SPARKLING MARKET

sparkling market

Photo courtesy of Golden Pin Design Award

โครงการออกแบบและปรับปรุงตลาดป๋อกวงที่ท่าเรือซินจู๋ได้แรงบันดาลใจจากคลื่นทะเลและเฉดสีของเม็ดทราย จนกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวและแลนด์มาร์กของไต้หวัน

TEXT: HSIEN TZU WANG
PHOTO: YUCHEN CHAO PHOTOGRAPHY EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ขณะนี้ตลาดป๋อกวง (Sparkling Market) ที่ท่าเรือประมงซินจู๋ ไต้หวัน ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวเมืองในวันหยุดสุดสัปดาห์ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ทุกคนได้มาพักผ่อน เดินเล่น และลิ้มลองอาหารทะเลสดๆ นอกจากนี้ยังเป็นที่ดึงดูดผู้ที่ชื่นชอบและสนใจเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมอีกด้วย

ตลาดอาหารทะเลแห่งนี้ถูกปรับโฉมใหม่ด้วยการออกแบบร่วมกันระหว่างบริษัทออกแบบ Atelier Or และบริษัท Pu-Ming Tseng Architects & Association ซึ่งผสมผสานหลังคาทรงคลื่นและเฉดสีทรายทองเข้าด้วยกัน เปลี่ยนภาพลักษณ์และสภาพแวดล้อมเดิมๆ ของตลาดอาหารทะเลเก่าแก่ที่ทั้งทรุดโทรมและสกปรก ให้กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในพื้นที่ชายฝั่งของเมืองซินจู๋ ไต้หวัน ได้ในที่สุด

sparkling market

ตลาดป๋อกวงริมท่าเรือประมงหนานเหลียว เมืองซินจู๋ไต้หวัน

การปรับโฉมใหม่ที่นำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นของตลาดปลา

จุดเริ่มต้นของตลาดป๋อกวงนี้มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความทรุดโทรมและความไม่เป็นระเบียบของศูนย์จำหน่ายของสดทางทะเลบริเวณท่าเรือประมงซินจู๋ที่มีอยู่เดิม เทศบาลเมืองได้เริ่มโครงการสร้างพื้นที่ใหม่เพื่อให้พื้นที่บริเวณนี้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นสำหรับพ่อค้าแม่ค้าและนักท่องเที่ยวในการทำการซื้อขาย

ศูนย์จำหน่ายสินค้าท่าเรือประมงในอดีตนั้น ชั้นหนึ่งเป็นตลาดขายอาหารทะเล ส่วนชั้นสองเป็นร้านอาหาร อีกทั้งรอบๆ ยังมีร้านค้าแผงลอยอีกเป็นจำนวนมาก ทว่าพื้นที่บริเวณชายฝั่งของเมืองซินจู๋มักมีอุณหภูมิร้อนจัดในช่วงฤดูร้อน และถูกกระหน่ำด้วยมรสุมลมหนาวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว ทำให้มีความยากลำบากต่อการดำเนินทางการค้าและการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ในช่วงนั้น

sparkling market

รูปแบบอาคารรูปตัว ‘N’ของตลาดป๋อกวง | Photo courtesy of Hsin Chu Government

แทนที่จะรื้อถอนอาคารเก่าทิ้งทั้งหมด ทีมสถาปนิกได้ทำการปรับปรุงพื้นที่เดิมโดยการกระจายฟังก์ชันให้เป็นอาคารรูปทรงตัว ‘N’ และลดความสูงของอาคารจากเดิม 13 เมตร ลงเหลือ 7 เมตร เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่กึ่งเปิดโล่ง และทำให้พ่อค้าแม่ค้าและนักท่องเที่ยวสามารถค้าขายและเดินเล่นได้อย่างเต็มที่ในพื้นที่แห่งนี้

แรงบันดาลใจจากคลื่นทะเลและชายหาดสู่การออกแบบสถาปัตยกรรม

การออกแบบตลาดป๋อกวงนั้นได้แรงบันดาลใจหลักมาจากคลื่นทะเล โดยตัวอาคารมีหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีลักษณะเป็นรูปคลื่นขนาดใหญ่ การออกแบบเช่นนี้ไม่เพียงแต่มีรูปทรงที่สวยงาม แต่ยังมีฟังก์ชันการระบายน้ำที่ดีในช่วงฝนตกอีกด้วย

sparkling market

แผงขายของและผนังภายในตลาดป๋อกวง | Photo courtesy of Golden Pin Design Award

ผนังโค้งสีแดงของตัวอาคารหลังนี้ได้เลือกใช้วัสดุจาก cross laminated timber (CLT) และเหล็กกล้า ซึ่ง CLT เป็นวัสดุใหม่ที่มีน้ำหนักเบา อีกทั้งสามารถป้องกันไฟและโครงสร้างได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ไม้ชนิด CLT ยังสามารถดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และเนื่องจากคุณสมบัติในการลดคาร์บอนจึงทำให้อาคารหลังนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หลังคาและผนังของอาคารหลังนี้นอกจากสามารถป้องกันแสงแดดในช่วงฤดูร้อน และช่วยป้องกันลมหนาวในช่วงฤดูหนาว ทีมสถาปนิกยังใช้วัสดุใหม่ในการก่อสร้าง โดยมีการเลือกใช้ซีเมนต์สำหรับการทำหลังคาแทน (ซึ่งปกติจะใช้ไม้ในการทำหลังคา) และเลือกใช้ไม้ CLT ในการก่อสร้างผนัง ดังนั้นการเลือกใช้วัสดุในครั้งนี้จึงเป็นการทำลายกรอบความคิดเดิมๆ เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง

ภายใต้หลังคาแห่งนี้มีแผงสำหรับการค้าขายทั้งหมด 74 แผง โดยแต่ละแผงมีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพ่อค้าแม่ค้า อาทิ เคาน์เตอร์ล้างจาน น้ำประปา และปลั๊กไฟ เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถจัดการสินค้าได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

sparkling market

โครงสร้างและกำแพงภายในอาคารของตลาดป๋อกวง

sparkling market

โครงสร้างและกำแพงภายในอาคารของตลาดป๋อกวง

การสร้างสภาพแวดล้อมผ่านมิติของแสงและเงา

การออกแบบแสงไฟของตลาดป๋อกวง เป็นจุดเด่นที่ทำให้อาคารในช่วงกลางวันและกลางคืนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งการออกแบบแสงครั้งนี้ได้บริษัท CosmoC Lighting มาทำการดีไซน์ให้ โดยใช้วิธีการจัดแสงสองเทคนิคที่แตกต่างกัน คือวิธีใช้แสงสว่างทั่วไป (ambient lighting) ร่วมกับการจัดแสงไฟเฉพาะจุด (task lighting) ทำให้พื้นที่แห่งนี้ดูมีมิติขึ้น การจัดให้ไฟที่ฝังบนพื้นได้ส่องแสงสว่างจากด้านล่างขึ้นไปบนหลังคาภายในตัวอาคาร สามารถสร้างความรู้สึกให้เพดานปูนที่ดูหนาทึบมีความอ่อนนุ่มเบาสบายปลอดโปร่ง เปรียบเสมือนดั่งผ้าม่านที่กำลังพลิ้วไหวตามแรงลม

ลำแสงจากบริเวณฐานของซุ้ม (arch) ยิ่งเป็นการทำให้คลื่นแต่ละลูกมีความโดดเด่น เสมือนว่ามีคลื่นกำลังซัดสาดกระทบกัน เมื่อมองกลับมาในเวลากลางคืน ตลาดป๋อกวงจึงเป็นเหมือนพื้นที่แสนอบอุ่นบริเวณชายฝั่งที่เฝ้ารอการกลับมาของเหล่าชาวประมงกลางทะเล

sparkling market

ทิวทัศน์ยามค่ำคืนของตลาดป๋อกวง | Photo courtesy of Golden Pin Design Award

ปรัชญาเพื่อการออกแบบอย่างยั่งยืน

การออกแบบตลาดป๋อกวงไม่เพียงแต่เน้นที่ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย สถาปนิกได้ทำการทดลองในการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างต่างๆ มากมาย โดยทำการเลือกวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไม้ CLT เหล็กกล้าทนสนิม และสเตนเลส ไม้ CLT ไม่เพียงแต่มีน้ำหนักเบา แต่ยังสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณ carbon footprint ของอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนวัสดุทนสนิมก็สามารถต้านทานการกัดกร่อนจากน้ำทะเลและความชื้นในอากาศ จึงช่วยยืดอายุการใช้งานของอาคารและลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาได้

sparkling market

ทิวทัศน์ยามค่ำคืนของตลาดป๋อกวง

พื้นที่อันเป็นเวทีแห่งผู้คนและการค้า

เมื่อตะวันตกดิน ตลาดป๋อกวงหลอมรวมเข้ากับแสงระยิบระยับบนผิวน้ำของท่าเรือประมงในยามเย็นนั้นได้กลายเป็นแหล่งรวมตัวในช่วงวันหยุดของชาวเมืองซินจู๋และนักท่องเที่ยว

ทีมสถาปนิกเชื่อว่า ‘แม้พื้นที่จะเป็นแหล่งกำเนิดสร้างสรรค์สรรพสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ แต่การจัดพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในเมืองและอุตสาหกรรม เป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุด’

ท่าเรือประมงแบบดั้งเดิมของไต้หวันนั้น ส่วนมากมักจะเต็มไปด้วยศิลปะบนกำแพงแห่งโลกของท้องทะเล หรือบางทีก็เป็นพวกประติมากรรมรูปปั้นของปลาและปู เพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์ว่านี่คือ ‘ท่าเรือประมง’ แต่ทว่าตลาดป๋อกวงได้ใช้วิธีการที่แตกต่างออกไป ตลาดแห่งนี้เลือกใช้การออกแบบอาคารแบบเรียบง่ายบนทิวทัศน์ของชายฝั่ง ประกอบกับการสร้างพื้นที่สำหรับพ่อค้าแม่ค้าได้ทำการค้าขายกับนักท่องเที่ยว เนื่องด้วยการออกแบบที่ปลอดโปร่ง อีกทั้งมีพื้นที่ค้าขายที่สะอาดและถูกสุขลักษณะ ซึ่งมีความสวยงามและฟังก์ชันการใช้งานได้ดี ดังนั้นการออกแบบในครั้งนี้ นอกจากสามารถยกระดับคุณภาพของท่าเรือประมงได้แล้ว ยังสามารถช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่นี้อีกด้วย

sparkling market

ท้องฟ้ายามเย็นของตลาดป๋อกวงและท่าเรือ | Photo courtesy of Hsinchu City Government

สุดท้ายแล้วตลาดแห่งนี้จึงได้รับรางวัลการออกแบบจากหลายเวที ไม่ว่าจะเป็น รางวัล Golden Pin Design Award ในปี 2022, รางวัล Good Design Award จากประเทศญี่ปุ่น และรางวัล iF Design Award จากประเทศเยอรมนี และที่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของเมืองซินจู๋อีกด้วย

facebook.com/AtelierOr
facebook.com/PUMT.ARCH 

_
งานรางวัลการออกแบบ Golden Pin Design Award

Golden Pin Design Award เป็นงานรางวัลการออกแบบที่มีชื่อเสียงที่สุดในตลาดการออกแบบแห่งไต้หวัน จีน มาเก๊า และฮ่องกง ซึ่งต้องการเปิดโอกาสและสนับสนุนงานออกแบบไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ ผลงานออกแบบหลากหลายประเภท ที่มีความโดดเด่นจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย

ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ผ่านทาง https://www.goldenpin.org.tw/en/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *