Tag: photographs
PHOTO ESSAY : CLUSTERED OF PATTERNS
TEXT & PHOTO: JUTI KLIPBUA
(For English, press here)
กลุ่มมวลของลวดลาย
การตกแต่งในสถาปัตยกรรมไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น การใส่รายละเอียดอาจมองเป็นเพียงงานตกแต่งเพื่อแสดงความวิจิตรงดงาม แต่ส่วนตัวของผมนั้นการสนใจรายละเอียดเหล่านี้ ในฐานะที่ทำหน้าที่ลดทอนสัดส่วนของอาคาร ลดความแข็งทื่อของจังหวะการปะทะกันของส่วนประกอบต่างๆ ผมเริ่มสนใจถ่ายภาพรายละเอียดส่วนต่างๆของอาคารเหล่านี้เก็บไว้เมื่อมีโอกาส ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสมัยเรียนสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในยุคนั้นช่างน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักศึกษาอย่างเรา สถาปัตยกรรมไทยที่เห็นตามวัดวาที่ผ่านตามาตั้งแต่เด็กจนโตไม่อยู่ในความสนใจเท่าไรนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป จากประสบการณ์การทำงานและการเดินทาง ได้ขัดเกลาส่งผลต่อความเข้าใจในความงามและเชิงการช่างและงานฝีมือมีมากขึ้น ยอมรับเลยว่ากล้องของผมก็เต็มไปด้วยภาพถ่ายการย่อมุม ขอบหน้าต่าง การติดกระจกสี และรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมไทยและจนขยายไปถึงของประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ที่ได้มีโอกาสไปเยือนมากมาย
ผมชอบที่วิธีการถ่ายเจาะและอัดจังหวะให้รายละเอียดเหล่านี้อยู่ในเฟรมเดียวกันโดยไม่ได้เสนอให้เห็นภาพใหญ่ของอาคารมากนัก หลายๆ ครั้งรายละเอียดเหล่านี้ก็กลายเป็นรูปทรงของสถาปัตยกรรมด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นเหมือนขอบของแถวอาคารวัดวาโบราณต่อเนื่องกันเป็นแถวๆ และให้มุมมองคล้ายกับลวดลายผ้าหรือ graphic design ที่เป็นเอกลักษณ์ของช่วงยุคนั้นๆ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่องานออกแบบของผมเอง ไม่ว่าจะการใช้ pattern หรือ scale ต่างๆ กันอย่างตรงไปตรงมาหรือลดทอนนำเฉพาะสันหรือเส้นขอบบางส่วนไปใช้ทั้งในงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน และงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของ JUTI architects สิ่งที่เห็นจนชินตาตั้งแต่เด็ก กลายเป็นสิ่งที่เราอยากจะสานต่อ ถ่ายทอดลงไปในสถาปัตยกรรมในยุคสมัยปัจจุบัน รายละเอียดที่เมื่อก่อนในความคิดว่าเป็นเพียงความวิจิตร ปัจจุบันสำหรับผม คือ จังหวะสัดส่วน และคุณค่าเชิงการช่างและศิลปะที่ร่วมสมัยอันงดงาม
___________________
จุติ กลีบบัว ผู้ก่อตั้งและ design director ของบริษัท จุติ อาร์คิเท็คส์ จำกัด (JUTI architects) นอกเหนือจากความสนใจในงานสถาปัตยกรรมตามสายงานอาชีพแล้วยังมีความสนใจในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบรถยนต์ และภาพถ่าย ปัจจุบันงานอดิเรกที่ใช้เวลาส่วนใหญ่คือการถ่ายภาพ และกำลังฝึกฝนให้งานภาพถ่ายออกมาในรูปแบบ abstract photography จากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นชินในวันทำงานทั่วไปของเขา เช่น ไซต์งานก่อสร้าง เมืองระหว่างรถติด ธรรมชาติรอบตัวในไซต์งานต่างจังหวัด
BLOOMS WITH THE WIND BLOWS
นิทรรศการภาพถ่ายของ มาริษา ศรีจันแปลง นำเสนอความทรงจำของเหตุสังหารหมู่โดยเขมรแดง ผ่านภาพกอดอกหญ้าที่ผุดขึ้นกลางพื้นที่รกร้าง แทนที่ภาพความรุนแรงอันประจักษ์ชัด
PHOTO ESSAY : THE REFLECTIONS OF OUR IMAGINED REALITIES
TEXT & PHOTO: NATTAKORN CHOONHAVAN
(For English, press here)
ผมตั้งโจทย์ก่อนการเดินเท้าไปถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ ว่าจะต้องมีคำว่า ‘สะท้อน‘ และ ‘สองด้าน’ เป็นตัวตั้ง เมื่อบังเอิญเจอภาพเหตุการณ์ที่ตรงกับโจทย์ของผม ผมจึงถ่ายเพื่อบันทึกเก็บเอาไว้ แล้วค่อยนำภาพเหล่านั้นมาวิเคราะห์ถึงความหมายที่ลึกลงไป ตัวอย่างเช่น ภาพสะท้อนจากน้ำซึ่งทำให้โลกบิดเบี้ยว กลับด้านและถูกดัดแปลงไป ทำให้ผมนึกถึงทฤษฎีของโลกคู่ขนาน หรือภาพใบบัวที่ถูกทับซ้อนกับตึกคอนกรีต ทำให้ผมนึกถึงการที่มนุษย์เปรียบเสมือนผู้เสพบัว (Lotus Eater) ในวงจรของระบบทุนนิยม หรือภาพผีเสื้อที่โบยบินอยู่ในกรง ทำให้ผมนึกถึงอิสรภาพของมนุษย์ที่แม้จะติดอยู่ในวงจรของสังสารวัฏ แต่ก็มีจิตใจที่โบยบินและจินตนาการถึงอิสรภาพ โจทย์ตั้งต้นที่กล่าวมา ทำให้ผมนึกถึงปรัชญาต่างๆ ของการมีชีวิต ผ่านภาพของวันธรรมดาของผม
Freedom in The Cage
แม้ร่างกายของผีเสื้อจะถูกขังในกรง แต่จิตใจของมันยังโบยบินไปที่อื่นได้ เปรียบดั่งจินตนาการของมนุษย์ที่ค้นหาอิสรภาพ และความหมายของชีวิต แม้จะติดอยู่ในระบบของสังคม กฎต่างๆ มิติที่เราอยู่ และ สังสารวัฏ เราก็ยังต้องมีจุดหมาย และตามหาความหมายของชีวิตให้ได้
The Reversed World and The Lotus Eater
หมายถึง การที่เรามีชีวิตอยู่ในสังสารวัฏที่ไม่มีวันสิ้นสุด และโลกคู่ขนานที่ขยายออกไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะในโลกไหน เราก็อาจกลายเป็นผู้กินบัว/ผู้เสพบัว (มาจาก Lotus Eater ในเทพนิยายกรีก คือกลุ่มคนที่กินบัวเพื่อให้ ตัวเองมีความสุข แต่จะทำให้ลืมสิ่งต่างๆ ในชีวิต) ที่คอยวิ่งตามกิเลสและความอยากได้อยากมีไม่รู้จบ หากเราไม่ตระหนักถึงแก่นแท้และความหมายของการดำรงอยู่อย่างถ่องแท้
The Other Me (s) and The Dividing between the Two Worlds
ทุกครั้งที่เห็นภาพสะท้อนบนน้ำ หรือกระจก ผมจะนึกถึงมิติอื่นๆ ที่เชื่อว่ามีอยู่ในจักรวาลนี้ สองภาพนี้จึงเป็นการ สะท้อนเราในมิติอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่ามีหลายมิติมาก แต่ไม่ว่าจะอยู่ในมิติไหน เราก็ยังต้องต่อสู้ในสิ่งที่เราต้องการ และปีนไต่ขึ้นไปเพื่อไปยังจุดหมายที่เราใฝ่ฝัน รวมถึงการพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เช่นกัน
The Encounter
เป็นภาพที่มองได้หลายมุม บางคนมองว่าเหมือนรูปสมอง บางคนมองว่าเหมือนรูปปอด แต่สำหรับผมมองว่า เหมือนกับภาพคน 2 คนที่ใส่หน้ากากแล้วเผชิญหน้าเข้าหากันและกัน ซึ่งการเผชิญหน้านี้ก็แปลได้สองความหมาย อย่างแรกคือเวลาเราใส่หน้ากากเราจะเป็นใครก็ได้ที่เราอยากจะเป็น และอย่างที่สองคือเมื่อเราใส่หน้ากาก ก็เหมือนกับมีอะไรบางอย่างมากั้นหน้าเรา ทำให้เรามีพื้นที่ที่จะสื่อสัตย์กับสิ่งที่เราเป็น และเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด
_____________
ณัฏฐกรม์ ชุณหะวัณ ปัจจุบันเป็น founder และ designer ของแบรนด์เครื่องประดับ Middle M Jewelry ชื่นชอบการเดินเท้าเพื่อบันทึกภาพด้วยกล้องฟิล์ม เพราะการเดินทำให้สังเกตเรื่องราวของผู้คนที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น ณัฏฐกรม์มักใช้แสง เงา หรือการสะท้อน มาเป็นองค์ประกอบในการสร้างมิติ ให้แก่ภาพที่ถ่าย องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ภาพบันทึกของวันธรรมดากลายเป็นสิ่งพิเศษ ในการ บันทึกชีวิตประจำวันของผู้คนด้วยภาพฟิล์ม ณัฏฐกรม์มักจะใส่ความรู้สึกและความหมายที่ตีความ เข้าไปในเทคนิคของมุมกล้อง ระยะ และจังหวะเสมอ
PHOTO ESSAY : WAT ARUN
TEXT & PHOTO: TANAGON TIPPRASERT
(For English, press here)
ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน วัดอรุณราชวรารามหรือวัดอรุณฯ เป็นวัดสำคัญที่คนไทยหรือชาวต่างชาติคุ้นเคยกับภาพความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ กันเป็นอย่างดี แต่จริงๆ แล้วมุมมองแปลกใหม่ยังคงมีซ่อนอยู่ให้ได้ค้นหาในทุกๆ ครั้งที่ได้เข้ามาเยี่ยมชม รวมไปถึงบริเวณรอบๆ ที่ยังน่าสนใจและรู้สึกประทับใจทุกครั้งที่ได้มา สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้การเดินชมวัดอรุณฯ เต็มไปด้วยความสนุก น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากชาติต่างๆ เป็นมุมมองจากเขาสู่เรา เพราะจะมีทั้งการบริการแต่งกายชุดไทยเพื่อให้ความรู้สึกสมจริงเหมือนย้อนเวลากลับไปในยุคเก่า เพิ่มความสนุกสนานในการเดิมชมวัด ถึงแม้ในบางวันที่อากาศอาจจะร้อนมากเป็นพิเศษ แต่นักท่องเที่ยวทุกคนยังดูมีความเพลิดเพลิน รวมไปถึงการเดินทางมายังวัดอรุณฯ ก็มีทั้งทางรถและทางเรือที่บริการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมได้อย่างสะดวก ภาพชุดนี้เลยอยากนำเสนอมุมมองและจังหวะที่พิเศษดูแปลกใหม่ ให้ผู้ชมภาพได้จินตนาการต่อ และอยากให้ความเป็นวัดอรุณฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงอยู่ตลอดไป
__________
ธนากร ทิพย์ประเสริฐ เป็นช่างภาพอิสระและรับถ่ายภาพ wedding มีความสนใจชื่นชอบการถ่ายภาพสตรีทและสารคดี
PHOTO ESSAY : EVERYDAY LIFE OF AN ASTRONAUT
TEXT & PHOTO: UTYUIROIRO
(For English, press here)
ภาพถ่ายชุดนี้คือ ‘เหตุการณ์พิลึกพิลั่นในวันสามัญธรรมดา’ จากการปรากฏตัวของนักบินอวกาศในแต่ละวัน
พอเราดูภาพถ่ายพวกนี้แล้ว เรารับรู้ได้ถึงอารมณ์อันหลากหลาย ทั้งน่าเอ็นดู น่ากลัว น่าค้นหา บางคนก็รู้สึกถึงความอ้างว้างภายในตนเอง
นี่คือมนุษย์อวกาศที่อยู่ในภาพจำของผู้คนทั่วโลก ไร้ซึ่งอัตลักษณ์จำเพาะเจาะจงใดๆ และเพราะสิ่งนี้เอง ทุกคนจึงจินตนาการถึงสถานการณ์ในภาพได้อย่างอิสระ
ผมรู้สึกว่ามันเหมือนนิยายไซไฟ
คำว่า ‘Dépaysement’ ในแวดวงศิลปะแบบ surrealism หมายถึงการเคลื่อนย้ายสิ่งของบางอย่างออกจากบริบทที่ควรจะเป็นไปไว้ที่อื่นแล้วเกิดความแตกต่างขึ้นมา
ภาพถ่ายนี้เรียกว่าเป็นการ Dépaysement ได้ด้วยเช่นกัน
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ ความก้าวหน้าด้านอวกาศจากบริษัทเอกชน อย่าง SpaceX จะสร้างแรงกระเพื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ และการท่องอวกาศกลายเป็นความจริง ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป
ในอนาคตที่วาดฝันไว้ มีความเป็นไปได้ว่าใครๆ ก็เป็นนักบินอวกาศได้
ดังนั้น ความรู้สึกผิดที่ผิดทางจาก ‘การปรากฏตัวของนักบินอวกาศในชีวิตประจำวัน’ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเท่าไรนักในภายภาคหน้า
นี่ถือเป็นการแสดงออกถึงการเปิดรับความก้าวหน้าทางอวกาศในอนาคตได้เลยทีเดียว
_____________
Utyuiroiro เป็นช่างภาพชาวญี่ปุ่น จบการศึกษาจาก Osaka University of Arts เขาทำชุดนักบินอวกาศเป็นของตัวเองและเริ่มต้นถ่ายภาพชุด ‘Everyday Life of an Astronaut’ ในปี 2020 นอกจากนี้เขายังผลิตผลงานวิดีโอแนวไซไฟอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง ‘KAIJYU’