THAILAND BIENNALE CHIANG RAI 2023

เทศกาลศิลปะนานาชาติในธีม ‘เปิดโลก’ (Open World) ที่นำเสนอประวัติศาสตร์และเรื่องราวของสามัญชนในหลากหลายมิติ ผ่านนานานิทรรศการซึ่งกระจายตัวอยู่ในเชียงราย

TEXT: HOM SUKATO
PHOTO: HOM SUKATO EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

‘เปิดโลก’ สำรวจประวัติศาสตร์ขนาดย่อม (micro histories) และเรื่องราวของสามัญชนผ่านบริบทของเชียงราย ใน Thailand Biennale Chiang Rai 2023 เรียนรู้อดีตเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ (อยากให้) ดีกว่า

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 เปิดตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม โดยเป็นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ต่อจากสองครั้งแรกที่กระบี่และโคราช ครั้งนี้จัดภายใต้ชื่อนิทรรศการ ‘เปิดโลก’ (Open World) ซึ่งได้มาจากพระพุทธรูปปางเปิดโลกในซุ้มจระนำของเจดีย์วัดป่าสักเมืองเชียงแสน เป็นปางที่แสดงถึงปัญญาและการตื่นรู้ เชื่อมโยงกับ Open World ในบริบทปัจจุบันที่มักใช้เรียกวิดีโอเกม ที่ความสนุกอยู่ที่การมีหลายเส้นทางในการเล่นเพื่อบรรลุภารกิจ โดยสรุปแล้วทีมภัณฑารักษ์ต้องการนำเสนอโครงสร้างนิทรรศการหลากมิติที่ท้าทายการเล่าเรื่องแบบเส้นตรง

สเกลของ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 กว้างขวางทั้งในเชิงระยะทางและเนื้อหาตามบริบทของพื้นที่ งานไม่ได้กระจุกอยู่แค่ตัวเมืองเชียงรายเท่านั้น ยังมีนิทรรศการหลักกระจายอยู่ที่อำเภออื่นๆ จากศิลปินไทยและนานาชาติ 60 คน จาก 21 ประเทศ พาวิลเลียนซึ่งเรียกง่ายๆ ว่านิทรรศการย่อยมากกว่า 10 แห่ง พร้อมด้วยกิจกรรมคู่ขนานและสตูดิโอของศิลปินในพื้นที่อีกมากมาย ซึ่งจะจัดขึ้นถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 โดยทีมภัณฑารักษ์ 4 คน เป็นคนไทยทั้งหมดและสองในสี่เป็นคนเชียงราย ได้แก่ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, กฤติยา กาวีวงศ์, อังกฤษ อัจฉริยโสภณ และ มนุพร เหลืองอร่าม ทั้งหมดทั้งมวลนี้สารภาพตรงๆ ว่าไม่สามารถดูได้ครบทุกงาน หากใครจะเดินทางมาชมก็ขอแนะนำให้เผื่อเวลาสัก 1 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ

หากเริ่มต้นด้วยการย้อนไปมองอดีตที่เมืองเก่าเชียงแสน วัดป่าสัก ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางเปิดโลก ที่มาของธีมหลักนิทรรศการ ผลงานของ จิตติ เกษมกิจวัฒนา นำเอาชิ้นส่วนทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา จักรวาลและโลกธาตุ ผ่านกระบวนการวิจัยทางศิลปะและนำมาจัดวาง พูดอย่างง่ายคือเอาออกมาแบให้ผู้ชมเชื่อมโยงมิติอันหลากหลายของเชียงแสน ในฟอร์มกลองสะบัดชัยที่หน้ากลองเป็นแผ่นโลหะ ด้านหนึ่งสลักหน้ากาล สัญลักษณ์ของเวลาซึ่งกลืนกินทุกสิ่งแม้แต่ขากรรไกรล่างของตัวเอง อีกด้านเป็นข้อความบรรยายโลกธาตุที่ถูกแปลเป็นภาษาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงแสน 12 ภาษา

ร้อยกรองกาล: Kala Esemble. 2023 โดย จิตติ เกษมกิจวัฒนา

ร้อยกรองกาล, 2023 โดย จิตติ เกษมกิจวัฒนา

ร้อยกรองกาล: Kala Esemble. 2023 โดย จิตติ เกษมกิจวัฒนา

ร้อยกรองกาล, 2023 โดย จิตติ เกษมกิจวัฒนา

เรื่องราวของไท-ยวน หนึ่งในชาติพันธุ์ที่เคยอาศัยอยู่ในเชียงแสน ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นเมื่อ 200 ปีก่อนและกระจัดกระจายไปทั่วประเทศ ถูกบอกเล่าในงานของ ‘บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม’ ณ โบราณสถานหมายเลข 16 เจดีย์พองลมสีดำเงาคล้ายหลุดออกมาจากโปรแกรมสามมิติ ทุกๆ ชั่วโมง พัดลมที่เป่าเข้าตัวเจดีย์จะหยุดทำงานทำให้เจดีย์ยวบตัวลงมา อีกชิ้นคือแพยางสีดำเชื้อเชิญให้ผู้ชมขึ้นไปนั่งเล่นนอนเล่น เมื่อยุบตัวจากน้ำหนัก ไมค์ข้างในจะทำให้เกิดเสียงสะท้อน สิ่งปลูกสร้างชั่วคราวทั้งสองนั้นคงอยู่ได้ด้วยแรงอัดอากาศ กลวงเปล่า มีเปลือกนอกเป็นผ้าใบเปราะบาง ล้ม-สร้างตลอดเวลา เช่นเดียวกับการรักษาวัฒนธรรมของกลุ่มคนชายขอบด้วยการปรับเปลี่ยนแปลงตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและยุคสมัย เจดีย์และแพยางซึ่งสร้างจากฟอร์มของสิ่งปลูกสร้างที่คาดเดาว่าเคยอยู่ในพื้นที่นั้น ถูกนำมาตั้งเป็นเครื่องหมายของการกลับบ้านของชาวไท-ยวนซึ่งเป็นจริงได้เพียงในจินตนาการ

ไท-ยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและการส่งต่อ (Taiyuan Return: On Transmission and Inheritance), 2023 โดย บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม

ไท-ยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและการส่งต่อ, 2023 โดย บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม

ไท-ยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและการส่งต่อ (Taiyuan Return: On Transmission and Inheritance), 2023 โดย บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม

ไท-ยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและการส่งต่อ, 2023 โดย บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม

ตัวตนของเมืองเชียงแสนไม่ได้ประกอบสร้างขึ้นจากอดีตเท่านั้น ที่ชายแดนไทย-ลาว-เมียนมา ผลงานของ สวี่ เจีย เหว่ย (Hsu Chia-Wei) ศิลปินชาวไต้หวัน ตีแผ่เรื่องราวอันหลากหลายพัลวันของเชียงแสน ในฐานะเมืองในเส้นทางค้าฝิ่นและเมืองท่าที่มั่งคั่งจากทุนข้ามชาติในปัจจุบัน เล่าให้ผู้ชมฟังง่ายๆ ด้วยการ digitalize สิ่งที่ศิลปินได้เรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นเชียงแสน และบริบทแวดล้อมของสามเหลี่ยมทองคำ ผ่านเพลงแรปและตัวละครนักแสดงที่สามารถจะแปลงเป็นใครก็ได้ในเรื่อง พร้อมด้วย intro อันติดหูว่า “ฉันเป็นนักแสดง…” ศิลปินเลือกศูนย์ดิจิทัลชุมชน ตำบลเวียง เชียงแสนเป็นที่จัดแสดงผลงาน ย้อมกระจกด้วยฟิล์มสีแดง สร้างบรรยากาศกึ่งจริงกึ่งลวง พร้อมกับเปลี่ยนภาพพักหน้าจอของคอมพิวเตอร์ในศูนย์เป็นดอกฝิ่นให้ดูเพลินๆ ผู้ชมสามารถมองเห็นวิวคิงส์โรมัน (Kings Roman) อาณาจักรคาสิโนของผู้มีอิทธิพลชาวจีนที่อยู่ฝั่งลาวได้จากในอาคาร

ที่สามเหลี่ยมทองคำยังมีผลงานของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ที่เติมเต็มด้วยภาพวาดของผู้คนเชียงรายรวมไปถึงภัณฑารักษ์ในอริยาบถต่างๆ ในกิจกรรมวันเปิด ศิลปินฉายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ สร้างบทสนทนาว่าใครเป็นเจ้าของดินแดน หรือพรมแดนนั้นจำเป็นหรือไม่ ในบรรยากาศของตลาดที่มีทั้งอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ขวักไขว่ไปด้วยผู้ชมที่เดินทางมาจากที่อื่น ผู้คนที่อาศัยและค้าขายในพื้นที่ เป็นรูปแบบผลงานที่สร้างพื้นที่ให้คนนอกและคนในสามารถมารวมตัวกันได้

The Actor from Golden Triangle. 2023 โดย สวี่ เจียเหว่ย

The Actor from Golden Triangle, 2023 โดย สวี่ เจียเหว่ย

พูดถึงผลงานที่โดดเด่นในแง่มานุษยวิทยาแล้ว คงจะไม่พูดถึงงานเพื่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง งานที่จัดแสดงอยู่มีเนื้อหาเกี่ยวกับลุ่มน้ำโขงตามที่เราจะคาดหมายได้จากชื่อพิพิธภัณฑ์ ผลงานของ วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ เป็นการนำงานอดิเรกคือการพายเรือคายัคทางไกลมาสร้างงานแบบ long durational performance ศิลปินพายเรือล่องตามเส้นทางแม่น้ำโขงจากเชียงของไปถึงหลวงพระบางระยะทาง 300 กิโลเมตร ใช้เวลา 10 วัน ตั้งแคมป์ค้างคืนตามริมฝั่ง ซึ่งในอีกไม่นานแม่น้ำส่วนนี้จะไม่สามารถใช้เดินทางได้อีกต่อไป เนื่องจากจะมีการสร้างเขื่อนหลายแห่ง การสำรวจและบันทึกการเดินทางนี้สะท้อนครอบคลุมถึงทั้งปัญหาการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ทำลายระบบนิเวศและปัญหาฝุ่นควัน ศิลปินเปรียบเปรยเถ้าถ่านที่เกิดขึ้นจากการเผาว่าเป็น ‘ผีเสื้อสีดำ’ ซึ่งเมื่อทั้งอ่านและชมภาพถ่ายแล้วให้ความรู้สึกโรแมนติกไม่น้อย

Summer Holiday with Naga, 2019 โดย วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

Summer Holiday with Naga, 2019 โดย วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

อีกหนึ่งผลงานที่ ‘เป็นกระบอกเสียง’ ของสิ่งแวดล้อมอยู่ในอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ผลงานของเหงียน ตรินห์ ตี (Nguyen Trinh Thi) ได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานของกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมปกป้องระบบนิเวศของแม่น้ำโขงจากการการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้า ออกมาเป็นงานแสดงสดภายในหอคำ การแสดงสดที่ว่านั้นเกิดจากการจับกระแสน้ำไหลของแม่น้ำโขง ผ่านอุปกรณ์เซ็นเซอร์ ไมโครโฟนใต้น้ำ และระบบ Wi-Fi ที่ติดตั้งที่โฮงเฮียน แม่น้ำในอำเภอเชียงของ ส่งสัญญาณให้เครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ถูกวางอยู่ปะปนอยู่กับสัตภัณฑ์และตุงกระด้างโบราณล้านนา เคาะและตีโดยอัตโนมัติ บรรเลงเป็นเพลงที่ขับร้องโดยแม่น้ำโขง ส่งสัญญาณเตือนถึงความสูญเสียซึ่งมาในเปลือกของการพัฒนา

Summer Holiday with Naga, 2019 โดย วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

Summer Holiday with Naga, 2019 โดย วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

สถานที่จัดแสดงงานที่อาจจะต้องใช้เวลามากที่สุดในการเข้าชม คือหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) ผลงานที่อยู่ในหอศิลป์ต่างจากผลงานส่วนมากชิ้นอื่นๆ คือไม่ใช่งานแบบเฉพาะพื้นที่เสียทีเดียว อาคารขนาดใหญ่และพื้นที่กว้างขวางจัดแสดงผลงานของศิลปินนานาชาติทั่วโลก กลายเป็นว่าให้ความรู้สึกและประสบการณ์ที่แปลกออกไปเมื่อเข้าไปในห้องจัดแสดงสีขาว ซึ่งควรเป็นความปกติของการชมงานศิลปะ ในห้องแสดงมืดๆ ผู้นำชมแนะให้หยิบไฟฉายมาส่องดูผลงานของ โทกูดูร์ ยอนดอนแจมตส์ (Tuguldur Yondonjamts) ศิลปินชาวมองโกเลีย เหมือนได้มาส่องดูธรรมชาติของศิลปินจากรายละเอียดของผลงาน เมื่อดูมาถึงตอนนี้ทำให้รู้สึกได้ถึงความพยายามที่จะสำรวจหรือแม้กระทั่งเข้าใจบริบทของเชียงรายของศิลปินต่างชาติในระยะเวลาอันจำกัด

โทกูดูร์เกิดความสนใจเรื่องความอบอุ่น ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจจากการเยือนเชียงรายครั้งแรก แนวคิดนี้จะถูกรวมเข้ากับเรื่องแต่งของศิลปินเกี่ยวกับฐานวิจัยแอนตาร์กติกของบัลแกเรียบนเกาะลิฟวิงสตัน ซึ่งเชิญนักวิทยาศาสตร์ชาวมองโกเลียมาทำการวิจัยที่ฐานของพวกเขา งานวาดเส้นบนกระดาษที่มีลักษณะคล้ายอักษรซีริลลิกในตู้อะคริลิกใสซ้อนกันคือการอุปมาน้ำแข็งที่กำลังจะละลายเพราะได้รับความอบอุ่น (และงานถูกนำไปแจกจ่ายให้ผู้เข้าชม)

My Bulgarian Neighbor, 2023 โดย โทกูดูร์ ยอนดอนแจมตส์

My Bulgarian Neighbor, 2023 โดย โทกูดูร์ ยอนดอนแจมตส์

แม้ว่าบางผลงานจะไม่ได้มาในรูปแบบเฉพาะพื้นที่ แต่ถูกคิวเรทมาโดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับธีมหลักของเทศกาล เช่นงานวิดีโอในห้องที่ซ่อนตัวอยู่ในสุดของชั้นล่าง ถือเป็นงานที่สามารถพาเราไปมองอนาคตในตอนที่มันกลายเป็นอดีตไปแล้ว ภาพยนตร์ของ ซิน หลิว (Xin Liu) ศิลปินและวิศวกร เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในโลกอนาคต พูดถึงการตามล่าชิ้นส่วนของจรวดผ่านตัวละครที่เดินทางข้ามหมู่บ้าน ทะเลทราย เพื่อตามหาวัตถุซึ่งมีชื่อเล่นว่าหินสีขาว การมาของวัตถุนอกโลกสร้างความสั่นสะเทือนและเปลี่ยนแปลงพื้นดิน นักวิทยาศาสตร์ และความเชื่อของชาวบ้านในพื้นที่ ศิลปินพาเราไปสำรวจช่วงชีวิตของเทคโนโลยีที่สุดท้ายก็กลับมาลงมา ‘ตาย’ บนพื้นดิน

The White Stone, 2021 โดย ซิน หลิว

The White Stone, 2021 โดย ซิน หลิว | Photo courtesy of the artist and Make Room, Los Angeles

เมื่อย้อนกลับมามองหัวข้อเทศกาล ‘เปิดโลก’ นั้น อาจะไม่ต้องคิดลึกซึ้งมากนัก เพียงแปลความหมายของมันอย่างง่ายๆ ตรงไปตรงมาว่า เชิญออกไปเปิดหูเปิดตาชมสิ่งที่น่าสนใจกันได้แล้วที่ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

thailandbiennale.org
facebook.com/thailandbiennale

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *