ป้ายกำกับ: hub of photography
PINK, BLACK & BLUE
นิทรรศการที่พาเราไปสำรวจชีวิตของมานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินภาพถ่าย ผ่านสีดำ สีน้ำเงิน และการเดินทางสู่ความตายและโลกหน้าของ ‘Pink man’ ไอคอนสำคัญที่ศิลปินสร้างขึ้นมา ทั้งชวนให้เรานึกถึงเหตุการณ์การช่วงชิงความหมายของสีสันต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย
TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
เอ่ยชื่อ มานิต ศรีวานิชภูมิ เมื่อไร หลายคนก็มักจะนึกถึงพิงค์แมนเมื่อนั้น เพราะภาพถ่ายชุด Pink Man คือผลงานที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุด ทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ ถึงขนาดบางคนเคยเข้าใจว่าพิงค์แมนที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายคือตัวมานิตเองด้วยซ้ำ (จริงๆ แล้ว ผู้รับบทพิงค์แมนคือ สมพงษ์ ทวี กวีและศิลปินด้านศิลปะการแสดงสด)
มานิตสร้างตัวละครพิงค์แมนขึ้นในปี 1997 โดยวางคาแร็กเตอร์ให้พิงค์แมนเป็นชายชาวเอเชียร่างอ้วน สวมสูทผู้บริหารผ้าซาตินสีชมพูสด (shocking pink) และเดินทางไปไหนต่อไหนพร้อมรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตอันว่างเปล่าที่อยู่ในโทนสีเดียวกันกับสูทของเขา มานิตใช้พิงค์แมนเป็นตัวแทนของลัทธิบริโภคนิยมแบบสุดโต่งที่กำลังครอบงำสังคมไทย ซึ่งระดับความสุดโต่งของการบริโภคนั้นถึงขั้นที่ไม่แคร์เรื่องในสังคมอื่นใดที่ไม่เกี่ยวกับตนเองเลยก็ว่าได้ หลังจากนั้น มานิตสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่าย Pink Man ออกมาอีกหลายชุด โดยพิงค์แมนเดินทางไปปรากฏอยู่ตามสถานที่และเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยใบหน้าเฉยชาไม่ยี่หระต่อสิ่งใด ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ เช่น ‘Pink Man on Tour’ (1998) หรือแม้แต่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของประเทศ อย่าง การล้อมปราบและสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535 ในผลงานชุด ‘Horror in Pink’ (2001) มานิตก็ยังพาพิงค์แมนไปอยู่ในภาพถ่ายอันแสนสะเทือนใจด้วยสีหน้าราวกับกำลังชมมหรสพก็ไม่ปาน
ในซีรีส์ส่วนมาก พิงค์แมนจะเป็นจุดที่โดดเด่นที่สุดของภาพ หรือใน ‘Hungry Ghost’ (2003) พิงค์แมนไม่เพียงเป็นตัวละครหลัก แต่ยังมีขนาดใหญ่เหนือจริงเท่ากับอาคารสูงเสียดฟ้า ซึ่งขนาดที่ว่าก็น่าจะพอๆ กับอัตตาของตัวเขาเอง อย่างไรก็ดี ในบางซีรีส์ โดยเฉพาะ ‘Pink Man in Venice’ (2003) มานิตกลับเลือกถ่ายภาพพิงค์แมนในระยะไกล จนพิงค์แมนเหลือตัวเล็กนิดเดียว แถมในบางภาพยังยืนเหม่อออกไปในผืนน้ำกว้างและข้างกายก็ไม่มีรถเข็นสี shocking pink จนในตอนนั้น เราสงสัยไม่ได้ว่าการเดินทางครั้งต่อไปของพิงค์แมนจะเป็นอย่างไร? จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับเขาหรือไม่? หรือว่าหลังจากบริโภคทุกสิ่งทุกอย่างมาตลอดชีวิตแล้วจุดจบของพิงค์แมนจะอยู่ในรูปแบบไหน?
กว่าคำตอบที่ว่าจะมีออกมาให้เห็น พิงค์แมนก็ผ่านการเดินทางมาอีกมากมายจนกระทั่ง ปี 2018 ในซีรีส์ ‘The Last Man and the End of His Story’ (2018) มานิตถ่ายภาพแนวสตรีทดิบๆ ที่ในแต่ละภาพมีถุงใส่ศพสีชมพูวางอยู่ตามถนนหนทางในสหรัฐอเมริกา โดยมีรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตสีเดียวกันวางทิ้งขว้างอยู่ข้างๆ แน่นอน นี่คือการบอกเล่าถึงความตายของพิงค์แมน แต่เมื่อพิจารณาผลงานอีกชิ้นที่ออกมาในปีเดียวกัน นั่นคือ ‘Dropping the Pink Self’ (2018) เราก็เริ่มไม่แน่ใจว่าความตายของพิงค์แมนที่ว่าคือเสียชีวิตหรือเป็นการอุปมาถึงการละทิ้งบางสิ่งบางอย่างไป เพราะใน ‘Dropping the Pink Self’ มานิตหยิบยืมไอเดียมาจากผลงาน ‘Dropping a Han Dynasty Urn’ (1995) ของ Ai Weiwei แต่ในขณะที่ Ai ปล่อยโถโบราณจากราชวงศ์ฮั่นให้ตกลงแตกกระจายเพื่อสื่อถึงยุคสมัยแห่งการรื้อทำลายและสร้างวัฒนธรรมจีนขึ้นใหม่ พิงค์แมนปล่อยตุ๊กตาจำลองของตัวเองตกลงพื้นจนหัวขาดกระเด็น
สองผลงานดังกล่าวถูกนำกลับมาแสดงอีกครั้งในนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของมานิตที่ชื่อ Pink, Black & Blue รวมทั้งยังมีซีรีส์ใหม่ที่ต่อไปจากความตายของพิงค์แมนอีก คือ ‘Afterlife So Pink #2’ (2023) อินสตอลเลชันที่มีตุ๊กตาจำลองพิงค์แมนอยู่บนเรือไม้ สัญลักษณ์สากลที่เปรียบเสมือนการข้ามผ่านไปสู่โลกหลังความตาย แต่เพราะเป็นพิงค์แมน บนเรือจึงมีเศียรพระพุทธรูปวางอยู่และเรือนั้นก็อยู่ในอ่างเป่าลมสำหรับเด็กที่มีลวดลายเป็นสัตว์ทะเลแบบคิชๆ (kitsch) ส่วนผลงานอีกชุดคือ ‘Heavenly Pink’ (2023) พิงค์แมนไปปรากฏอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังไทยโบราณ ตั้งแต่รูปสวรรค์ชั้นฟ้าที่รายล้อมไปด้วยเทวดานางฟ้า ในพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าเจอกับองคุลีมาล หรือแม้แต่ในจิตรกรรมฝาผนังของขรัวอินโข่ง (ผลงานศิลปะของศิลปินหัวก้าวหน้าในอดีตที่ศิลปินไทยร่วมสมัยหลายคนหยิบมาใช้ในผลงานของตัวเองในช่วงที่ผ่านมา) การเดินทางของพิงค์แมนในซีรีส์นี้เปิดกว้างการตีความได้มันพอๆ กับภาพที่มานิตสร้างขึ้นมา เพราะเราสามารถจะคิดไปได้ตั้งแต่ว่า นี่คือการเดินทางของพิงค์แมนหลังปลดแอกตัวเองออกจากการบริโภค หรืออาจเป็นแค่ความฝันของเขาเองที่แม้จะตายไปแล้วแต่ก็ยังไม่หมดความปรารถนา
เรื่องของพิงค์แมนจัดอยู่ในส่วนของ Pink หนึ่งในเฉดสีที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการ Pink, Black & Blue ส่วนอีกสองเฉดสีที่เหลือคือ Black หมายถึง ‘When I was Twenty’ งานภาพถ่ายขาวดำของมานิตสมัยยังเป็นนักศึกษา และ Blue คือในส่วนของ ‘I Saw A Blue Wing’ ภาพถ่ายที่มานิตใช้การ snapshot เรื่องราวและผู้คนต่างๆ ที่พบเจอระหว่างการเดินทางไปร่วมเทศกาลงานศิลปะในต่างประเทศ โดยผลงานทั้งสองส่วนนี้ แม้จะไม่ได้มีเนื้อหาเข้มข้นเหมือน Pink แต่ก็ทำให้เรารู้จักตัวตนของมานิตมากขึ้น โดยเฉพาะความขบถ (Black) ที่มีให้เห็นตั้งแต่ในงานสมัยเป็นนักศึกษาและอารมณ์ขันที่บางครั้งติดตลกร้ายนิดๆ (Blue) ในภาพ snapshot ซึ่งทั้งสองส่วนยังคงเป็นลักษณะที่เราพบในการทำงานศิลปะของเขาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี บทบาทสำคัญของ Black และ Blue ที่เข้ามาอยู่ร่วมกับ Pink ไม่น่าจะหมดเพียงแค่นั้น แต่การที่มานิตเลือกใช้โทนสีมากกว่าแค่สีชมพูเพียงอย่างเดียวในครั้งนี้ น่าจะเป็นความต้องการของเขาที่จะพูดถึงการสร้างความหมายเฉพาะให้กับ ‘สี’ แต่ละสีในสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การใช้สีเพื่อบ่งบอกจุดยืนทางการเมือง หรือแม้แต่อาจย้อนไปถึงการใช้สีเพื่อสื่อถึงความเป็นชาติ
ไม่ว่าการสร้างความหมายดังกล่าวจะเป็นไอเดียของใคร มีจุดประสงค์แท้จริงเพื่ออะไร หรือตื้นเขินแค่ไหน แต่มันก็ได้กลายเป็นสิ่งที่เราทุกคนต่างยอมรับโดยทั่วกัน จนทำให้คนเสื้อแดงหลายคนไม่ยอมใส่เสื้อเหลืองอีกเลย และคนเสื้อเหลืองก็จะไม่มีวันหยิบเสื้อแดงมาใส่ออกจากบ้าน (ยกเว้นตรุษจีน) สำหรับมานิต การให้ความหมายแก่สีนี้ทำให้สังคมไทยแตกออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ซึ่งก่อให้เกิดการแช่แข็งของประเทศ รวมทั้งในด้านเศรษฐกิจที่วางอยู่บนบริโภคนิยม โดยเราจะเห็นความคิดเห็นของเขาในเรื่องนี้ได้จาก ‘Afterlife So Pink #1’ อินสตอลเลชันที่เขาเอาตุ๊กตาจำลองพิงค์แมนไปใส่ไว้ในก้อนเรซินที่ทำให้เหมือนก้อนน้ำแข็ง และจัดวางอยู่บนถังน้ำแข็งสีน้ำเงินและแดง ส่วนอินสตอเลชันอีกชิ้นที่เหลือ ‘Stay Pink’ (2023) ที่รถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตของพิงค์แมนมีสายน้ำเกลือห้อยระโยงระยางอยู่เต็มไปหมด ก็คือความพยายามรักษาการบริโภคของผู้คนในสังคมไว้ เพราะแม้การแตกแยกในสังคมอาจเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นปกครอง แต่เมื่อการบริโภคถูกกระทบกระเทือน ทุนนิยมก็ด้อยลงตาม และชนชั้นสูง-นายทุนก็สูญเสียผลประโยชน์
ในซีรีส์ Pink Man ของมานิต พิงค์แมนคือชายในชุดสูทสีชมพูผ้ามันวาวดูน่าขยะแขยง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง พิงค์แมนอาจอยู่ในเสื้อหรือสูทสีอื่นก็เป็นได้ และก่อนที่จะมองเห็นได้ว่าใครกันแน่ที่คือพิงค์แมน เราอาจต้องข้ามผ่านความหมายของสีที่ฉาบไว้เพียงผิวเผินภายนอกเสียก่อน
นิทรรศการ Pink, Black & Blue: A Solo Photographic Exhibition by Manit Sriwanichpoom จัดแสดงที่ Hub of Photography (HOP) ชั้น 3, MUNx2 ศูนย์การค้าซีคอนแสควร์ ศรีนครินทร์ จนถึงวันที่ 9 เมษายนนี้