และการออกแบบที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางสามารถสร้างสรรค์ product และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าดึงดูดในระดับสากล ซึ่งตอบโจทย์ทั้งธุรกิจและประโยชน์ต่อสังคมได้ด้วย
สรุปสั้นๆ แนวทางการออกแบบของฉันมีรากฐานอยู่ที่ความเห็นอกเห็นใจ และขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาที่จะผลักดันขอบเขตของความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่ยังคำนึงถึงความน่าดึงดูดในระดับสากลและการเข้าถึงได้ของงานออกแบบ ในท้ายที่สุด งานของฉันมุ่งสร้างสะพานที่เชื่อมระหว่างเทคโนโลยีกับประสบการณ์ของมนุษย์ เปลี่ยนแนวคิดที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นประสบการณ์ที่สัมผัสได้และน่าจดจำ สำหรับฉัน เทคโนโลยีเป็นเพียงวิถีทางสู่เป้าหมาย จุดประสงค์ของการเล่นกับเทคโนโลยีเกิดใหม่คือการคิดค้นประสบการณ์ที่มีความหมาย เพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม การสร้างคุณค่าทางธุรกิจ และนวัตกรรมทางสังคม

Love Cassette
art4d: เทคโนโลยีและงานศิลปะทำงานร่วมกันในเชิงธุรกิจอย่างไร และ BODW ควรสนับสนุนกิจกรรมประเภทใดนอกเหนือจากนิทรรศการและการบรรยาย?
IP: เทคโนโลยีและงานศิลปะสามารถบรรจบกันอย่างกลมกลืนในโลกธุรกิจเพื่อสร้างโซลูชันที่ทรงพลังและสร้างสรรค์ ตัวอย่างที่ดีคือโครงการ Love Cassette ของฉันที่ได้อธิบายไปแล้ว โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถเป็นวิถีทางสู่เป้าหมายได้อย่างไรเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่าง XR และ AI เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างยิ่งที่สามารถช่วยในกระบวนการสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกัน มันช่วยให้เราแก้ปัญหาทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้า การทำให้กระบวนการต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการเปิดช่องทางรายได้ใหม่ๆ
ในท้ายที่สุด ฉันเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือการสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีกับการแสดงออกทางศิลปะ โดยต้องมั่นใจว่าทั้งสองอย่างรับใช้จุดประสงค์ที่ชัดเจน เมื่อใช้อย่างรอบคอบ เทคโนโลยีและศิลปะสามารถยกระดับธุรกิจด้วยการสร้างความเชื่อมโยงที่มีความหมายกับผู้ชม ในขณะที่จัดการกับความท้าทายในโลกแห่งความเป็นจริง

Love Cassette

Love Cassette
ฉันหวังว่า BODW จะสามารถสนับสนุนกิจกรรมที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์และชุมชนมากขึ้น เช่น design hackathon และกิจกรรมด้านการออกแบบที่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม กิจกรรมเหล่านี้สามารถช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมแบบลงมือปฏิบัติ และเชื่อมโยงการออกแบบเข้ากับการประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง
ในด้านของ design hackathon งานสามารถรวมตัวนักออกแบบ นักเทคโนโลยี ผู้นำธุรกิจ และนักสร้างสรรค์อื่นๆ เพื่อแก้ไขความท้าทายเร่งด่วนภายในกรอบเวลาที่กำหนด หัวข้อต่างๆ อาจเชื่อมโยงกับประเด็นระดับโลก เช่น ความยั่งยืน การมีส่วนร่วม หรือนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้สร้างต้นแบบและโซลูชันที่สร้างผลกระทบเชิงบวก
สำหรับกิจกรรมการออกแบบที่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ฉันเชื่อว่าการจัดกิจกรรมที่นักออกแบบได้ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นโดยตรง เพื่อร่วมกันสร้างโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะเป็นสิ่งที่มีความหมาย ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบพื้นที่เมือง art installation ในที่สาธารณะ หรือผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน โดยอิงกับบริบททางวัฒนธรรมและสังคมที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราสามารถมีโครงการ ‘Design With and For (ออกแบบร่วมกับใครและเพื่อใคร)’ ที่มุ่งเน้นการเสริมพลังให้ชุมชนท้องถิ่นด้วยการให้พวกเขามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบ เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งกระบวนการออกแบบและผลลัพธ์มีรากฐานอยู่ในชุมชนและสอดคล้องกับผู้ที่ต้องการมันมากที่สุดจริงๆ

Photo courtesy of HK BODW
art4d: ช่วยเล่าถึงโครงการที่คุณกำลังทำอยู่ในปัจจุบันให้ฟังหน่อยได้ไหม
IP: อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ หนึ่งในโครงการที่ฉันยังคงทำอยู่คือ GatheredCloths VR ซึ่งเป็นประสบการณ์แบบเสมือนจริงและจับต้องได้ที่มุ่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับขยะสิ่งทอทั่วโลกในอุตสาหกรรมแฟชั่น ตอนนี้ฉันมุ่งเน้นที่การพัฒนาโครงการให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มการโต้ตอบที่ละเอียดอ่อนมากขึ้นในประสบการณ์ที่มอบให้ผู้เข้าร่วม ฉันต้องการให้พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงและมีพลังเมื่อเข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องราว นอกจากนี้ ฉันยังวางแผนที่จะเพิ่มการจัดแสดง GatheredCloths VR ในนิทรรศการทั่วโลก โดยหวังว่าจะจุดประกายการสนทนาที่มีความหมายและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการลงมือทำในระดับโลก ฉันยังร่วมมือกับศิลปินและนักเทคโนโลยีคนอื่นๆ เพื่อสำรวจมิติใหม่ๆ ของโครงการอีกด้วย
โครงการที่สองที่ฉันกำลังทำอยู่ตอนนี้คือ VR.SH เป็นการทดลองตีความบทกวีจีนโบราณและบทกวีรัสเซียโบราณใหม่ ให้เป็นประสบการณ์ภาพและเสียงแบบสมจริง โดยใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนและ AI เป็นการต่อยอดจากงาน VR บทกวีจีนก่อนหน้าของฉันที่ชื่อ ‘Poeceptible’ และเป็นการร่วมงานกับศิลปินและกวีชาวรัสเซีย Stan Lauk
สองโครงการ tech+art นี้เป็นจุดโฟกัสหลักของฉันในตอนนี้ ฉันกำลังมองหาพิพิธภัณฑ์ พื้นที่ศิลปะ หรือสถานที่อื่นๆ ที่สนใจจะจัดแสดงผลงานเหล่านี้ ดังนั้น หากใครที่กำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้สนใจที่จะจัดนิทรรศการเหล่านี้ อย่าลังเลที่จะติดต่อฉันนะคะ

Poeceptible
art4d: ช่วยเล่าที่มาของการทำงานในซิลิคอน วัลเลย์และอเมซอนให้ฟังหน่อย
IP: ทุกอย่างเริ่มต้นในปี 2017 เมื่อฉันตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านการศึกษาการออกแบบ (MDes Technology) ที่คณะการออกแบบ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระหว่างเรียน ฉันเกิดความสนใจอย่างลึกซึ้งในด้าน XR (extended reality) และได้สำรวจการใช้งานและนัยยะด้านการออกแบบของเทคโนโลยี XR มาตั้งแต่นั้น
หลังจบการศึกษา ฉันย้ายไปนิวยอร์กและทำงานที่ Innovation Labs ของมาสเตอร์การ์ดอยู่หลายปี ที่นั่นฉันมุ่งเน้นไปที่โครงการช็อปปิ้งผ่าน XR โดยสำรวจว่า extended reality จะสามารถนิยามประสบการณ์ของผู้บริโภคใหม่ได้อย่างไร จากนั้นอเมซอนก็ติดต่อเข้ามา และฉันมองว่านี่เป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมที่จะได้ทำงานกับ XR และเทคโนโลยีเกิดใหม่อื่นๆ ในพื้นที่ผู้บริโภคในระดับที่ใหญ่ขึ้น ฉันจึงตัดสินใจย้ายไปซิลิคอน วัลเลย์ และไม่เคยเสียใจกับการตัดสินใจครั้งนั้นเลย
งานที่อเมซอนท้าทายมากแต่ก็น่าตื่นเต้น ในแต่ละวัน ฉันต้องคิดว่าจะใช้เทคโนโลยี XR เพื่อสอดแทรกนวัตกรรมไว้ในประสบการณ์ผู้บริโภคอย่างไร ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์สำหรับผู้บริโภคของเราทั่วโลก ในขณะที่ต้องนำทางระบบนิเวศขนาดมหึมาของอเมซอนอย่างราบรื่น และทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ฉันออกแบบทำงานสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และฟีเจอร์อื่นๆ ของอเมซอนทั้งหมด มันเป็นการสร้างนวัตกรรมในระดับที่ใหญ่ขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น
ตอนนี้จุดโฟกัสของฉันที่อเมซอนคือการพยายามยกระดับประสบการณ์ช็อปปิ้งด้วย AR (augmented reality) แบบ View in Your Room ที่ไม่เหมือนใคร เพื่อให้ลูกค้าของเราสามารถใช้โทรศัพท์เพื่อจินตนาการและมีส่วนร่วมเสมือนจริงกับผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในบ้านหรือพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างสนุกสนาน ด้วยการใช้เทคโนโลยี AR อย่างมีความหมาย เราช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ดีขึ้นและลดการคืนสินค้าที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้วช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของพวกเขาเมื่อช็อปปิ้งบนอเมซอน

Amazon View in Your Room AR Shopping
art4d: คุณชอบขั้นตอนไหนในกระบวนการออกแบบมากที่สุด
IP: ฉันชอบช่วงการระดมความคิดในกระบวนการสร้างสรรค์มากที่สุด มันเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ที่ความคลุมเครือเปลี่ยนเป็นความชัดเจน มีความตื่นเต้นบางอย่างในการเชื่อมโยงจุดต่างๆ ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน การนำความคิดที่แตกต่างมารวมกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ขั้นตอนนี้เหมือนในหัวเรามีสนามเด็กเล่น ที่ซึ่งจินตนาการและตรรกะออกมาเต้นอย่างสนุกสนานพื่อสร้างโซลูชันที่สร้างสรรค์
ฉันมักจะตื่นเต้นและกระสับกระส่ายจนกว่าจุดต่างๆ จะเชื่อมต่อกัน และฉันรู้สึกถึงความสงบและความชัดเจนที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น สำหรับฉันการคิดค้นไอเดียเป็นประสบการณ์ที่ลึกซึ้งทั้งในแง่ส่วนตัวและจิตวิญญาณ

±8 Watch
art4d: คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าความก้าวหน้าทางเทคนิคดำเนินต่อไปโดยปราศจากความรู้ด้านการออกแบบ
IP: หากความก้าวหน้าทางเทคนิคดำเนินต่อไปโดยไม่บูรณาการความรู้ด้านการออกแบบ เราเสี่ยงที่จะสร้างโซลูชันที่อาจจะน่าประทับใจในทางเทคนิค แต่ล้มเหลวในการสร้างความรู้สึกร่วมหรือรับใช้ผู้คนอย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือเหตุผลที่เราต้องเริ่มต้นด้วยปรัชญาการออกแบบที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางเสมอ
มีคำกล่าวที่ว่า “ถ้าเครื่องมือเดียวที่คุณมีคือค้อน คุณก็จะเริ่มมองทุกอย่างเป็นตะปู” ถ้าเราเริ่มต้นด้วยเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อน เราอาจพบว่าตัวเองกำลังใช้มันกับทุกปัญหาอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่คำนึงว่ามันเหมาะสมหรือจำเป็นจริงๆ หรือไม่ แนวทางนี้อาจนำไปสู่โซลูชันที่ซับซ้อนเกินไป ไม่เชื่อมโยง หรือแม้กระทั่งเป็นอันตราย ซึ่งหลุดจากเป้าหมายดั้งเดิมไปโดยสิ้นเชิง การเริ่มต้นจากมุมมองของมนุษย์ทำให้เราสามารถมั่นใจได้ว่าประสบการณ์และผลิตภัณฑ์ถูกหล่อหลอมขึ้นด้วยความชัดเจน ความเห็นอกเห็นใจ และความงาม การออกแบบคือสิ่งที่นำมาซึ่งระเบียบและความหมายให้กับเทคโนโลยี—มันช่วยให้เราสามารถถามคำถามที่ถูกต้องและสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ แทนที่จะปล่อยให้เทคโนโลยีกำหนดทิศทางโดยปราศจากจุดประสงค์ ความสมดุลนี้สำคัญอย่างยิ่งในการทำให้แน่ใจว่าความก้าวหน้าทางเทคนิคถูกใช้อย่างมีความรับผิดชอบและมีความหมายเพื่อเติมเต็มชีวิตของผู้คน

Photo courtesy of HK BODW