เปิดมุมมองใหม่กับ วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ ในนิทรรศการที่เชื่อมโยงธรรมชาติเข้ากับเมืองผ่านภาพถ่ายขาวดำและวิดีโอจัดวาง ซึ่งพาไปสำรวจรายละเอียดเล็กๆ ที่มักถูกมองข้าม
TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO COURTESY OF HOP HUB OF PHOTOGRAPHY
(For English, press here)
ภาพถ่ายขาวดำในระยะประชิดของช่วงรอยแยกของกิ่งต้นไม้จากลำต้นบนผนังโค้งที่ตั้งบิดเฉียงลอยตัวบริเวณกลางห้อง ขับเน้นด้วยพื้นผิวแห้งแข็งของเปลือกไม้แต่กลับพริ้วไหวและไหลลื่นผ่านเส้นสายจากร่องร่นย่น ซึ่งกรีดพับซ้อนรับสลับอย่างคมชัดด้วยการตัดกันของแสงและเงา นี่อาจไม่ใช่ภาพถ่ายแรกที่ผู้ชมได้เห็นเมื่อเดินข้ามส่วนบริการของห้างสรรพสินค้าเข้าไปภายในนิทรรศการ ‘The Beginning of Something Else’ โดย วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ ณ HOP PHOTO GALLERY ซึ่งจัดแสดงระหว่าง 26 ตุลาคม 2567 – 19 มกราคม 2568 หากด้วยท่วงจังหวะจากการเรียงตั้ง ขนาดของพื้นผิว และระยะภาพอันโดดเด่น ก็เร้ากระตุ้นเชื่อมร้อยโยงเส้นใยปฏิสัมพันธ์อันโปร่งบางเมื่อสายตาต้องสัมผัส สร้างการรับรู้ประทับและกระทำต่อความรู้สึกที่ผสานการนึกคิดซึ่งยากจะอธิบาย
“ชุดภาพถ่ายนี้เริ่มต้นจากงานที่เกี่ยวกับกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ขยายขอบเขตไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยแต่ละภาพก็จะมีเรื่องเล่าเฉพาะของตัวเองอยู่ ผมเลือกรูปในช่วงเวลาที่ผมค่อนข้างรู้สึกเป็นส่วนตัวอย่างมากในการทำงานก็คือ ผมปลีกวิเวกออกไปทำงานส่วนตัว แล้วก็จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่ความรู้สึกนึกคิดได้ปะทะขึ้นมากับองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ภายในเมือง เหมือนกับเรามีสมาธิกับอะไรบางอย่าง แล้วเราก็เริ่มสังเกตว่า สิ่งธรรมดา นั้นไม่ธรรมดา และมีความหมายของตัวเอง ผมเลือกภาพแรกเป็นภาพต้นไม้ที่มนุษย์จับเอาต้นไม้ไปอยู่ในเมือง แต่ขณะเดียวกันต้นไม้ก็โตและพยายามหลุดพ้นจากการกีดกันของกระถางต้นไม้ มันก็เลยปริตัวเองให้แตกออกจากกระถางต้นไม้ พยายามออกจากกระถางต้นไม้ ซึ่งก็เป็นกระถางต้นไม้ที่ร้าว”
ภาพถ่ายและวิดีโอจัดวางไม่เพียงจะถ่ายทอดโดยคำนึงถึงบริบทพื้นที่จัดแสดงภาพภูมิทัศน์เมือง เพื่อฉายสะท้อนภาพสิ่งที่เกิดขึ้นอันเชื่องช้าภายนอก และแทรกตั้งกลับด้านไว้ยังภายในศูนย์การค้าที่ห้วงขณะเวลา ดูราวกับว่าจะไหลลื่นรวดเร็วไปกับการจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น ขณะเดียวกันวิริยะได้ปลดปล่อยให้ภาพถ่ายและวิดีโอของเขา อีกทั้งผู้ชมเองต่างโต้ตอบ ปล่อยวาง และหายใจ จากการเว้นว่าง เซาะร่อง เสริมยื่น และกั้นแบ่ง สร้างผังผิวพื้นที่การรับชมและนำเสนอในรูปแบบที่เย้าหยอกและมีพลวัต
แน่นอนเป็นอย่างยิ่งว่า การเคลื่อนผ่านไปยังพื้นที่ว่าง พร้อมเลื่อนตามระนาบที่ไม่ราบเรียบ ก็เน้นย้ำถึงสภาวะการไหลเวียน – ชีพจรของพื้นที่ – ด้วยการบีบเข้า ร่วมกับคายออกของระยะ สีสัน และระนาบต่ำ-สูง ซึ่งเรียงประกอบไว้อย่างมีนัยยะ และเอื้อให้คนสามารถหยุดนั่งพักฟังเสียง หรือเดินเข้าเดินออกได้อย่างอิสระ “เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ดังลมหายใจที่ซ่อนอยู่ภายในพื้นที่” วิริยะบอกกับเรา พร้อมกันนั้นก็ขับเน้นให้ ‘ปาฏิหาริย์’ อีกสิ่งที่ศิลปินให้ความสนใจได้เปล่งประกายขึ้นด้วยความอัศจรรย์
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยนำเสียงที่บอกเล่าทั้งกระเซ้าหยอก ซ่อนสลับปรากฏการณ์ภายใน-ภายนอกและสงบกับวุ่นวาย เผยให้เห็นการย้อนรอยสร้างซ้ำบนกลวิธี ที่จับวางองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งเขาได้พบเห็นและเก็บสะสมแรงปะทะที่กระทำการบางอย่างนั้น ประทับเรียงต่อเป็นเมืองจำลองอันอัดแน่นด้วยที่ว่าง หรือในทางกลับกันคือเมืองในป่าใหญ่กับเสียงบรรยากาศธรรมชาติซึ่งคลอเคล้าทั่วนิทรรศการอย่างแผ่วๆ ของวิดีโอ ทั้งสองก็ต่างส่งเสริมให้เกิดความฉงน ชวนให้ฉุกคิดขยายต่อความบางอย่าง จากตำแหน่งการวางทาบเทียบ ตอกย้ำให้ ‘ธรรมชาติ-มนุษย์’ หรือความพยายามจัดการจำกัดธรรมชาติไว้ในกรอบหรือขอบเขตด้วยเหตุบางประการได้เด่นชัดขึ้นไม่น้อยกว่ากัน ราวกับภาพแท่งเหล็กที่บิดพับปลายเล็กน้อย
อย่างไรก็ตามวิริยะพยายามไม่หมุดหมายให้เรื่องเล่าภายในเมืองจำลองนี้ บนการเรียบเรียงตามแนวทางจำเพาะแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะขมวดรวมอย่างกว้างๆ บนฉากภาพของสภาวะที่ปรากฏขึ้นอย่างหลากทิศหลายทางด้วยคำถาม “โลกของเราหมุนเร็วเกินไปหรือเปล่า? มากกว่าที่เราจะทันได้สังเกตเห็นสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้” โดยเขามักย้ำถึง การเปิดกว้างในการอ่าน/ ตีความชิ้นงานจัดวางทั้งหมดร่วมไปกับพื้นที่ว่างอยู่เสมอ ซึ่งสอดรับไปกับกระบวนการจัดการ ทั้งแนวระนาบของพื้นผิวสัมผัสและแกนตั้งจากตำแหน่งที่จัดวางได้อย่างพอดิบพอดี นอกจากจะพาให้ภาพและผู้คนได้ต่างสำรวจซึ่งกันและกันแล้ว ก็ยังคงละ พร้อมย้ำถึงประสบการณ์ที่จะสามารถสัมผัสสร้างการขบคิดจากช่องว่างให้ได้ขยับขยายไว้อย่างปลายเปิด นี่เองอาจจะเป็นการเริ่มต้นบทใหม่ของสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ก็เป็นไปได้