ONE MORE SHOT, PLEASE

THIS NEW TYPOLOGY OF ARCHITECTURE IS SET TO BE ANOTHER WEDDING VENUE IN TOWN FOR PEOPLE TO TAKE THE PERFECT SNAP AT ANY CORNER

TEXT: PITI AMRARANGA
PHOTO: WEERAPON SINGNOI EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

1,000,000,000,000 หรือ หนึ่งล้านล้าน คือจำนวนภาพถ่ายโดยประมาณที่คนทั้งโลกผลิตในปี 2018 อัตราการเติบโตนี้มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นไปได้ว่าภายในหนึ่งวัน พวกเราชาวโลกอาจจะถ่ายรูปรวมกันเป็นปริมาณมากกว่าภาพถ่ายในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยุคที่การถ่ายภาพจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ เทคโนโลยีทำให้ปัจเจกบุคคลยุคนี้ผลิตภาพถ่ายอย่างง่ายดายและเปลี่ยนวิธีการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับโลกต่างไปจากเดิม มีการถ่ายรูปเพื่อเช็คอินว่าเราพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่แบบไหน เรากำลังเสพหรือครอบครองสิ่งใด ทุกภาพถ่ายกลายเป็นสิ่งที่มีความหมาย และเมื่อเราถ่ายรูปได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรหลายอย่างจึงต้องเสกตัวเองให้กลายเป็นสิ่งพิเศษ อาหารการกินต้องหน้าตาดีขึ้น สถานที่ก็ต้องมีลักษณะเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่ามันจะช่วยส่งเสริมบุคคลในภาพให้โดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางมหาสมุทรของภาพถ่ายมากมายหลายล้านใบในโลกโซเชียล

เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยนงานออกแบบก็เลยเปลี่ยนตาม และถ้าต้องตอบว่าวันไหนเป็นวันที่ใครสักคนจะถูกถ่ายรูปมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นวันแต่งงานโดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ด้วยความคิดที่ว่ามันจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิต มันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกอย่างต้องถูกเตรียมการอย่างสมบูรณ์แบบ อีกทั้งการจัดงานแต่งงานในโรงแรมก็อาจจะดูธรรมดาเกินไปแล้วในยุคนี้ เพราะมันคือสถานที่อเนกประสงค์สำหรับจัดงานอะไรก็ได้ จึงไม่แปลกใจว่า (ถ้าเลือกได้) ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงย้ายฐานมาจัดงานแต่งงานในสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อความเหมาะสมกับกิจกรรมในงานแต่งงานโดยเฉพาะ


Photo: Ketsiree Wongwan

โครงการ AUBE หรือ ‘โอบ’ เป็นสถานที่จัดงานแต่งงานขนาด 1,500 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนถนนราชพฤกษ์ ออกแบบโดย PHTAA living design พวกเขาเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในงานแต่งงานทั่วๆ ไป ซึ่งสิ่งที่เห็นก็มีการจัดดอกไม้ การจัดฉากต่างๆ แต่มันยังขาดความรู้สึกถึงสถานที่ หรือ sense of place ที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้กับผู้ใช้งาน เหมือนเวลาเราไปเที่ยวในสถานที่ที่จัดภาพขนาดใหญ่เอาไว้ให้เราเข้าไปถ่ายรูปหรือไปแอ๊คท่ากับภาพบนกำแพงนั้น (ทั้งๆ ที่ตรงนั้นมันเป็นแค่ทางเดินไม่ได้มีความหมายอื่นใด) รูปแบบการสื่อสารที่ชัดเจนมากเกินไปแบบนี้เป็นสิ่งที่สถาปนิกต้องการหลีกเลี่ยง พวกเขาคิดว่ามันไม่จำเป็นเลยที่จะต้องทำให้ตัวอาคารไปปรากฏตัวอยู่ในรูป แต่อาคารควรจะมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมความรู้สึกให้ผู้มาเยือนได้รื่นรมย์ไปกับสถานที่ที่ช่วยให้ความสุขไปปรากฏอยู่บนสีหน้าท่าทางซึ่งเป็นสิ่งนี้ต่างหากที่ควรจะถูกบันทึกไว้ในภาพถ่าย ดังนั้นสถานที่นั้นๆ จึงต้อง “หลบซ่อน” ตัวเองจากเฟรมกล้องได้ด้วยในบางกรณี เป็นสาเหตุให้ตัวเพดานถูกยกสูงขึ้นไป 6 เมตร จากคำแนะนำของช่างภาพที่อยากให้การถ่ายภาพเน้นไปที่ตัวคนมากกว่าตัวสถาปัตยกรรม อย่างกรณีที่เราจะถ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาว เราก็ไม่ควรเห็นส่วนโค้งเว้าด้านบนของตัวอาคารเลย

แนวคิดทางการออกแบบของโครงการคือ การวางแปลนเรียงไปตามกิจกรรมในพิธีการแต่งงาน เริ่มต้นที่การแห่ขันหมากจะจัดขึ้นที่ทางเดินด้านหน้าทอดตัวยาวตามแนวซุ้มประตูโค้ง บีบทางเดินให้แคบเพื่อความสวยงามในการจัดริ้วขบวน สุดทางเดินจะเป็นคอร์ทด้านในที่มีอาคารล้อมรอบแล้วส่งต่อมาที่อาคารเล็กหลังแรกที่ใช้สำหรับจัดงานเลี้ยงพระทำพิธีหมั้นซึ่งออกแบบเวทีวางไว้ทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งสำหรับจัดพิธีสงฆ์ อีกด้านสำหรับพิธีหมั้นซึ่งเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องกันไม่เสียเวลาในการจัดเตรียมสถานที่ระหว่างทางเชื่อมสู่อาคารหลัง โดยทั่วไปงานแต่งงานจะเกิดขึ้นในอาคารเดียวกัน แต่ที่นี่เลือกแบ่งอาคารออกเป็นสองหลังเพื่อให้สามารถจัดสองงานพร้อมกันได้ เป็นธรรมเนียมไปแล้วที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องโยนดอกไม้ บริเวณคอร์ทตรงกลางมีบันไดวนขึ้นไปสู่พื้นที่ยกระดับเพื่อทำกิจกรรมนี้ในจุดที่เป็นไฮไลท์ที่แขกในงานสามารถมองเห็นได้จากหลายมุมมอง จุดสุดท้ายคือบริเวณห้องจัดงานหลักที่จุคนได้ 290 คน เป็นพื้นที่กลางๆ ที่เตรียมไว้สำหรับการตกแต่งเพิ่มเติม เพดานเป็นหลังคาโปร่งที่ช่วยกระจายแสงให้ผ่านเข้ามาได้ในปริมาณที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพเหมือนเป็น soft box สำหรับถ่ายภาพขนาดใหญ่ ด้านในยังมีการเตรียมพื้นที่โยนดอกไม้สำรองเอาไว้ในกรณีที่มีฝนตกอีกด้วย


Photo: Ketsiree Wongwan

ในการออกแบบรูปทรง สถาปนิกต้องการสร้างสิ่งที่มีความคาบเกี่ยว นั่นคือไม่ใช่ตะวันตกแต่ก็ไม่ได้เป็นไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ล้อรับไปกับลักษณะของพิธีกรรมในงานแต่งงานของคนไทยที่เราปรุงกันขึ้นมาใหม่ตามความชอบ เช่น การเอาการแห่ขันหมาก และพิธีหมั้นแบบไทย การยกน้ำชาแบบจีน การตัดเค้กหรือการโยนดอกไม้แบบตะวันตกมารวมไว้อยู่ในงานเดียว เช่นเดียวกันกับการออกแบบอาคารที่ก็ต้องการให้มีความผสมผสาน นำบริบทการใช้งานแบบไทยและความเป็นสากลรวมกันอยู่ในตัวสถาปัตยกรรม

สถาปนิกนำรูปแบบของตัวอาคารที่เป็น arch หรือ ช่องโค้ง มาใช้ในการออกแบบ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ “สวยง่าย” และได้รับความนิยมจนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ พวกเขาแก้ปัญหาความซ้ำนี้ด้วยการถอดรหัสช่องโค้งใหม่ ด้วยการผ่า arch ออกครึ่งส่วน แล้วนำ arch ครึ่งส่วนที่ได้มาจัดเรียง ย่อขยาย ประกบ ฯลฯ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการสร้างรูปทรงใหม่ๆ จนออกมาเป็นวิธีก่อรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์ของโครงการ AUBE โดยเฉพาะ มีการวางช่องโค้งในแนวตั้งแนวนอน และประกอบขึ้นใหม่ในรูปทรงสามมิติจนเกิดเป็นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าสนใจ ในส่วนของงานวิศวกรรมก็มีการจัดการการผลิตช่องโค้งด้วยโฟม ElFS ซึ่งมีน้ำหนักเบาและจัดการง่ายกว่าแบบเดิมที่ออกแบบไว้เป็นคอนกรีต ทำให้ได้ช่องโค้งที่มีความสมบูรณ์ ลดปัญหาการขาดแคลนช่างฝีมือที่ต้องประจำการอยู่หน้างาน โดยทดสอบก่อนผลิตขึ้นงานจริงด้วยการทำแบบจำลองขนาด 1:10


ในส่วนการตกแต่งทั้งในห้องจัดงานหลักและส่วนอื่นๆ นั้น PHTAA living design มีลายเซ็นส่วนตัวในการใช้บัวมาตกแต่งให้เกิดความน่าสนใจแบบใหม่ที่พวกเขาเรียกมันว่าเป็นการ re-appropriate พวกเขานำบัวปิดผนังหน้าตาธรรมดาๆ มาจัดเรียงใหม่เป็นจังหวะซ้ำๆ จนทำให้คนทำความเข้าใจกับมันใหม่ จากบัวเชยๆ ก็กลายเป็นการตกแต่งผนังหรือกลายเป็นผนังไปเลย ข้อดีในเชิงรูปธรรมคือความคมชัดของลวดลาย อีกทั้งยังจัดการง่ายกว่าการปั้นลายนูนต่ำแบบนี้ด้วยปูนปลาสเตอร์

สีขาวของอาคารถูกตัดด้วยพื้นผิวลายหินขัดบางส่วนเพื่อสัมผัสที่ดีและช่วยลดความแข็งกระด้าง นอกจากนั้น ด้วยรูปทรงเลขาคณิตของตัวอาคาร ทำให้เรารู้สึกว่าได้รับการช่วยเหลือในการถ่ายรูป เหมือนมีเส้นตารางอยู่บนหน้าจอมือถือหรือกล้องถ่ายรูปที่ทำให้เราวางเฟรมในการถ่ายภาพได้อย่างง่ายดาย มีเส้นโค้งนำสายตาจับภาพในตำแหน่งไหนก็สวยได้โดยง่าย แสงเงาจากช่องว่างต่างๆ ที่ลอดผ่านตัวอาคารดึงดูดให้เราอยากพาตัวเองเขาไปอยู่ในสถานที่นั้น ทั้งหมดเกิดจากการที่ทีมออกแบบวางตัวเองเป็นคนที่เดินเข้ามาในสถานที่แล้วพร้อมที่จะหยุดพักในจุดต่างๆ เพื่อถ่ายภาพ


Photo: Ketsiree Wongwan

การไม่ระบุอย่างชัดเจนว่าคุณควรจะถ่ายรูปตรงจุดไหนคือการให้อิสระกับผู้ใช้งาน รวมถึงเป็นการช่วยถนอมตัวอาคารไม่ให้บอบช้ำเกินไปจากการถูกถ่ายรูปในมุมซ้ำๆ สิ่งนี้กลายเป็นปัจจัยที่ต้องเพิ่มเข้าไปในการทำงานออกแบบเพื่อตอบสนองคุณค่าใหม่ของคนยุคในปัจจุบัน ดังนั้นแล้ว คำถามที่ท้าทายและน่าขบคิดอย่างยิ่งสำหรับนักออกแบบทุกคนก็คือ เราจะส่งเสริม ต่อต้าน ชักจูง หรือประนีประนอม ต่อพฤติกรรมใหม่นี้อย่างไร? เป็นไปได้ไหมที่ผู้ใช้งานต้องการตีความสิ่งที่พวกเขาเห็นด้วยมุมมองของตัวเองมากยิ่งขึ้น ผลงานที่ชัดเจนหรือตีกรอบการรับรู้มากจนเกินไปนั้นล้าสมัยได้ง่าย และอาจจะถึงเวลาแล้วที่ผู้ใช้อยากจะเข้าถึงประสบการณ์เหล่านั้นและอธิบายมันด้วยตัวเอง

phtaa.com
fb.com/PHTAAlivingdesign

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *