DEPARTMENT OF ARCHITECTURE CO. REINTERPRETS THE SPIRIT OF THE WATERFRONT VERNACULAR ARCHITECTURE INTO A ‘CONTEMPORARY VERNACULAR’ DESIGN WHICH SEAMLESSLY HARMONIZES THE DESIGN ELEMENTS WITH THE SURROUNDING CONTEXT
TEXT: POOKAN RUENGWES
PHOTO: W WORKSPACE
(For English, press here)
“ครั้งแรกที่เห็นไซต์ รู้สึกว่าเจ๋งมากเลย” เป็นประโยคแรกที่ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคํา แห่ง Department of ARCHITECTURE Co. กล่าวขึ้น เมื่อเราถามถึง ‘ศาลาบางปะอิน’ รีสอร์ทที่ตั้งอยู่บนแหลมของเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ในอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เนื่องด้วยความพิเศษของที่ตั้งโครงการ แนวทางในการออกแบบจึงเริ่มต้นด้วยการสร้างสเปซให้เชื่อมโยงกับบริบทด้วยการออกแบบให้แขกที่มาพักผ่อนได้สัมผัสถึงน้ำอย่างเต็มที่ และสร้างสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนไปกับบรรยากาศโดยรอบของบางปะอิน ไม่ตะโกนเรียกร้องความสนใจ โดยสถาปนิกหยิบเอาองค์ประกอบและคุณลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านของชุมชนริมน้ำในชนบทเป็นตัวตั้งต้น ไม่ว่าจะเป็นสเกลของอาคาร หรือหลังคาทรงจั่วแบนๆ มุงกระเบื้องลอนแบบที่เราคุ้นตา โดยตีความองค์ประกอบเหล่านี้ใหม่ให้เป็น “Contemporary Vernacular” ที่มีการออกแบบสเปซภายในที่ร่วมสมัย เน้นการเชื่อมต่อกันของพื้นที่ ทั้งภายนอก-ภายใน และ ระหว่างสเปซภายในแต่ละสเปซด้วยกันเอง
ส่วนแรกที่เป็น intro ของผู้มาเยือนทุกคนคือส่วน lobby ที่อยู่บนฝั่ง มีลักษณะเป้นบ้านทรงไทยสองชั้นในสีแดงเข้ากับบริบทโดยรอบที่เป็นบ้านสีสันสดใส โดยมีพื้นที่ lobby ตั้งอยู่ในบริเวณใต้ถุน และส่วนชั้นบนเป็น Multi – Purpose Space การเดินทางเข้าไปในตัวรีสอร์ทเป็นประสบการณ์พิเศษที่แขกจะต้องเดินเท้าข้ามสะพานโค้งสีแดง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งเกาะซึ่งเป็นที่ตั้งของส่วนห้องพักทั้ง 2 แบบ และส่วนห้องอาหารริมน้ำ
ห้องพักบนเกาะทั้ง 2 แบบคือ Pool Villa และ Deluxe Room ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นหมู่บ้าน สร้างความกลมกลืนกับบริบทในเชิงสเกล ทั้งในแง่ของการวางผังที่ให้ Villa แต่ละหลังหันหน้าสู่แม่น้ำ โดยมีไฮไลท์เป็น 3-Bedroom Pool Villa ที่ตั้งอยู่บนปลายแหลมมองวิวแม่นน้ำได้ 3 ทิศ
และในแง่ของวิธีการทอนสเกลอาคารในส่วน Deluxe Room ด้วยการสร้างจังหวะ ยื่น-ยุบ สูง-ต่ำไม่เท่ากัน และเลือกใช้หลังคาจั่วเพื่อให้กลมกลืนกับบริบท รวมทั้งส่วนของ Landscape ซึ่งมีจังหวะของทางเดินเข้าห้องและสวนที่เป็นเส้นโค้ง สร้างความรู้สึกพักผ่อนและลดทอนความแข็งกระด้างของที่ว่างรูปสามเหลี่ยมที่เกิดจากการวางผัง Villa ให้หันไปทางแม่น้ำได้เป็นอย่างดี
บรรยากาศพักผ่อนของโครงการถูกขับเน้นด้วยโทนสีขาว-ไม้ เป็นหลัก มี texture ผนังอิฐทาสีขาวที่เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นอยุธยาแทรกอยู่ในส่วนที่รับแสงธรรมชาติจากด้านบน และมีวัสดุที่เป็นจุดเด่นในงานสถาปัตยกรรมภายในคือหวายสาน ซึ่งเป็นวัสดุในท้องถิ่นที่สถาปนิกออกแบบให้เข้าไปแทรกซึมอยู่ในรายละเอียดของอาคาร อย่างราวกันตกหรือ เฟอร์นิเจอร์ ที่ใช้หวายสานมาผลิตเป็นองค์ประกอบอาคารโดยตรง และส่วนผนังตกแต่งที่ซ่อนผ้าชนิดต่างๆ ไว้เป็นเลเยอร์ ก็ได้แนวความคิดมาจากการสานเช่นเดียวกัน
สำหรับ Sala Bang Pa-In Eatery and Bar ห้องอาหาร all-day dining ประจำรีสอร์ท ประกอบด้วยส่วน outdoor ที่ค่อยๆ ลดระดับพื้นลงที่มาสู่ผืนน้ำ และส่วน indoor ที่มีลักษณะเป็นอาคารเปิดโล่ง มีหลังคาผ้าใบบนโครงสร้างเหล็กที่ดึงคาแร็คเตอร์จากเรือนไทยหมู่มาใช้ ในลักษณะเป็นหลังคาทรงจั่วที่มีความสูง-ต่ำต่างกันมาต่อๆ กัน ในจังหวะและเส้นสายที่ร่วมสมัย เกิดเป็นสเปซภายในที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
“นำของเก่ามาใช้ในวิธีใหม่” ทวิตีย์สรุปการออกแบบของโครงการนี้กับเรา และดูเหมือนว่าตั้งแต่ดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงภาพรวมทั้งโครงการของศาลาบางปะอิน ก็ได้สะท้อนแนวความคิดนี้ออกมาอย่างชัดเจนอยู่แล้วในตัวมันเอง