INTRODUCING FIVE AWARD-WINNING INTERIOR DESIGN OF DEMARK AWARD 2021 THAT CREATE INTERESTING DESIGNS ON THE SCALE OF HOTELS, UPSCALE RESTAURANTS, AND HOSTELS IN THE OLD SHOPHOUSE
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF DEMARK AWARD 2021
(For English, press here)
รางวัล DEmark ประจำปี 2021 สาขาออกแบบตกแต่งภายในที่เกี่ยวข้องกับ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า Co-Working Space และอาคารพักอาศัยรวม ได้ประกาศผลออกมาแล้วพร้อมกับรางวัลสาขาอื่นๆ เฉพาะสาขาออกแบบภายในนี้มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 5 ผลงาน อันประกอบไปด้วย
ผลงานชนะเลิศ Sala Bang Pa-In โรงแรมในเครือศาลา ผลงานออกแบบของ Department of ARCHITECTURE Co. ผู้ชนะรางวัลเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้วนั่นเอง โรงแรมศาลาแห่งใหม่นี้ผู้ออกแบบนำเอาบริบทบ้านเรือนริมน้ำโดยรอบที่ตั้งมาตีความเป็นงานออกแบบร่วมสมัย พื้นที่โรงแรมแบ่งเป็นสองฝั่งแม่น้ำโดยให้ส่วน arrival terrace และสะพานข้ามแม่น้ำเป็นสีแดง เพื่อให้เข้ากับบริบทของชุมชนโดยรอบ พอข้ามฝั่งมาเป็นส่วนห้องพักสีขาวอมครีม ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย รูปแบบภายใน ภายนอก และการเลือกวัสดุ เฟอร์นิเจอร์ เน้นความเรียบง่าย ซ่อนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตามมุมต่างๆ เอาไว้ ภาพรวมจะให้ความรู้สึกถึงวิถีชนบทไทย สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับโปรเจ็คต์นี้ ติดตามบทความเกี่ยวกับโปรเจ็คต์นี้จากทางเราได้ต่อไป
นอกจากนี้ยังมีอีก 4 งานที่ได้รางวัลปีนี้ด้วยเช่นกัน เริ่มจากโปรเจ็คต์รีโนเวทอาคารอาคารพาณิชย์ ย่านแพร่งสรรพศาสตร์ใกล้ๆ กับเสาชิงช้าให้กลายเป็นโฮสเทลสีดำในชื่อ “ป้าแพร่ง” โดย IDIN Architects เป็นงานที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาด้วย ความโดดเด่นของโปรเจ็คต์นี้อยู่ที่ความใจถึงที่เจ้าของโครงการและสถาปนิกที่ตัดสินใจทุบผนังและพื้นออกไปถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความทึบอึดอัดเป็นการระบายอากาศ และความโล่งโปร่งสบายขึ้นกว่าเดิมมาก เสน่ห์ของป้าแพร่ง อยู่ที่การเล่นกับความเก่าและความใหม่ จีรเวช หงสกุล แห่ง IDIN Architects ยังคงรักษาจิตวิญญาณของ modernism ในบริบทของเมืองเก่าได้อย่างคมคาย
ต่อมาคืองานออกแบบเรือ “สิริมหรรณพ” ผลงานของ PIA Interior ที่ปั้นห้องอาหารและบาร์บนเรือใบสามเสาที่ใหญ่ที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา จอดเทียบท่าอยู่ที่เอเชียทีค PIA Interior นำมาด้วยงานรีเสิร์ชแบบอัดแน่นแน่นภายใต้แนวคิดพิพิธภัณฑ์ล่องสู่อดีต โดยการนำเอาศิลปะที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรม และพรรณนาถึงยุคทองแห่งการค้าขายในยุคสมัยเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนของอาณาจักรสยาม มาประยุกต์ใช้ในงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ต่อด้วยงาน SHABU LAB โดย IF (Integrated Field) นำแนวคิดของพื้นที่ใช้สอยในห้องทดลองวิทยาศาสตร์มาปรับใช้กับวัฒนธรรมการกิน “ชาบู” ที่มีอุปกรณ์ ถาดเนื้อ ถาดผัก ถ้วย จาน น้ำจิ้มวางกันเต็มโต๊ะอย่างต่อเนื่องจนเก็บไม่ทันโดยเฉพาะเวลาร้านกำลังยุ่ง บางครั้งดูทุลักทุเลไม่ค่อยจะรื่นรมย์นัก IF เพิ่มพื้นที่วางของทั้งที่เป็นชั้นโล่งและชั้นวาง ช่วยทำให้โต๊ะโล่งพอที่จะดำเนินกิจกรรมชาบูได้โดยไม่สะดุด ภาพรวมของร้านให้ความรู้สึก สะอาด ดูมีสุขอนามัย ซึ่งเหมาะกับธุรกิจร้านอาหาร การใช้กราฟิกแบบตารางธาตุมาเล่นกับกระจกด้านหน้าร้าน ช่วยสร้างอัตลักษณ์ให้กับร้าน เข้ากับพื้นที่แถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้บริโภคที่เป็นนักศึกษา ผลที่ได้คือ ดูสนุก มีสไตล์ แถมฉลาดอีกต่างหาก
งานสุดท้ายในสาขานี้เป็นของ Reno Hotel ผลงานของ PHTAA living design ที่นี่เคยเป็นโรงแรมสร้างมาตั้งแต่ปี 1962 สถาปนิกสร้างผิว façade เป็นแผงบล็อกช่องลมรูปทรงเรขาคณิตยุค 60s เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับโรงแรม พื้นที่ล็อบบี้มีการปรับปรุงให้เป็นแกลเลอรี่ขนาดเล็ก ในส่วนห้องพักมีการเปิดเพดานให้สูงขึ้นและเสริมพื้นที่จากระเบียงริมสระเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้องพัก ดึงความเป็น outdoor เข้ามาใน indoor โดยรวมเป็นการออกแบบที่แก้ปัญหาความทึบ ความแคบ และลักษณะปกปิดของโรงแรมม่านรูดเดิมให้เป็น ความเท่ มีเอกลักษณ์ และมีรสนิยมขึ้นมาได้เป็นอย่างดี
ผลงานทั้ง 5 ชิ้นจะเป็นตัวแทนสาขาออกแบบภายในของประเทศไทยไปชิงรางวัล G mark ต่อ กลุ่มนี้มีทั้งสเกลโรงแรม ร้านอาหารหรู และงานระดับย่อมๆ ลงมา ทุกผลงานมีลุ้นชิงรางวัลกลับไทยมาได้ทั้งนั้น ผู้ออกแบบก็มีทั้งสตูดิโอใหญ่มีผลงานยาวนานต่อเนื่อง และสตูดิโอดาวรุ่งที่กำลังมีงานดีๆ ทยอยออกมาสู่สังคม โดยเฉพาะงานรีโนเวทอาคารเก่าที่กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนยุคใหม่ โปรดติดตาม