THE EXTENSION OF THE ARTICLE ‘BEHIDE THE SHOW : HUMANIMAL, PUBLISHED IN ART4D 267 ‘CRAFTING’, WE SPEAK WITH DUJDAO VADHANAPAKORN ABOUT WHAT SHE REALLY EXPERIENCED WHILE SHE WAS TURNED INTO THE SUBJECT OF THE SHOW SHE CREATED
TEXT: SUTEE NAKARAKORNKUL
PHOTO COURTESY OF 100 TONSON GALLERY
สัตว์มนุษย์ (Humanimal) เป็นศิลปะเพอฟอร์แมนซ์โดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนิยาย ‘สัตว์มนุษย์’ (เขียนโดย พ.ต.อ. ลิขิต วัฒนปกรณ์ คุณปู่ของเธอ) เธอนำเนื้อหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนายทุนและชาวนาที่คืบคลานเข้ามาในพื้นที่ชนบท (ซึ่งเผยให้เห็นถึงสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ และเกราะกำบังที่ถูกสร้างขึ้นมาปกปองให้ตนเองรู้สึกถึงความปลอดภัย) มาตีความใหม่เป็นกระบวนการทดลองที่นักแสดงรับเชิญในรอบการแสดงของแต่ละวัน จะถูกขอให้เข้าสู่สภาวะปลดอาวุธ (disarm) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ถูกทดลองจะเกิดความรู้สึกหวั่นไหว เปราะบาง และแหว่งวิ่น ผ่านชุดคำถาม เช่น ลองตอบแบบตรงข้ามกับใจ ตอบแบบจริงใจ ไม่ประดิษฐ์คำตอบ ฯลฯ ในระหว่างนั้น เขาจะถูกสายตาของคนแปลกหน้า (ผู้ชม) จ้องมอง และค่อยๆ ปอกเปลือยเกราะกำบังที่พวกเขาห่อหุ้มอยู่ออกมาทีละชั้นและเผยให้เห็นถึงความเป็นสัตว์มนุษย์ที่ซ่อนเร้นอยู่ข้างใน
art4d ได้มีโอกาสพูดคุยกับดุจดาว ถึงกระบวนการเบื้องหลัง เซ็ตติ้งของงาน และการเตรียมงานในส่วนต่างๆ (ซึ่งได้ตีพิมพ์ใน art4d เล่มที่ 267 ‘Crafting’ สามารถซื้อได้ทาง https://art4d.com/product/art4d-267) อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของหน้ากระดาษที่ทำให้เราไม่สามารถเล่าเรื่องราวทั้งหมดได้ บทความออนไลน์ชิ้นนี้จึงทำหน้าที่เป็นส่วนขยายของบทสนทนากับดุจดาวภายในเล่ม
ในการแสดงทั้งหมด 16 รอบ ดุจดาวบอกกับ art4d ว่า มีเพียงสองรอบเท่านั้นที่ดูเหมือนจะมีความแตกต่างไปจากรอบอื่นๆ นั่นคือรอบการแสดงที่เธอเข้าไปอยู่ในห้องเสียเอง และถูกนักจิตบำบัดสองคนทำหน้าที่ถามคำถามตามที่เธอลิสต์ไว้ “ตอนที่เราเป็นคนถูกถามของทั้งสองรอบ ความรู้สึกก็ไม่เหมือนกัน” การพูดคุยกับดุจดาวครัั้งนี้ เป็นการย้อนถามถึงความรู้สึกบางอย่างที่ยังค้างเติ่งอยู่ในตัวเธอตลอดมา
การแสดงรอบแรกของดุจดาวเป็นรอบเกือบสุดท้ายของการแสดง 8 รอบแรก ก่อนที่จะหยุดพักสองสัปดาห์ แล้วจึงแสดงต่ออีก 8 รอบที่เหลือ “นั่นแปลว่าก่อนหน้านี้เราทำงานหนักกับงานนี้ติดกันมานานมากๆ ทั้งการเตรียมงาน การเซ็ทอัพ เราอยู่ในภาวะที่เหนื่อยจนเรียกว่าน่วมทั้งกายทั้งใจ บวกกับก่อนเริ่มการแสดงเราค่อนข้างประหม่า เดินงุ่นง่านไปมาตลอดก่อนเริ่มการแสดง เพราะเราเข้าไปดูเซ็ทว่าเรียบร้อยไหมไม่ได้ เมื่อไม่ได้เตรียมอะไรเลย เราจึงรู้สึกร้อนรนตั้งแต่ก่อนเข้าไปในห้องทดลอง”
“พอเหนื่อยมากขนาดนั้น เมื่อเข้าไปในห้อง เราก็พร้อมที่จะพร่างพรูสิ่งต่างๆ ออกมาหลายอย่าง ความเหนื่อยทำให้เราลดอาวุธตัวเองได้ง่ายและจัดการภาวะไม่ปลอดภัยก่อนเริ่มไม่ได้ เราไม่ยี่หระกับภาพพจน์อะไร เพราะตอนนั้นก็เหนื่อยมากจนอยากจะระบาย และก็เอาหลายอย่างออกจากตัวอยู่แล้ว เราหายไปในห้วงตัวเองอย่างตั้งใจ เพราะเราเหมือนรู้คำถามมาก่อนหน้านี้ นั่นมันยิ่งทำให้เรากล้าที่จะปล่อยตัวเองไปเลย”
ก่อนการแสดงทุกรอบจะเริ่มต้นขึ้น ดุจดาวได้มีการซักซ้อมกับทีมนักแสดงทั้งหมดสองครั้ง เพื่ออธิบายคอนเซ็ปต์ของการแสดงครั้งนี้ นั่นหมายความว่าดุจดาวน่าจะรู้คำถามและมีโอกาสได้เตรียมตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว
“เรารู้คำถามนะ เพียงแค่เราไม่เคยซ้อมหรือทำงานกับมันเหมือนอย่างคนอื่นๆ แล้วก็ไม่ได้คิดคำตอบมาก่อน ตอนตอบเราก็จะตอบยากแล้วก็ใช้เวลานาน เราเป็นคนเดียวในการแสดงที่ไม่เคยซ้อมถูกถามเรื่องส่วนตัวแบบนี้ ไม่เคยโดน reflect จริง ตอนนั้นมันก็เหวอๆ แล้วก็มีผลต่อตัวเรามากๆ”
“ส่วนรอบสอง เราไม่ได้เหนื่อยจากการทำงานอัดๆ กันมาเหมือนรอบแรก สภาวะก่อนเข้าห้องมันก็ไม่ได้เหนื่อยขนาดนั้น ทำให้วันที่สองเราเจออาวุธเราจริงๆ เต็มเนื้อเต็มตัวไปหมดตอนที่ถูกถาม แล้วเราก็มีอาวุธเยอะมาก ปลดอันนึงปุ๊บเผลอแป๊บเดียวอีกอันนึงก็วิ่งมาให้ใช้งานปั๊บ เป็นอย่างนี้อยู่หลายห้วง เราเลยค่อนข้างทรมานกับการปลดอาวุธของตัวเองในการถูกถามรอบที่สอง แต่ก็สนุกดีนะ” ดุจดาวอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการแสดงทั้งสองรอบให้เราฟังอย่างเห็นภาพ ก่อนที่เธอจะประมวลประสบการณ์ทั้งหมด และคิดย้อนไปสู่การค้นตัวตนข้างในของเธอว่ามีความเป็นสัตว์มนุษย์อยู่หรือไม่
“สรุปก็คือ รอบแรก งานทำงานกับใจและตัวตนเราอย่างลึกซึ้ง เพราะเราไม่มีแรงจะติดเกราะให้ตัวเองมากนัก เราปล่อยให้ข้อมูลในอดีตไหลออกมาเจอหน้ากันกับเราในปัจจุบัน แล้วยอมให้เสียงสะท้อนของผู้ถามเข้ามาทำงานกับใจเราแบบไร้แรงต้าน ส่วนรอบสอง เราสนุกกับการปลดอาวุธตัวเอง เจอความมีอาวุธเป็นคลังๆ ของตัวเองมากจนอีกนิดจะเกิดเป็นความรำคาญและดูถูกตัวเอง เราได้เห็นว่าตัวเรานี่หล่อหลอมออกมาจากเบ้าของความไม่มั่นคงอย่างแท้จริง เราจึงมีระบบติดอาวุธแบบอัตโนมัติให้ตัวเองมากขนาดนี้”