PEOPLE ON SUNDAY

THE LATEST EXHIBITION BY TULAPOP SAENJAROEN, QUESTIONS US AN INTERESTING ISSUE OF MODERN-DAY HUMAN’S POSSESSION OF TIME

TEXT: KANDECH DEELEE
PHOTO COURTESY OF ATELIER 247 / 100 TONSON GALLERY

(For English, press here)

นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 การรับรู้เวลาของมนุษย์ก็ถูกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากแต่เดิมที่เวลาว่างและเวลาทำงานถูกผสานเป็นหนึ่งเดียวผ่านโลกทัศน์และวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม คุณจะเลือกจัดการกับผลผลิตของคุณเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกรอบกำหนด ไม่มีกฎเกณฑ์ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะควบคุมและถือครองเวลาแห่งชีวิตของตนเองอย่างเต็มที่ แต่เมื่อวิถีชีวิตแบบอุตสาหกรรมเกิดขึ้น หลักเกณฑ์และกรอบเวลาต่างๆ ก็เข้ามาแทนที่รูปแบบชีวิตเก่าๆ และกำหนดให้เรากลายเป็นเครื่องจักรชิ้นหนึ่งในระบบอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการผลิตที่ควบคุมได้และมีประสิทธิภาพ เวลาพักและเวลาทำงานถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ราวกับว่ามนุษย์ทุกคนจะมีปุ่มปิดเปิดติดไว้กลางแผ่นหลังอย่างไรอย่างนั้น

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น เราทั้งหมดต่างก็พากันใฝ่ฝันและจินตนาการถึงโลกใบใหม่ที่มนุษย์ทำงานน้อยลง ประมาณว่า “ถึงเวลาแล้วล่ะ ที่งานอันเหนื่อยยากจะได้ถูกผลักภาระไปสู่เครื่องจักรกลเสียที” แต่เปล่าเลย เทคโนโลยีที่รุดหน้าขึ้นกลายมาเป็นโจทย์ใหม่ที่ย้อนถามมนุษย์ว่า “แล้วคุณจะทำได้มากกว่าเดิมไหม?” “คุณจะทำได้เร็วกว่านี้อีกหรือไม่หากมีวิทยาการเหล่านี้เข้ามาช่วย” หรือร้ายกว่านั้นอาจจะเป็นตัวเทคโนโลยีที่คุณเฝ้าฝันเสียเองที่จะเป็นคนถามคุณอย่างเลือดเย็นว่า “หากคุณมีฉันแล้วคุณจะวิ่งนำคนอื่นได้มากแค่ไหน?”

ทั้งหมดนี้ทำให้วิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีอันก้าวหน้าเป็นส่วนประกอบเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เวลาว่างและเวลาทำงานหวนกลับมาผสานกันอีกครั้ง แต่ไม่ได้เป็นไปในแบบอดีตกาลที่เราสามารถควบคุมได้ ตรงกันข้าม งานเข้ามากลืนกินเวลาของเราอย่างเต็มรูปแบบ เราคิด เราวิเคราะห์ เราทำงานตลอดเวลาไม้เว้นแม้แต่เวลาพัก ส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นเพราะเจ้าเทคโนโลยีนี่เองที่ทำให้คุณสามารถยกที่ทำงานไปที่ใดก็ได้ หรือถ้าจะพูดให้ร้ายและสุดโต่งไปกว่านั้น ก็คงจะเป็นเพราะสังคมทุนนิยมอันโหดร้ายที่ขูดรีดคุณเพื่อคัดเลือกว่า ใครกันที่จะได้อยู่บนยอดสูงสุดของพีระมิดแห่งการแข่งขัน

People on Sunday โดย ตุลพบ แสนเจริญ เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่ว่าด้วยปัญหาการถือครองเวลาของมนุษย์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เมื่อเราก้าวเท้าเข้าสู่พื้นที่จัดแสดง ศิลปินจัดวางจอภาพขนาดใหญ่ไว้กลางห้อง จอภาพนั้นฉายวิดิโอเรื่องราวของบุคคล 3 คน ที่มาถ่ายทอดชีวิต มุมมอง และประสบการณ์การทำงานของพวกเขาเอง เริ่มต้นจากนักแสดงหญิงมือสมัครเล่นผู้ซึ่งถูกว่าจ้างให้มาแสดงฉากการใช้เวลาว่างในการพักผ่อน ในส่วนนี้เองที่ตุลพบย้อนกลับมาถามทั้งตัวผู้แสดงและตัวผู้ชมเองว่า “ถ้าหากจ้างนักแสดง ให้มาแสดง ‘การใช้เวลาว่าง’ เราจะถือว่านี่คือการใช้เวลาว่างจริงๆ หรือไม่ หรือเป็นการทำงานอย่างหนึ่งที่แม้จะถูกจัดให้มีการให้เป็นอิสระเพียงใด งานก็คืองานอยู่ดี?”

ตุลพบให้อิสระแก่นักแสดงเลือกทำสิ่งใดก็ได้ที่เป็นการใช้เวลาว่างในการพักผ่อน แต่ท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์ของงานส่วนนี้ก็ทำให้ผู้ชมเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า เวลาว่างและเวลางานถูกกลืนกันไปหมด ทั้งในแง่ปฏิบัติที่เราจะเห็นได้ว่าตัวนักแสดงหญิงก็ยังคงรู้สึกว่านี่คืองานอย่างหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเมื่อกล้องถ่ายคนในกองเวลาพัก ทุกคนก็กำลังอยู่ในเวลาของการทำงานเช่นกัน ในอีกแง่หนึ่ง เราอาจจะตีความได้ว่า ปฏิบัติการที่ศิลปินประกอบร่างสร้างขึ้นมานี้ เป็นอุปมาอุปมัยสะท้อนกลับไปถึงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันที่เราไม่อาจแยกเวลางานกับเวลาว่างได้อีก กรอบและกำแพงของเวลาทั้งสองได้พังทลายลงไปอย่างสิ้นเชิง เหมือนดังที่หญิงสาวนักแสดงรู้สึกกระอักกระอ่วนอยู่ไม่น้อยและรู้สึกวางตัวไม่ถูกในงานแสดงครั้งนี้

ในส่วนต่อมา วิดิโอพูดถึงเรื่องราวของตากล้องผู้กลัวการถูกถ่ายเสียเอง เขากล่าวว่า เขาไม่ชอบการถูกถ่าย เพราะทำให้รู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเองตอนโดนถ่าย เมื่อเลนส์ของกล้องปะทะเข้ากับตัวบุคคล บุคคลเหล่านั้นก็แปรเป็นอื่นที่ไม่อาจเป็นตัวของตัวเองได้อีก

ความน่าสนใจของชิ้นงานในส่วนนี้คือความย้อนแย้งในตัวบุคคลกับกิจกรรมที่เขากระทำเอง ลักษณะเดียวกันกับการทำงานของคนยุคปัจจุบัน ที่ถูกครอบด้วยความคาดหวังจากสังคม ให้ต้องพึงพอใจ หลงใหล และเปี่ยมล้นในความรักที่มีให้กับงาน วิดีโอนี้เผยขั้วตรงข้ามของอุดมคติที่กล่าวมา ตากล้องที่ในโลกแห่งอุดมคติแล้วจะต้องรักในงานถ่าย หลงใหลในการถ่ายภาพ ในชีวิตจริงเขากลับรู้สึกหวาดหวั่นกับสภาวะตรงหน้า รู้สึกไม่ปลอดภัย และกำลังคิดว่าตัวเองกำลังสูญเสียตัวตนจากงานที่ทำ ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนภาพของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ที่กำลังถูกการงานหน้าที่กัดกลืนกินตัวตน เวลา กลืนกินทุกสิ่งอย่างไปจากตัวเรา ตุลพบถ่ายทอดชิ้นงานตรงนี้ออกมาได้อย่างน่าสนใจ เพราะนอกจากตัวเนื้อหาที่ตากล้องเป็นผู้ถ่ายทอดแล้ว วิดีโอส่วนนี้ยังเป็นส่วนเดียวจากทั้งสามส่วนที่ถูกดัดแปลงเสียงผู้พูด ให้เป็นเสียงที่ขุ่นมัว ฟังยาก จนหลายครั้งเราต้องพึ่งพาคำบรรยายด้านล่างเพื่อถอดรหัสคำที่เขาพูด การดัดแปลงเสียงนี่เองที่ช่วยขับเน้นและสอดรับกับเนื้อความหลักที่ตัวชิ้นงานต้องการนำเสนอ มันขับเน้นให้เรารู้สึกว่าเขากำลังเสียสภาวะของมนุษย์ผู้ควบคุมตนเองได้ไปแล้วจริงๆ หรือในอีกแง่อาจจะตีความได้ว่าอาจจะเป็นเราเสียเอง ที่ไม่อาจมองเขาเป็นมนุษย์ได้อีก

ในส่วนสุดท้าย วิดีโอได้นำพาเรามาพบกับ freelance ช่วงต้นของส่วนนี้ ตัวเธอผู้รับจ้างอิสระได้ออกมาบ่นระบายความรู้สึกเกี่ยวกับการทำงานที่ไม่มีวันสิ้นสุด เธอโอดครวญและพูดถึงการสูญเสียความสามารถในการควบคุมเวลาชีวิต เธอไม่อาจมีความสุขกับงานตรงหน้าที่เธอควรหลงใหลได้อีก กับวิดีโอท่อนนี้ ตุลพบนำเสียงบรรยายของเธอมาประกอบเข้ากับฟุตเทจสั้นๆ ของโลกสมัยใหม่ ตัดตอนและร้อยเรียงกันอย่างเร็วๆ ซึ่งช่วยขับเน้นความรู้สึกล่มสลายและไม่อาจควบคุมสิ่งใดได้เป็นอย่างดี แต่นี่ไม่ใช่ทั้งหมดที่งานจะพูดถึง เพราะในช่วงท้ายตุลพบยังทิ้งทวนและจิกกัดไว้อย่างเจ็บแสบ เขานำเธอมาแสดงการแนะนำวิธีตัดต่อวิดิโอเพื่อความผ่อนคลาย ความรู้สึกย้อนแย้งเผยตัวออกมาอย่างเต็มที่ตรงนี้ บุคคลผู้ซึ่งกำลังเจ็บปวดจากการทำงานอย่างแสนสาหัสในช่วงต้น บัดนี้กำลังเป็นผู้แนะนำคนอื่นถึงวิธีการแห่งการผ่อนคลาย เนื้อหาทั้งหมดนี้ทำให้เราค่อยๆ ตระหนักถึงภาพของตัวบุคคลในโลกปัจจุบันที่กำลังค่อยๆ ล่มสลาย การทำงานของโลกปัจจุบันได้กลืนกินตัวตน เวลา และชีวิตของพวกเขา พวกเธอ และพวกเราไปจนหมดสิ้น ในท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะต้องย้อนกลับมาถามตนเองว่า จากอดีตที่เราเคยเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า เวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถจัดการอย่างเสร็จสรรพและถือครองอย่างเต็มภาคภูมิได้นั้น เมื่อโลกดำเนินมาถึงภาวะล่มสลายของห้วงเวลาอย่างในปัจจุบัน ใครกันที่เป็นผู้ถือครองเวลาตัวจริง?

นิทรรศการ People on Sunday โดยตุลพบ แสนเจริญ จัดแสดงที่ 100 Tonson Gallery ระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม 2562 – 26 เมษายน 2563

100tonsongallery.com
fb.com/100TonsonGallery

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *