OUR SECOND HOME

THE RECENT CO-LEARNING SPACE DESIGNED BY ONION NOT ONLY PROVIDES US WITH A COMFORTABLE, SAFE AND FUNCTIONAL PLACE TO WORK IN BUT ALSO ACTS AS A SPACE WHERE WE CAN LIVE AND LEARN ABOUT NEW IDEAS WITH OTHER USERS

TEXT: JANJITRA HORWONGSAKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีส่งผลต่อวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ iPad กลายเป็นสมุดเลคเชอร์ จะส่งงานทีก็ไม่ต้องเดินไปถึงห้องพักอาจารย์กันแล้วเมื่อเราใช้ อีเมล ไลน์ หรือช่องทางอื่นๆ ส่งไฟล์งานกันได้ทุกที่ทุกเวลา แต่เรื่องน่าแปลกใจก็คือ ความสะดวกสบายที่ว่ามานี้ไม่ได้ทำให้ผู้คนนั่งทำงานอยู่กับที่ในบ้าน แต่กลับกระตุ้นให้แบกแล็ปท็อปเดินทางออกไปทำงานนอกบ้านกันมากขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ต่างหาก ‘Samyan CO-OP’ Co-learning Space ในห้างเปิดใหม่อย่าง ‘สามย่านมิตรทาวน์’ เช่นกันที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ลักษณะนี้ และจุดแข็งที่ทำให้มันต่างไปจากพื้นที่ทำงานอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ก็คือการเปิดประสบการณ์แบบใหม่ให้เราๆ ได้ไปนั่งทำงานกันฟรีๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ในสภาพแวดล้อมที่ถูกคิดมาแล้วอย่างดีจากฝีมือสตูดิโอออกแบบอย่าง onion

“Do you read at home, or outside home?” คือคำถามที่ อริศรา จักรธรานนท์ สถาปนิกจาก onion ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบ พวกเขาตั้งต้นจากการสอบถามความคิดเห็นจากผู้ใช้งานโดยตรง ถึงทั้งข้อดีและข้อเสียและเหตุผลที่เลือกใช้บริการห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ co-working space และร้านกาแฟละแวกนั้น ซึ่งคำตอบก็ออกมาเป็นเสียงเดียวกันกว่า 90.9 % คือ “พวกเขาต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ” ข้อมูลทั้งหมดนี้ถูกรวบรวมกลายเป็นบทสรุปทิศทางของการออกแบบฟังก์ชั่น และการออกแบบที่นั่งหลากหลายรูปแบบเพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างกันไปของผู้ใช้งานแต่ละคน


สถาปนิกแบ่งลักษณะการใช้พื้นที่ออกเป็น 4 โซนด้วยกัน โซนแรกคือ ‘Focus’ ที่นั่งที่ออกแบบมาสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการสมาธิ ทั้งที่นั่งภายในห้องที่มีฉากกั้นและที่นั่งเดี่ยวอยู่ในพื้นที่รวม โซนที่สองคือ ‘Collaborate’ โซนสำหรับนั่งทำงานร่วมกัน มาในรูปแบบของห้องที่สามารถนั่งทำงานกันเป็นกลุ่ม และโต๊ะขนาดใหญ่ที่สามารถนั่งร่วมกันได้หลายคนในพื้นที่ส่วนรวม ส่วนโซนที่สามเรียกว่า ‘Learn’ หรือพื้นที่การเรียนรู้ สำหรับจัดทอล์ก งานเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ และโซนสุดท้าย คือ ‘Socialize’ หรือพื้นที่สังสรรค์พบปะกัน ซึ่งหมายถึงส่วนของคาเฟ่ ที่ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนกลางอย่างตู้จำหน่ายขนมและเครื่องดื่มอัตโนมัติ พื้นที่ใช้คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร และห้องน้ำ

โซนทั้ง 4 โซนถูกออกแบบให้กระจายอยู่ภายในอาคารเล็กๆ 5 หลัง ที่ซ่อนอยู่ภายใต้อาคารหลังใหญ่ โดยแต่ละอาคารมีบันไดขึ้นลงแยกกันอย่างชัดเจน การออกแบบในลักษณะนี้ทำให้เส้นทางสัญจรเกิดขึ้นรอบๆ อาคารทุกหลังและส่งผลให้พื้นที่มีความเคลื่อนไหวและดูมีชีวิตชีวาตลอดเวลา

“แต่ละคนมีวิธีการโฟกัสที่แตกต่างกัน เราตระหนักว่าความเงียบไม่ได้จำเป็นเสมอไป แต่ความปลอดภัยต่างหากที่สำคัญเพราะที่นี่เปิด 24 ชั่วโมง” สถาปนิกเล่าถึงเหตุผลที่ออกแบบที่นั่งในลักษณะที่ทุกคนสามารถมองเห็นกันและกันได้ ไม่มีจุดลับตาคน รวมถึงการออกแบบอาคาร 3 ชั้น ซึ่งเป็นโซนห้ามใช้เสียง ไว้ใจกลางของพื้นที่ทั้งหมด ล้อมรอบด้วยกระจกใสเพื่อเชื่อมต่อมุมมองจากทุกทิศทาง อีกมาตรการที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อความปลอดภัย คือขั้นตอนการลงทะเบียนที่ผู้ใช้งานทุกคนจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อสแกนก่อนเข้าและออกจากพื้นที่

หน้าต่างกระจกบานใหญ่ที่มีความสูงตั้งแต่ฝ้าจรดพื้นในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก ซึ่งที่นั่งส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้หันออกสู่ทิศนี้ เพราะเป็นทิศทางที่สามารถมองเห็นวิวเมืองได้ ในขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาสร้างบรรยากาศภายในให้รู้สึกโปร่งโล่ง และเติมเต็มความสดใสให้แต่ละพื้นที่มีสีสันแตกต่างกัน ซึ่งเป็นอีกภาษาการออกแบบที่สถาปนิกสอดแทรกความรู้สึกของการใช้งานแต่ละฟังก์ชั่นไว้อย่างแนบเนียน อย่างเช่น การใช้สีน้ำเงินเพื่อสร้างความรู้สึกคึกคัก ต่างจากอาคารสีขาวที่ให้ความรู้สึกที่เงียบสงบ

“ที่นี่ไม่มีลิฟท์ ไม่มีทางลาด มีเพียงบันไดเชื่อมต่อพื้นที่แต่ละชั้นเข้าด้วยกัน” สิ่งเหล่านี้อาจทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า การออกแบบนั้นเอื้ออำนวยสำหรับผู้พิการอย่างไร? ซึ่งสถาปนิกได้ตอบคำถามเหล่านี้ด้วยการออกแบบพื้นที่ชั้นล่างสุดให้มีฟังก์ชั่นครบครัน โดยเลือกวางตำแหน่งคาเฟ่เป็นฟังก์ชั่นแรกที่จะได้พบเมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่แห่งนี้ “ไม่เพียงแต่ต้อนรับนักศึกษาเท่านั้น แต่ทุกคนต้องสามารถเข้ามาใช้งานได้อย่างเท่าเทียมกัน” นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ onion คำนึงถึงในการออกแบบ

สุดท้ายแล้ว เมื่อถามถึงสิ่งสำคัญที่จะทำให้ ‘Samyan CO-OP’ กลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขในการเรียนรู้ของคนทุกเพศทุกวัย ต่อไปในอนาคตคืออะไร? อริศราให้คำตอบกับเราว่า “คงเป็นเรื่องของการออกแบบที่เข้าใจถึงความต้องการผู้ใช้งานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงนักศึกษา แต่ยังหมายถึงคนทุกเพศทุกวัย รวมไปถึงผู้พิการด้วย พื้นที่ส่วนต่างๆ ถูกออกแบบให้มีความหลากหลายเพราะทุกคนมีความแตกต่างกัน อีกทั้งยุคสมัยเปลี่ยนทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน การออกแบบก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย” คงต้องดูกันต่อไปยาวๆ ว่า สถาปัตยกรรมประเภทนี้ในอนาคต จะมีทิศทางในการออกแบบเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและสะท้อนอะไรกับสังคมบ้าง

onion.co.th
fb.com/onion

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *