POETRY OF THE GREEN

THE WORKS OF YOUNG FRENCH ARCHITECTS, ANNE LACATON AND JEAN-PHILIPPE VASSAL , HAS BEEN CHARACTERIZED BY A DESIRE TO RETURN TO THE BASICS

TEXT: MONGKON PONGANUTREE

(For English, press here)

รู้สึกดีเหมือนกันที่ได้เขียนบทความลง art4d อีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นข่าวสั้นๆ เรื่องรางวัลพริตซเกอร์ จริงๆ แล้วใครจะได้รางวัลนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่สลักสำคัญกับชีวิตของพวกเราเท่าไหร่เลย แต่มันก็เป็นเรื่องที่พอสร้างสีสันได้อยู่ ในช่วงเวลาที่กิจกรรมใหญ่น้อยทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบโดนหางเลขจากโควิด-19 จนต้องเลื่อนหรือเลิกกันไปเกือบหมด

Anne Lacaton and Jean-Philippe Vassal, photo: Laurent Chalet

มีเกร็ดที่เปรียบเหมือนเป็นอาฟเตอร์ช็อคเล็กๆ เกี่ยวกับ Lacaton & Vassal ว่า art4d ลงงานของ Lacaton & Vassal ไว้ครั้งแรกเป็นบทความสั้นๆ ในเล่ม 61 เดือนมิถุนายน 2000 เพื่อแนะนำงานของพวกเขา ตอนที่ Anne Lacaton ได้รับเชิญจากหลักสูตรปริญญาโทของมหาวิทยาลัยรังสิต โดย ผศ.เอกรัตน์ วงษ์จริต และอจ.ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์ ให้มาบรรยาย แล้วเราก็ขึ้นไปทำเวิร์กช็อปต่อกันที่เชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีรีวิวสั้นๆ ใน art4d เดือนสิงหาคมปีเดียวกันเกี่ยวกับการบรรยายของ Anne ในครั้งนั้น เราเลยขอถือโอกาสนี้เอามาโพสต์ให้อ่านกันอีกที จำได้ว่าเล็คเชอร์ของ Anne ในเดือนกรกฎาคม ปี 2000 นั้น คนไม่ได้มากมายเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะประชาสัมพันธ์ช้าไปนิดและในตอนนั้นคนรู้จักงานของ Lacaton & Vassal  น้อยไปหน่อย ถ้าวันนั้นโปรยหัวไว้ว่าขอเชิญฟังการบรรยายของ Anne Lacaton สถาปนิกที่จะได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์ในปี 2021! คนคงมาฟังกันเต็มห้องทีเดียว

เราจะนิยามงานของ  Lacaton & Vassal  ว่าเป็นแนวคิดแบบเสรีนิยม สังคมนิยม หรือประชาธิปไตย ยังไงก็แล้วแต่ พอย้อนกลับไปดูงานของ Lacaton & Vassal ในยุคแรกๆ ตั้งแต่ Latapie House อาคารเรียนที่ Grenoble แล้วมาดูงานของพวกเขาหลังปี 2000 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็น Palais de Tokyo, FRAC หรือแฟลตการเคหะในบอร์โดซ์ เราจะเห็นว่าปรัชญาในการออกแบบและแนวคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของพวกเขาแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย 

ขอแสดงความยินดีกับ Anne ที่ได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่นี้ เธอเป็นคนไนซ์ เรียบง่าย ไม่โอ้อวดหรือชอบแสดงภูมิ แต่มีความมุ่งมั่นและความคิดในการทำงานสถาปัตยกรรมที่มั่นคงมาก ตอนที่เราเจอ Anne เมื่อปี 2000 เธอแนะนำงานของสตูดิโอด้วยหนังสือเล่มเล็กๆ ที่พิมพ์ขึ้นสำหรับนิทรรศการ ชื่อว่า It’ll be nice tomorrow’ มันคือคำประกาศความคิดของ Lacaton & Vassal ที่ยังทรงพลังและใช้อ้างอิงได้จนถึงทุกวันนี้ บทสรุปในตอนท้ายนั้นเขียนว่า “สถาปัตยกรรมควรจะตรงไปตรงมา ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ถูกต้อง ราคาไม่แพง มีอิสระ เบิกบาน มีความสุนทรีย์ และเป็นสากล พรุ่งนี้มันจะต้องดีขึ้น…”

Latapie House, photo: Philippe Ruault

“งานวิศวกรรมโครงสร้างก่อนจะถึงขั้นตอนทางเทคนิคพิเศษนั้น ล้วนเป็นเรื่องของเครื่องจักรและวิธีใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ทางเลือกในการแก้ปัญหาไม่ได้มีมากมายอะไรนัก อย่างมากก็มีคำตอบอยู่หนึ่งหรือสองทางเลือกเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมแต่อย่างใด บางคนเลือกแก้ปัญหาการติดตั้ง การประสานงาน และวางแผนงาน โดยใช้การคำนวณ ในขณะที่บางคนเลือกใช้หลักสังคมวิทยาหรือเศรษฐศาสตร์แทน แต่นั่นก็เพียงพอแล้ว เพราะมีตัวแปรมากเหลือเกิน สิ่งก่อสร้างอย่าง เพิง กระท่อม ศูนย์การค้าชานเมือง ไม่ว่าจะเป็น กล่อง ป้าย หรืออะไรก็ตาม ต้องระบุให้ชัดเจนก่อนจะเริ่มลงมือสร้าง เหมือนกับที่นักบินจะต้องรู้จุดหมายปลายทางก่อนจะออกเดินทาง อาจจะเป็นชายหาดและต้นมะพร้าวเรียงเป็นแถว… ต้องให้มันชัดว่าจะเป็นอะไรแน่”

ที่พักอาศัย

สะดวกสบายมากเกินไป เราไม่มีสถาปัตยกรรมพิเศษเลย เพราะว่าเราคิดถึงความสะดวกสบายกันมากเกินไป

วิธีใหม่ๆ ในการอาศัยภายในและภายนอกบ้าน: การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา, การกำจัดฐานราก, การเคลื่อนที่, การย้ายถิ่นฐาน เป็นกล่อง เป็นท่อขนาน แล้วมีอะไรอีกล่ะ ? Farnworth House แล้วต่อไป? เราไปสนใจเรื่องความโปร่งใส, ฟิล์มกรองแสง, อาคารแบบเปิดเพื่อให้อากาศไหลเวียน คิดค้นโรงงานสำหรับเครื่องจักร เรือนเพาะดอกไม้

โครงการ: ไม่มีความชัดเจนใดๆ ทั้งสิ้น ทุกๆครั้ง ที่มีโครงการใหม่ขึ้น กฎระเบียบต่างๆ จะตามมาพร้อมกับข้อบังคับ และความคาดหวังคำถามดีๆ ขึ้นมา และหาคำตอบที่ถูกต้องให้ได้ วนไปวนมาอยู่อย่างนี้ พยายามเลือกแต่ประเด็นสำคัญเท่านั้นพอ แยกแยะว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ หลีกเลี่ยงความยุ่งยากซับซ้อน พยายามทำให้ทุกอย่างเรียบง่ายและเข้าใจง่าย

เก็บรายละเอียดตามลำดับ: ข้อผิดพลาดที่ปรากฏให้เห็นปะติดปะต่อรูปทรงขึ้นมาโดยไม่เกี่ยวข้องกับเทคนิคทางสถาปัตยกรรม หรือกิ่งก้านสาขาของบริษัทก่อสร้างจากภายในขึ้นมาก่อน คำนวณก่อนติดตั้งอย่างแม่นยำ ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยได้ตรงตามความตั้งใจ

ใช้: การเคลื่อนประสาทสัมผัส การรับรู้ภายในความเหมาะสม

ประมาณ: ความน่าสนใจของอาคาร เนื้อหา อายุการใช้งาน ความคงทน

ราคา : การตัดราคา วิธีที่ถูกต้องและประหยัดงบประมาณมากที่สุด

ความแม่นยำของแบบ: พลังในการบริหารจัดการ คำนวณทุกๆ อย่างอีกครั้ง ศึกษาโปรแกรมครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้ประหยัดที่สุด ง่ายที่สุด

จากนั้นช่วงเวลาอัศจรรย์ก็มาถึง เมื่อภาพทั้งหมดกลับคืนมาอีกครั้ง เมื่อความคิดอ่าน 2 ทิศทางแนบสนิทเข้าหากัน ราวกับมีเวทมนต์ ช่วงเวลาแห่งความสุขที่ได้เห็นอาคารเกิดขึ้นมาจริงๆ ซึ่งเป็นผลจากกลุ่มคนที่ร่วมกันสร้างความหมาย และทุ่มเทก่าลังกายกำลังใจสร้างมันขึ้นมาไม่ว่ามัน จะอยู่ที่ไหน ใกล้ไกลเพียงใด อาจจะเป็นอาฟริกา อาจจะอยู่ในหนังสือหรือภาพยนตร์ ในบาร์ ในรถไฟ ในสนามบิน ภาพความคิดที่มีคนรอดู ภาพที่มีคนรวบรวมองค์ประกอบต่างๆ ภาพที่ผ่านการถกเถียง ปกป้อง ลืมเลือนไป และถูกค้นพบใหม่อีกครั้ง มันคงอยู่ไปตลอดโครงการและสิ้นสุดลงด้วยการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สถาปัตยกรรมจะเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา มีประโยชน์ ถูกต้องแม่นยำ ถูกเป็นอิสระ ร่าเริง งดงามและ เป็นสากล วันพรุ่งนี้จะต้องดีกว่า”

บางส่วนของ “Il feta beau demain” หรือ “It’Il be nice tomorrow” ถ้อยแถลงของ Anne Lacaton กับ Jean-Philippe Vassal ในปี 1995 ใน โอกาสที่ผลงานของ Lacaton & Vassal ได้รับการจัดแสดงที่ Institute of French Architecture ที่ปารีส เป็นบทนำที่ดีที่สุด ในการทำความรู้จัก และเข้าใจงานของ Anne Lacaton สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ซึ่งจะเดินทางมาบรรยายที่กรุงเทพฯ ในวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคมนี้ (2000)

Latapie House, photo: Philippe Ruault

หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนสถาปัตยกรรมแห่ง Bordeaux ในปี 1980 Anne Lacaton พร้อมกับ Jean-Philippe Vassal เข้าทำงานในสำนักงานสถาปนิกของ Jacques Hondelatte อยู่ 3 ปี แล้วทั้งคู่จึงเปิดสำนักงานของตัวเองในปี 1987

ตั้งแต่ปี 1987 Anne ทำงานออกแบบร่วมกับ Jean-Philippe Vassal ในการประกวดแบบสถาปัตยกรรมหลายชิ้น เช่น Japan Cultural Center ปารีส ซึ่งได้รับรางวัล Honourable Mention นอกจากนี้ยังเข้ารอบสุดท้ายในอีกหลายโครงการประกวด เช่น Cultural Exchange Center for Twinned Ports ที่โอซาก้า Youth Hostel ที่เมืองเบียร์ริตซ์ (Biarritz) ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น ซึ่งงานเหล่านี้นอกจากลักษณะเด่นเฉพาะตัวแล้ว ยังมีลักษณะประการที่แสดงให้เห็นว่า อานน์ เป็นหนึ่งในสถาปนิกฝรั่งเศส ในช่วงต่อของการเปลี่ยนศตวรรษที่กำลังนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจต่อวงการโดยส่วนรวม

Latapie House, photo: Philippe Ruault

นอกเหนือจากโครงการที่ไม่ได้รับการก่อสร้าง งานที่สำเร็จเรียบร้อยของอานน์ชี้ให้เห็นขีดความสามารถทั้งการคิดในลักษณะค้นหาพยายามนำ สถาปัตยกรรมเข้าสู่มิติใหม่ๆ และการคิดในแบบที่ทำให้งานตอบสนองการก่อสร้างและใช้งานจริง งานบ้านลาตาปี (Maison Latapie) ที่สำเร็จ เมื่อ ค.ศ. 1993 เป็นตัวอย่างงานบ้านขนาดเล็กที่เป็นตัวแทนความคิดดังกล่าวได้ดี ที่ตั้งอาคารวางตัวติดกับถนนในเขตชานเมืองชั้นในของบอร์ โดซ์ อานน์จัดการวางให้ผังของบ้านขนานไปกับแนวถนน โดยพื้นที่ภายในจะสะท้อนลักษณะดังกล่าวออกมาด้วยการทำให้เกิดปริมาตรของที่ว่างที่อยู่บนฐานของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อเนื่องกัน ทั้งรูปหน้าบ้านที่หันหาถนนจะเป็นด้านทึบที่จะเปิดช่องประตูเมื่อจำเป็น โดยกรุผิวผนังด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ ส่วนด้านที่หันหาสวนหลังบ้านจะเปิดสว่างรับแสง จึงกรุด้วยแผ่นพีวีซีโปร่งที่วิ่งอยู่กับโครงสร้างสีขาว

ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับปริมาตรของบ้าน ซึ่งด้านที่หันหาสวนจะเป็นที่ว่างต่อเนื่องสำหรับใช้นั่งเล่นพักผ่อนในยามอากาศดี พื้นที่ใช้สอย ภายใน แบ่งออกเป็นสองชั้น ตอบรับกับครอบครัวพ่อแม่และลูกหนึ่งคน บริเวณทั้งหมดคือ 92 ตารางเมตรเท่านั้น ส่วนที่ปิดทึบคือรูปด้านที่เผชิญหน้า กับถนนก็จะสามารถเปิดปิดในขนาดต่างๆ ได้ตามแต่ความต้องการในเรื่องความเป็นส่วนตัว ความต้องการแสง ลม และการปกป้องคนในบ้าน นอกจากนี้การเลือกใช้วัสดุก็ตอบสนองต่อการก่อสร้างบ้านที่มีงบประมาณจำกัดเขี่ยเช่นนี้ได้อย่างสำเร็จ

จุดเด่นของบ้านนี้คือการแบ่งพื้นที่เป็นสองบริเวณชัดเจน ในทางหนึ่งก็คือการเปิดทางเลือกแก่ชีวิตในเมือง ซึ่งต้องการความเป็นส่วนตัวในบางเวลา แต่บางครั้งก็ต้องการเปิดสู่ภายนอกในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชน

Cap Ferret House, photo courtesy of Lacaton & Vassal

ด้วยลักษณะของปรัชญาออกแบบที่ค่อนข้างเปิดกว้างและมีลักษณะที่จะปรับตัวไปตามสภาพการณ์มากกว่าที่จะตึงตัวไม่ยืดหยุ่น งานบ้าน Cap Forret ที่สร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1998 จึงเป็นอาคารสองชั้นยกพื้นสูงตอบสนองต่อโจทย์ที่เป็นสภาพชายป่า ตัวบ้านปล่อยให้ต้นสนทะลุพื้นที่ทั้งหมดเติบโตไปอย่างที่เคยเป็นมาก่อนการก่อสร้าง ซึ่งทำให้เราเห็นความคิดที่ว่าพยายามจะก่อกวนสภาพพื้นที่ดั้งเดิมให้น้อยที่สุด ต้นสนเหล่านี้สัมพันธ์กับตัวบ้านด้วยตัวต่อยึดหยุ่น ทำให้มันเติบโตขยายตัวต่อไปได้ตามธรรมชาติ ส่วนปริมาตรของอาคารทั้งหลังถูกแรงดึงของพื้นที่ให้มีลักษณะโปร่งเบาสัมพันธ์กับที่ว่างภายในที่โปร่งโล่ง

Cap Ferret House, photo courtesy of Lacaton & Vassal

งานขนาดใหญ่ของอานน์ที่ก่อสร้างเรียบร้อย คืออาคารคณะศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยปิแอร์แม็งแดส-ฟร็องซ์ แห่งเมืองเกรอนอบล์ ในฝรั่งเศส (Universite Pierre Mendes-France, Grenoble) ซึ่งเป็นหนึ่งในงานจำนวน 35 โครงการที่ได้เข้ารอบสุดท้ายในการคัดเลือกสถาปัตยกรรมดีเด่นของยุโรปรางวัล Mies van der Rohe ในปี 1998 (ปีที่หอสมุดแห่งชาติในปารีส โดย Dominique Perrault ได้รางวัลชนะเลิศ)

Université Pierre Mendès France, Grenoble, photo: Philippe Ruault

อาคารตั้งอยู่ในหุบเขาแบ่งการก่อสร้างออกเป็นสองหลัง คั่นระหว่างกลางด้วยพื้นที่กรีนเฮ้าส์หน้าแคบซึ่งทอดตัวยาวตลอดรูปด้านหน้าของอาคารทั้งสอง ภายในกรีนเฮ้าส์ด้านใต้ปลูกไม้บางชนิดซึ่งผลิใบตลอดทั้งปี ส่วนด้านเหนือปลูกไผ่หลากชนิด ตอบรับกับกรีนเฮ้าส์คือตัวอาคารที่ให้คุณลักษณะของภาพ (image) ที่โดดเด่น สัมผัสที่เกิดขึ้นจากภาพเหล่านั้น (การสะท้อนตอบโต้ของต้นไม้กับผนังอาคาร) เปรียบเทียบได้กับบทกวีที่ให้ความเปลี่ยนแปลงแก่ความรู้สึก ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้วัสดุโปร่งแสงที่รูปด้านหน้าอาคาร สะท้อนปรัชญาและลักษณะการเรียนการสอน ของคณะที่เน้นในเรื่องมนุษย์และความสามารถในการสร้างสรรค์ทางศิลปะ

Université Pierre Mendès France, Grenoble, photo: Philippe Ruault

ความสามารถของอานน์ ลากาต็อง ที่เด่นชัดจากโครงการทั้งสามช่วยชี้ให้เห็นว่าแนวทางสถาปัตยกรรมในขณะนี้ ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือความสามารถในการปรับทัศนคติต่อโลกแวดล้อมของแต่ละอาคาร ทั้งในแง่สัมพันธ์กับความสามารถทางเทคโนโลยีและวัสดุที่หามาได้ ขนาดเศรษฐกิจและระบบการเมืองของประเทศ ระบบวัฒนธรรมโดยรวมซึ่งเป็นเสมือนภาพรวมหรือข้างหลังภาพของสถาปัตยกรรม ในขณะเดียวกันก็ ให้ความใส่ใจกับโปรแกรมที่จะตอบสนองความต้องการของแต่ละอาคาร ผู้ใช้อาคารแต่ละแห่ง และทัศนคติของเขาเหล่านั้นต่ออาคารหนึ่งๆ ความเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตของความคิดของผู้ ใช้เหล่านั้น ไปจนการตอบสนองของอาคารที่จะมีต่อที่ตั้งและสภาพแวดล้อมทั้งในทางกายภาพและวัฒนธรรม

Université Pierre Mendès France, Grenoble, photo: Philippe Ruault

 

งานของ Anne Lacaton มีลักษณะร่วมกับสถาปนิกร่วมชาติอย่าง Dominique Perrault หรือสถาปนิกที่เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาอย่าง François Roche หรือ Edouard François & Duncan Lewis เป็นงานในทิศทางที่อาจกล่าวได้ว่าได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางโดยสถาปนิกฝรั่งเศสมากกว่าสถาปนิกประเทศอื่นๆ สถาปัตยกรรมเกิดการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมในลักษณะที่เป็นทั้งการโต้ตอบและการทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน ในขณะเดียวกันอาจเรียกได้ว่าเป็นจิตวิญญาณใหม่ของสถาปัตยกรรมแบบ organic ผสมผสานเข้ากับแนวคิดของสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน ทำให้องค์ประกอบตั้งแต่ลักษณะของพื้นที่ ภูมิทัศน์ หรือกระทั่งต้นไม้ เป็นพื้นฐานในการกำหนดทิศทางร่วมกับกระบวนการทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้างในการก่อรูปสถาปัตยกรรม

Université Pierre Mendès France, Grenoble, photo: Philippe Ruault

หากเมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดของสถาปัตยกรรม จะพบว่างานของ Anne Lacaton นั้นมักมีรูปแบบที่แสดงออกถึงสถาปัตยกรรมพื้นฐาน เช่น โรงนา เพิง หรือ pavilion ใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบที่ใช้กับโรงงานโดยใช้วัสดุพื้นๆ ด้วยความตั้งใจ ธรรมชาติแวดล้อมหรือต้นไม้จะถูกดึงเข้ามาให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมอย่างมีชั้นเชิงอยู่เสมอ Lacaton & Vassal จึงเป็นงานที่มีแนวคิดที่น่าศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถาปนิกในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากความคิดไม่ได้จบลงเพียงแค่การสร้างอาคารอะไรก็ได้ที่ไม่ได้ทำลายสภาพแวดล้อมข้างเคียง แต่ในความคิดนั้นยังมีคุณค่าทางศิลปะที่ยังสามารถแสดงออกผ่านสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้อาคารที่สร้างขึ้นไม่เพียงแต่จะตอบสนองต่อการใช้สอยและการสื่อสารในฐานะอาคารของผู้ใช้ แต่ยังเป็นกระบวนการก่อสร้างอาคารที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมแห่งโลกแวดล้อมซึ่งต้องพร้อมจะปรับตัว เปลี่ยนแปลง โดยที่ไม่ส่งผลกระทบในด้านร้ายต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น ซึ่งก็คือความหมายของความยั่งยืนที่กว้างที่สุด

Originally published in art4d No.61, June 2000

Lecture “Design & Architecture for Sustainability”
Lecture by Anne Lacaton Organised by M. FA Design Program, Rangsit University
Date: 15 July 2000 Venue: DEP Auditorium, Bangkok

Anne Lacaton เป็นสถาปนิกรุ่นใหม่ของฝรั่งเศส เธอร่วมงานกับ Jean-Philippe Vassal มีสำนักงานเล็กๆ ในบอร์โดซ์กับปารีส ล่าสุดงานของ Lacaton + Vassal ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในร้อยสถาปนิกรุ่นใหม่ทั่วโลก ในหนังสือ 10×10 (10 critics 100 architects) ของสำนักพิมพ์ Phaidon Anne Lacaton มาบรรยายในโอกาสที่ได้รับเชิญมาทำเวิร์คช็อป ซึ่งจัดโดยหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิตของคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต น่าเสียดายที่หลายคนไม่ทันข่าว เพราะข้อมูลประชาสัมพันธ์มาช้าไปหน่อย

Anne เริ่มการบรรยายด้วยคำประกาศความคิดทางสถาปัตยกรรม ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากข้อเขียนของ Lacaton + Vassal ใน It’II be nice tomorrow ในบทความแนะนำงานของ Anne Lacaton ใน art4d เท่าไหร่นัก บทสรุปของสถาปัตยกรรมในความคิดของ Lacaton + Vassal คือตรงไปตรงมา ตอบประโยชน์ใช้สอย ประหยัด ถูกต้องแม่นยำ เป็นอิสระ รวดเร็ว และเป็นสากล เป็นงานที่น้อยแต่ไม่ใช่น้อยในความหมายที่กลายเป็นสไตล์อย่างที่เราเรียกว่า minimalist มีความเรียบง่าย แต่ไม่ใช่การตีกรอบให้มันอย่างเคร่งครัด ความงามและสุนทรียภาพของสถาปัตย กรรมเป็นไปโดยธรรมชาติ ฟังดูง่ายแต่ทั้งหมดนี้ต้องได้รับการถ่ายทอดเป็นสถาปัตยกรรมด้วยองค์ประกอบและลีลาที่งดงามเหมือนหนึ่งภาษาของบทกวี ทำให้บ่อยครั้งที่ Anne บอกว่างานง่ายๆ ในท้องนาท้องไร่ น่าสนใจกว่างานใหญ่ๆ ที่ซับซ้อนอย่างสนามบินที่ออกแบบโดยสถาปนิกดังๆ ซะอีก

Paillote, Niamey ,photo courtesy of Lacaton & Vassal

มีงานออกแบบทั้งที่สร้างจริงและเป็นโครงการของ Lacaton + Vassal ที่ Anne นำมาประกอบการบรรยายอยู่ไม่มากเท่าไหร่ หลายโครงการเป็น งานที่ลงตีพิมพ์ไปแล้วใน art4d ที่น่าสนใจก็มีบ้านหลังเล็กๆ สร้างบนสันทรายในไนจีเรีย ประกอบด้วยองค์ประกอบง่ายๆ ของฟอร์มปิดกับฟอร์มเปิดรูปวงกลมกับสี่เหลี่ยมผืนผ้า Latapie House บ้านหลังเล็กๆ ในบอร์โดซ์ ซึ่งต้องสร้างด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด Anne เริ่มนำองค์ประกอบของ greenhouse มาใช้และเป็นงานโครงการแรกของ Lacaton + Vassal ในฝรั่งเศส ซึ่ง Anne บอกว่าได้เรียนรู้อะไรมากมาย โดยเฉพาะความคิดในเรื่องความงามของสถาปัตยกรรม Anne เล่าว่าในช่วงแรกๆ เธออยากใช้โครงเหล็กในขนาดของ member ที่เท่ากันหมดแบบงานของ Mies van der Rohe แต่พอตีราคาออกมาปรากฏว่าแพงมาก จนเมื่อคุยกับ engineer แล้วลดขนาด member หลายๆ จุดลงมาตามการรับน้ำหนักของโครงสร้างและการใช้งาน ปรากฏว่าราคาถูกลงไปมาก นั่นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามถึงเรื่องความงามของสถาปัตยกรรม

งานที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งเป็นงานประกวดแบบโรงแรมตากอากาศหรูใน Lugano ซึ่ง Lacaton + Vassal ได้รับเชิญให้เสนอแบบแข่งกับสถาปนิกมีชื่อเสียงหลายคนอย่าง Kazuyo Sejima และ David Chipperfield ในโครงการนี้ Lacaton + Vassal ได้เสนอความคิดทางสถาปัตยกรรมที่ปฏิเสธความหรูหราของวัสดุหรือสไตล์ที่เป็นแบบฉบับของโรงแรมราคาแพงอย่างสิ้นเชิง แต่กลับนำเสนอความหรูหราผ่าน space ไม่ว่าจะเป็นในห้องพักในล็อบบี้หรือส่วนต่างๆ ของโรงแรม โดยปฏิเสธที่จะประนีประนอมด้วยการใช้วัสดุหรูๆ ทั้งหลาย เช่น หิน หรือโลหะ เสียดายที่โครงการนี้ได้หยุดชะงักลงเสียก่อน ไม่อย่างนั้นเราคงจะได้เห็นว่าอุดมการณ์ทางสถาปัตยกรรมอันแน่วแน่ของเธอจะได้ผลตามที่คิดไว้หรือเปล่าเมื่องานได้รับการก่อสร้างจริง

ในช่วงของคำถามท้ายการบรรยายมีคำตอบที่น่าสนใจอยู่หลายตอนทีเดียว เช่น เมื่อถูกถามถึงบ้านที่เธอออกแบบในไนจีเรีย Anne แสดงความคิดเห็นว่าสถาปัตยกรรมต้องการการมีส่วนร่วมของคนที่ใช้อาคาร งานซึ่งสถาปนิกทำหน้าที่สร้างขึ้นมาทำหน้าที่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น การใช้งานของคนที่มาอยู่มาใช้อาคารทำให้งานนั้นๆ มีชีวิตจริงๆ แล้วบ่อยครั้งด้วยซ้ำไปที่งานของเธอเป็นเพียงการสร้าง space ซึ่งเป็นการเสริมความ สำคัญให้กับสภาพแวดล้อมและการใช้งานของผู้ใช้อาคาร Anne บอกว่า “Architecture is like a car” บางทีเวลาที่เราขับรถไปในป่าเขาหรือสถานที่ที่มีทิวทัศน์สวยงามหรือจะเป็นในสภาพแวดล้อมที่น่าตื่นตาตื่นใจ เราแทบจะไม่นึกถึงตัวรถเลย สิ่งที่สำคัญคือตัวเรากับสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ รถเป็นเพียงแค่ตัวกลางเท่านั้น เมื่อโยงไปถึงคำถามที่ถามเธอว่างานส่วนใหญ่ของ Lacaton + Vassal ที่เราเห็นมักเป็นงานที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติท้องนาหรือป่าเขาเป็นส่วน ใหญ่ เวลาที่เธอต้องทำงานในบริบทของเมืองสถาปัตยกรรมของเธอจะเป็นอย่างไร Anne ตอบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อต้องสร้างสถาปัตยกรรมในเมือง คือบรรยากาศของสภาพแวดล้อมรวมๆ ของเมือง (ambience) ไม่ใช่สถาปัตยกรรมหรือรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม นั่นหมายความว่าเมื่อเราไปถึงที่ๆ หนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบขึ้นมาเป็นชุมชนเป็นเมืองนั้นๆ ทำงานร่วมกันเราจะไม่รู้สึกว่าเราสัมผัสได้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สถาปนิกจะต้องตระหนักคือต้องไม่สร้างสิ่งที่แย่กว่าเก่า

ใน “Poetry of the green” บทความแนะนำงานของ Lacaton + Vassal ใน art4d 2 ฉบับก่อน ความหมายของคำว่า “Green” ไม่ได้หมายถึงสีเขียวของธรรมชาติเท่านั้น แต่ “Green” ในงานของ Lacaton + Vassal หมายถึงความคิดทางสถาปัตยกรรมที่กว้างไกลออกไปกว่านั้น มันเป็นทัศนคติและอุดมการณ์ทางสถาปัตยกรรมที่เหมาะกับประเทศอย่างเราๆ ที่สถาปนิกไทยน่าจะได้ศึกษาหลายๆ ตัวอย่างจากการบรรยายของ Anne เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่าในบทบาทของสถาปนิกเราจะสามารถสร้างสถาปัตยกรรมที่คิดถึงผู้ใช้อาคาร สภาพแวดล้อม ด้วยสถาปัตยกรรมที่ไม่ฟุ่มเฟือยโดยรักษาสมดุลกับความคิดในเชิงสุนทรียภาพของสถาปัตยกรรมได้อย่างไร สำหรับสถาปนิกบางคนเหตุการณ์และผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตในช่วงเวลาหนึ่งอาจเปลี่ยนความคิดทางสถาปัตยกรรมได้อย่างถอนรากถอนโคน มันอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า สถาปัตยกรรมคืออะไร สำหรับ Anne Lacaton 5 ปี ในไนจีเรียเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนแปลงของความคิดทางสถาปัตยกรรมของเธออย่างไม่ต้องสงสัย

ภาษาของสถาปัตยกรรมอาจจะแตกต่างในประเทศที่ยากจน อย่างไนจีเรียอาจจะไม่มีอะไรเทียบได้เลยกับฝรั่งเศส แต่ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไหนๆ ในโลก ในฝรั่งเศส ไนจีเรีย หรือประเทศไทย ก็มีสิทธิในการได้รับคุณค่าของชีวิต คุณค่าของสถาปัตยกรรม หรือชื่นชมลีลาและบทกวีของสถาปัตยกรรมได้เท่าๆ กัน

Originally published in art4d No.63, August 2000

lacatonvassal.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *