DESPITE SENTO OR PUBLIC BATHHOUSES’ RECEDING IN SIGNIFICANCE IN THE JAPANESE SOCIETY, ITS INSTILLED CULTURAL VALUES HAVE INSPIRED SCHEMATA ARCHITECTS TO TRANSFORM KOGANEYU, THE NEARLY FIFTY-YEAR-OLD ESTABLISHMENT IN TOKYO TO BETTER ACCOMMODATE THE MORE CONTEMPORARY FUNCTIONAL DEMANDS
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: YURIKA KONO
(For English, press here)
แม้ว่าโรงอาบน้ำสาธารณะ (Sento) จะเริ่มหมดความสำคัญในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน (เพราะแน่ละ ตอนนี้ทุกบ้านมีห้องน้ำกันหมดแล้ว) แต่มันคงต้องยังคงมีคุณค่าบางอย่าง โดยเฉพาะคุณค่าในด้านวัฒนธรรม จนกระทั่ง Schemata Architects ลุกขึ้นมาแปลงโฉม Koganeyu โรงอาบน้ำอายุเกือบๆ 50 ปี ในกรุงโตเกียวให้สอดรับการใช้งานปัจจุบันมากขึ้น
สถาปนิกชาวญี่ปุ่นเลือกที่จะรักษากลิ่นอายดั้งเดิมไว้ ขณะเดียวกันก็สร้างบรรยากาศใหม่ให้กับสเปซได้อย่างน่าสนใจ โต๊ะรับแขกในโถงต้อนรับถูกปรับมาเป็นบาร์เบียร์กับบูธดีเจ พร้อมจัดกิจกรรมพิเศษในยามค่ำคืน ตัวเคาน์เตอร์มีการกรุกระเบื้องดินเผาสี่เหลี่ยมขนาดเล็กใน สี beige สร้างบรรยากาศต้อนรับ อบอุ่น ตัดกับกำแพงที่เป็นผิวคอนกรีตเปลือย
ถัดมาในโซนห้องอาบน้ำร้อน เรายังคงเห็นการจัดแผนผังภายในแบบดั้งเดิมที่แบ่งโซนอาบน้ำชาย/หญิง แต่มีการปรับโฉมใหม่ด้วยการกรุกระเบื้องดินเผาแบบดียวกับเคาน์เตอร์ด้านหน้าช่วยสร้างความต่อเนื่องกับพื้นที่ส่วนต้อนรับ นอกจากนี้ กระเบื้องที่เลือกทำความสะอาดง่าย ทั้งยังป้องกันไม่ให้เกิดการลื่นล้มจากร่องปูนบริเวณขอบกระเบื้อง และเพื่อเติมเต็มประสบการณ์การแช่น้ำร้อน สถาปนิกเลือกใช้หินจาก Towada กรุในบริเวณอ่างอาบน้ำ ซึ่งเป็นวัสดุที่ให้สีน้ำเงินแกมเขียวเวลาเปียก และทำให้น้ำในอ่างดูสะอาดและน่าลงไปแช่ได้ในถนัดตา
ยังมีรายละเอียดการปรับปรุงโรงอาบน้ำอื่นๆ อีกที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คอนกรีตผสมในสีเข้มที่มีพื้นผิวหยาบในบริเวณซาวน่าและอ่างอาบน้ำเย็น เพื่อสร้างบรรยากาศที่แตกต่างจากโซนอาบน้ำร้อนและช่วยป้องกันการลื่นล้ม การปรับปรุงบริเวณห้องแต่งตัวที่สถาปนิกเลือกใช้ไม้อัดเบิร์ช (Birch Plywood) สำหรับล็อกเกอร์เนื่องจากสามารถต้านทานความชื้นได้ดี และการใช้พื้นกระเบื้องยางลายพรมถัก (Woven Vinyl) ที่แห้งตัวได้เร็ว หรือการเชื้อเชิญศิลปินมาวาดลวดลายลงบนกำแพงห้องอาบน้ำ แต่งเติมให้พื้นที่ดูสนุกสนานยิ่งขึ้น