ต่อเนื่องจากในบทความ Dusit Residences / Part 1 ที่บอกเล่าถึงเนื้อการออกแบบภายในของโครงการ Dusit Residences กันไปแล้ว คราวนี้ลองไปพิจารณากันการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมที่ได้ทีมสถาปนิกอย่าง A49 และ OMA มาร่วมกันถ่ายทอดความเป็นสากลและความเป็นไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ
TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO COURTESY OF DUSIT RESIDENCES
(For English, press here)
โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส 4 อาคาร ประกอบด้วย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ (Dusit Thani Bangkok Hotel) อาคารที่พักอาศัย (Dusit Residences) อาคารสำนักงาน (Central Park Offices) และ ศูนย์การค้า (Central Park) เป็นการผนึกความแข็งแกร่งระหว่าง กลุ่มดุสิตธานี (Dusit Thani Public Company Limited) และ เซ็นทรัลพัฒนา (Central Pattana Public Company Limited) และการร่วมมือกันระหว่างบริษัทออกแบบระดับแนวหน้าของโลกและประเทศไทย อย่าง OMA, Architects 49 Limited, P49 Deesign & Associates, GRID&CO, P Landscape และ Landscape Collaboration เพื่อสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร บนที่ตั้งประวัติศาสตร์ของโรงแรมดุสิตธานีเดิม ณ หัวมุมถนนสีลม
art4d ได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนจาก P49 Deesign & Associates และ GRID&CO สองบริษัทสถาปนิกออกแบบภายในของโครงการที่พักอาศัย (Dusit Residences) ไปแล้วเมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ นับเป็นเกียรติอีกครั้งที่จะมีโอกาสได้รับฟังแนวคิดการออกแบบภาพรวมของสถาปัตยกรรมโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) และรายละเอียดที่น่าสนใจของอาคารส่วนที่พักอาศัย (Dusit Residences) จาก Michel van de Kar ตำแหน่ง Architect Associate จาก OMA และ สมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ ตำแหน่ง Deputy Managing Director จาก Architects 49 Limited ซึ่งเป็นสองสถาปนิกตัวแทนจาก บริษัท ดราก้อน จำกัด บริษัทที่จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง OMA และ A49 เพื่อทำงานโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) ในครั้งนี้โดยเฉพาะ
ก่อนเข้าสู่บทสนทนาในส่วนของการออกแบบทางสถาปัตยกรรม art4d ได้ถามถึงการตีความความเป็นไทยและความเป็นกรุงเทพมหานครในมุมของสถาปนิกชาวต่างชาติอย่าง OMA ว่านอกเหนือจากคำว่า ‘หลากหลาย’ ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันแล้วนั้น เขามีมุมมองหรือพบเห็นความแตกต่างอื่นใดในบริบทของย่านและความเป็นไทยของเรา Michel ตอบกลับ art4d อย่างมีนัยยะว่า เขามองบริบทแห่งนี้อย่างลึกซึ้งไปจนถึงเรื่องของการผสมผสานไลฟ์สไตล์ที่มักจะเป็นการอยู่ตรงกันข้ามหรืออยู่ติดกัน อย่าง ความเก่าและความทันสมัย ความเร็ว ความช้า ความละเอียดอ่อน ความดิบ ความวุ่นวาย และความเป็นระเบียบ คำตอบของ Michel ยังนำไปสู่การอธิบายแนวคิดตั้งต้นของการออกแบบโครงการครั้งนี้ว่าแม้แต่การออกแบบโครงการ Dusit Central Park ก็ยังประกอบไปด้วยการผสมผสานที่เป็นคู่ตรงข้ามนั่นคือ ความเป็นระดับโลกและความเป็นท้องถิ่นในแง่ของการสืบทอดอัตลักษณ์อันเป็นมรดกของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่เก็บรักษาและถ่ายทอดเอกลักษณ์ความเป็นไทย ไปสู่สายตาต่างชาติด้วยมาตรฐานการบริการระดับโลก นับตั้งแต่ ค.ศ. 1970 จวบจนปัจจุบัน
แนวทางในการออกแบบโครงการ Dusit Central Park จึงเป็นการค้นหาวิธีการบอกเล่าผ่านรูปลักษณ์และรูปทรงอาคาร ให้สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของสิ่งเดิมและเอกลักษณ์ของโลเคชั่นให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะศักยภาพของย่านที่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าโครงการเป็นทุนเดิม ซึ่งทำให้ทีมสถาปนิกเลือกนำศักยภาพที่โดดเด่นนี้มาเป็นจุดตั้งต้นของแนวคิดการออกแบบผังโครงการ โดยวางให้อาคาร high rise 3 อาคาร ได้แก่ โรงแรม อาคารที่พักอาศัย และอาคารสำนักงาน เรียงตัวกันตามแนวของไซต์ที่ดิน และใช้เทคนิคการ stack mass หรือการวางอาคารแต่ละอาคารให้เหลื่อมสลับกันเล็กน้อย โดยใช้โรงแรมดุสิตธานีเดิมเป็นจุดอ้างอิงเริ่มต้น เพื่อให้เกิดองศาของมุมมองจากภายในอาคารที่แตกต่างกัน และสามารถรับทิวทัศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่บดบังซึ่งกันและกัน ขณะที่ mass อาคารแต่ละหลังสถาปนิกยังออกแบบให้มีความบางเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิด cross ventilation ที่ดี และสร้างระบบระบายอากาศจากลมธรรมชาติในเวลาเดียวกัน ส่วนอาคารศูนย์การค้า ซึ่งเป็นอาคารที่ 4 ถูกวางให้อยู่ด้านหน้าสุดของไซต์ เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางคมนาคมบริเวณหัวถนนสีลม ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นอาคาร low rise ที่มีความสูงของอาคารอยู่ในระดับที่ไม่รบกวนทัศนียภาพ หรือบดบังแสงและลมของอาคารอื่นๆ
สำหรับการนำความเป็นไทยมาใช้ในการออกแบบ สมเกียรติเล่าว่าส่วนนี้เป็นส่วนของการทำงานที่ทีมงานให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด รูปลักษณ์และภาพรวมโครงการที่เหมาะสมกับขนาดและเอกลักษณ์ของเมืองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งต้องใช้การวางแผนร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความเป็นไปได้และบริบทของเมืองอย่างใกล้ชิด ทีมสถาปนิกเลือกถ่ายทอดความหมายโดยนัยถึงเอกลักษณ์ของดุสิตธานีผ่านเฉดสีและวัสดุภายนอกอาคาร high rise ทั้ง 3 อาคาร ด้วยการเลือกใช้ สีทอง สีเงิน และสีทองแดงหรือสีนาก สะท้อนความร่วมสมัยและอัตลักษณ์จากยอดของโรงแรมดุสิตธานีเดิม รวมถึงแสดงคุณค่าจากสีของเครื่องประดับไทยในอดีต ซึ่งให้ความรู้สึกถึง heritage ของโครงการได้เป็นอย่างดี
นอกจากภาพรวมโครงการของการออกแบบโครงการ ดุสิต Dusit Central Park ทั้งหมด อาคารที่พักอาศัย ในชื่อ Dusit Residences ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อาคารสูงนั้นมีรายละเอียดการออกแบบที่เป็นความตั้งใจของทีมสถาปนิกที่ต้องการออกแบบอาคารสูงประเภทที่พักอาศัยให้สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยในเขตร้อนชื้นของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด Michel ขยายความถึงความตั้งใจในส่วนนี้ให้ฟังว่า โดยปกติแล้วความกังวลของผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองร้อนมักจะเป็นเรื่องของปริมาณแสงแดดและความร้อนที่จะสาดเข้าสู่ตัวอาคารมากจนเกินไป สถาปนิกจึงออกแบบระเบียงและกันสาดให้ยื่นออกมาประมาณ 0.90-1.50 เมตร ตามรูปแบบของอาคารเมืองร้อน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในส่วนนี้
แต่ด้วยความบังเอิญปนตั้งใจที่ส่วนด้านหน้าอาคารถูกวางให้หันเข้าหาสวนสาธารณะและยังเป็นทิศเหนือพอดี จึงทำให้ทิศทางของแสงแดดไม่ได้สาดเข้าสู่ตัวอาคารโดยตรง ซึ่งทำให้การออกแบบพื้นที่ส่วนนี้เป็นกระจกบานใหญ่ เพื่อเปิดรับทิวทัศน์ ลม และแสงจากธรรมชาติระหว่างวันเป็นเรื่องง่าย อีกทั้งเมื่อเชื่อมโยงกับแนวคิดการวางผังอาคารให้เหลื่อมสลับกัน เพื่อสร้างให้เกิด cross ventilation และระบบระบายอากาศจากลมธรรมชาติด้วยแล้ว ก็ยิ่งช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเปิดมุมมองและเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการออกแบบที่หาได้ยากกับอาคารประเภทที่พักอาศัยในปัจจุบัน
ส่วนอีกความแตกต่างจากอาคารที่พักอาศัยที่เห็นโดยทั่วไปอีกส่วนหนึ่งคือ การออกแบบ layout และการแบ่งสัดส่วนของอาคารความสูง 69 ชั้น เป็น 4 โซนทางตั้ง และ 2 living concepts ภายในอาคารเดียวกัน โดย 2 โซนด้านบนของอาคารเป็น Dusit Residences living concept ซึ่งวางผังยูนิตภายใต้แนวคิด private lift lobby ที่แต่ละยูนิตในแต่ละชั้นมีลิฟท์ส่วนตัวของตัวเอง ส่วน Dusit Parkside living concept อยู่ในโซนใหญ่ด้านล่าง ซึ่งออกแบบให้มีเพียง 4 ยูนิต ต่อลิฟท์ 1 กลุ่ม สำหรับพื้นที่ส่วนกลางหรือสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ สระว่ายน้ำ gym และ lounge ถูกวางให้อยู่บริเวณช่องว่างระหว่างโซน เพื่อให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสมกับความแตกต่างด้านไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยทั้ง 2 รูปแบบ ตลอดจนสวนลอยฟ้า หรือ roof park ที่ตั้งอยู่เหนือพื้นที่ศูนย์การค้า (Central Park) ยังเป็นการออกแบบให้พื้นที่สวนมีการลดหลั่นตาม step ของอาคาร จนเกิดเป็นมุมมองที่เสมือนได้ขยายสวนลุมพินีให้มีความต่อเนื่องขึ้นมาบนอาคารแห่งนี้ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของทิวทัศน์ให้กับผู้อยู่อาศัยภายในอาคารที่มองออกมา รวมถึงยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มระบบนิเวศน์ที่ดีให้กับย่าน สีลม-พระราม 4 ได้อย่างเป็นมิตรในเวลาเดียวกัน
จากบทสนทนาระหว่าง art4d และทีมสถาปนิกจาก OMA และ A49 กับการบอกเล่าถึงภาพรวมของแนวคิดการออกแบบโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) และอาคารที่พักอาศัย (Dusit Residences) ในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและมุมมองต่อมรดกที่ละเอียดอ่อน ตำแหน่งที่ตั้ง รวมถึงการออกแบบให้อาคารมิกซ์ยูส 4 อาคาร สามารถส่งเสริมกันและกัน และหลอมรวมเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ ที่จะสร้างพลวัตให้กับย่าน สีลม-พระราม 4 ใจกลางกรุงเทพมหานคร ต่อไปได้ในอนาคต
อ่าน DUSIT RESIDENCES / PART1: INTERIOR DESIGN ได้ที่