“THE NATURE OF THINGS: THE MAKING OF THINGS”, CONTEMPORARY NORWEGIAN JEWELRY DESIGNER AND ENGINEER SIGURD BRONGER’S FIRST SOLO EXHIBITION IN ASIA HAS OPENED AT ATTA GALLERY. LET’S FIND OUT HOW MONGOLIAN CAMEL SHIT HAS BECOME A COLLECTABLE, AND WEARABLE, PIECE OF JEWELRY ART
TEXT & PHOTO: PAWIT MAHASARINAND
MAIN IMAGE COURTESY OF ATTA GALLERY
(For English, press here)
The Nature of Things: The Making of Things นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ ซิกุร์ด บร็องเกอร์ (Sigurd Bronger) นักออกแบบและวิศวกรเครื่องประดับร่วมสมัยชาวนอร์เวย์ เปิดให้ชมแล้วที่ ATTA Gallery ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2563
ATTA Gallery แกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะเครื่องประดับร่วมสมัยแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย กำลังจะเข้าร่วมงาน FRAME ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Schmuck นิทรรศการศิลปะเครื่องประดับร่วมสมัยที่จัดมาต่อเนื่องยาวนานที่สุด ในเทศกาลศิลปหัตถกรรมนานาชาติ Internationale Handwerkmesse (IHM) ที่นครมิวนิค และเพิ่งแพ็คผลงานของนักออกแบบชาวไทยใส่กล่องส่งออกไปได้ไม่กี่วัน ก็ได้รับแจ้งว่า IHM ปีนี้ยกเลิกแล้วเพราะ COVID-19
“ผมเสียใจแทนจริงๆ” คือคำพูดประโยคแรกๆ จากของบร็องเกอร์ บนม้านั่งหน้า ATTA Gallery
ย้อนหลังกลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว อตินุช ตันติวิท (เจื้อย หรือ Atty) นักอัญมณีศาสตร์ผู้ก่อตั้ง ATTA Gallery ได้เข้าฟังการบรรยายของบร็องเกอร์ที่ Schmuck แล้วประทับใจอารมณ์ขันที่ปรากฏในทั้งการบรรยายและผลงานออกแบบของเขา ทั้งสองได้พบกันที่ Schmuck ในปีต่อๆ มาอีกหลายครั้ง ครั้งหนึ่งบร็องเกอร์บอกว่าพี่ชายฝาแฝดของเขาทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งอตินุชก็คิดว่าลุงนี่เล่นมุกแน่ๆ
บร็องเกอร์เล่าต่อว่า “ผมรู้สึกทันทีว่าเรามีอะไรแลกเปลี่ยนให้กันและกันได้ ATTA Gallery ดูมืออาชีพมาก เหมือนแกลเลอรี่ร่วมสมัยในยุโรปเลย” แล้วบร็องเกอร์ก็เสนอความคิดจัดนิทรรศการแสดงผลงานเขาที่กรุงเทพฯ และเมื่อปีที่แล้ว อตินุชได้รับเชิญจาก Norwegian Crafts ให้ไปดูงานที่นอร์เวย์ ก็ได้พบกับบร็องเกอร์อีกครั้งและวางแผนจัดนิทรรศการครั้งนี้อย่างจริงจัง
ผลงานของบร็องเกอร์อยู่ในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก อย่าง Museum of Art and Design (MAD) ที่นครนิวยอร์ค Nasjonalmuseet ที่กรุงสต็อคโฮล์ม และ Stedelijk Museum ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เขาได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย เช่น Torsten and Wanja Sodenbergs Design Award ซึ่งให้เงินรางวัลสูงสุดในโลก และ Prince Eugene Medal ซึ่ง Ted Hesselbom กรรมการตัดสินท่านหนึ่งของรางวัลแรกกล่าวว่า “เวลาที่ผมดูหรือจับงานเครื่องประดับของบร็องเกอร์ ผมรู้สึกเหมือนเป็นเด็กที่ได้ไปเที่ยวเทศกาลรื่นเริง หรือไม่ก็ดำดิ่งอยู่ในดินแดนจักรกลแสนมหัศจรรย์ คือเหมือนผมลืมโลกแห่งความจริงรอบตัวไปเลย งานออกแบบของซิกุร์ด บร็องเกอร์ เปลี่ยนความคิดผมว่าอะไรบ้างที่เป็นไปได้” เมื่อครั้งที่เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลจากพระหัตถ์ของพระราชา Gustaf แห่งสวีเดน บร็องเกอร์ก็กราบบังคมทูลจนทรงพระสรวลว่า เขาสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่งจากก้อนนิ่วในถุงน้ำดีของแม่ที่หมอผ่าตัดออกมา ปัจจุบันงานชิ้นนี้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสวีเดนใกล้ๆ พระราชวังนั่นเอง และผู้ชมงานตั้งข้อสังเกตว่าเหมือนลูกชิ้นปลาห้าลูกเสียบไม้รอปิ้ง
บร็องเกอร์ทำงานกับวัสดุหลากหลายประเภท ตั้งแต่ขี้อูฐที่เขาไปเก็บมาเองจากมองโกเลีย ไปจนถึงเปลือกหอยที่ลูกสาวนำมาฝากจากเมืองไทย จนเราต้องถามว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากไหนกันแน่ บร็องเกอร์ตอบว่า “ความคิดส่วนใหญ่ก็มาจากธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แล้วก็ชีวิตประจำวัน ก็เหมือนที่เราเชื่อกันมาเป็นร้อยปีแล้ว เรามองเห็นความงามของธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็มองเห็นเทคนิคมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีด้วย ผมได้แรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบ วรรณกรรม ละครเวทีและภาพยนตร์ด้วย พลังขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องของการสื่อสาร แบบเดียวกับงานของผม”
หลายๆ คนให้ความเห็นว่างานของเขาน่าจะจัดว่าเป็นประติมากรรมเพื่อจัดแสดง มากกว่าเครื่องประดับเพื่อสวมใส่ บร็องเกอร์อธิบายว่า “ผมไม่ได้ตั้งใจออกแบบให้สวมใส่อย่างเดียว ผมชอบมากเวลานักสะสมนำงานผมไปใส่กล่องหรือตั้งโชว์ ตอนที่ไม่ได้ใช้เป็นเครื่องประดับ อันที่จริงใช้ประดับก็ยากอยู่ ทุกผลงานมีชิ้นเดียว ผมไม่ทำซ้ำ ราคาเลยค่อนข้างสูง แล้วคนก็นิยมสะสมเป็นงานศิลปะ”
บร็องเกอร์เป็นอาจารย์พิเศษที่ Oslo National Academy of the Arts (KHiO) และในรายวิชาที่ใช้เวลาสอน 4 สัปดาห์นั้น “ผมสอนความคิดและแนวคิดเรื่องศิลปะเครื่องประดับร่วมสมัย แล้วก็พูดถึงวงการในระดับสากลด้วย ผมสั่งให้ลูกศิษย์ทุกคนไปดูงานที่ Schmuck ผมเล่าให้พวกเขาฟังเรื่อง ATTA ด้วย ผมบอกว่าผลงานของพวกเขามีโอกาสมาจัดแสดงที่นี่”
ก่อนเปิดนิทรรศการวันนั้น บร็องเกอร์ได้ไปบรรยายพิเศษ ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาให้คำแนะนำนักออกแบบเครื่องประดับรุ่นใหม่ว่า “ถ้าคุณอยากทำงานอาชีพในสาขาเล็กๆ นี้ คุณต้องทุ่มสุดตัว จริงจัง และเอาใจใส่สนใจความเป็นไปในวงการ คุณต้องมีความอดทน เพราะกว่าคุณจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จะใช้เวลานาน แต่ผมเชื่อว่าถ้าคุณขยัน คุณไปถึงจุดนั้นได้แน่ ผมทำงานตลอดเวลา อย่างตอนนี้ผมคุยกับคุณอยู่ ผมก็เกิดความคิดอะไรหลายอย่าง”
บร็องเกอร์เล่าให้ฟังต่อว่าตอนนี้เขากำลังเตรียมงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งจะจัดในพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตรที่ Die Neue Sammlung พิพิธภัณฑ์งานออกแบบนานาชาติที่นครมิวนิค ในปี 2565 แต่แน่นอนว่าตอนนี้เราไม่ต้องรอนานและบินไกลขนาดนั้น ก็สัมผัสบางส่วนของความคิดสร้างสรรค์อันบรรเจิดของเขาได้
นิทรรศการ The Nature of Things: The Making of Things จัดแสดงที่ ATTA Gallery ใน O.P. Garden ซอยเจริญกรุง 36 (Rue de Brest) ไปจนถึงวันที่ 18 เมษายน 2563 ทุกวันอังคารถึงเสาร์ 13:00-18:30 น. (นอกเวลานัดล่วงหน้าได้ที่ info@attagallery.com)