THE DOOR IS OPEN (PART 2)

THE SECOND PART OF ‘THE DOOR IS OPEN’ STILL CONTINUES OUR FOCUS ON DOOR TO ASIA BANGKOK, A PROGRAM HELD AS A PART OF BANGKOK DESIGN WEEK 2020, BY ELABORATING ON ANOTHER TWO PROJECTS IN SAMPENG AND PRATUPHEE COMMUNITIES

TEXT & PHOTO: NAPAT CHARITBUTRA EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

อ่าน THE DOOR IS OPEN ตอนแรกได้ ที่นี่

โจทย์อย่างหนึ่งที่ดีไซเนอร์ในปัจจุบันยึดถือไว้แน่นหนาเมื่อต้องทำงานกับชุมชน คือการหยิบเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาปัดฝุ่นใหม่ เพราะนอกจากมันจะมีอัตลักษณ์ที่สื่อสารถึงความเป็นพื้นที่ได้อย่างแข็งแรงแล้ว ท้ายที่สุด คนในพื้นที่ยังสามารถต่อยอดโปรเจ็คต์นั้นได้ด้วยตัวเองในอนาคต 

Photo courtesy of STRN Citizen Lab

ทีมสำเพ็ง เป็นการจับคู่กันระหว่าง Tsu Ann Wong และคาณิณ ซื่อต่อศักดิ์ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่ม “สำเพ็งเข้มแข็ง” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการรุ่น 2 ผู้ปรับตัวไปลุยธุรกิจ e-commerce กันมากขึ้น สิ่งแรกที่ดีไซเนอร์สัมผัสได้จากย่านสำเพ็งคือ สำเพ็งเป็นที่ใครๆ มาก็หลงทาง และสถานการณ์การค้าที่เริ่มได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมซื้อของออนไลน์ 

“เราเห็นความแตกต่างของสำเพ็งตอนกลางวันกับตอนกลางคืน มันวุ่นวายมากๆ ในตอนกลางวัน แต่ตอนกลางคืนมันกลับสงบอย่างไม่น่าเชื่อ ต่างกับเยาวราชที่กลางคืนก็ยังคงคึกคัก” Tsu Ann Wong เล่าถึงที่มาของแคมเปญ “สำเพ็ง เซอร์ไพรส์” โดยองค์ประกอบเบื้องต้นอื่นๆ ที่เธอและคาณิณ เสนอพร้อมกับไอเดียที่ว่านี้ก็ประกอบไปด้วย ป้ายนำทาง (สำหรับกลางคืน) แผนที่ออนไลน์ / ออฟไลน์ เส้นทางการเดิน (ไม่ให้หลง) ในสำเพ็ง และระบบการแขวนผลงานศิลปะ ที่คาณิณ พัฒนามาจากตะกร้าพลาสติกที่ได้รับความนิยมในหมู่แม่ค้าแผงลอยในย่าน ส่วนเนื้อหาของงานศิลปะจัดวางที่จะนำมาจัดแสดงนั้นก็คือเรื่องราวในย่าน ไม่ว่าจะเป็นประวัติของแต่ละร้านค้า ความเชี่ยวชาญ และสินค้าที่อยู่คู่สำเพ็งมานับร้อยปี

แนวคิดที่จะใช้สำเพ็งตอนกลางคืน เป็น art route นั้นน่าสนใจ ถ้าหากมีการจัดการที่มีศักยภาพมากพอที่จะดึงเอา circulation ของคนมหาศาลบนถนนเยาวราชเข้ามาในพื้นที่สำเพ็งซึ่งห่างกันเพียงแค่ไม่ถึง 200 เมตร ไอเดียนี้อาจจะนำไปสู่การทำให้ย่านสำเพ็งกลับเข้ามาอยู่ในการรับรู้ของคนรุ่นปัจจุบันมากขึ้นกว่าเดิม และกระตุ้นให้เศรษฐกิจในพื้นที่คึกคักมากขึ้น พอๆ กับนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ เพราะเชื่อว่าคงมีคนสำเพ็งไม่น้อยที่ต้องการรักษาบรรยากาศสงบๆ ไว้เช่นเดิม 

ในฐานะสื่อ เราจะติดตามการนำโปรโตไทป์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไปใช้จริง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ก้าวเล็กๆ ก้าวนี้จะถูกต่อยอดโดยคนในพื้นที่ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญผู้ผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป 

ไม่แน่ใจว่าบรรยากาศระหว่างช่วงดีไซน์วีคเป็นอย่างไร แต่ในวันที่เราลงพื้นที่จริงในกิจกรรม A walk through a city#01: Local Night Lights กลางเดือนกุมภาพันธ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงียบเหงา และผลงานดูจะเกาะกลุ่มอยู่ใกล้ๆ กับ Luk Hostel ผลงานที่เห็นวันนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานไลท์ติ้งสัญลักษณ์มงคลทั้ง 8 ตัวที่เชื่อมโยงกับความเชื่อของชาวจีน ที่ประกอบขึ้นโดยคนและด้วยวัสดุในพื้นที่ ก็ดูจะอ่อนแรงและแทบสู้แสงจากไฟส่องสว่างในตรอกสำเพ็งไม่ค่อยได้ ซึ่งทำให้บทบาทในการเป็น signage พาคนลัดเลาะในตรอกสำเพ็งดูจะเบาบางลงไปด้วย 

ข้อสงสัยที่ว่านี้อาจจะหมดไปด้วยคำอธิบายว่า ผลงานทั้งหมดถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือคนในพื้นที่ และการมองว่า “สำเพ็งไล้” ครั้งนี้คือ “จุดเริ่มต้น” ที่ดีในการเปิดมุมมองเกี่ยวกับการใช้สเปซในแบบที่ไม่เคยมีใครคิดกับพื้นที่สำเพ็งมาก่อน กลุ่มสุดท้ายที่ขึ้นมาพรีเซนต์ในวันนั้นคือ กลุ่มประตูผีที่ปักหลักทำงานอยู่ที่ Living Kafé บริเวณชั้นล่างของ Once Again Hostel ที่ตั้งของออฟฟิศกลุ่มสาธารณะนั่นเอง

กลุ่มคนในชุมชนที่ ณัฐจรัส เองมหัสสกุล จาก Studio Dialogue และ Tomoko Negishi ต้องทำงานด้วยจึงกลายเป็นคนกันเองอย่างทีมงานของ Once Again Hostel ความพิเศษของโปรเจ็คต์นี้ คือการใช้ Living Kafé เป็นประตูเชื่อมไปสู่ Café De Mena เพื่อนำผลิตภัณฑ์จากจังหวัดเลยมาเผยแพร่ให้กับแขกต่างชาติและคนไทยที่เข้ามาใช้บริการ Living Kafé “เราใช้ “ข้าว” เป็น medium ในการเชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน” ดีไซเนอร์ทั้งสองคนมองว่า “การกิน” เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างแนบเนียนและเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้นข้าวยังมีคาแร็คเตอร์ที่เหมือนกันกับคน – ข้าวมีหลากหลายพันธุ์ = ความหลากหลายของคน / รสชาติที่แตกต่าง = อุปนิสัย ความชอบ และความเชื่อที่แตกต่าง ซึ่งก็หมายความว่า กิจกรรมการกินอาหารร่วมกันนั้นจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของประสบการณ์เรียนรู้และทัศนคติต่อไปไม่รู้จบ 

ผลลัพธ์ของการร่วมมือครั้งนี้ยังแยกย่อยออกมาเป็น งานออกแบบบรรจุภัณฑ์ / Booklet ให้ความรู้เรื่องข้าว ไปจนถึงงานออกแบบ environmental graphic ภายใน Living Kafé การออกแบบประสบการณ์ผ่านการเลือกใช้จานชามคละแบบ เพื่อสร้างความรู้สึกเหมือนกับการมากินข้าวบ้านเพื่อน และกิจกรรมอย่าง Rice / Home / Friend workshop การร่วมรับประทานอาหารกัน

DOOR to ASIA เป็นโครงการที่มีเจตนาที่ดี  และเรามองเห็นความตั้งใจความทุ่มเทของทีมงานทุกคนที่มีส่วนร่วมสร้างโครงข่ายดีไซเนอร์ในทวีปเอเชียให้เกิดขึ้น ในฐานะสื่อ เราจะติดตามการนำโปรโตไทป์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไปใช้จริง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ก้าวเล็กๆ ก้าวนี้จะถูกต่อยอดโดยคนในพื้นที่ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญผู้ผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป 

 

door-to.asia

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *