IN THE SOLO EXHIBITION BY PARIWAT ANANTACHINA AT SŌKO, AN ALBUM OF OLD, ANONYMOUS PHOTOGRAPHS FROM UNKNOWN SOURCES IS, ONCE AGAIN, BROUGHT TO LIFE
TEXT: SUTEE NAKARAKORNKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
หลังจากปิดปรับปรุงไปได้ไม่นานนัก SŌKO แกลเลอรี่ และ creative space ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยสุขุมวิท 32 ผลงานออกแบบโดย Bangkok Tokyo Architecture ก็กลับมาเปิดพื้นที่อีกครั้ง พร้อมกับการขยับขยายสถานที่ให้สามารถรองรับกิจกรรมได้มากกว่าเดิม ล่าสุดเพิ่งจะประเดิมงานแรกของปีกันด้วย ‘The L_st Album’ นิทรรศการเดี่ยวโดย ปริวัฒน์ อนันตชินะ กราฟิกดีไซเนอร์ ศิลปินอิสระ และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง The Uni_Form Design Studio ผู้หยิบเอาอัลบั้มภาพถ่ายเก่ามาชุบชีวิตขึ้นใหม่ พร้อมกับสอดแทรกเรื่องราวของความรัก ความสัมพันธ์ และครอบครัว ไว้ภายในภาพถ่ายนิรนามเหล่านั้น
ปริวัฒน์เริ่มต้นสะสมภาพถ่ายเก่าจากการหาซื้อในตลาดนัดมือสอง ร้านขายของเก่า หรือแม้แต่ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ด้วยความชื่นชอบในความสวยงามและวัสดุของปกอัลบั้ม กระดาษอัดรูป ซองฟิล์ม ไปจนถึงเรื่องราวของคนในภาพ “เมื่อ 3-4 ปีก่อน เราได้เข้าร่วมกลุ่ม Street Photo Thailand ในเฟซบุ๊ค หลังจากนั้นก็หัดถ่ายภาพสตรีทมาเรื่อยๆ และเริ่มคุ้นเคยกับงานประเภทโฟโต้บุ๊คมากขึ้น จนมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการเอาของสะสมที่เรามีอย่างภาพถ่ายเก่ามาใช้” ปริวัฒน์เล่าถึงที่มาของการหยิบคอลเลคชั่นภาพถ่ายเก่ามาเป็นวัตถุดิบในการทำงานคอลลาจ ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่เป็นลายเซ็นของ The Uni_Form Design Studio รวมไปถึงโปรเจ็คต์ส่วนตัวของเขาในชื่อ Pariwat Studio
ในภาพแต่ละใบ ศิลปินเลือกที่จะเจาะส่วนใบหน้าของคนในภาพออก (เราคิดว่าเป็นกระบวนการที่เป็นทั้งการลบ identity เดิม และเป็นการแสดงความเคารพต่อความเป็นส่วนตัวของคนในภาพไปพร้อมๆ กัน) ก่อนที่จะซ้อนด้วยการแปะเอกสารเก่าที่เป็น information graphic ซึ่งในที่นี้หน้าที่ดั้งเดิมในการระบุพิกัดและให้ข้อมูลของตัว information graphic ได้ถูกเปลี่ยนความหมายไป สอดคล้องกับการที่เราไม่สามารถระบุได้ว่าคนในภาพนั้นเป็นใครได้อย่างพอดิบพอดี
เดิมที The L_st Album ถูกผลิตออกมาในรูปแบบของโฟโต้บุ๊ค จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ 89 Books จากประเทศอิตาลี และเริ่มวางจำหน่ายไปเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา แต่สัดส่วนของงานที่ถูกคัดเลือกพิมพ์ลงในเล่มนั้นเทียบกันไม่ได้เลยกับจำนวนงานทั้งหมดที่ปริวัฒน์เริ่มต้นทำและเก็บมาเรื่อยๆ จนมากพอที่จะขยับขยายไปสู่สเกลของการจัดแสดงนิทรรศการ
ภาพถ่ายทุกใบที่ศิลปินเลือกมาในนิทรรศการ ล้วนเกี่ยวข้องกับครอบครัวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะด้วยจำนวนของรูป portrait และภาพถ่ายครอบครัวที่มีมากกว่าประเภทอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม คอนเซ็ปต์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ศิลปินตั้งใจจะสื่อสารส่วนหนึ่งก็มาจากตัวของเขาเองด้วยเช่นกัน “เราใช้เวลาว่างตอนกลางคืนหลังจากเลิกงานในการทำงานชุดนี้ ตอนนั้นเราเองเพิ่งเป็นพ่อคนด้วย ก็ต้องใช้เวลาหลังจากลูกเข้านอนแล้ว ซึ่งตัวรูปถ่ายมันก็สะท้อนกลับมาหาเราเหมือนกันว่าเรื่องราวของครอบครัวเราเป็นอย่างไร”
ผลงานแต่ละชิ้นได้รับการผลิตและจัดแสดงผ่านสื่อกลางหลากหลายรูปแบบ มีทั้งบนกรอบไม้ กล่องพลาสติก อะคริลิคใส ไปจนถึงการเลือกใช้เทคนิคอย่างกล่องไฟ “เราชอบในฟังก์ชั่นที่เราสามารถเปิด-ปิดสวิตช์กล่องไฟได้ พอมีเรื่องของการเปิด-ปิดมันก็ไปลิ้งค์กับความสัมพันธ์บางอย่างของคนเราที่จะเลือกเปิดหรือปิด ลบหรือจำได้ เราเลือกได้ว่าเราจะดำเนินไปแบบไหน” ปริวัฒน์เล่าให้ฟังถึงกิมมิคเล็กๆ ที่อยู่ในนิทรรศการ
นอกจากงานของตัวเองแล้ว ปริวัฒน์ยังได้ชวนเพื่อนๆ ศิลปิน ดีไซเนอร์ เข้ามาทำงานชุดนี้ด้วยกัน โดยให้เลือกภาพหนึ่งใบจากคอลเลคชั่นและตีความออกมาเป็นงานหนึ่งชิ้น เช่น ภาพถ่ายครอบครัวร้านนาฬิกาที่ The Archivist ทำขึ้นใหม่ด้วยเทคนิค silkscreen หรือในงาน video installation ที่ Nut Dao หยิบไปเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว
ปริวัฒน์บอกกับเราว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการทำโปรเจ็คต์นี้คือ การได้ภาพถ่ายใบใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ทำให้ไม่หยุดผลิตงานสักที (เผลอๆ เมื่อคืนก็อาจจะยังนั่งทำอยู่) เราอยากให้คนที่ไปชมงานได้ใช้เวลาค่อยๆ ดูรูปทีละใบ และสำรวจเรื่องราวที่สูญหายไประหว่างการเดินทางของภาพแต่ละภาพอย่างช้าๆ ด้วยตัวเอง
นิทรรศการ The L_st Album โดย ปริวัฒน์ อนันตชินะ จัดแสดงที่ SŌKO โครงการ Jouer สุขุมวิท 32 ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 16 มีนาคม 2564