CASA CLOUD

Photo: Ketsiree Wongwan

IN THIS LATEST RESIDENTIAL PROJECT, BOONDESIGN PUTS BOTH WEIGHTLESS CHARACTERISTICS AND DISTINCTIVE IDENTITY JUST AS A CLOUD IN THE SKY INTO THE DESIGN

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: W WORKSPACE EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ตัวตนของก้อนเมฆช่างแสนจะบางเบาจนเราแทบจะลืมไปว่ามันกำลังลอยอยู่บนท้องฟ้า แต่อย่างน้อยการที่มันพริ้วไหวตามสายลม หรือการที่มันบดบังแสงอาทิตย์ที่ทอดเงาลงมา ก็ย้ำเตือนให้เรารู้ว่ามันยังมีตัวตนอยู่ เช่นเดียวกันกับ Casa Cloud ผลงานการออกแบบบ้านหลังล่าสุดจากบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ สถาปนิกจาก BOONDESIGN ที่แม้จะมีรูปลักษณ์อันแผ่วเบาและกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม ก็ยังมีคาแร็กเตอร์โดดเด่นที่ช่วยให้เรารับรู้ถึงตัวตนและการมีอยู่ของมันเช่นกัน

Shifting Diagram

 

Casa Cloud เป็นบ้าน 3 ชั้น ที่สถาปนิกออกแบบให้สำหรับครอบครัวเดี่ยว ภายใต้พื้นที่ดินประมาณ 600 ตารางวา สถาปนิกเว้นที่ว่างด้านหน้าไว้สำหรับสระว่ายน้ำและสนามหญ้าที่สร้างไว้เผื่อลูกชายเจ้าของบ้านผู้เป็นนักฟุตบอลได้ใช้เล่นกีฬาแบบพอหอมปากหอมคอ แม้บ้านจะมีหน้าตาร่วมสมัยและมีเส้นสายอันเฉียบคม สถาปนิกพยายามสอดแทรกความเป็นไทยผ่านการหยิบยืมรูปแบบบ้านเรือนไทยที่มีพื้นที่ใต้ถุนด้านล่างและมีตัวเรือนอยู่บนชั้นสองมาใช้งานกับบ้าน ขณะเดียวกันสถาปนิกก็ปรับเปลี่ยนให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงชั้นสองของบ้านได้ง่ายขึ้น ไม่เหมือนการไต่บันไดขึ้นไปตัวเรือนแบบเก่าก่อน ด้วยการสร้างทางลาดพาไปยังชั้นลอยซึ่งเป็นที่จอดรถและเป็นพื้นที่ทางเข้า ก่อนที่เราจะเดินต่อไปยังห้องนั่งเล่นที่อยู่ชั้นบน 

Photo: Ketsiree Wongwan

Photo: Ketsiree Wongwan

สำหรับพื้นที่ใต้ถุน แทนที่จะเป็นพื้นที่โปร่งโล่งแบบบ้านเรือนไทยดั้งเดิม สถาปนิกก็เปลี่ยนพื้นที่บางส่วนให้เป็นพื้นที่ใช้งาน เช่น ส่วนแม่บ้านและห้อง play room สำหรับลูกชายที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าบ้านและเดินเชื่อมออกไปยังสนามหญ้าได้อย่างง่ายดาย

Photo: Ketsiree Wongwan

Photo: Ketsiree Wongwan

Photo: Ketsiree Wongwan

เมื่อถอยออกมามองจากสนามหญ้า เรากลับมองเห็นบ้านที่แท้จริงมีขนาด 3 ชั้น เป็นเสมือนบ้านชั้นเดียวอันบางเบาที่กำลังลอยตัวออกมาจากพื้นดิน สถาปนิกลดทอนตัวบ้านให้ดูบางและเลือนหายไปกับสิ่งแวดล้อมโดยการซ่อนพื้นที่ใต้ถุนให้ลับหายหลังม่านเงาของพรรณไม้สีเขียวที่ห้อยย้อยลงมาจากกระถางชั้นด้านบน ในเวลาเดียวกัน สถาปนิกก็ลดทอนตัวตนของพื้นที่ชั้นบนสุดโดยการทาสีภายนอกเป็นสีขาว เพื่อให้ดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับท้องฟ้า พร้อมทั้งยังยื่นหลังคาชั้นสองยาวออกมากว่า 7 เมตร เพื่อช่วยปิดบังการรับรู้ตัวตนของพื้นที่ชั้นบนไปอีก ไม่เพียงหลังคาที่ยื่นยาวจะช่วยลดทอนบ้านให้ดูหายไป หลังคาที่ยื่นยาวไปทางด้านหน้าบ้านซึ่งเป็นทิศตะวันตกเฉียงใต้และด้านข้างบ้านที่เป็นทิศใต้ ก็ช่วยมอบร่มเงาให้กับตัวบ้านพร้อมสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับบ้านซึ่งมีอาคารสูงตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล และด้วยผืนระนาบที่ดูบางเบา หลังคาก็ช่วยเสริมสร้างความรู้สึกเบาบางให้กับตัวบ้านได้อีกเช่นกัน “ตอนออกแบบอยากทำให้อาคารดูหายไป เพราะสิ่งปลูกสร้างมันสามารถข่มธรรมชาติได้โดยไม่ตั้งใจ” บุญเลิศเอ่ยถึงเหตุผลที่บ้านให้มีตัวตนที่บางเบา

Photo: Ketsiree Wongwan

นอกจากสถาปนิกจะพยายามลดทอนตัวตนภายนอกของบ้านแล้ว สถาปนิกก็พยายามทำให้พื้นที่ภายในดูเลือนหายไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ห้องนั่งเล่นที่มีช่วงกว้างกว่า 12 เมตร ไม่มีเสาภายใน การออกแบบช่องเปิดหน้าห้องนอนให้ปราศจากเสาบดบัง เปิดเป็นช่องโล่งยาวต่อเนื่องตลอดความกว้างของตัวบ้าน รับทิวทัศน์ แสง และลมจากภายนอกเข้ามาโดยไม่มีอะไรมารบกวน การใช้วัสดุภายในอย่างเช่นผนังหินสีดำซึ่งสะท้อนบรรยากาศข้างนอกมาอยู่บนพื้นผิว ลดทอนตัวตนของวัสดุและทำให้พื้นที่ภายนอกกับภายในดูต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียว ขณะเดียวกันบุญเลิศก็สอดแทรกความบางเบาไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง (ที่เขาดีไซน์เองแทบจะทั้งบ้าน) ให้มีความเรียวบาง มีสีสัน พื้นผิว และตัวตนที่แผ่วเบากลมกลืนไปกับสเปซของห้อง เช่นเดียวกันกับดีเทลต่างๆ ที่ถูกหลบซ่อนไป อย่างเช่น มือจับประตู ดวงโคม หรือพื้นไม้บริเวณระเบียงที่ไม่ปรากฎให้เห็นตะปูยึดเลยแม้แต่นิด

 

 

ในขณะที่สถาปนิกพยายามทำให้บ้านดูบางเบาจนบางส่วนแทบจะหายไปเสมือนไม่ได้มีตัวตนอยู่ องค์ประกอบหลายส่วนในบ้านก็ช่วยสะกิดย้ำให้เราเห็นว่าบ้านยังตั้งอยู่ตรงนี้เสมอ ทางลาดที่สถาปนิกสร้างให้เข้าถึงชั้นบนได้ง่าย ก่อให้เกิดระดับพื้นสูงต่ำรอบบ้านรวมไปถึงเส้นสายรูปสามเหลี่ยมที่สถาปนิกต่อยอดมาใช้งานกับกระถางต้นไม้ที่รายล้อมสนามหญ้าสีเขียว เมื่อบวกกับเสียงเอื่อยๆ ของน้ำในสระว่ายน้ำที่ไหลล้นลงมาก็ช่วยสร้างความรู้สึกไม่หยุดนิ่ง และแต่งเติมให้ตัวบ้านดูมีชีวิตชีวา ขณะเดียวกัน บ้านก็มีก้อนคอนกรีตเปลือยสี่เหลี่ยมหนักอึ้งทางด้านหน้าและหลังคาในเส้นสายแหลมคมยื่นยาวแหวกอากาศที่ประกาศย้ำหนักแน่นชัดเจนถึงการมีอยู่ของตัวบ้านเอง

Photo: Ketsiree Wongwan

Photo: Ketsiree Wongwan

จริงอยู่ที่การสร้างเอฟเฟ็กต์เหล่านี้ให้กับบ้านอาจต้องแลกมาด้วยการใช้โครงสร้างที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่การผนวกเส้นสายเฉียบคมแบบร่วมสมัยเข้ากับแนวคิดความเป็นไทยอันเป็นลายเซ็นในงานออกแบบของบุญเลิศ รวมไปถึงการออกแบบให้ตัวตนของบ้านเลือนหายและมีอยู่ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้ผลงาน Casa Cloud เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ยืนยันตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดี

boondesign.co.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *