ป้ายกำกับ: Heritage building

BAAN TROK TUA NGORK

อาคารตึกแถวอายุ 90 ปีที่ได้ Stu/D/O Architects มาช่วยปรับเปลี่ยนพื้นที่และโครงสร้างให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในฐานะพื้นที่อิสระสำหรับปล่อยเช่าทั้งยังรักษาจิตวิญญาณและร่องรอยของชีวิตภายในอย่างสมบูรณ์

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: STU/D/O ARCHITECTS AND KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT

(For English, press here)

ช่วงอายุ 90 ปี ถ้านับในแง่ชีวิตคงต้องเรียกว่าเป็นวัยชรา แต่สำหรับ ‘บ้านตรอกถั่วงอก’ อาคารเก่าอายุกว่า 90 ปีในละแวก ตรอกถั่วงอกในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ช่วงนี้คือช่วงที่ชีวิตกำลังก้าวเข้าสู่บันทึกบทใหม่ 

ตั้งแต่การเป็นบ้าน โรงงานผลิตน้ำพริก ออฟฟิศ ไปจนถึงอาคารที่พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปิดร้างเอาไว้เปล่าๆ บ้านตรอกถั่วงอกเป็นอาคารที่ผ่านร้อนผ่านหนาว และผ่านการใช้งานโดยคนหลายชั่วอายุคน ตอนนี้บ้านตรอกถั่วงอกกำลังถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับจัดนิทรรศการ จัดกิจกรรม และอาจต่อยอดไปเป็นฟังก์ชันอื่นๆ ด้วยในอนาคต โดยได้ Stu/D/O Architects มาเป็นผู้ออกแบบปรับปรุงอาคาร

บ้านตรอกถั่วงอกเป็นอาคารตึกแถวยาว 5 คูหาติดกัน ด้านหลังอาคารมีคอร์ทรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่มีด้านกว้างที่สุดกว้างเพียง 5 เมตร หลังคอร์ทก็มีอาคารเล็กๆ อีกหลังหนึ่งที่เคยทำหน้าที่เป็นบ้านพักของคนงานมาก่อน เดิมทีอาคารด้านหน้ามีความสูง 4 ชั้น แต่ภายหลังมีการต่อเติมห้องดาดฟ้าของอาคารเพิ่มเติมขึ้นไปอีกชั้นเพื่อใช้เป็นห้องทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ 

“เมื่อก่อนอาคารนี้เป็นบ้านของบรรพบุรุษครอบครัวเจ้าของตึกที่ย้ายมาตั้งรกรากจากเมืองจีน” อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ สถาปนิกจาก Stu/D/O Architects เท้าความที่มาของอาคารให้เราฟัง “อาคารนี้เคยรองรับคนในครอบครัวเขามากถึง 5 ครอบครัว และเมื่อก่อนตึกก็เคยเป็นทั้งร้านขายน้ำพริกเผา และเป็นออฟฟิศบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว พอเวลาผ่านไปเมื่อพื้นที่ไม่เพียงพอ แต่ละครอบครัวขยายจึงย้ายออกไปอยู่ข้างนอก ตึกเลยถูกทิ้งไว้เฉยๆ ยกเว้นเวลามีพิธีเคารพบรรพบุรุษตามประเพณีคนจีน สมาชิกครอบครัวก็จะแวะเวียนมาทีนึงที่ห้องบรรพบุรุษที่ชั้นบนสุดของตึกเพียงเท่านั้น”

ห้องไหว้บรรพบุรุษก่อนการปรับปรุง

ห้องไหว้บรรพบุรุษหลังปรับปรุง

หลังจากเห็นอาคารถูกปล่อยไว้ให้รกร้างเดียวดายมานาน สมาชิกครอบครัวรุ่นเหลนจึงเสาะหาไอเดียที่จะทำให้อาคารกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไอเดียแรกเริ่มคือการทำร้านกาแฟ ร้านอาหาร และโรงแรมเล็กๆ แต่เมื่อขบคิดกันอีกที ไอเดียก็ลงเอยที่การทำพื้นที่ให้เช่า พร้อมการเตรียมงานระบบเผื่อไว้สำหรับการขยับขยายฟังก์ชันในอนาคต

ถึงการเปลี่ยนอาคารเป็นพื้นที่ให้เช่าจะดูไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะมันคือการเตรียมพื้นที่โล่งๆ เอาไว้ให้คนมาผลัดเปลี่ยนใช้สอย แต่กลายเป็นว่าสิ่งนี้คือโจทย์อันยิ่งใหญ่ของทีมออกแบบ เพราะการเป็นพื้นที่ให้เช่าจัดกิจกรรม หมายความว่าอาคารจะต้องรองรับน้ำหนักคนจำนวนมากเป็นหลักร้อยได้ และถ้าจะแทรกสอดฟังก์ชันเพิ่มเติมในอนาคต น้ำหนักก็จะมีมากขึ้นตามมาด้วย ปัญหาก็คือ อาคารเดิมมีข้อจำกัดเรื่องการรองรับน้ำหนัก Stu/D/O Architects และทีมวิศวกร เลยต้องระดมสมองกันว่าจะทำอย่างไรให้อาคารรับน้ำหนักคนเพิ่มได้

“ทางออกแรกที่เราคิดกันคือการใส่โครงเหล็กเสริมไปกับโครงสร้างอาคาร” ชนาสิต ชลศึกษ์ อีกหนึ่งสถาปนิกจาก Stu/D/O Architects เผย “เราทดลองดีไซน์โครงเหล็กหลายรูปแบบ ทั้งแบบพยายามให้มันดูกลืนหายไป และแบบโชว์ความแตกต่างชัดเจนระหว่างโครงสร้างเก่ากับโครงสร้างใหม่ ดีไซน์ที่ออกมามันก็ดูสวยดี แต่เราคิดว่าวิธีนี้มันจะทำให้สปิริตดั้งเดิมของตึกหายไปเลย” 

เมื่อการใช้โครงสร้างเหล็กประกับเสริมไปกับโครงสร้างเก่าไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ใจคาด Stu/D/O Architects และทีมวิศวกรจึงสุมหัวกันอีกรอบว่าจะทำอย่างไร จนในที่สุดก็ได้วิธีการที่น่าพอใจ นั่นคือการรื้อโครงสร้างพื้นชั้นหนึ่งของอาคารเก่าออกเพื่อลดน้ำหนักที่ถ่ายลงฐานรากเดิม และสร้างพื้นชั้นหนึ่งบนฐานรากและเสาเข็มชุดใหม่เข้าไปแทนที่ “เราขุดโครงสร้างพื้นชั้นหนึ่งของอาคารเก่าออกหมด ทำให้อาคารส่วนที่เหลือรองรับน้ำหนักได้มากขึ้น เท่ากับน้ำหนักของพื้นชั้นหนึ่งที่หายไป” อภิชาติเล่า “แล้วเราก็ทำโครงสร้างใหม่สำหรับพื้นชั้นหนึ่งแทรกเข้าไปในตึกเดิม พร้อมกับการใส่โครงสร้างของลิฟต์และบันไดใหม่ข้างใน”

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแน่ๆ เมื่อโครงสร้างเก่าและใหม่มาอยู่ด้วยกันคือระยะการทรุดตัวที่ต่างกัน นอกจากการเว้นช่องว่างตามรอยต่อระหว่างโครงสร้างใหม่และเก่า อย่างเช่น ผนังกระจกบริเวณคอร์ตกลาง ที่สถาปนิกวางผนังที่ติดกับโครงสร้างเก่า ให้เหลื่อมมาข้างหน้าผนังที่ติดกับโครงสร้างใหม่ พวกเขาก็ออกแบบให้ผนังกระจกด้านหน้ามีรอยการไล่สี gradient สีแดงเหมือนสีกระเบื้องพื้นชั้นหนึ่ง ซึ่งหากในอนาคตพื้นชั้นหนึ่งทรุดตัวลง ส่วนสี gradient นี้ก็จะช่วยพรางระยะที่อาคารทรุดตัวไม่ให้เห็นจากภายนอกได้

ในส่วนรายละเอียดงานออกแบบอาคาร สถาปนิกเลือกเก็บหน้าตา façade อาคารเอาไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการกรุกระจกใสที่ชั้นหนึ่ง เพื่อเชื่อมต่อชั้นแรกของอาคารเข้ากับโลกภายนอก สำหรับตัวอาคารข้างใน สถาปนิกตัดสินใจรื้อกำแพงที่กั้นห้องแถวแต่ละห้องออก เพื่อเชื่อมสเปซเข้าด้วยกัน แนวไม้ใหม่บนพื้นคือสิ่งที่บ่งบอกว่ากำแพงเหล่านั้นเคยอยู่ตรงไหนบ้าง บันไดและราวกันตกของห้องแถวแต่ละห้องถูกรื้อออกมา และนำขั้นบันไดแต่ละขั้นมาทำเป็นแผ่นพื้นประกอบใส่ในช่องบันไดเดิม ซึ่งเป็นอีกร่องรอยที่แสดงความทรงจำของอาคารเก่า ส่วนดีเทลอื่นๆ ของอาคารยังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี อย่างเช่น เสาบากมุม คานปูน กระเบื้องพื้น ซึ่งเผยให้เราเห็นลีลาและฝีไม้ลายมือของช่างสมัยก่อน

คอร์ทภายในคือหัวใจของตึกเลยก็ว่าได้ ถึงคอร์ทจะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตเท่าไหร่ (ด้านกว้างสุดกว้าง 5 เมตร ด้านแคบสุดกว้างแค่ 3 เมตร) แต่แสงสว่างที่ส่องผ่านลงมาและพร้อมด้วยกระจกเงาและกระจกใสที่กรุรอบห้องต่างๆ กลับทำให้คอร์ทดูโอ่โถงขึ้นถนัดตา ต่างกันอย่างลิบลับกับคอร์ทสมัยก่อนที่มืดทะมึน เหมือนเป็นแค่พื้นที่เศษเหลือหลังอาคาร

คอร์ทกลางก่อนการปรับปรุง

คอร์ทใหม่ยังสวมบทบาทเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เราจะได้เห็นชีพจรความเป็นไปในอาคารผ่านการมองทะลุกระจกใสรอบห้องต่างๆ ตามแนวกระจกมีบานหน้าต่างและบานประตูเก่าหลากสีหลายรูปแบบที่ถูกติดตั้งตามตำแหน่งเดิมที่มันเคยอยู่ในสมัยก่อน กระจกใสเป็นกระจกเทมเปอร์ลามิเนตที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ บานหน้าต่างและประตูจึงสามารถยึดตัวอยู่ได้บนบานกระจก จากบานหน้าต่างที่เคยทำหน้าที่เปิดรับแสงและลม ตอนนี้ บานหน้าต่างกลายเป็นองค์ประกอบที่นำพาผู้คนย้อนไปสู่ห้วงความทรงจำของอาคารในอดีต 

นอกจากการสื่อถึงอารมณ์และกลิ่นอายของอดีต Stu/D/O Architects ก็ยังใส่องค์ประกอบใหม่เข้าไป เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานใช้อาคารได้สะดวกสบายและปลอดภัยขึ้น อย่างเช่น ลิฟต์และบันไดหนีไฟใหม่ ที่ช่วยรองรับการสัญจรในอาคาร การติดตั้งหลังคาโปร่งแสงบนชั้น 4 ที่เปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้า ให้กลายเป็นระเบียงนั่งเล่นในร่มที่ผู้คนใช้งานได้โดยไม่ต้องเปียกฝน หรือการสร้างทางเดินเชื่อมอีกอันระหว่าง core ลิฟต์เก่าและ core ลิฟต์ใหม่ที่ชั้น 5 

ถึงบ้านตรอกถั่วงอกโฉมใหม่จะเพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน แต่อาคารก็ผ่านการจัดกิจกรรมมาแล้วหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการศิลปะ Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย, Baan Soho พื้นที่ทดลองของ Soho House ก่อนที่คลับเฮ้าส์จริงจะเปิดตัว หรืองานดินเนอร์ส่วนตัวของแบรนด์ LOUIS VUITTON ในวันนี้ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของบ้านตรอกถั่วงอกก็ได้เริ่มต้นขึ้น พร้อมเปิดให้ผู้คนที่แวะเวียนได้มาจารึกเรื่องราวและร่องรอยใหม่ๆ และทิ้งให้มันเป็นมรดกที่ตกทอดในกาลเวลา เช่นเดียวกับที่รอยขีดข่วนบนบานหน้าต่าง หรือคราบไคลจากการเผากระดาษกงเต็กบนพื้นกระเบื้อง ได้เคยฝากฝังไว้ 

facebook.com/Studio.Architects

HANDIGRAPH

TEXT & PHOTO COURTESY OF HANDIGRAPH

(For English, press here)

WHO
ชื่อ Handigraph มาจาก handicraft + graphic เพราะงานที่เราทำคือการสร้างผลงานกราฟฟิกด้วยวิธีแบบแฮนเมด ซึ่งที่เราทำก็คือการแกะยางลบ เลยจะเรียกว่าเป็นสตูดิโอแกะตัวปั๊มยางลบก็ได้

WHAT
เป็นสตูดิโอทำงานคราฟต์แกะยางลบเป็นหลัก แล้วก็มาใช้ทำงานภาพพิมพ์ ลายที่แกะก็มีหลายอย่างแต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานสถาปัตยกรรม ในประเทศไทยเพราะรู้สึกว่าน่าสนใจ

WHEN
จริงๆ เป็นงานอดิเรกที่ทำมาได้ประมาณ 10 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ตอนนั้นเริ่มต้นจากการที่เห็นผลงานแกะยางลบของต่างประเทศแล้วรู้สึกว่าน่าจะไม่ยาก เลยลองเริ่มทำดู (ถึงได้รู้ว่าจริงๆ แล้วก็ไม่ง่ายขนาดนั้น) ตอนแรกๆ ก็คือแกะลายทั่วๆ ไปก่อน ไม่ได้แค่งานสถาปัตยกรรม แต่ชอบแกะแบบเป็นคอลเลคชั่น เวลาปั๊มด้วยกันเยอะๆ แล้วน่ารักดี

WHERE
เพราะทำเป็นงานอดิเรก ก็เลยทำงานที่บ้านเป็นหลักในวันที่ว่าง ส่วนผลงานมีวางขายในเพจแล้วก็ที่มิวเซียมสยามนะ

WHY
เราเห็นที่คนต่างประเทศแกะยางลบให้เป็นลายต่างๆ ตาม culture แต่ละประเทศ แต่ของไทยยังไม่ค่อยมีที่เป็นงาน craft ลักษณะนี้ที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของบ้านเราด้วย เราเลยรู้สึกว่ามันน่าจะมีอะไรอย่างนี้บ้างในไทย

แล้วทำไมถึงเริ่มแกะตัวปั๊มเป็นลายสถาปัตยกรรม?
ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบดูอาคารต่างๆ อยู่แล้ว แล้วงานสถาปัตยกรรมก็มักจะมีดีเทลรายละเอียดเฉพาะตัว โดยเฉพาะตึกเก่าแบบพวกยุคบ้านขนมปังขิง ที่มันจะมีดีเทลที่อาคารในยุคใหม่ๆ ไม่ค่อยมี แล้วพองานที่แกะมันมีเส้นสายดีเทลเยอะๆ งานมันดูสวยแล้วดูเต็มดีโดยตึกแรกๆ ที่ลองเริ่มแกะคือตึกพระที่นั่งอนันตสมาคม

ขั้นตอนไหนที่สนุกที่สุดและขั้นตอนไหนที่ยากที่สุด.
จริงๆ ทุกขั้นตอนก็มีความยากง่ายในตัว อย่างตอนหาแบบอาคารบางหลังก็หาแบบนานมาก เพราะเวลาแกะตึกต่างๆ เราจะแกะตาม proportion เลยต้องหาพวกแบบก่อสร้าง แบบรูปด้านอาคารให้ได้ก่อน ส่วนตัวเราเองเป็นคนที่ชอบประวัติศาสตร์แบบที่ไม่ได้อยู่ในตำราเรียนอยู่แล้วด้วย เลยสนุกกับการไปค้นคว้าหาข้อมูลแบบต่างๆ อย่างตอนนี้มีหลังหนึ่งที่อยากแกะมากคือบ้านบ้านบรรทมสินธุ์ทั้งๆที่เป็นบ้านสำคัญในยุคนั้นแต่ยังหาแบบไม่ได้สักที ส่วนขั้นตอนการแกะจริงๆต้องบอกว่าอันนี้คือท้าทายสุด เพราะพอวาดลายเสร็จแล้วมันดูละเอียดมาก เรามักจะคิดว่า มันจะรอดมั้ยเนี่ย อันนี้พังชัวร์ 555 ก็เรียกว่าเป็นขั้นที่ต้องคิดเยอะสุดว่าจะแกะออกมายังไงดี ตรงนี้เอาไงดี ลุ้นๆ กันไป ส่วนขั้นตอนที่ดูเหมือนจะง่ายแต่จริงๆยากคือตอนปั๊ม เพราะถ้าปั๊มแล้วเอียง กดไม่ดี ใบนั้นก็ต้องทิ้งเลย แล้วการปั๊มเป็นสิ่งที่ใช้ประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ เคยมีเหตุการณ์ที่ปั๊มเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่หมึกดันซึมบนกระดาษเยอะมาก สรุปก็คือเป็นเพราะว่าวันนั้นฝนตก ทำให้ความชื้นสูง การปั๊มให้สวยเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ง่ายเลยแต่ว่าจริงๆ คือยากกว่าที่คิด

 

โปรเจ็คต์ใดที่คุณชอบมากที่สุด
ถ้าเท่าที่แกะมาตอนนี้ ชอบบ้านสุริยานุวัตรที่สุด พอแกะเสร็จแล้วรู้สึกว่าอาคารมีความน่ารักมาก เหมือนบ้านตุ๊กตาเลย ตัวบ้านเดิมเป็นของพระยาสุริยานุวัตรตั้งอยู่ที่ถนนหลานหลวง ตอนนี้เค้าเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนทั่วไปเข้าชมได้แล้วด้วย

อะไรคือหลักการทำงานของ Handigraph
ทำเพราะชอบ ทำเพราะรัก ทำเท่าที่เราสบายใจ ไม่ชอบความกดดันเลย เวลาที่เราทำเรารู้สึกชอบเวลาแกะไปคิดไปเรื่อยๆ มากกว่า ไม่รู้ว่า final จะออกมาเป็นยังไงด้วยซ้ำบางครั้ง เลยไม่อยากรับจ้างแกะยางลบ เพราะคนจ้างคงคาดหวัง ผลงานที่ขายก็เลยเป็นภาพพิมพ์ handprint จากยางลบที่เราแกะมากกว่า

 

ถ้าอยากฝึกแกะยางลบบ้างต้องทำอย่างไร
บางครั้งเราจะมีจัด workshop ตามที่ต่างๆ อย่างล่าสุดก็ที่มิวเซียมสยาม แต่หลักการง่ายๆ คือทำไปเรื่อยๆ เหมือนงาน craft ประเภทอื่นๆ หลักการไม่ยาก แต่การแกะให้ได้ดีต้องใช้ทักษะ ทำจนเคยชินทำจนชำนาญแล้วเราจะเห็นถึงรายละเอียดต่างในการทำผลงานแต่ละชิ้น ใช้ยางลบชนิดไหนดี หมึกอะไรดี กระดาษอะไรเหมาะ หรือแม้แต่ว่าจะเก็บยางลบอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใช้การสังเกตและใช้เวลากับมัน

คุณจะไปที่ไหนหรือทำอะไร หากคิดงานไม่ออก
กินขนม เวลาเหนื่อยมากๆและต้องการ heal ตัวเอง จะอยากกินของหวาน

ถ้าคุณสามารถเชิญศิลปินหรือครีเอทีฟ สักคนไปดื่มกาแฟด้วยกันได้ คุณจะเลือกใครและทำไม
ไปกับคุณวราเนี่ยแหละ (สามีตัวเอง) เพราะว่าทำงานออกแบบทั้งคู่ เป็นคนที่เป็นคู่คิด เป็นที่ปรึกษา เป็นคนที่เท่าทันกัน เป็นคนที่รู้ใจไม่ว่าจะเป็นตอนที่เราพูด หรือเราไม่พูด แล้วก็เป็นคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจสุด เรียกว่าเป็น best partner ในทุกสถานการณ์

fb.com/handigraph