USING ‘BOXES’ INSTEAD OF VERTICAL PLANES SUCH AS A WALL IN THIS PROJECT, STUDIO MAHUTSACHAN SHOWS US THE OTHER WAY AROUND TO DEFINE SPACES AND THE SPATIAL RELATIONSHIP BETWEEN ARCHITECTURE AND HOMEOWNERS
TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: WEERAPON SINGNOI
(For English, press here)
ระนาบทางตั้งอย่าง “ผนัง” นับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานที่ถูกใช้ในการกำหนด (define) ขอบเขตของสเปซภายในสถาปัตยกรรมมาโดยตลอด และหลายครั้งที่ผนังเหล่านี้ถูกใช้เพื่อสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสเปซและผู้ใช้งานสถาปัตยกรรมในรูปแบบที่หลากหลาย จนการเลือกปิดล้อมให้ฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ กลายเป็น “ห้อง” ไม่ว่าจะเป็น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ หรือห้องนอนนั้น เป็นสิ่งที่เราพบคุ้นชินและพบได้ทั่วไปในงานออกแบบ
แต่แล้วถ้าผนังที่ว่าถูกทลายนิยามเดิมของมันลงจากแผ่นระนาบทางตั้งที่ทำหน้าที่เพียงเพื่อแบ่งกั้นขอบเขตของสเปซล่ะ สถาปัตยกรรมที่ได้จะมีลักษณะอย่างใด เพื่อที่จะพยายามหาคำตอบให้กับสมมติฐานดังกล่าว studio mahutsachan ซึ่งนำโดย เชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล และศิริวัฒน์ ปัจฉิมะศิริ จึงได้พยายามคิดกับการแบ่งสเปซด้วยผนังเหล่านั้นใหม่ผ่านการออกแบบผลงาน J House บ้านพักอาศัยขนาด 250 ตารางเมตร ในย่านพุทธมณฑลสาย 1
เมื่อผนังถูกขยายจากแผ่นระนาบจนเกิดเป็นรูปทรงที่มีปริมาตร “กล่อง” ของฟังก์ชั่นที่หลากหลาย มันจึงเข้ามาทำหน้าที่ช่วยแบ่งขอบเขตของพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้านแทนผนัง ความกำกวมระหว่างแต่ละส่วนของพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกแยกเป็นทางเดินหรือห้องใดห้องหนึ่งอย่างชัดเจน แต่ไหลรวมกันจนสเปซภายในบ้านนั้นกลืนกันแทบจะเป็นเนื้อเดียว ทำให้ J House เป็นตัวอย่างของการคิดกับการแบ่งพื้นที่ภายในอาคารใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ค่อยจะพบได้บ่อยครั้งสักเท่าไร
studio mahutsachan เล่าว่าพวกเขาออกแบบสเปซของบ้านหลังนี้ขึ้นจากรูปแบบความสัมพันธ์ของคนในบ้านที่มักใช้พื้นที่ส่วนกลางในการทำกิจกรรมต่างๆ “ร่วมกัน” มากกว่าที่จะปลีกวิเวกไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว หรือหากจะจะต้องแยกตัวไปก็ยังไม่ต้องการที่จะตัดขาดจากคนในครอบครัวเสียทีเดียว ซึ่งด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ “กล่อง” หลากหลายขนาดซึ่งมีทั้งที่เป็นห้องสำหรับบรรจุกิจกรรม และเฟอร์นิเจอร์ ถูกคิดขึ้นมาเข้ามาช่วยกำหนดความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายในและสภาพแวดล้อมภายนอกอีกด้วย
แม้ว่าการเลือกจัดวางให้กล่องแต่ละกล่องทำหน้าที่เป็นทั้งปริมาตรที่ใช้บรรจุฟังก์ชั่นการใช้งาน เช่น ห้องดูภาพยนตร์ เคาน์เตอร์ครัว ตู้เสื้อผ้า หรือห้องน้ำ ไปพร้อมๆ กับแบ่งคั่นระหว่างแต่ละพื้นที่ภายในบ้านนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีที่ช่วยทำให้บ้านหลังนี้พิเศษกว่าใครในละแวก แต่การเลือกเปิดให้ผนังโดยรอบอาคารเกือบทั้งหมดเป็นกระจกนั้นดูจะทำให้ความเป็นส่วนตัวของอาคารนั้นถูกลดทอนลงไปสักหน่อย แน่นอนว่านี่อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรถ้าเจ้าของบ้านมีอภิสิทธิ์เหนือพื้นที่โดยรอบบ้านอย่างเต็มที่อยู่แล้ว กล่าวคือสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ใครเดินผ่านไปยังส่วนต่างๆ โดยรอบบ้าน (ที่ดันอาจจะไปตรงกับพื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องนอน) ได้บ้าง หรือการใช้องค์ประกอบอื่นๆ เช่น ม่าน หรือต้นไม้ ก็เป็นอีกวิธีการที่มาช่วงพรางสายตาจากภายนอกสู่ภายในลงได้บ้างเช่นกัน
ความเป็นส่วนตัวที่ลดลงอันเนื่องมาจากการออกแบบให้ J House กลายเป็นบ้านกล่องกระจกนั้นอาจไม่ใช่ประเด็นหลักที่เราอยากจะกล่าวถึงในบทความนี้สักเท่าไร เพราะเชื่อว่าสถาปนิกผู้ออกแบบน่าจะคิดวิธีการสร้างความเป็นส่วนตัวให้มากขึ้นแก่ผู้พักอาศัยภายในบ้านไว้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่แล้ว เช่น การเลือกคว้านให้มวลของอาคารนั้นแหว่งเข้ามาเป็นบางส่วนเพื่อสร้างให้เกิดคอร์ทภายในอาคารขึ้น และใช้คอร์ทที่เกิดขึ้นนั้นช่วยคั่นระหว่างสเปซเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว แถมการสร้างให้สถาปัตยกรรมกลายเป็นกล่องกระจกเพื่อเอื้อให้สเปซภายในและภายนอกอาคารสามารถไหลเชื่อมระหว่างกันได้อย่างไม่มีขอบเขตนั้น ก็เป็นรูปแบบที่เราพบเห็นได้มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 จนน่าจะมี solution มากมายสำหรับใช้จัดการกับปัญหาข้อนี้กันเช่นกัน
ทว่าเป็นเรื่องของ “ความร้อน” ภายในอาคารที่เกิดขึ้นจากการใช้ผนังกระจกรอบทิศมากกว่าที่เราอยากชวนให้ตั้งข้อสังเกตกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบบนเงื่อนไขทางสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของบ้านเราที่น่าจะส่งผลกระทบต่อสภาวะน่าสบายภายในอาคารอยู่ไม่มากก็น้อยหากไม่มีการเปิดใช้เครื่องปรับอากาศ หรือเปิดกระจกเหล่านั้นทั้งหมดเพื่อให้เกิดการถ่ายเทของอากาศ ซึ่งตรงนี้ ดูเหมือนว่าการออกแบบให้ชายคานั้นยื่นยาวออกไปเพื่อช่วยลดปริมาณของแสงที่ส่องเข้าสู่อาคาร ไปพร้อมๆ กับการจัดวางฟังก์ชั่นภายในให้อากาศสามารถเคลื่อนตัวผ่านสเปซได้อย่างทั่วถึง จะเป็นวิธีการที่ studio mahutsachan ใช้เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่ว่าลงได้บ้างอยู่เหมือนกัน ทีนี้ก็น่าจะเหลือแต่รอเวลาให้ภูมิทัศน์โดยรอบอาคารโตเต็มวัยเพื่อให้ passive design ที่ถูกออกแบบไว้ได้ทำงานของมันอย่างเต็มที่ก็เท่านั้นเอง
ถึงรายละเอียดในบางส่วนของ J House จะมีช่องโหว่ให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้อยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการให้นิยามใหม่กับการแบ่งสเปซภายในสถาปัตยกรรม จากแผ่นระนาบบางๆ มาสู่กล่องที่มีปริมาตร พร้อมกับทลายขอบเขตของห้องให้หายไปจนเหลือเพียงสเปซที่กำกวมนั้น เป็นวิธีการที่ทำให้บ้านหลังนี้เป็นผลงานออกแบบของสถาปนิกไทยรุ่นใหม่ที่น่าศึกษามากทีเดียว