NO MORE THOUGHTLESS DEMOLITION

ART4D JOIN THE TRIP ‘PHRAE HERITAGE IN ACTION’ TO EXPLORE SEVERAL HISTORICAL BUILDINGS IN THE PROVINCE. THE TRIP TOOK PLACE FOLLOWING THE ACCIDENTAL DEMOLITION OF THE WOODEN STRUCTURE HOME TO THE BOMBAY BURMAH HOUSE

TEXT & PHOTO : NAPAT CHARITBUTRA

(For English, press here)

วันที่ 5-6 กันยายน ที่ผ่านมา art4d ได้รับเชิญจาก NEO ผู้จัดงานสถาปนิก64 และสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมทริป PHRAE HERITAGE IN ACTIONไปสำรวจอาคารประวัติศาสตร์หลังอื่นๆ ในจังหวัดแพร่ หลังจากที่ เรือนไม้อาคารสำนักงาน ป่าไม้เขตแพร่ เดิม (และก่อนนั้นคือสำนักงานป่าไม้ภาคแพร่) หรือที่สื่อมักเรียกกันสั้นๆ ว่า บ้านบอมเบย์เบอร์มา” ที่เพิ่งถูกทุบทำลายไปเพราะความไม่เข้าใจกัน

นฤมล วงศ์วาร สถาปนิกที่เกิดและเติบโตในจังหวัดแพร่

หลังจากเครื่องบินลงที่ท่าอากาศยานจังหวัดแพร่ และพวกเราได้พักกินข้าวซอยกันเล็กน้อย ทัวร์ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเมืองแพร่ (อันเข้มข้น) ก็เริ่มต้นขึ้น นฤมล วงศ์วาร สถาปนิกที่เกิดและเติบโตในจังหวัดแพร่ รับหน้าที่เป็นผู้นำคณะทัวร์ครั้งนี้ เริ่มจากการบรรยายประวัติศาสตร์เมืองแพร่คร่าวๆ ย้อนไปถึงการก่อตั้งเมือง ราวปี พ.ศ. 1370 สัณฐานของเมืองที่เป็นรูปหอยสังข์ เนื้อที่ของเมืองแพร่ที่มีขนาดประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีหลักฐานสำคัญคือกำแพงเมืองเก่าสูงกว่า 7 เมตร ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้เห็นเกือบครบ นับเป็นกำแพงเมืองที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ  รวมไปถึงประวัติศาสตร์ทางการปกครองของเมืองแพร่ ซึ่งเป็นรัฐอิสระ ที่ต้องสู้รบกับหลายชนกลุ่มและเคยได้เข้ามายึดและปกครองเมือง ตั้งแต่ ขอม ล้านนา พม่า และสยาม อย่างไรก็ดี เมืองแพร่ก็ไม่เคยมีการย้ายถิ่นฐานแม้แต่ครั้งเดียว

สถานที่แรกที่คณะทัวร์ไปถึงคือ คุ้มเจ้าหลวง ซึ่งเป็นคุ้มหรือเปรียบเหมือนวังของเจ้านายเมืองแพร่ในอดีต ปัจจุบัน คุ้มเจ้าหลวง มีบทบาทเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติศาสตร์ของอาคารผ่านการใช้งานดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นคุกใต้ถุนบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ ภาพถ่ายเก่า รวมถึงจดหมายสำคัญอีกหลายฉบับ

นับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมา เมืองแพร่มีเจ้าหลวงทั้งสิ้น 5 องค์  จนกระทั่งเจ้าหลวงองค์สุดท้าย  เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ซึ่งเป็นผู้สร้างคุ้มหลังนี้ต้องอพยพหนีจากเมืองแพร่จากเหตุการณ์กบฎเงี้ยว”

บรรยากาศภายในคุ้มเจ้าหลวง

นอกจากเกร็ดทางประวัติศาสตร์ของคุ้มเจ้าหลวงที่เราคงเล่าไม่หมดตรงนี้ นฤมล ยังชี้ให้เห็นความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม ที่ซ่อนอยู่ในลวดลายสลักต่างๆ โดยเฉพาะลายขนมปังขิง (บริเวณช่องลม) ที่แกะลายด้วยมือ มีการลบมุม และดูอ่อนช้อยกว่าคุ้มหลังอื่นๆ ในแพร่ ถ้าใครมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนเมืองแพร่ ขอให้ลองสังเกตลวดลายขนมปังขิงของบ้านแต่ละหลังกันดู แต่ละหลังจะมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน ตามแต่ภูมิหลัง ประวัติ และสถานะของเจ้าของบ้าน

แม้ระบบเจ้าจะสิ้นสุดลงหลังจากเหตุการณ์กบฎเงี้ยว แต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบเจ้าก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม เพราะคนแพร่ยังคุ้นชินกับระบบเจ้านาย และนี่คงเป็นเหตุให้แพร่เป็นที่ที่มีเรือนขนมปังขิงหลงเหลือเยอะที่สุดในประเทศไทย”

พัฒนา แสงเรือง กรรมการภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่

จากนั้นคณะทัวร์เดินทางไปยังคุ้มวิชัยราชา (ที่ก็เก่าแก่ไม่แพ้กัน) ที่นี่เราได้พบกับ พัฒนา แสงเรือง กรรมการ ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่” ที่ลุกขึ้นมาศึกษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เมืองแพร่ ทุกอย่างมันเริ่มมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี พ.ศ. 2538 ผมตั้งคำถามว่าทำไมถึงท่วม ทั้งๆ ที่เรามีกำแพงเมือง เลยศึกษาลงไปจนรู้ว่ามันเป็นผลมาจากผังเมืองเก่า กับผังเมืองปัจจุบันนั้นไม่สัมพันธ์กัน” พัฒนา กล่าวก่อนจะเล่ารายละเอียดลึกลงไปอีกว่าผู้คนในอดีตมีภูมิปัญญาพลศาสตร์ดีจนน่าทึ่ง ระหว่างเดินเข้าๆ ออกๆ ร้านอาหาร วัด หรือสถานที่ต่างๆ ในเมืองถ้าสังเกตดีๆ เราจะสังเกตเห็นบ่อน้ำขนาดไม่เท่ากัน ในกำแพงเมืองแพร่มีบ่อน้ำกว่า 147 บ่อ ขนาดแตกต่างกันไปตามฐานันดรของบ้าน แต่เชื่อไหมว่า พอพ้นกำแพงเมืองไปเราขุดไม่พ้นตาน้ำอีกเลย”

และในช่วงบ่ายวันนั้น คณะทัวร์ก็เดินทางมาถึงบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของ อาคารสำนักงาน ป่าไม้เขตแพร่ เดิม ในสวนรุกขชาติเชตวัน ริมแม่น้ำยม พื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญมากในอดีต เป็นพื้นที่ที่ผู้ค้าไม้รายสำคัญๆ ใช้พักซุงที่ล่องแม่น้ำมารวมกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสำนักงานป่าไม้นี้ตีตราท่อนซุง ก่อนจะล่องแม่น้ำลงไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา

พี่ยังเกิดทันเห็นภาพนั้น เมื่อ 50 ปีก่อน จำได้ว่าเด็กๆ เราไม่ต้องเดินข้ามสะพานเลยนะ คือสามารถกระโดดไปตามซุงแล้วข้ามไปอีกฝั่งของแม่น้ำยมได้เลย” นฤมล เล่าว่า แต่ก่อนนั้น ที่เห็นเป็นอีกฝั่งของแม่น้ำยมเคยเป็นพื้นที่ที่มิชชันนารีจากอเมริกาลงหลักปักฐานในเมืองแพร่ ก่อนจะต้องย้ายไปอยู่อีกด้านหนึ่งของเมือง (ที่รพ. แพร่คริสเตียนในปัจจุบัน) เพราะปัญหาน้ำท่วม ตลิ่งพังและสายน้ำเปลี่ยนเส้นทาง  มีเอกสารบันทึกของมิชชันนารีระบุว่า  ได้ซื้อที่ดินบริเวณท่าน้ำเชตวัน ด้านหลังสำนักงานบริษัท บอมเบย์เบอร์ม่า เพื่อสร้างเป็นบ้านพักและโบสถ์ให้กลุ่มหมอสอนศาสนา” เอกสารที่ว่านี้เป็นตัวยืนยันว่าประวัติศาสตร์ป่าไม้ในจังหวัดแพร่นั้นมีอยู่จริง

ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่เคยรู้เรื่องประวัติศาสตร์เลย ทั้งๆ ที่พื้นที่ตรงนี้ถูกใช้จัดงานเป็นประจำ ตัวอาคารกลายเป็นเพียงแค่ฉากสวยๆ เวลาเขาจัดงานดนตรีในสวน คนก็จะมานั่งกันอยู่ริมแม่น้ำนี้แหละ”

เป็นไปตามภาพข่าว บ้านบอมเบย์ เบอร์มา ไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว ร่องรอยที่เห็นได้มีเพียงซากฐานของบ้านบนพื้นหญ้ารกชัฎ

เพราะว่าที่ผ่านๆ มา ปัญหาที่แท้จริงคือคนทั่วไปไม่ตระหนักถึงรึเปล่า? ว่าภาพที่เห็นๆ อยู่ทุกวัน (ไปงานดนตรีในสวน) นั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย” นี่คือคำถามแรกที่ art4d ถาม ชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิก ที่เดินทางไปกับคณะทัวร์ในครั้งนี้เช่นกัน

บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้านบอมเบย์ เบอร์มา

หลังเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น ทุกคนเรียนรู้แล้วว่ามันมีคุณค่า แน่นอนว่าอาคารหลังนี้จะถูกบูรณะกลับคืนมา แต่สิ่งที่สมาคมสถาปนิกหวังไว้มันมากกว่านั้น คือเราอยากให้เหตุการณ์นี้เป็นกรณีศึกษาเรื่องขั้นตอนการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง เกิดโมเดลการร่วมงานกันระหว่างภาครัฐ – เอกชน ในการร่วมกันรักษาอาคารสำคัญที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย และที่สำคัญคือ ต้องการให้ภาคีสถาปนิกในทุกๆ ภูมิภาค ลุกขึ้นมาเผยแพร่ความรู้ ช่วยชี้ให้เห็นว่าอาคารไหนสำคัญ เหมือนกับกิจกรรมในวันนี้ และเมื่อทุกคนรู้ว่ามันสำคัญ ผมคิดว่าเราอาจจะไม่จำเป็นต้องรอกรมศิลปากรอย่างเดียว แต่เราสามารถมีบทบาทในการอนุรักษ์ได้ทุกคน”

ชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

คำตอบจากปากนายกสมาคมสถาปนิกช่วยอธิบายว่าทำไม ทัวร์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้จึงถูกจัดขึ้น ทุกคนรู้อยู่แต่แรกว่าอาคารหลังนี้ ถูกทุบทำลายไปแล้ว แต่สิ่งที่เราๆ ไม่รู้ และได้รู้จากการเดินทางมาจังหวัดแพร่ครั้งนี้คือ ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมป่าไม้” เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์อีกบทของเมืองที่สำคัญ การมาถึงของมิชชันนารีที่มาพร้อมกับวัคซีน และความรู้ด้านการแพทย์ บ่งบอกถึงช่วงเวลารุ่งเรืองที่คนแพร่เปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสานในวิถีชีวิตแบบพุทธ พราหมณ์ ผี ซึ่งนับเป็นยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองของเมืองแพร่เลยทีเดียว

สิ่งนี้นำมาสู่การตั้งคำถามว่า อาคารประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นตัวแทนของเรื่องราวเหล่านี้ควรจะได้รับการดูแลรักษา และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับประวัติศาสตร์ เรื่อง” อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจ้า วัดวาอาราม และกำแพงเมืองโบราณ ไม่ใช่หรือ? ดังนั้นสำหรับกรณีการอนุรักษ์กำแพงเมืองแพร่ คำตอบที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การทุบทำลายบ้านพักผู้บริหารบริษัท อีสต์เอเชียติก ที่ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองเก่าในเขตโรงเรียนป่าไม้เพื่อทำการฟื้นฟูกำแพงเมือง และนอกจากนั้น ประเด็นนี้ยังชวนให้นึกตั้งคำถามไปถึง เกณฑ์การประเมิณคุณค่าทางประวัติศาสตร์ / การเป็นโบราณสถานที่ใช้ตัวเลขอายุ 100 ปีเป็นเกณฑ์ในปัจจุบัน

บรรยากาศภายในบ้านมิชชันนารีฝาแฝด ที่รอการบูรณะอยู่อีกหนึ่งหลัง

ประเด็นสำคัญข้อถัดมา คือการนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ในคำว่า อนุรักษ์” ซึ่งเป็นธีมหลักของงาน งานสถาปนิก’64 มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage” ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ประธานจัดงาน กล่าวว่า โดยภาพกว้างนั้น เนื้อหาของงานครั้งนี้ คือ การขยายความหมายของคำว่าอนุรักษ์จากแค่ การรักษาสภาพ” เป็น การจัดการ” ที่ว่าด้วยการหาวิธีการทำให้มรดกทางประวัติศาสตร์สามารถกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปัจจุบัน กล่าวคือ สมาคมฯ ตั้งใจจะเผยแพร่ให้สาธารณะชนมองเห็นแง่มุมทางเศรษฐกิจในคำว่าอนุรักษ์ การบริหารจัดการมรดกประวัติศาสตร์รูปแบบต่างๆ ในสากลโลก ที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่การดูแลรักษาสภาพเดิม และรูปแบบการใช้งานใหม่ที่ทำให้มรดกเหล่านั้นมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง

ไม่หมดแค่นี้ คำว่าอนุรักษ์ในโฟกัสของนายกสมาคมสถาปนิก ยังรวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สถาปัตยกรรมหนึ่งหลังนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการทำลายสิ่งอื่นๆ ด้วย ทั้งหิน, ไม้ รวมถึงสภาพอากาศจากฝุ่นมหาศาลระหว่างการก่อสร้าง ดังนั้นเราจะเอาแต่สร้างตึกใหม่ทำไมล่ะ? ทั้งๆ ที่มันมีอาคารเก่าๆ น่าสนใจอยู่แล้วเยอะขนาดนี้” ชนะกล่าว ก่อนจะเสริมถึงการจัดงานสถาปนิก64 ในปีหน้าว่า ทุกคนอาจจะคิดว่าธีม Refocus Heritage คือการขนเอาอาคารเก่ามาโชว์ แต่จริงๆ แล้วเราอยากให้คนสนใจกระบวนการการจัดการมรดกที่ถูกต้องมากกว่า”

บ้านพักผู้บริหารบริษัท อีสต์เอเชียติก

กลับมายังบริบทเมืองแพร่ปัจจุบัน แน่นอนว่าตอนนี้ทุกคนกำลังตื่นตัวและวางแผนลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างกับมรดกที่ตัวเองมี ถ้ามองไปไกลกว่านั้น ความตื่นตัวครั้งนี้ยังอาจจะช่วยแก้ปัญหาใหญ่ของจังหวัด อย่างการลดจำนวนลงของประชากรได้ด้วยเช่นกัน ก่อนปี 2540 แพร่มีประชากรกว่า 500,000 คน ในขณะที่ปัจจุบันเหลือเพียง 400,000 คน ณ วันนี้ทุกคนรู้แล้วว่าในเมืองของตนนั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนา ในช่วงปีที่ผ่านมา แพร่มีร้านกาแฟเปิดใหม่นับ 100 ร้าน (แต่บางร้านก็ปิดตัวลงเพราะพิษ COVID-19) คนรุ่นใหม่ที่เรียนจบ เริ่มหันกลับมาเปิดกิจการในบ้านเกิด นำเอาความรู้ด้านการตลาด การออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์เข้ามาจับกับสินทรัพย์ที่ชุมชนของตัวเองมี

งานสถาปนิก64 มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage” จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2021 ต้องรอดูกันต่อไปว่าแพร่โมเดล จะส่งผลต่อการอนุรักษ์อาคารสำคัญในวงกว้างได้ตามหวังหรือไม่

asa.or.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *