NA TANAO 1969

Na Tanao 1969 by POAR

แม้จะเจอตึกแถวที่ขนาบสองข้างและข้อจำกัดของหน้ากว้าง POAR ออกแบบโฮมเทลนี้มาเพื่อประสบการณ์ที่แตกต่างไม่เหมือนใครให้ผู้เข้าพัก

TEXT: KARN PONKIRD
PHOTO: KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ณ แพร่งสรรพศาสตร์ ที่ซึ่งเป็นย่านการค้าที่อยู่ระหว่างถนนตะนาวกับถนนอัษฎางค์ ใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือและเสาชิงช้า กรุงเทพฯ บริเวณซุ้มประตูวังสรรพสาตรศุภกิจ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์หลงเหลือของวังสรรพสาตรศุภกิจ ซึ่งถูกเพลิงไหม้เสียหายไปในปี ค.ศ.1967 และถูกปรับปรุงพื้นที่ใหม่เป็นกลุ่มอาคารตึกแถวพาณิชย์ขึ้นมาแทนนับแต่นั้น ฝั่งตรงข้ามซุ้มประตู อาคารโฮมเทล ‘ณ ตะนาว 1969’ ออกแบบโดย POAR แทรกตัวอยู่ระหว่างอาคารตึกแถวที่ขนาบสองข้าง บนที่ดินขนาดจำกัดเพียงประมาณ 30 ตารางวา หน้ากว้างของที่ดินกว้างเพียง 5 เมตร ลึก 25 เมตร ที่ซึ่งดูแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมา

Na Tanao 1969 by POAR

ลังจากหักระยะร่นที่เพื่อนบ้านยินยอมให้ก่อผนังชิดแนวเขตที่ดินได้ในบางจุดแล้ว อาคารหลังนี้เหลือหน้ากว้างอยู่เพียง 3.50 เมตร ซึ่งบรรจุโปรแกรมที่ซ้อนกันขึ้นไป 4 ชั้นครึ่ง ประกอบด้วย คาเฟ่ ออฟฟิศ ส่วนซักรีดและส่วนเก็บของของโรงแรมที่ชั้น 1 พื้นที่ต้อนรับที่ชั้นลอย กลุ่มห้องพักในชั้น 2 และ 3 บ้านพักของเจ้าของโครงการในชั้น 4  และดาดฟ้าเป็นพื้นที่เลานจ์สำหรับสังสรรค์และรวมถึงบาร์ในบางโอกาส สถาปนิกใช้ข้อจำกัดด้านพื้นที่และประวัติศาสตร์โดยรอบของพื้นที่เป็นปัจจัยหลักของการออกแบบอาคาร เริ่มต้นจากการแยกก้อนฟังก์ชันภายในโดยใช้ระดับที่ต่างกัน สร้างช่องลมและช่องว่างขึ้นระหว่างห้องต่างๆ ทั้งในแกนตั้งและแกนนอน เพื่อสร้างสภาวะการถ่ายเทอากาศที่ดีและนำแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ภายในให้ได้อย่างทั่วถึง ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่

Na Tanao 1969 by POAR

Photo courtesy of POAR

Na Tanao 1969 by POARNa Tanao 1969 by POARNa Tanao 1969 by POARNa Tanao 1969 by POAR

นอกจากลมและแสงที่ถูกนำ ‘เข้า’ มาในอาคารแล้ว การเจาะช่องเปิดต่างๆ ยังทำให้ผู้ใช้งานที่อยู่ในตัวอาคาร ‘ออก’ ไปสัมผัสกับบริบทโดยรอบของอาคารได้อีกด้วย “เราต้องการเปิดให้คนเห็นทุกๆ อย่างที่มีในไซต์แคบๆ นี้ให้ครบทุกมุม เพราะการที่จะทำให้คนกลับมาพักอาคารหลังนี้ได้ครั้งที่สอง สาม สี่หรือมากกว่านั้นได้ ห้องพักแต่ละห้องนั้นต้องสามารถสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างกันให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่การวางแปลน แต่ด้วยตำแหน่งและระดับของห้องแต่ละห้องนั้นไม่เหมือนกัน ทำให้สามารถมองเห็นได้หลากหลาย” พัชระ วงศ์บุญสิน สถาปนิกจาก POAR อธิบาย ซึ่งการแยกก้อนฟังก์ชันต่างๆ ออกจากกันนั้น ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าพักสัมผัสมิติบางอย่างที่ซ่อนอยู่ผ่านช่องเปิด ระดับ แสงและเงา รวมไปถึงเสียง ที่การออกแบบอนุญาตให้แทรกสอดเข้าไปในงานสถาปัตยกรรมในแต่ละจุดที่แตกต่างกัน

Na Tanao 1969 by POAR

Na Tanao 1969 by POAR

การแยกแมสเปลี่ยนระดับ

บริบทโดยรอบที่มีพลวัตของแพร่งสรรพศาสตร์ ที่อาคารหนึ่งอาจมีอายุร่วมเกือบร้อยปี ในขณะที่อาคารเคียงข้างอาจจะถูกก่อสร้างใหม่ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหลักของการเลือกใช้วัสดุและรูปแบบการก่อสร้างของสถาปนิก เริ่มต้นจากการเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก ซึ่งถูกออกแบบและตัดเป็นความยาวที่ต้องการมาจากโรงงาน เพื่อความสะดวกในการขนย้ายและนำมาติดตั้ง ทำให้ขั้นตอนการประกอบโครงสร้างทำได้อย่างรวดเร็ว เกิดเสียงจากงานประกอบเหล็กที่จะไปรบกวนอาคารข้างเคียงน้อยกว่าการก่อสร้างอาคารคอนกรีตรวมไปถึงขยะจากงานก่อสร้างที่จะมีน้อยตามมาด้วย

Na Tanao 1969 by POAR

ส่วนวัสดุหุ้มผิวอาคาร สถาปนิกออกแบบให้ ‘เวลา’ เป็นภาพแทนของ ณ ตะนาว 1969 ผ่านการเลือกใช้วัสดุที่มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่รอบข้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่กลายเป็นส่วนเดียวกับอาคารข้างเคียง อาทิ การใช้ไม้ตะเคียนซึ่งผิวไม้จะซีดลงตามกาลเวลา รวมไปถึงการใช้กระเบื้องดินเผาซึ่งไม่ผ่านการเคลือบผิวที่มีสีเทาใกล้เคียงกับคราบที่เกิดตามกาลเวลาบนผนังอาคาร เมื่อมองจากภายในผ่านช่องเปิด ร่องรอยของวัสดุทั้งใหม่และเก่า รวมทั้งแสงและเงาที่ตกกระทบนี้ถูกล้อมกรอบให้เป็นเสมือนภาพแขวนประดับผนัง ที่แสดงถึงและเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของพื้นที่

Na Tanao 1969 by POAR

Na Tanao 1969 by POARNa Tanao 1969 by POARNa Tanao 1969 by POARNa Tanao 1969 by POAR
Na Tanao 1969 by POARNa Tanao 1969 by POAR

ณ ตะนาว 1969 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา อาคารหลังนี้เป็นตัวอย่างของการกลับมามองถึงการใช้พื้นที่เล็กๆที่อยู่ระหว่างอาคารพาณิชย์ ซึ่งมักถูกปล่อยให้รกร้างเพราะเล็กเกินกว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ และแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของสเปซทางสถาปัตยกรรมที่ของใหม่กับของเก่าอยู่ร่วมกัน ซึ่งการสะท้อนกลับของกันและกันของสถาปัตยกรรมเก่าและใหม่นั้น สร้างพลวัตและขับเคลื่อนให้วิถีชีวิตของชุมชนมีชีวิตชีวาต่อไป “เราเปิดโอกาสให้สิ่งต่างๆ รอบตัวอาคารเป็นพระเอก เป็นการสร้างการอยู่ในยุคปัจจุบันร่วมกับอดีตอย่างไม่ขัดแย้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้คล้อยตาม” พัชระทิ้งท้าย

Na Tanao 1969 by POAR

facebook.com/poar.company

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *