NAKROB MOONMANAS

art4d สนทนากับ นักรบ มูลมานัส ว่าด้วยการไปเป็นศิลปินในพำนัก 1 ปีในกรุงปารีส และการสำรวจอาณาบริเวณใหม่ทั้งในตัวงานและในตัวเอง

TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF NAKROB MOONMANAS

(For English, press here

นักรบ มูลมานัส บัณฑิตเอกภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในศิลปินที่โดดเด่นในเรื่องงานตัดแปะคอลลาจและกราฟิกร่วมสมัย ที่มักจะสื่อถึงการผสมภาพย้อนยุค ทั้งสไตล์ไทยและตะวันตก งานศิลปะที่สร้างชื่อให้กับนักรบเป็นการตัดภาพจากนิตยสารเก่าโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม วรรณคดี เทพนิยาย มาสร้างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา เมื่อปีที่แล้ว (2021) นักรบได้รับทุนให้ไปเก็บเกี่ยวเพิ่มเติมประสบการณ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้กลับมาแสดงงานชุด PhotoAlchemy ที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายปี art4d ชวนนักรบคุยถึงประสบการณ์ในปารีสของเขารวมทั้งพัฒนาการในการทำงานศิลปะของเขาจากช่วงเริ่มต้นมาถึงปัจจุบัน

art4d: การไปเป็น artist in residence ที่ปารีสครั้งนี้มีประสบการณ์อะไรพอจะเล่าได้บ้าง

Nakrob Moonmanas: เป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้เยอะมาก ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนของโลกอันเป็นผลพวงมาจากภาวะโรคระบาด ตอนที่ไปถึงเดือนแรก ปารีสก็ lockdown ครั้งใหญ่พอดี แผนที่จะไปดูนู่นนี่ ทำกิจกรรมต่างๆ ก็ต้องพับเก็บหมด พอต้องใช้เวลาส่วนมากอยู่ในสตูดิโอเลยได้มองย้อนไปสำรวจตรวจสอบสิ่งที่ตัวเองทำมาทั้งหมดและคิดต่อยอดไปถึงอนาคตมาก โชคดีที่ Cité internationale des arts ที่ได้ไปอยู่เขาเห็นใจศิลปินดั้นด้นมาถึงปารีสแต่ดันไม่ได้ออกไปทำอะไรเพราะทุกอย่างปิดหมดและทุกคนต้องอยู่แต่ในที่พัก เขาเลยให้มีโครงการให้คนที่อยากจะอยู่ต่อเขียนโครงการส่งไปเพื่อพิจารณาให้อยู่นานขึ้น เราก็เลยเขียนส่งไปและโชคดีที่เค้าให้อยู่ต่อ จากระยะเวลา 3 เดือนที่ได้ตอนแรกเลยลากยาวไปเป็นเกือบ 1 ปี ได้อยู่ทันถึงเปิดเมืองอีกครั้ง

เนื่องจาก Cité internationale des arts มีสตูดิโอเยอะมากถึง 300 สตูดิโอ และไม่ได้จำกัดแค่ให้คนที่ทำงานด้านทัศนศิลป์มาอยู่เท่านั้น ทำให้เป็นโอกาสดีที่ได้พบเจอ แลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากเพื่อนศิลปินที่มาจากหลายหลายภูมิหลังและหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน ภัณฑารักษ์ ผู้กำกับ ช่างภาพ นักเต้น สถาปนิก นักดนตรี นักออกแบบ นักวิชาการ ฯลฯ ที่ Cité ส่งเสริมให้แต่ละคนจัด Open studio เพื่อให้เพื่อนศิลปินและบุคคลภายนอกเข้ามาดูงาน เนื่องจากงานของเราแอบอิงกับบริบทประวัติศาสตร์ไทยค่อนข้างมากซึ่งก็จะเป็นบริบทอันเฉพาะเจาะจงอยู่ไม่น้อย แต่จากการ Open studio ของเราทำให้พบว่าแม้ผู้ชมจะไม่ได้รับทราบบริบทเรื่องราวไทยๆ อย่างลึกซึ้งก็มองเห็นประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราวของการปะทะของวัฒนธรรมที่แตกต่าง หรือภาวะอาณานิคมหลังอาณานิคม การได้รับฟังข้อคิดเห็นจากกลุ่มผู้ชมที่ต่างไปจากเดิมแและกว้างขวางขึ้นมาก ทำให้เห็นมุมมองและหนทางที่จะบอกเล่ารวมถึงต่อยอดงานของตัวเองในหลายๆ รูปแบบ

ในช่วงที่เราอยู่ปารีส เป็นช่วงเดียวกันกับที่ไทยเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญ การเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงจากนอกประเทศ เป็นความรู้สึกที่แปลกประหลาด การได้ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่ต่างประเทศ ได้พบเจอผู้ลี้ภัยทางการเมืองก็ทำให้เราตระหนักถึงหลายๆ สิ่งเหมือนกัน ในขณะที่ไทยต่อสู้เรื่องสิทธิพื้นฐานหรือเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็น ที่ปารีสก็มีคนประท้วงกันใหญ่โตเรื่องสิทธิในการไม่รับวัคซีน หรือสิทธิในการวิพากษวิจารณ์ศาสนา หลายคนอาจจะเห็นปารีสเป็นเมืองโรแมนติก เมืองศิลปะ หรือเมืองแฟชั่น แต่ปารีสสำหรับเรายังมีรากฐานที่หยั่งลึกมากในเชิงประวัติศาสตร์สังคมการเมือง ทั้งที่มีอิทธิพลกับชาติของเขาเองและที่ส่งผลสำคัญกับโลก และยังมีส่วนที่ส่งผลกระเพิ่มมาถึงดินแดนไกลโพ้นอย่างไทย สิ่งที่ตระหนักอยู่เสมอคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ก็มีต้นกำเนิดจากที่นี่

art4d: อยากให้พูดถึงนิทรรศการล่าสุดของคุณสักหน่อย

NM: นิทรรศการล่าสุดที่จัดที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance française Bangkok) ก็เป็นโครงการต่อเนื่องมาจาก artist residency ในช่วงที่พำนักอยู่ที่นั้น มีเพื่อนช่างภาพอิตาลี กับเพื่อนศิลปินเยอรมันชวนไปร่วมแสดงนิทรรศการกลุ่ม โดยธีมของนิทรรศการนั้นคือ Alchemy หรือการเล่นแร่แปรธาตุ เลยได้ค้นคว้าในหัวข้อนี้และมุมที่เราสนใจและจะนำมาทำงานก็คือมุมที่เราถนัดอย่างประวัติศาตร์สังคมสยามในช่วงการเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่และความสัมพันธ์อันซับซ้อนกับชาติตะวันตกผู้ล่าอาณานิคม เราเห็นว่าประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมอย่าการถ่ายภาพที่เข้ามาถึงไทยเมื่อประมาณเกือบสองศตวรรษที่แล้วมีความเกี่ยวช้องกับประเด็นนี้ เพราะก่อนหน้านี้คนสยามเห็นว่าการทำภาพจำลองตัวตนของปักเจกขึ้นมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับไสยเวทย์ และการเข้ามาของกล้องถ่ายภาพกล้องแรกโดยบาทหลวงฝรั่งเศสก็มาท้าทายความคิดนี้ ในขณะที่ชนชั้นนำไทยบางส่วนอยากจะเปิดใจรับความก้าวหน้าอย่างตะวันตก เราจึงอาจจะมองถ่ายภาพว่าเป็นภาวะเล่นแร่แปรธาตุ อันเป็นวิทยาศาตร์ก็ไม่ใช่ ภาวะธรรมชาติหรือเหนือธรรมชาติก็ไม่เชิง ทั้งนี้การถ่ายภาพยังทำให้คนสยามได้สำรวจและนำเสนอรูปลักษณ์ของตนเองไปสู่โลกภายนอกเป็นครั้งแรก ซึ่งก็เกิดมาจากการจ้องมองผ่านสายตาช่างภาพตะวันตก ผ่านเครื่องมือแห่งความเป็นสมัยใหม่อย่างกล้องถ่ายรูป

ด้วยเหตุนี้เลยตั้งชื่อนิทรรศการว่า PhotoAlchemy จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากนิทรรศการที่ปารีส เมื่อต้องมาจัดแสดงต่อที่ไทย เลยมาคิดต่อและเชื่อมโยงอีกหลายๆ อย่าง อย่างการพยายามต่อยอดเรื่องการถ่ายภาพให้เป็นวงจร โดยงานของเราเริ่มต้นจากค้นคว้าอดีตซึ่งก็คือภาพถ่ายเก่าจากคลังภาพ นำภาพดั้งเดิมทั้งหมดมาตัดปะในโปรแกรมกราฟิกซึ่งเรามองว่าเป็นของผลพวงอันขั้นก้าวหน้าของการถ่ายภาพและเป็นมิติของปัจจุบัน จากนั้นก็พิมพ์ออกมาแล้วส่งไปให้ช่างภาพฟิล์มกระจกถ่ายภาพออกมาเหมือนกับย้อนกระบวนกวนการไปสำรวจอดีตอีกครั้ง แต่อดีตที่ออกมามันกลายเป็นส่วนผสมของกาลเวลาอันปะปนจนจำแนกได้ยาก 

ในกระบวนการคิดงานก็นึกขึ้นมาได้ว่าคำว่า Photo ความหมายดั้งเดิมแปลว่าแสง เลยนึกไปปรากฏการณ์สุริยุปราคา ที่เกิดขึ้นในปลายรัชกาลที่ 4 ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการปรับเปลี่ยนจักรวาลทัศน์และโลกทัศน์ของชนชั้นนำไทย ในขณะเดียวกันสุริยุปราคาเหมือนจะเป็นด้านกลับของการถ่ายภาพ แสงแฟลซที่วาบขึ้นวูบหนึ่งแล้วบันทึกห้วงเวลาหนึ่งไว้ กลายเป็นแสงที่ดับไปวูบหนึ่ง แต่บันทึกและถูกจดจำในหลากหลายทางต่อเนื่องมาเป็นร้อยๆ ปี เรื่องราวดังกล่าวเหมือนจะจมอยู่กับอดีต แต่ก็อาจสะท้อนให้เห็นภาพรางๆ ของปัจจุบัน ในยุคที่ในสังคมนี้ยังคงเผชิญกับปัญหาเรื่องการจะวิวัฒน์ไปตามโลกหรือจะโอบกอดสิ่งคิดว่าเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตนดี

ในนิทรรศการครั้งนี้จึงได้ใช้เทคนิคที่หลายหลาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการถ่ายรูปอย่าง cyanotype การถ่ายภาพฟิล์มกระจกและการอัดภาพด้วยมือจากฟิล์มนั้น หรือเทคนิคจิตรกรรมไทยประเพณีอย่างการปิดทองตัดเส้นก็มาอยู่กับภาพที่สร้างขึ้นจากโปรแกรมกราฟิกที่ทิ้งให้เห็นร่องรอยของเม็ดพิกเซลที่วิ่นแหว่ง เป็นภาพแทนของกาลเวลาและพื้นที่ที่ซับซ้อนทับซ้อนกัน

art4d: วิวัฒนาการของคุณจากวันแรกถึงงานล่าสุดนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในแง่ของ สไตล์ ทักษะ และสิ่งอยากจะเล่า

NM: ในนิทรรศการ PhotoAlchemy เราได้ทำงานที่เปลี่ยนไปมากพอสมควร ในแง่ของวิธีคิด เนื่องจากไม่ได้จบในสายศิลปะโดยตรงและคุ้นเคยกับมุมมองในแบบวิเคราะห์ตีความวรรณกรรม จุดแรกเริ่มของการทำงานของเราจึงอยู่ในวิถีแและวิธีทางของนักวาดภาพประกอบมากๆ งานของเราจะอิงแอบกับ text อะไรสักอย่างตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวจากวรรณกรรมหรือประวัติศาสตร์ วันเวลาผ่านไปเราได้เรียนรู้จากงานศิลปะร่วมสมัยมากขึ้น การได้ไปคลุกคลีกับเพื่อนศิลปินร่วมสมัยที่ทำงาน multidisciplinary หลายๆ คนตอนที่ไปเป็นศิลปินพำนัก ก็ช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราให้อยากจะทำอะไรที่ต่างจากเดิม สดใหม่และทดลองมากกว่าเดิม ทะลายกรอบของงานภาพประกอบ ก้าวข้ามจากโลกของ commercial art ไปสำรวจอาณาบริเวณอื่นๆ มากขึ้น ในแง่ของรูปแบบเราพยายามออกจาก comfort zone โดยพยายามหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการ collage เอาข้อความจากวรรณกรรมมาเป็นวัตถุดิบแทนภาพบ้าง หรือพยายามตัดปะภาพให้หลุดจากกรอบ figurative ดูบ้าง ในขณะเดียวกับความสนใจทางวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ก็ยังคงเป็นแก่นกลางของงานเรา ทฤษฏีวรรณกรรมยังคงเป็นแว่นที่ทำให้เราหยิบจับประเด็นต่างๆ ขึ้นมาเล่า การเติบโตของตัวเองควบคู่ไปกับสภาพสังคมไทยที่มีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญในหลายขวบปีนี้ควบคู่ไปกับความท้าทายมากมายที่โลกกำลังเผชิญทำให้ตัวงานของเราก็งอกงามไปสิ่งแวดล้อมด้วย แนวคิดตะวันออกพบตะวันตกเฉยๆ หรือหยิบชิ้นงานศิลปะตะวันตกมาใส่ชฎาเฉยๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์ในตอนนี้อีกต่อไป เราจึงสำรวจเรื่องและรูปในอดีตที่ส่องสะท้อนถึงความท้าทายของโลกปัจจุบัน หยิบจับขั้นมาปัดฝุ่นและตัดปะ พยายามนำเสนอสิ่งเหล่านั้นออกไปอีกครั้ง

nakrobmoonmanas.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *