INSPIRED BY THE MEMPHIS GROUP, PIG DESIGN CREATED UNORTHODOX ARCHITECTURE FULL OF STRIKING AND BEWILDERING VISUAL ELEMENTS
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: FENG SHAO
(For English, press here)
ถึงกับต้องร้อง อั้ยหยา! กันเลยทีเดียว กับ Ya Space! อาคารในเมืองหางโจว ประเทศจีน ออกแบบโดย PIG DESIGN ซึ่งประกอบด้วยคาเฟ่และโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ของกลุ่ม Memphis กลุ่มดีไซเนอร์อิตาลีอันโด่งดังในยุค 80s ที่ต้องร้องอั้ยหยา! ก็เพราะตื่นตะลึงและตกใจไปกับงานออกแบบที่อึกทึกคึกโครมด้วยรูปทรงเรขาคณิตแปลกตา ราวกับว่าเป็นโอกาสที่ดีไซน์เนอร์จะได้ปล่อยของแบบไม่ยั้งมือ ถึงงานจะดูบ้าบิ่น แต่ผู้ออกแบบก็ให้เหตุผลเบื้องหลังความระห่ำนี้ว่า เป็นการต่อยอดจากงานออกแบบสไตล์ Memphis ที่โด่งดังจากการฉีกขนบดีไซน์แบบเดิมๆ ที่เน้นความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา เปลี่ยนเป็นดีไซน์ที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตประหลาดตา พร้อมจัดเต็มด้วยสีสันและพื้นผิวหลากหลาย
แรงบันดาลใจที่ได้จากกลุ่ม Memphis ปรากฎให้เห็นตั้งแต่ชื่อของโปรเจ็คต์ เพราะคำว่า Ya (崖) เป็นคำภาษาจีนที่แปลว่า หน้าผา (Cliff) ซึ่งมีที่มาจากชื่อเล่นของเมือง Memphis ที่คนจีนเรียกว่า เมืองแห่งหน้าผา (Cliff City) และนี่จึงเป็นต้นเหตุให้สถาปนิกออกแบบ façade ด้านนอกเป็นรอยหยักหนามแหลมจากแผ่นสังกะสีเหล็ก เพื่อสะท้อนถึงคำว่า ‘หน้าผา’ ออกมา ในขณะเดียวกันตัวอัศเจรีย์ (!) ในส่วนท้ายชื่อโปรเจ็คต์ก็ยังไปโผล่อยู่ที่ประตูทางเข้าที่ดีไซน์เป็นรูปวงกลมเพื่อเรียกแขก ถือว่าเก็บรายละเอียดจากชื่อโครงการมาได้ครบกันเลยทีเดียว
พอเข้าไปด้านใน เราก็จะพบกับอีกภาษาดีไซน์ที่แตกต่างกับด้านนอกอย่างกับมาจากคนละโลก ภายใต้พื้นที่ทั้งสองชั้นที่ถูกจัดวางให้เป็นพื้นที่คาเฟ่เล็กๆ ในชั้น 1 และพื้นที่แสดงเฟอร์นิเจอร์ Memphis ในชั้น 1 และ 2 ดีไซเนอร์นำรูปทรงประหลาดตาหลากหลายมาจัดวางในทุกระนาบ ไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนัง หรือเพดาน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างในแต่ละมุม
ในขณะเดียวกันก็คุมโทนสีไว้เป็นเพียงสีเทาและเหลือง ซึ่งก็พอเข้าใจได้ เพราะถ้านำเฟอร์นิเจอร์ Memphis มาจัดแสดงในสเปซที่มีหลายสีสันกว่านี้ คนก็คงยิ่งตาลายไปกันใหญ่
จริงอยู่ที่ Ya Space! อาจจะส่งต่อความซาบซ่าของกลุ่ม Memphis ออกมาผ่านรูปทรงและการดีไซน์ที่ฉีกไปจากกรอบเดิมๆ แต่มันก็ชวนให้ตั้งคำถามเหมือนกันว่า ความซาบซ่านี้จะหลงเหลือในกาลเวลานานแค่ไหน ถึงกลุ่ม Memphis จะดังเปรี้ยงปร้างเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในยุค 80s แต่พอเวลาผ่านไป พวกเขาก็ได้พิสูจน์ว่าอิทธิพลการดีไซน์และปรัชญาเบื้องหลังของกลุ่มที่ตั้งคำถามว่า “อะไรคือดีไซน์ที่ดีกันแน่” ก็ยังคงครุกรุ่นมาถึงปัจจุบัน ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าโปรเจ็คต์ที่ต่อยอดจากอิทธิพลของพวกเขาแห่งนี้จะคงอยู่ยาวนาน หรือเพียงมาสร้างความกระชุ่มกระชวยให้เราได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวแล้วจากไปเท่านั้น แต่สำหรับตอนนี้ ขอร้องอั้ยหยา! ดังๆ อีกที