BACK IN 1995, THE EDITORIAL TEAM OF JAPAN’S ARCHITECTURE MAGAZINE, SD (SPACE DESIGN) CAME TO VISIT THAILAND IN HOPE OF FINDING ANOTHER MORE CONTEMPORARY NOTION OF ‘THAI STYLE’ THAT WAS BEYOND THE IMAGES OF THAINESS THE FOREIGNERS ONCE PERCEIVED FROM WILLAIM WARREN’S ‘THAI STYLE’ PUBLISHED IN 1990. LET’S FIND OUT WHAT MARIKO TERADA, AN ASSOCIATE EDITOR OF SD, CAME ACROSS 24 YEARS AGO AND HOW IT CAN REFLECT UPON THE THAI STYLE WE ALL HAVE AT PRESENT
ย้อนกลับไปปี 1995 ทีมงานจาก SD Magazine นิตยสารทางสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น เดินทางมาประเทศไทยเพื่อพยายามสำรวจและมองหา “Thai style” ในแบบร่วมสมัย ซึ่งเป็นความไทยๆ ที่นอกเหนือไปจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของวัดวาอาราม หรือบ้านเรือนไทยอย่างที่คนภายนอกรู้จักกันผ่านหนังสือ Thai Style ของ William Warren มาดูกันว่าสิ่งที่ Mariko Terada รองบรรณาธิการของ SD Magazine พบเจอเมื่อ 24 ปีก่อน สะท้อนอะไรให้เห็นถึงปัจจุบันได้บ้าง
จาก Mariko Terada
Associate Editor, SD Magazine
นิตยสารทางวิชาการสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น
แปลโดย กุลภัทร ยันตรศาสตร์
เมืองไทยในโลกใหม่ “เอเชีย”
คราวที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ art4d ในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพ “บรรณาธิการนิตยสาร” เมื่อครั้งที่ไปเยือนกรุงเทพฯ คราวที่แล้ว ทำให้เราเห็นว่างานนี้นอกจากจะต้องมองนอกเหนือจากงานสถาปัตยกรรมอย่างเดียวแล้ว ยังต้องมองให้พ้นเรื่องของพรมแดนหรือท้องถิ่น เพื่อให้เห็นปัญหาที่ใหญ่กว่าได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ของญี่ปุ่นที่เคยมองแต่ไปทางตะวันตกมาโดยตลอดตั้งแต่หลังสงครามโลก อเมริกาและยุโรปดูจะเป็น “ศูนย์กลาง” สำหรับญี่ปุ่นไปเสียทุกอย่าง ซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นวันนี้อาจมีผลพลอยได้จากเหตุนี้บ้าง แต่เวลาเดียวกันก็ทำให้ญี่ปุ่นลืมไปว่าส่วนที่เหลือของโลกก็ยังคงดำรงอยู่ตลอดเวลา มาจนถึงเร็วๆ นี้ที่ญี่ปุ่นเริ่มมองพ้นกรอบเดิม และอยู่ในช่วงพยายามจะเข้าใจ “โลก” ในกรอบที่ใหญ่ขึ้น
เอเชียน่าจะเป็นบริเวณที่เราให้ความสนใจและศึกษา มิใช่ว่าทุกประเทศในเอเชียมีความพร้อมหรือได้รับการพัฒนาแล้ว แต่เพราะเมื่อมองไปสู่ศตวรรษที่ 21 ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามา กระแสความเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางสังคมหรือเศรษฐกิจคงจะเกิดขึ้นในแถบนี้อย่างหนีไม่พ้น และนี่คงเป็นเสมือนโจทย์สำหรับญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 21 หลังจากยุคสงครามตะวันตกของญี่ปุ่นผ่านไป
จากโจทย์เพื่อเพิ่มความเข้าใจในเอเชียนี่เองที่เรา SD (Space Design) ได้เริ่ม ‘Contemporary Asia Series’ ขึ้นโดยประเดิมชิ้นแรกด้วยไต้หวัน เนื้อหาก็พยายามไม่ให้ซ้ำซากกับงานที่ถูกตีพิมพ์ไปแล้ว โดยเราเน้นที่ไต้หวัน ณ เวลานี้ ประเทศที่เรียกว่าไต้หวันมีลักษณะอย่างไร งานสถาปัตยกรรม งานออกแบบที่เป็นผลผลิตของประเทศบอกให้เรารู้อะไรบ้าง เหล่าสถาปนิก นักออกแบบรุ่นใหม่ที่นั่นกำลังค้นหาอะไร ฝันอย่างไรกับงานของเขาบ้าง นี่คือเรื่องที่เรานำเสนอหลังจากตีพิมพ์แล้วก็ได้รับ feedback และการติดต่อจากทั้งสำนักพิมพ์ในไต้หวันและบริษัทญี่ปุ่นในไต้หวัน ทำให้เราดีใจที่กลุ่มผู้อ่านไม่มีเพียงแต่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้อ่านที่สนใจงานออกแบบในไต้หวันเองด้วย
หลังจากไต้หวันแล้ว เราก็เริ่มหันมามองภูมิภาคที่เรียกว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งเราเคยคิดว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่เมื่อมองใกล้เข้ามาจึงเห็นความแตกต่างทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมของประเทศในกลุ่ม ยิ่งทำให้เราเห็นผลของการขาดข้อมูลและการสื่อสารภายในเอเชียของเราด้วยกันเอง เราจึงเริ่มเดินทางไปดูด้วยสายตาของเราเอง เริ่มด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ กลางปีที่แล้ว ตามด้วยอินโดนีเซีย พยายามทำความเข้าใจกับประเทศแต่ละแห่งคร่าวๆ เพื่อจะได้กลับญี่ปุ่นเพื่อขบคิดวิธีที่จะนำเสนอประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียเหล่านี้ต่อไป
กรุงเทพฯ ปี 1995
กรุงเทพฯ ยุคนี้ต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วมากเหลือเกิน กรุงเทพฯ วันนี้ดูจะเป็น “เมืองคนยุ่ง” “เมืองโตเร็ว” เมื่อมองกรุงเทพฯ โดยรวม ฉันเห็นลักษณะใหญ่ๆ 3 อย่างคือ 1) การจราจรที่ยุ่งเหยิง 2) ความไร้ระเบียบ (chaos) ในถนน ย่านสาธารณะ และ 3) การกระจายตัวไปทั่วของตึกระฟ้า จราจรของกรุงเทพฯ นั้น เราก็เคยได้ยินกิตติศัพท์มาแล้ว แต่ตึกสูงในกรุงเทพฯ กลับต่างจากสิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ หรือจาการ์ตา ที่ตึกสูงอยู่รวมเป็นถนน เป็นย่านการค้า เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ จะว่าคล้ายโตเกียวก็ไม่เชิง แต่กระจัดกระจายไหลไปเต็มเมืองพอๆ กัน ซึ่งเมื่อมองจากบนทางด่วนยิ่งเห็นการกระจายนี้ชัด style ของอาคารส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าเป็น information style และ post modern อาคารแบบ pop ที่ใช้สีสดใสหรือเล่น form แบบตัวหุ่นยนต์ก็มีให้เห็นประปราย ไม่รู้จะนับเป็น “Thai style” อีกแบบหนึ่งได้หรือเปล่า
คนรุ่นใหม่วัยรุ่นในกรุงเทพฯ ก็ตามแฟชั่นกันมากทีเดียว แฟชั่นรองเท้าบู๊ทสูง เสื้อย้อนยุค หรืออาหารการกินอย่างอาหารฝรั่งเศส เวียดนาม ดูจะเป็นที่นิยมซึ่งคล้ายๆ กับวัยรุ่นในญี่ปุ่น สงสัยว่าเสื้อผ้า อาหารที่กลายเป็นแฟชั่นนี้คงเป็นอิทธิพลของ media แน่ทีเดียว ตามแผงหนังสือก็เห็นหนังสือนิตยสารเรียงเต็มแผงไปหมด และที่น่าตกใจเป็นพิเศษคือหนังสือสถาปัตยกรรม การตกแต่งของที่นี่เป็นหน้าสีเกือบทั้งเล่ม ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้แน่ๆ สำหรับหนังสือ SD ที่ฉันทำงานอยู่ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องเงิน และบางทีรูปขาวดำก็นำเสนองานได้ดีกว่า อีกเรื่องที่น่าฉงนก็คือการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งแม้แต่ในหมู่บ้านชาวเขาทางเหนือที่พวกเราไปเดินป่า เด็กที่นั่นก็ติดการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเหนียวแน่น หรือว่าการ์ตูนได้กลายเป็นภาษาสากลของคนรุ่นใหม่ไปแล้วกระมัง
เรื่องที่น่าแปลกใจและน่ายินดีสำหรับฉันอีกเรื่องหนึ่งก็คือ จำนวนสถาปนิกหรือนักออกแบบหญิงในประเทศไทยดูจะมีมากกว่าในญี่ปุ่นมาก ตอนที่ไปเยี่ยมคณะสถาปัตย์ฯ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน studio ที่เปิดวิทยุเสียงก้อง ก็เห็นนิสิตหลายคนกำลังก้มหน้าก้มตาทำงานที่โต๊ะเขียนแบบกันอย่างขมักเขม้น พอเข้าไปมองใกล้ๆ ก็เห็นพวกเธอ มือหนึ่งกำลังพลิกหนังสือคู่แข่งของเรา GA JAPAN อีกมือหนึ่งก็กำลัง sketch สงสัยจะเป็นงานออกแบบอยู่ เห็นแล้วก็ได้แต่เอาใจช่วยในฐานะผู้หญิงด้วยกันว่า ในอนาคตน้องเหล่านั้นคงจะมีโอกาสนำงานของตัวเองลงในหนังสือ นิตยสารทางสถาปัตยกรรมบ้าง
สถาปนิกและนักออกแบบในกรุงเทพฯ
ครั้งนี้ที่มาเมืองไทย เรื่องหนึ่งก็คือเพื่อได้พบพูดคุยกับสถาปนิก นักออกแบบรุ่นใหม่ของเมืองไทย อีกเรื่องหนึ่งก็คืออยากรู้จัก “Thai style” ที่ไม่ใช่แบบที่อยู่ในหนังสือ Thai style ของ ASIA BOOKS แต่เป็นแบบไทยๆ ที่ใกล้ตัว เข้าใจได้ และสะท้อนให้เห็น “สภาพปัจจุบัน” ของไทย ในญี่ปุ่นเรามักจะได้ยินชื่อของคุณสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งเราก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับสถาปนิกรุ่นหลังจากนั้นที่กำลังสร้างชื่อเสียงอยู่ และยังได้รู้ว่าที่นี่นิยมระบบ partnership มาก ซึ่งบางส่วนก็เกิดจากคนรุ่นใหม่ที่ออกจากบริษัทออกแบบขนาดใหญ่มาตั้งบริษัทใหม่ด้วยกัน สถาปนิกไทยแตกต่างจากมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่ส่วนใหญ่จบการศึกษาจากต่างประเทศ แต่สถาปนิกไทยส่วนใหญ่ก็ยังได้รับการศึกษาทางสถาปัตยกรรมในประเทศ ซึ่งน่าจะส่งผลให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์สังคม สืบสานวัฒนธรรมได้ดี
อีกเรื่องหนึ่งนอกเหนือจากวัดวาอารามหรือบ้านแบบที่อยู่ในหนังสือ Thai style แล้ว เราก็อยากจะเน้นความเป็นไทยในปัจจุบัน เช่น การใช้ space การเปิดช่องเปิด หรือความสัมพันธ์อาคารกับพื้นที่รอบๆ เช่น บ้านของคุณวิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ที่แม้จะถูกก่อสร้างอย่างง่ายๆ แต่การใช้สี การเปิดรับแสงสว่าง และความสัมพันธ์ของบ้านและทุ่งหญ้าหนองน้ำข้างบ้าน ดูจะเหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและอากาศของกรุงเทพฯ ดีทีเดียว นอกจากนี้ จากการพูดคุยกับนักออกแบบ คุณเอกรัตน์ วงษ์จริต ที่ว่าเขาพยายามจะนำเอาปรัชญา ความคิดแบบไทยๆ มาสอดใส่ไว้ในงานออกแบบ ก็ทำให้เรารู้สึกว่าต่อไปคงจะต้องจับตามองสถาปนิก นักออกแบบรุ่นใหม่ของไทย และเอาใจช่วยให้ค้นพบตัวเอง และความเป็นไทยร่วมสมัยขึ้นมาให้ได้ในอนาคต
Originally published in art4d #9 (November 1995)