UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER


นิทรรศการภาพถ่ายที่บอกเล่าการสร้างภาพของประเทศไทย ทั้งในอดีต และปัจจุบัน ในบรรยากาศของสนามหญ้าที่ยังคงสีเขียวสดราวกับของปลอมแม้จะอยู่ภายใต้แสงแผดเผา

TEXT: WARUT DUANGKAEWKART
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

พื้นหญ้าสีเขียวตัดกับผนังสีขาว แสงสว่างในห้องจัดแสดง ภาพถ่ายสีสดที่ติดตั้งอยู่บนผนัง และ สายไฟที่ขดตัวอยู่บนพื้นพร้อมกล่องไฟที่หันหน้าเข้าผนัง นี่คือภาพรวมของงานนิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER โดย เล็ก เกียรติศิริขจร และมี กฤษฎา ดุษฎีวนิช เป็นภัณฑารักษ์ ซึ่งหากมองผ่านอย่างผิวเผิน ภาพที่มองเห็นอาจบอกเรื่องราวอยู่เพียงเท่านั้น แต่จากชื่อนิทรรศการ รายละเอียดต่างๆ อาจจะชัดเจนมากขึ้นเหมือนสนามหญ้าที่ถูกแสงอาทิตย์ที่แผดเผา แทนที่หญ้าจะเหี่ยวเฉาและแห้งตาย แต่ในทางกลับกันสนามหญ้ายังคงสวยงาม เหมือนกับเป็นภาพลวง เป็นของปลอมที่สร้างขึ้นมาเพื่อความสวยงามตั้งแต่แรก

เล็ก เกียรติศิริขจร เป็นศิลปินภาพถ่ายที่มีผลงานจัดแสดงและเผยแพร่ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ เช่น ผลงานชุด Lost in Paradise ที่บอกเล่าเรื่องราวของคนงานต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ภาพถ่ายส่วนใหญ่ของ เล็ก เกียรติศิริขจร จะพูดถึงประเด็นทางสังคม เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คนที่หลากหลาย รวมถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น โดยบันทึกผ่านภาพถ่ายเป็นหลัก แต่ในนิทรรศการครั้งนี้ ผลงานถูกพัฒนาและเลือกนำเสนอในเชิงของงานศิลปะควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดประสบการณ์การรับรู้ที่แตกต่างออกไปจากงานภาพถ่ายแบบเดิม

การบอกเล่าเรื่องราวในนิทรรศการถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยนำเสนอควบคู่กันไป ส่วนที่ 1 คือ ภาพถ่ายบรรยากาศต่างๆ ในยุคปัจจุบัน ที่เป็นบรรยากาศของการจำลองพื้นที่หรืองานประเพณีต่างๆ ที่ถูกจัดขึ้นทั้งโดยองค์กรรัฐหรือเอกชน และ ส่วนที่ 2 คือ ข้อความที่เป็นพาดหัวข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2519 ที่เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ซึ่งทั้งสองเรื่องถูกผูกไว้ด้วยกันอย่างหลวมๆ เพื่อให้ผู้ชมงานได้ปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 ช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

ในช่วงเวลาหนึ่ง ประเทศไทยได้มีการจัดทำการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำโฆษณา ผลิตโปสการ์ดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ประเพณีต่างๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศ จึงนำมาสู่ส่วนที่ 1 ของนิทรรศการ ภาพถ่ายที่จำลองสุนทรียภาพของภาพในโปสการ์ดสมัยก่อน แสดงให้เห็นถึงความสวยงามของประเทศไทย ในแบบที่อยากให้ผู้คนภายนอกเห็น เล็ก เกียรติศิริขจร เลือกบันทึก นำเสนอ ภาพจากงานต่างๆ ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมอันดี ผ่านภาพสีสดที่อ้างอิงมาจากความงามของโปสการ์ดในสมัยก่อน ซึ่งในขณะที่การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ต่างๆ ดำเนินไป เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศช่วงนั้นกลับมีเหตุการณ์หลายอย่างที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

‘ลูกเสือชาวบ้าน 1 แสนชุมนุม ระบุผู้ต้านเพลงหนักแผ่นดิน กินปูนร้อนท้อง’

‘ตร. นับร้อยตรึงสนามหลวง หวั่นเหตุร้าย จับหลานสส.พกระเบิด’

‘ด่วน! สั่งปิดรร. ทั่วประเทศ นายกออกทีวีเผยแผนกู้ชาติ 12 ปี’

‘นายกนำ 17 รมต. เข้าวัดพระแก้ว สาบานตน ไม่สุจริต วิบัติฉับพลัน’

‘เปิดเรียนเหตุการณ์ปกติทั่วประเทศ วอน นศ.กลับตัว เริ่มต้นชีวิตใหม่’

นี่คือส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ เล็ก เกียรติศิริขจร ได้ค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับขั้นตอนในปี พ.ศ. 2519 เพื่อที่จะบอกเล่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่บ้างถูกบิดเบือน บ้างถูกลบเลือนออกไป ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ นั้นนอกเหนือจากพาดหัวข่าวแล้ว ยังมีรายละเอียดที่สามารถขยายความออกไปได้อีกจากข้อมูลในสูจิบัตรของนิทรรศการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยทั้งสิ้น โดยนำเสนอผ่านตัวอักษรที่พิมพ์ลงบนแผ่นอะคริลิก จัดวางอยู่ด้านหน้าของภาพถ่าย เพื่อให้เกิดเป็นมุมมองที่ซ้อนทับอยู่ด้วยกัน และเลือกใช้วิธีนำเสนอแบบงานศิลปะ โดยการติดตั้งให้เกิดองศาของมุมมองคล้ายกับการยืนอ่านหนังสือพิมพ์ที่ถูกวางบนแท่นในห้องสมุด จนเกิดเป็นมุมมองที่แตกต่างออกไป มากกว่าที่จะเป็นการแสดงภาพถ่ายแบบตรงไปตรงมา ซึ่งการรับรู้ผลงานในพื้นที่จริงนั้น ในบางมุมเราอาจมองเห็นเพียงแค่จากระยะไกล แต่เมื่อก้าวเดิน เปลี่ยนองศาของเงาแสงที่ตกกระทบชิ้นงาน ก็จะปรากฏตัวหนังสือที่ซ้อนอยู่ เสมือนเป็นเหตุการณ์คู่ขนานในช่วงเวลาต่างกันออกไป

นอกจากภาพหลักทั้ง 16 ภาพแล้ว ยังมีชิ้นงานที่ถูกแสดงในรูปแบบที่ต่างออกไป ภาพของต้นมะขาม ที่จากการค้นคว้าหาข้อมูล เล็ก เกียรติศิริขจรเชื่อว่าต้นไม้ในภาพนั้น อาจจะเป็นต้นไม้ต้นเดียวกันกับเหตุการณ์เก้าอี้อันสยดสยองที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยภาพนี้เป็นเพียงภาพเดียวในนิทรรศการที่ศิลปินเลือกใช้สีที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุดในการนำเสนอ พร้อมทั้งยังมีข้อความบรรยายภาพของช่างภาพจากสำนักข่าว AP ที่เป็นผู้บันทึกภาพ และ บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เอาไว้ในวันนั้น

1976

และอีกชิ้นที่สำคัญที่ศิลปินจงใจจัดวางให้มีลักษณะเป็นงาน Installation Art ที่หันด้านหน้าที่เป็นภาพถ่ายพระบรมมหาราชวังเข้าสู่ผนัง แล้วแสดงให้เห็นถึงกล่องไฟแสตนเลสที่เป็นกรอบของภาพอยู่ด้านหน้าแทน โดยเชื่อมต่อกับสายไฟที่มีความยาว 241 เมตร เหมือนกับจำนวนปีของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยผลงานชิ้นนี้ผู้ชมสามารถเลือกที่จะชมชิ้นงานได้ในรูปแบบที่ต่างกัน เพื่อให้เกิดการตีความที่กว้างออกไป

รูปแบบของงานแสดงภาพถ่ายในนิทรรศการนี้ถูกปรับให้กลายเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้การตีความ การรับรู้ข้อมูล ตลอดจนรับรู้ความงามที่เกิดขึ้นจากเรื่องราวที่สะท้อนไปมาของช่วงเวลา ผ่านแนวความคิดของศิลปิน ซึ่งดูเหมือนว่าเรื่องราวภาพฝันอันงดงามบนความจริงอันตรงกันข้ามนั้น นับตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน รวมไปถึงอนาคต ยังคงหมุนเวียนย้อนกลับ และยังคงดำเนินทับซ้อนกันต่อไปอย่างไม่แน่ชัดว่าจะจบลงเมื่อใด

นิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER จัดแสดงที่ HOP Hub Of Photography ชั้น 3 โซน MUNx2 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ตั้งแต่ 8 กรกฎาคม – 3 กันยายน 2566 โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนำชมนิทรรศการโดยตัวศิลปินเองได้ ในวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 เวลา 13:00-14:30 และวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2566 เวลา 13:00-14:30

facebook.com/hubofphotographybangkok

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *